Highlights

Up Skill & Re Skill กับจุฬาฯ ปรับทักษะชีวิต ฝ่าวิกฤตหลังโควิด-19


อย่าให้วิกฤตดับฝัน เริ่มต้นใหม่ทุกวันด้วยการเรียนรู้ตลอดชีวิต อาจารย์จุฬาฯ แนะ up skill และ reskill ทักษะใหม่ ๆ อยู่เสมอ “รอดและรุ่ง” ได้ในโลกอันผันผวน


ไม่มีอะไรแน่นอนในโลกอันผันผวน สถานการณ์โควิด-19 ในช่วง 2 ปีกว่าที่ผ่านมา ส่งผลกระทบกับทุกคนอย่างถ้วนหน้า มากน้อยแตกต่างกันไป หลายธุรกิจต้องปิดตัว ลดขนาดองค์กร ปลดพนักงาน ธุรกิจปรับตัว ระบบการศึกษาปรับเปลี่ยน หลายครัวเรือนมีหนี้สินเพิ่ม รายจ่ายสูงขึ้นในขณะที่รายได้ลดลง ฯลฯ อีกยังมีภาวะสงคราม ราคาน้ำมันแพง ปัญหาเหล่านี้ฉุดเศรษฐกิจร่วง หลายคนกังวลใจว่าจะอยู่อย่างไรในโลกหลังโควิด-19 ดิสรัปชัน

ผศ.ดร.กวิน อัศวานันท์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬา

“วิกฤตต่างๆ ไม่ได้อยู่กับเราตลอดไป ถ้าเราใช้โอกาสในช่วงนี้ศึกษาและฝึกฝนศาสตร์ใหม่ๆ ทักษะที่เรามีจะมีความหมายกับชีวิตเราไปอีกเป็น 10 หรือ 20-30 ปีในอนาคต” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กวิน อัศวานันท์ อาจารย์ประจำภาควิชาพาณิชยศาสตร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว

ในฐานะกรรมการและเลขานุการหลักสูตรธุรกิจเทคโนโลยีและการจัดการนวัตกรรม (CUTIP) ผศ.ดร.กวิน กล่าวว่า ปัจจุบัน โลกแห่งการเรียนรู้เปิดกว้างมากขึ้น เช่น จุฬาฯ เปิด Chula MOOC คอร์สออนไลน์ฟรีที่ผู้สนใจทั่วไปสามารถสมัครเข้ามาเรียนได้อย่างไร้ข้อจำกัด หรือคอร์สจากต่างประเทศอย่าง Coursera Udemy ฯลฯ

“หากคนไทยพัฒนาศักยภาพและความสามารถของตนเองให้สอดคล้องกับความต้องการในตลาดแรงงานโลก คนไทยจะขายตัวเองในเวทีโลกได้ เราเพียงต้องฝึกฝนตัวเองให้โดดเด่น นอกจากทำงานแล้ว เราควรแบ่งเวลามาปรับปรุง พัฒนาตัวเอง และเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ จากงานและกิจกรรมที่ทำอยู่เสมอ”

ผศ.ดร.กวิน กล่าวถึงอุปนิสัย ทักษะ และความรู้สำคัญบางประการที่เราควรพัฒนาเรียนรู้ เพื่อให้ “อยู่ได้ อยู่ดี” ในโลกปัจจุบันและอนาคต ดังนี้

อุปนิสัยใฝ่เรียนรู้ และไม่ติดกรอบ

วิกฤตและโลกอันพลิกผันบอกเราว่าเราไม่อาจหยุดเรียนรู้แม้จะผ่านพ้นรั้วมหาวิทยาลัยไปแล้ว

 “นิสัยที่เราต้องฝึกคือความกระตือรือร้นและความกระหายในการแสวงหาความรู้และประสบการณ์อยู่เสมอ ที่สำคัญคือต้องมีความพากเพียรในการฝึกฝนทักษะใหม่ๆ อย่ายึดติดกับศาสตร์ วิชา หรือคณะที่ร่ำเรียนมา หรือกรอบความคิดทัศนคติที่ไม่ได้สอดคล้องกับโลกปัจจุบันแล้ว”

นิสัยรักการอ่าน

หนึ่งในวิธีการที่จะช่วยให้เราเท่าทันโลกคือการอ่าน ผศ.ดร.กวิน แนะนำให้ “นักเรียนรู้ตลอดชีวิต” อ่านหนังสือให้หลากหลายแนว โดยเฉพาะแนวที่สะท้อนเทรนด์ใหม่ๆ ทางสังคม เช่น การทำ Startup การทำธุรกิจแบบ Lead Generation นวัตกรรม AI (Artificial Intelligence) หรือ การทดลองความคิดสร้างสรรค์ การบริหารจัดการ การตลาดใหม่ ๆ หนังสือเหล่านี้จะช่วยให้เราก้าวทันความเป็นไปของโลก อ่านทิศทางของโลกและปรับตัวได้อย่างทันท่วงทีการเลือกอ่านหนังสือขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของแต่ละคน ในช่วงวิกฤต เราอาจไม่สามารถเลือกตามใจตัวเองได้ แต่ต้องดูแนวทางของตลาดและสิ่งที่โลกกำลังให้ความสนใจ รวมถึงเสริมความแข็งแรงของตนเองให้มีความพร้อมด้านการจัดการทุนและการสร้างทักษะดิจิทัลใหม่ ๆ เพื่อไขว่คว้าโอกาสในอนาคต และเมื่อเราไปถึงเป้าหมาย ตลาดจะตอบแทนเรา การทำเงินจะไม่เป็นเพียงการทำเพื่อให้ได้รับค่าตอบแทนเท่านั้น แต่จะเป็นการเก็บคะแนนคุณค่าของสิ่งที่เราสร้างด้วย

หรือสำหรับใครที่ชอบฟัง Podcast เกี่ยวกับการพัฒนาตนเองทั้งเวอร์ชันภาษาไทยและภาษาอังกฤษ มีหลากหลายช่องที่น่าสนใจ เช่น ช่องของคุณสุทธิชัย หยุ่น ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล และ The Standard ซึ่งเสนอประเด็นเกี่ยวกับเทรนด์ของโลกในปัจจุบันไว้เป็นอย่างดี เหมาะสำหรับการฟังขณะเดินทาง แต่การฟัง Podcast เป็นเพียงส่วนเสริมที่ไม่อาจทดแทนการอ่านได้ เพราะการอ่านเป็นการเรียนรู้แบบแอกทีฟที่เราได้หยุดและสื่อสารกับตัวเอง จะทำให้เราได้พัฒนาตัวเองและเรียนรู้สิ่งใหม่ไปพร้อมกัน

เรียนรู้ภาษาใหม่ๆ

การเรียนรู้ภาษาอื่นๆ ช่วยเปิดใจและเปิดประสบการณ์ชีวิตให้เราเห็นและเข้าใจโลกผ่านมุมมองของคนต่างวัฒนธรรม ยิ่งโลกสมัยใหม่ก้าวพ้นเรื่องพรมแดน ความสามารถในการสื่อสารภาษาอื่นๆ จะยิ่งทวีความสำคัญ และเปิดพื้นที่แห่งโอกาสในการทำงานและหาประสบการณ์ใหม่ๆ ในชีวิต

ภาษาใหม่ๆ เช่น ญี่ปุ่น ฮินดี จีน เวียดนาม อินโดนีเซีย เป็นต้น ตามแนวทางขึ้นอยู่กับความต้องการและสถานการณ์ของแต่ละคน เช่น หากสนใจในเรื่องธุรกิจเป็นหลัก ก็ควรให้ความสนใจกับภาษาจีน ภาษาอินโดนีเซีย หรือภาษาเวียดนาม ซึ่งกำลังเป็น Booming market ในตอนนี้ แต่หากจะเริ่มต้นด้วยภาษาที่ชอบ ควรคำนึงว่าตนเองจะมีโอกาสเติบโตมากเพียงใด เช่น ภาษาสเปนมีผู้ใช้มากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก แต่เราจะมีโอกาสทำธุรกิจหรือเดินทางไปเสริมประสบการณ์ที่นั่นหรือไม่

เมื่อเลือกเรียนภาษาใหม่ๆ เราต้องไม่ลืมให้ความสำคัญกับพื้นฐานภาษาอังกฤษก่อน เพราะภาษาอังกฤษเป็นเหมือนกุญแจที่ไขประตูสู่ข้อมูลและคลังความรู้มากมายทั่วโลก และหากมีความรู้ภาษาจีนที่มีคนใช้ทั่วโลกกว่า 1.3 พันล้านคนด้วย ก็จะยิ่งเปิดมุมมองและสร้างโอกาสได้ดียิ่งขึ้น ปัจจุบันมีสถาบันหลายแห่งและแอพพลิเคชันต่างๆ ที่เปิดโอกาสให้เรียนทักษะเหล่านี้ เช่น Go Future Academy ที่สอนทักษะการเขียนโค้ดดิ้งและภาษาจีน หรือ Duolingo ที่มีภาษาภาษาเวียดนาม ภาษาอินโดนีเซีย ให้ได้เรียน การลงทุนทางภาษาจะทำให้เราสามารถต่อยอดได้มากมาย เพื่อให้ปรับตัวในการติดต่อและสื่อสารกับประเทศมหาอำนาจด้านเศรษฐกิจชั้นนำของโลกต่าง ๆ ได้ต่อไป นอกจากการเรียนรู้ภาษาใหม่แล้ว ผศ.ดร.กวิน แนะให้นักเรียนและคนวัยทำงานฝึกทักษะการเขียน โดยเฉพาะการเขียนภาษาอังกฤษ

“คนไทยขาดทักษะในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก อาจจะพอพูดภาษาอังกฤษได้ แต่การเขียนต้องฝึกฝนอย่างมาก ทำไมทักษะการเขียนจึงสำคัญ เพราะเป็นทักษะที่สามารถ ‘ขาย’ ตัวเองในการนำเสนอและสร้างโอกาสของตัวเองในตลาดโลกได้”

คนวัยทำงานกับความรู้และทักษะด้านดิจิทัล (Digital literacy)

เราอยู่ในโลกดิจิทัลเต็มตัวแล้ว ความรู้และทักษะด้านนี้จึงจำเป็นที่ต้องศึกษาและทำให้เป็น เช่น รู้จักแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น e-commerce แอปพลิเคชันที่คนใช้กันทั่วโลก เป็นต้น สำหรับนักเรียน นิสิต และคนในวัยทำงาน ไม่ว่าจะอยู่ในแขนงศาสตร์ใด ยิ่งต้องควรฝึกทักษะดิจิทัล อาทิ การทำกราฟิก การถ่ายภาพ การตกแต่งภาพ การถ่ายทำและตัดต่อวิดีโอ ฯลฯ

“หากไม่ถนัดด้านศิลปะก็ควรจะต้องเรียนทักษะการคิดวิเคราะห์ คำนวนเชิงตรรกะ การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ Coding Data Analytics ผู้ที่มีทักษะเหล่านี้จะได้เปรียบ ไม่ต้องจำกัดตัวเองเพียงในตลาดแรงงานประเทศไทย แต่สามารถสร้างรายได้ในระดับโลกได้ โดยเฉพาะทักษะการคิดวิเคราะห์เชิงสถิติ แปลงผลข้อมูล เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ยังมีน้อยมาก”

SMEs กับทักษะการบัญชีและการตลาดออนไลน์

ในช่วงโควิด-19 ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็ก-กลางหลายรายได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก บางรายต้องเลือกปิดกิจการ บ้างลดขนาดธุรกิจ เลิกจ้างพนักงาน และเปลี่ยนวิธีการทำธุรกิจ เป็นต้น ในเรื่องนี้ ผศ.ดร.กวิน แนะนำผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ให้ใส่ใจพัฒนาทักษะ “การบริหารจัดการที่เป็นระบบ”

“ก่อนหน้านี้ ประเด็นนี้อาจไม่ค่อยเป็นปัญหาเพราะมีจำนวนลูกค้ามาก ทำให้ถัวเฉลี่ยค่าใช้จ่ายต่างๆ พอรอดไปได้ แต่เมื่อเกิดความผันผวนทางเศรษฐกิจ ลูกค้าลดลง ร้านค้าและธุรกิจเริ่มตระหนักถึงช่องโหว่ที่ต้องรีบจัดการแก้ไข จากนี้ ควรให้ความสำคัญกับการทำบัญชีที่ลงรายละเอียดให้เป็นกิจลักษณะ และคำนวณต้นทุน-รายรับรายจ่าย เป็นต้น” 

นอกจากเรื่องการลงบัญชีรายรับ-จ่าย ทักษะในยุคนี้ที่ผู้ประกอบการหลายรายควรพัฒนาคือกลลยุทธ์ให้ลูกค้า “มองเห็น” ในโลกออนไลน์ ทั้งนี้ ผศ.ดร.กวิน แนะว่า ธุรกิจอาจหาผู้มีความรู้มาช่วยเสริมหรือสอนทักษะด้านนี้ และในส่วนของสถาบันการศึกษาเอง ก็ควรส่งเสริมให้นิสิตนักศึกษาฝึกปฏิบัติลงพื้นที่ ให้คำแนะนำและทำกิจกรรมกับร้านค้าธุรกิจ นักศึกษาจะได้ประโยชน์จากการมี portfolio และเพิ่มพูนทักษะในการทำงาน


วิกฤตต่างๆ ไม่ได้อยู่กับเราตลอดไป ถ้าเราใช้โอกาสในช่วงนี้ศึกษาและฝึกฝนศาสตร์ใหม่ๆ ทักษะที่เรามีจะมีความหมายกับชีวิตเราไปอีกเป็น 10 หรือ 20-30 ปีในอนาคต

                                                                                                                                                                          ผศ.ดร.กวิน อัศวานันท์


ความรู้ – การลงทุนระยะยาวของผู้มีรายได้น้อย

กลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบมากถึงมากที่สุดคือกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ผู้มีรายได้น้อย มีระดับการศึกษาไม่สูง ที่ทักษะอาชีพและความรู้น้อยและจำกัด ผู้ที่มีอาชีพอิสระแบบผู้ค้าขาย ลูกจ้างรายวัน เป็นต้น คนกลุ่มนี้แม้ในยามก่อนโรคโควิด-19 ระบาด ค่าใช้จ่ายในครัวเรือนก็มากกว่ารายได้อยู่แล้ว เมื่อเจอวิกฤตโควิดซ้ำ และตามด้วยพิษเศรษฐกิจ ก็ยิ่งทำให้ภาวะหนี้สินท่วม แม้รัฐบาลจะออกมาตรการอัดฉีดเงินสนับสนุนแล้วก็ตาม

ผศ.ดร.กวิน แนะว่าทักษะความรู้ที่กลุ่มนี้ควรเรียนรู้คือการวางแผนการเงิน ทั้งระยะสั้นและระยะยาว รวมถึง “เงินสำรองฉุกเฉิน (emergency fund)” เพื่อเยียวยาหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เช่น อุบัติเหตุ การเลิกจ้าง เป็นต้น 

“สถาบันที่ให้ความรู้หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ต้องเข้ามาให้ความรู้กับคนกลุ่มนี้ เรื่องการเก็บเงินสำรอง และแนวทางการประหยัดรายจ่าย ซึ่งมีทั้งรายจ่ายที่จำเป็นและบางครั้งก็เป็นรายจ่ายที่ไม่จำเป็นแฝงอยู่ด้วย อย่างไรก็ตาม การหาสัดส่วนที่เหมาะสมในเรื่องรายจ่ายกับรายรับสำหรับคนกลุ่มนี้ค่อนข้างยาก เพราะปกติ ค่าใช้จ่ายก็มากกว่ารายได้อยู่แล้ว ถ้าเศรษฐกิจดี รายรับสูงขึ้น ค่าใช้จ่ายต่างๆ ก็สูงตาม เงินเก็บแทบไม่มีเลย” 

อาจารย์กวิน แนะให้ผู้มีรายได้น้อยที่กำลังเผชิญสถานการณ์คับขันทางการเงินในปัจจุบันว่า “ต้องสู้ ไม่เกี่ยงงาน และที่สำคัญต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับอาชีพอบายมุข” ส่วนการแก้ปัญหาปากท้องในระยะยาวนั้น ให้ลงทุนกับอนาคตของลูกหลาน

คนกลุ่มจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ ต้องลงทุนกับรุ่นลูกรุ่นหลานให้ได้รับการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น และตัวเด็กเองต้องเห็นถึงประโยชน์ของการขยันตั้งใจเรียน เพื่อซื้อโอกาสที่มากขึ้นในสังคม สื่อจะต้องเป็นกระบอกเสียง สะท้อนเรื่องราวของผู้ที่สร้างและเปลี่ยนฐานะของครอบครัว มีอาชีพที่ดีได้ด้วยการศึกษาและการใฝ่ดี

การเรียนรู้ไร้ขีดจำกัด

ไม่ว่าจะอยู่ในเศรษฐฐานะใด การพัฒนาตนเองให้มีความรู้และทักษะใหม่ๆ อยู่เสมอจะเป็นโอกาสพลิกชีวิตและพาเราผ่านวิกฤตต่างๆ ได้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดพื้นที่ให้ทุกคนได้เพิ่มพูนทักษะและความรู้ โดยผู้สนใจสามารถเข้าไปเรียนรู้คอร์สเรียนออนไลน์ฟรี! ที่ Chula MOOC https://mooc.chula.ac.th/ สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษา ก็สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติ่มได้ที่ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาฯ https://www.grad.chula.ac.th/index.php?lang=th

จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม

รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า