รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
Highlights
6 กรกฎาคม 2565
ผู้เขียน ฐนิตา หวังวณิชพันธุ์
ปลานิลและปลากะพงขาวเป็นปลาที่ผู้บริโภคนิยม แต่การเลี้ยงปลาเหล่านี้ให้แข็งแรงและปลอดโรคเป็นเรื่องที่เกษตรกรต้องใส่ใจอย่างมาก โดยเฉพาะกับปัญหาโรคระบาดที่มาจากเชื้อแบคทีเรียฟลาโวแบคทีเรียม (Flavobacterium spp.) ที่มีอยู่มากตามแหล่งน้ำโดยทั่วไป ยิ่งเมื่อจำนวนปลาในบ่อหรือกระชังแออัด เชื้อโรคก็จะยิ่งแพร่กระจายได้รวดเร็ว ส่งผลให้ปลาเป็นโรคเหงือกเน่า-ตัวด่าง กระทบต่อระบบหายใจจนตายได้ ซึ่งในกรณีที่เลวร้ายที่สุดคือปลาตายยกบ่อ
ด้วยเหตุนี้ รองศาสตราจารย์ น.สพ.ดร.ชาญณรงค์ รอดคำ อาจารย์คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้ร่วมมือกับทีมนักวิจัยของบริษัท Aqua Innovac คิดค้นนวัตกรรม “ฟลาโว อินโนแวค” (Flavo Innovac) วัคซีนเชื้อตายชนิดแรกของโลก ที่ป้องกันเชื้อแบคทีเรียฟลาโวแบคทีเรียมโดยใช้นาโนเทคโลยีเป็นระบนนำส่ง
“ปกติแล้วในอุตสาหกรรมการเลี้ยงปลาหรือสัตว์น้ำจะมีโรคติดเชื้ออยู่ในกระบวนการเลี้ยงในแหล่งน้ำ ถ้าเกษตรกรเลี้ยงปลาหนาแน่นมากไป สภาพแวดล้อมไม่ดี คุณภาพน้ำไม่ดี มีสารอินทรีย์มากขึ้น อุณหภูมิน้ำเปลี่ยน ปลาก็จะอ่อนแอแล้วติดเชื้อได้ง่าย อีกทั้งเชื้อแบคทีเรียฟลาโวแบคทีเรียมเป็นเชื้อหลักที่เข้ามาโจมตีปลา ทำให้เหงือกปลาเน่า ผิวด่าง เกิดความสูญเสียตีเป็นอัตราการตายได้มากกว่า 70 % โดยเฉพาะในลูกปลาที่ยังอ่อนแอ ซึ่งการป้องกันก็สามารถทำได้ด้วยการให้วัคซีนกับปลา” รศ.น.สพ. ดร.ชาญณรงค์ กล่าว
หากนึกถึงวัคซีนแล้ว คนทั่วไปมักจะนึกถึงการใช้เข็มฉีดยา แต่การใช้เข็มฉีดยากับปลานั้นต่างจากคน ทั้งเรื่องขั้นตอน ค่าใช้จ่าย รวมถึงข้อจำกัดและผลเสียต่างๆ ที่เกิดจากการใช้เข็มความเสี่ยงที่เกิดจากการใช้เข็มฉีดยาด้วย
รศ.น.สพ.ดร.ชาญณรงค์ เล่าขั้นตอนของการให้วัคซีนกับปลาด้วยการใช้เข็มฉีดยาว่า “เราไม่สามารถฉีดยาให้ปลาได้เลยในทันทีเพราะปลาจะดิ้นรน ส่งผลให้ปลาเกิดความเครียดได้ ดังนั้น การฉีดยาให้ปลาจำเป็นต้องทำให้ปลาสลบก่อน ด้วยการนำปลาไปแช่ในน้ำที่มียาสลบผสมอยู่ หลังจากนั้นจึงจะนำปลามาฉีดวัคซีนทีละตัว โดยต้องให้ผู้เชี่ยวชาญเป็นคนฉีด แล้วยังต้องใช้ระบบขนย้ายปลาที่ฉีดวัคซีนแล้วลงบ่อเลี้ยง ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้ล้วนแล้วแต่มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น”
“นอกจากนี้ การฉีดวัคซีนให้ปลาก็ยังมีความเสี่ยงที่ปลาจะติดเชื้ออื่นที่ปะปนในน้ำจากแผลรอยเข็มฉีดยา นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดที่เราไม่สามารถฉีดวัคซีนให้ปลาที่มีขนาดเล็กมากได้ ซึ่งปลาขนาดเล็กนี้เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงมากในการติดเชื้อ”
การให้วัคซีนแบบจุ่มแช่จึงกลายมาเป็นทางเลือกเพื่อทดแทนการให้วัคซีนแบบฉีด ซึ่งการใช้วัคซีนแบบแช่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันของปลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีต้นทุนในการทำวัคซีนต่ำ และสามารถทำวัคซีนให้ปลาได้คราวละมาก ๆ นับแสน นับล้านตัว รศ.น.สพ. ดร.ชาญณรงค์ กล่าว
“สำหรับวัคซีนแบบแช่ เกษตรกรสามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยตัวเอง โดยการแช่ปลาในน้ำที่ผสมวัคซีนตามสัดส่วนที่ฉลากกำหนดให้ ใช้เวลาประมาณ 30 นาที โดยเปิดออกซิเจนให้ปลาในขณะที่แช่วัคซีนตลอดเวลา จากนั้นก็ปล่อยปลาที่แช่วัคซีนแล้วลงบ่อเลี้ยงหรือกระชังได้เลย นอกจากนี้นาโนวัคซีนป้องกันโรคเหงือกเน่านี้ยังผลิตมาจากเชื้อฟลาโวแบคทีเรียม สายพันธุ์ที่แยกได้จากท้องถิ่นของประเทศไทยเอง ดังนั้นจึงให้การป้องกันโรคจากเชื้อฟลาโวแบคทีเรียมในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี”
นาโนวัคซีนฟลาโว อินโนแวค ไม่ได้เป็นเพียงวัคซีนปลาชนิดแรกของประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นวัคซีนชนิดแรกของโลกที่เป็นวัคซีนเชื้อตายสำหรับป้องกันเชื้อแบคทีเรียฟลาโวแบคทีเรียมที่ใช้นาโนเทคโลยีมาเป็นระบบนำส่ง
“นวัตกรรมนาโนเทคโนโลยีช่วยห่อหุ้มตัววัคซีนหรือแอนติเจน เมื่อนำปลามาแช่ในนาโนวัคซีนซึ่งมีประจุเป็นบวก วัคซีนก็จะสามารถไปเกาะติดกับเยื่อเมือกต่างๆ ของปลาซึ่งมีประจุลบได้เป็นอย่างดี จากนั้นอนุภาคนาโนอินทรีย์ก็จะค่อยๆ ปลดปล่อยแอนติเจนออกมากระตุ้นภูมิคุ้มกันให้กับปลาได้อย่างต่อเนื่อง เมื่อปล่อยแอนติเจนหมดแล้วตัวนาโนอินทรีย์ก็จะค่อยๆ สลายไปในระยะเวลาอันสั้น ไม่มีการตกค้าง ปลอดภัยกับทั้งตัวปลา สิ่งแวดล้อม และผู้บริโภค”
ปัจจุบัน นวัตกรรมวัคซีนฟลาโว อินโนแวค อยู่ในช่วงการวิจัยและพัฒนาภาคสนาม และการประเมินผลลัพธ์ทางการตลาด โดยมีกลุ่มเกษตรกรนำวัคซีนไปทดลองใช้แล้ว ได้ผลตอบรับค่อนข้างดี ลดการสูญเสียปลาจากการติดเชื้อฟลาโวแบคทีเรียมได้จริง
“ระยะเวลาที่วัคซีนสามารถป้องกันการติดเชื้อได้คือประมาณ 2 – 3 เดือน จากวงจรการเลี้ยงปลาทั้งหมด 6 – 9 เดือน แม้จะดูว่าระยะเวลาในการป้องกันโรคได้ค่อนข้างสั้น แต่ 3 เดือนแรกเป็นช่วงที่ปลาเล็กค่อนข้างเสี่ยงกับการติดเชื้อนี้มาก การทำให้ปลาเล็กมีภูมิต้านทานในช่วงเวลานี้จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปลารอดชีวิตไปในระยะต่อไปที่สามารถทนต่อโรคติดเชื้อนี้ได้มากขึ้น”
รศ.น.สพ.ดร.ชาญณรงค์ กล่าว การตรวจสุขภาพปลาก่อนนำปลาลงบ่อเป็นสิ่งจำเป็นที่ควรกระทำ นอกจากนี้ การให้วัคซีนปลาในระยะที่ปลายังเล็กอยู่ก็จะช่วยลดการสูญเสียปลาในระยะเริ่มต้นของการเลี้ยงได้ ซึ่งก็จะทำให้สามารถต่อยอดการเลี้ยงปลาไปจนถึงระยะขายส่งตลาดได้
“นอกจากการให้วัคซีนปลาแล้ว อีกสิ่งที่สำคัญที่เกษตรกรเลี้ยงปลาทุกคนควรจะทำ คือ การส่งกลุ่มตัวอย่างปลามาตรวจคัดกรองโรคที่ห้องปฏิบัติการ ซึ่งที่คณะสัตวแพทย์ จุฬาฯ และกรมประมงก็มีบริการในส่วนนี้ เพื่อตรวจดูว่าลูกปลาที่ซื้อมาเลี้ยงติดโรคนี้หรือโรคอื่นๆ มาก่อนหน้านี้หรือไม่ ซึ่งหากปลาติดเชื้อใดๆ มาก่อนการทำวัคซีนแล้วก็อาจส่งผลต่อการทำวัคซีนได้ค่อนข้างมาก หรืออาจทำให้การทำวัคซีนในครั้งนั้นล้มเหลวได้”
การพัฒนานวัตกรรมวัคซีนฟลาโว อินโนแวค ได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ส่วนในด้านการบ่มเพาะบริษัท ได้รับการสนับสนุนจากศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Chulalongkorn University Technology Center: UTC) ซึ่งในระยะต่อไป ทีมวิจัยมีแผนพัฒนาวัคซีนสำหรับกระตุ้น (บูสเตอร์) ที่เป็นแบบผสมกับอาหาร เพื่อที่เกษตรกรได้นำไปกระตุ้นภูมิให้ปลาได้สะดวกและง่ายขึ้น
นอกจากนวัตกรรมวัคซีนป้องกันเชื้อแบคทีเรียฟลาโวแบคทีเรียมแล้ว ทางบริษัท Aqua Innovac ยังมีแนวคิดที่จะพัฒนาวัคซีนสำหรับป้องกันเชื้อแบคทีเรียอื่นๆ ที่ส่งผลต่อการเลี้ยงปลานิลและปลากะพงขาว และมีนวัตกรรมอื่นๆ อีก อาทิเช่น ยาสลบนาโนสำหรับปลา อาหารเสริมสำหรับปลาสวยงาม เป็นต้น
เกษตกรและบริษัทที่สนใจเข้าร่วมงานวิจัยและพัฒนาภาคสนาม สามารถติดต่อ รศ.น.สพ. ดร.ชาญณรงค์ ได้ที่อีเมล Channarong.r@chula.ac.th
หุ่นยนต์ดินสอรุ่นล่าสุด “Home AI Assistance” ผู้ช่วยประจำบ้านดูแลผู้สูงอายุตลอด 24 ชั่วโมง อีกก้าวของหุ่นยนต์สัญชาติไทย
Halal Route Application กิน เที่ยวทั่วไทย ปลอดภัยสไตล์ฮาลาล
ร้อยแก้วแนวต่างโลก! (Isekai) ชุบชีวิตวรรณคดีไทยด้วยรูปแบบร่วมสมัย โดนใจคนรุ่นใหม่
โคโค่แลมป์ แก้ปัญหาลูกเต่าหลงทาง นวัตกรรมพิทักษ์ชีวิตลูกเต่าทะเล จากนิสิตจุฬาฯ
ทางออกวิกฤตราคาโกโก้ไทย “ศูนย์นวัตกรรมการวิจัยและพัฒนาโกโก้ไทยเพื่อความยั่งยืน จุฬาฯ” เติมหวังให้เกษตรกรและธุรกิจโกโก้ไทย
จุฬาฯ น่าเที่ยว! เปิดพิกัดเที่ยวเพลินในจุฬาฯ ชมสถาปัตยกรรม พิพิธภัณฑ์ และดนตรี
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม
รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้