รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
Highlights
13 กรกฎาคม 2565
ผู้เขียน นิธิกานต์ ปภรภัฒ
การด้อยค่าตนเองเป็นเหตุหนึ่งที่นำไปสู่ภาวะซึมเศร้า อาจารย์คณะจิตวิทยา จุฬาฯ ชี้พร้อมให้แนวทางง่ายๆ ทำได้ทุกวัน เพื่อเพิ่มการเห็นคุณค่าในตนเอง (self esteem) อันเป็นต้นทางแห่งพลังชีวิต พิชิตนานาปัญหา ตามแบบฉบับของ “ตัวเอง”
ทุกคนต่างปรารถนาความสุข แต่ปัญหาเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิตที่ไม่อาจเลี่ยง ทั้งปัญหาความสัมพันธ์ การงาน การศึกษา การเงิน สุขภาพ ฯลฯ ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตอาจบั่นทอนความรู้สึกมั่นใจและความรู้สึกเห็นค่าในตัวเองลงไปได้ไม่น้อย ซึ่งจะยิ่งทับถมให้ปัญหาที่เกิดขึ้นดูหนักหนาเกินจะรับมือ นำไปสู่ภาวะซึมเศร้า หมดพลัง ไร้ค่าได้
ดังนั้น ความสามารถและทัศนคติเชิงบวกในการเผชิญทุกข์จึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งแหล่งพลังที่ว่านี้ก็ไม่ได้อยู่ที่ไหนไกล หากแต่อยู่ที่ใจและมุมมองของตัวเราที่มีต่อตัวเอง ดร.พูลทรัพย์ อารีกิจ อาจารย์ประจำคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แนะวิธีบ่มเพาะอุปนิสัยเห็นคุณค่าในตัวเอง (Self esteem) เพื่อสานความเข้าใจกับคนรอบข้าง เสริมเกราะป้องกันใจจากปัญหาและเพิ่มพูนความสุขให้ชีวิต
เมื่อกล่าวถึงการเห็นคุณค่าในตัวเอง (self esteem) หลายคนอาจสงสัยว่าคำนี้มีความหมายเหมือนหรือต่างอย่างไรจากความมั่นใจในตัวเอง (self confidence)
อาจารย์ ดร.พูลทรัพย์อธิบายว่าโดยมาก คำว่า self confidence หรือความเชื่อมั่นในตัวเอง จะเน้นไปที่ความเชื่อมั่นที่เกิดจากทักษะและความสามารถ เช่น เป็นคนทำอาหารเก่ง วาดรูปได้ดี เป็นต้น ซึ่งแต่ละคนย่อมมีบางเรื่องหรือหลายสิ่งที่ตัวเองรู้สึกมั่นใจได้ แต่ในบางเรื่องก็อาจจะไม่รู้สึกมั่นใจเลยเพราะไม่มีความถนัด
ส่วน self esteem หรือการเห็นคุณค่าในตัวเองเป็นเรื่องของทัศนคติที่มีต่อตนเองโดยภาพรวม เป็นสภาวะอารมณ์ภายในจิตใจและมุมมองของคนๆ นั้นที่มีต่อตัวเอง ซึ่งอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ปรากฎให้ผู้อื่นเห็นอย่างชัดเจนเหมือนกับเรื่องทักษะและความสามารถ และผู้ที่มั่นใจในตัวเองอันมาจากความถนัดในทักษะหรือความสามารถด้านใดด้านหนึ่งอาจไม่ได้หมายความว่าคนๆ นั้นเห็นคุณค่าในตัวเองก็ได้
ผู้ที่เห็นคุณค่าในตนคือผู้ที่รู้จักตนเอง “รู้ว่าตัวเองเป็นใคร” “ต้องการอะไร” “ชอบอะไร” ฯลฯ การเห็นตัวเองอย่างนี้จะทำให้เรารู้สึกพอใจในสิ่งที่เป็นอยู่และมีอยู่ รับรู้คุณค่าของตัวเองจากปัจจัยภายใน อันจะนำไปสู่การ “เป็นตัวของตัวเองอย่างเหมาะสม”
“ผู้ที่มี self esteem ในระดับที่เพียงพอจะมีอิสระในการแสดงออกและเป็นตัวของตัวเอง กล้าสื่อสารความต้องการและจุดยืนของตัวเอง และในเวลาเดียวกันก็เคารพความเป็นตัวตนของผู้อื่นด้วย ทำให้สามารถพัฒนาความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพกับผู้คนรอบข้างได้”
ที่สำคัญ อาจารย์ ดร.พูลทรัพย์ กล่าวว่าผู้ที่มี self esteem จะมีความแข็งแกร่งภายในที่จะรับมือกับปัญหาที่เข้ามาในชีวิต
“ปัญหาในชีวิตมีเข้ามาได้เสมอ การมี self esteem จะทำให้เรารู้สึกมั่นคงภายใน ไม่หวั่นไหวไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ชีวิตจะเป็นอย่างไร เราจะยังเห็นคุณค่าในตนเอง เคารพตัวเองได้และรักตัวเองเป็น ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ทำให้เราผ่านพ้นปัญหาและหาทางออกวิกฤตชีวิตได้”
ส่วนใหญ่ผู้ที่เห็นคุณค่าตัวเองในระดับต่ำ (low self esteem) มักจะประเมินค่าของตนเองจากปัจจัยภายนอก ให้ปัจจัยภายนอก เช่น ความคิดของผู้อื่นมากำหนดคุณค่าตัวเอง
“คนที่ไม่ชอบตัวเอง คิดในทางลบกับตัวอยู่ภายในใจ จะไม่กล้าสื่อสารตัวตน (self expression) ให้ผู้อื่นรับรู้เนื่องจากรู้สึกหรือคิดไปว่ามุมมองหรือทัศนคติของตัวเองไม่สำคัญ ไม่ดี ของคนอื่นสำคัญกว่า ดีกว่า จะไม่สามารถแสดงศักยภาพของตัวเองออกมา และการมี self esteem ต่ำจะนำไปสู่โอกาสเกิดโรคซึมเศร้าได้”
อาจารย์ ดร.พูลทรัพย์ กล่าวว่าผู้ที่มี low self esteem มักจะทำให้ตัวเองรู้สึกปลอดภัยและมั่นคงด้วยการแสดงออก 2 แบบที่ต่างกันสุดขั้ว คือ
1.) ทำให้รู้สึกตัวเองมีคุณค่าและสำคัญ ด้วยการตามใจคนอื่น
2.) ทำตัวเองให้เหนือกว่าผู้อื่น ด้วยการวางอำนาจและบูลลี่ (bully) คนอื่น เพื่อปกปิดความรู้สึกต้อยต่ำภายในใจ
การกระทำทั้ง 2 รูปแบบ เป็นบ่อนทำลายความสัมพันธ์ของเรากับผู้คนรอบข้างและท้ายที่สุดก็จะกลับมากัดกินความรู้สึกถึงคุณค่าในตน
การเห็นคุณค่าในตัวเองไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้เอง แต่เป็นสิ่งที่เราต้องบ่มเพาะให้เกิดขึ้นในใจเรา อาจารย์ ดร.พูลทรัพย์ ให้แนวทางการเพิ่มพูนการเห็นค่าในตัวเอง ดังนี้
1.) อยู่กับตัวเองให้ได้ เข้าใจและชัดเจนกับตัวเอง ไตร่ตรอง “ความเป็นตัวเอง” โดยอาจมองย้อนไปถึงสิ่งต่างๆ ที่เราได้ทำไปทั้งหมด วางการตัดสินผิดหรือถูก แต่ให้ตั้งคำถามว่า ที่ผ่านมา เราอยู่กับตัวเองแบบไหน เราเจอเหตุการณ์อะไรมาบ้าง และเราตอบสนองต่อเหตุการณ์นั้นๆ อย่างไร ฯลฯ สิ่งสำคัญของเรื่องนี้คือมองตัวเองด้วยสายตาแห่งความเห็นอกเห็นใจและความอ่อนโยนบ้าง
2.) ฝึกมองเห็นคุณภาพภายในตัวเองและรับรู้บุคลิกภาพเชิงบวกของตนเอง อาทิ ความตั้งใจ ความมุ่งมั่น ความพยายาม ความอดทน ความขยัน ความกตัญญู ฯลฯ
3.) ฝึกรู้เท่าทันอารมณ์และความคิดของตัวเอง เวลาทำกิจกรรมหรือพบเจอเหตุการณ์ต่างๆ ลองหยุดถามตัวเองว่า ‘เรารู้สึกอย่างไร’ “ทำไมเราถึงโกรธตัวเอง” “ทำไมถึงต้องโทษตัวเอง” “ทำไมถึงร้องไห้” เป็นต้น การฝึกแบบนี้จะทำให้เราเริ่มมองเห็น “ตัวตนที่เป็นอยู่” (real self) และ “ตัวตนในอุดมคติที่อยากจะเป็น” (ideal self)
4.) ฝึกเป็นเพื่อนกับตัวเองโดยเฉพาะในเวลาที่ต้องการกำลังใจ เมื่อเกิดความผิดพลาด ปัญหา ความไม่สบายใจ อย่าตำหนิตัวเอง แต่ควรถามตัวเองเหมือนเพื่อนที่ห่วงใยว่า ‘เป็นยังไงบ้าง วันนี้เหนื่อยไหม พักก่อนไหม’ หรือ ‘ไม่เป็นไรนะ เราจะลุกขึ้นใหม่แล้วปรับแก้ไขให้ครั้งต่อไปดีขึ้น’ ‘‘ทุกเหตุการณ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต จะทำให้เราเติบโตได้เสมอ เรายังเป็นคนที่พัฒนาได้’ เป็นต้น เป็นการเยียวยาใจ และเพิ่มแรงผลักดันให้ตัวเรามีกำลังใจ
5.) ใส่ใจการสื่อสารกับตัวเอง พูดกับตัวเอง (ในใจ) ด้วยภาษาที่เมตตาอ่อนโยน ฝึกใช้คำพูดเชิงบวกกับตนเอง ลดและเลิกการใช้คำพูดด้านลบกับตนเองเมื่อเกิดความผิดพลาด คำกล่าวโทษ ตำหนิตัวเองอาจทำให้ความรู้สึกเห็นค่าในตัวเองลดทอนไป
6.) แวดล้อมตนเองด้วยคนรู้ใจและยอมรับในตัวเรา คนรอบข้าง ครอบครัว เพื่อน มีส่วนอย่างยิ่งในการสร้างและส่งเสริมความรู้สึกเห็นคุณค่าในตัวเองของเรา ลองมองหาคนใกล้ตัวที่เข้าใจและรู้จักเราและยินดีรับฟังเรา ใช้เวลากับคนกลุ่มนี้ให้มากขึ้น พวกเขาจะช่วยคลายความกังวลในสถานการณ์ที่เราอาจจะผิดพลาด คอยเป็นแรงสนับสนุน ให้ความรักความปราถนาดีกับเรา ซึ่งคนที่แวดล้อมเราอาจจะเป็นใครก็ได้ สิ่งสำคัญคือ คนๆ นั้นต้องเป็นคนที่เราไว้ใจ เป็นคนที่เพิ่มพลังบวกให้เรา เป็นคนที่น่าเชื่อถือและให้คำปรึกษาได้ดี
7.) ฝึกเปิดใจยอมรับผู้อื่นอย่างที่เขาเป็น สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เขาพร้อมที่จะสื่อสารความรู้สึกและความคิด หมั่นให้กำลังใจกัน การทำอย่างนี้จะขยายพื้นที่ความรู้สึกตระหนักในคุณค่าตัวเองของคนๆ นั้นและในตัวเราเองด้วย
การเห็นคุณค่าในตัวเองมีขึ้น-มีลงได้ ตามสถานการณ์และเรื่องราวที่เข้ามาท้าทายชีวิต เราควรมีวิธีรักษาระดับการเห็นคุณค่าในตัวเองอย่างต่อเนื่อง และระวังไม่ให้เรื่องแย่ๆ เข้ามาลดทอนการเห็นค่าในตนเอง อาจารย์ ดร.พูลทรัพย์ แนะนำวิธีการเล็กๆ ที่ช่วยอัดฉีดความรู้สึกดีๆ ให้ตัวเองได้ในแต่ละวัน
ครบทุกคำตอบ “กายภาพบำบัด” ฟื้นฟูและพัฒนาสุขภาพสำหรับคนทุกช่วงวัย ในงานประชุมวิชาการสภากายภาพบำบัด 21-22 พ.ย.นี้
แพทย์จุฬาฯ แนะวัคซีนป้องกันโรคไอกรน ลดความเสี่ยงติดเชื้อในทุกวัย
มิตรเอิร์ธ (MitrEarth) แพลตฟอร์มความรู้ ชี้จุดเสี่ยง แจ้งเตือนภัยพิบัติ ลดความสูญเสีย
คีเฟอร์น้ำเกสรดอกกุหลาบ เครื่องดื่มสุขภาพต้านอนุมูลอิสระ ผลงานนิสิตจุฬาฯ คว้าเหรียญทองระดับโลก
The Skinov’e นวัตกรรมสกินแคร์จากเปลือกกล้วยหอมทองปทุม ผลงานวิจัยจุฬาฯ ที่ทำให้สิวเป็นเรื่องกล้วยๆ
น้ำยายืดอายุกระดาษ นวัตกรรมจุฬาฯ อนุรักษ์เอกสารและภาพศิลปะโบราณให้คงสภาพอีกนานนับทศวรรษ
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม
รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้