Highlights

“ทองคำยังเป็นสรวงสวรรค์แห่งความปลอดภัยอยู่หรือไม่”


คณาจารย์จากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ จุฬาฯ นำเสนอบทความโดยนำข้อคิดจากงานวิจัยชั้นนำที่เกี่ยวข้องกับบทบาทของทองคำในการเป็น “สรวงสวรรค์แห่งความปลอดภัย” หรือ “Safe Haven Asset”


ความผันผวนทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน อันสืบเนื่องจากโรคระบาดต่าง ๆ สงคราม และการเมืองระหว่างประเทศ ส่งผลให้ราคาอาหาร สินค้าอุปโภคบริโภค น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ มีราคาสูงขึ้น เกิดภาวะเงินเฟ้อในประเทศต่าง ๆ เพิ่มขึ้น สร้างความลำบากให้กับประชาชนทุกภาคส่วน ไม่เว้นแม้แต่นักลงทุนทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความผันผวนมากมายเหล่านี้ สิ่งหนึ่งที่หลายคนมักจะฝากความหวังไว้ และมักจะใช้เป็นทางออกสำหรับการ “หนีตาย” ในช่วงที่โลกเต็มไปด้วยความผันผวนก็คือ “ทองคำ”

ผศ.ดร.ปิยะชาติ ภิรมย์สวัสดิ์ ผศ.ดร.ภัทเรก ศรโชติ  และ รศ.ดร.พัฒนาพร ฉัตรจุฑามาส คณาจารย์จากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ จุฬาฯ ได้นำเสนอบทความโดยนำข้อคิดจากงานวิจัยชั้นนำที่เกี่ยวข้องกับบทบาทของทองคำในการเป็น “สรวงสวรรค์แห่งความปลอดภัย” หรือ “Safe Haven Asset” มาเผยแพร่ โดยเฉพาะงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับคำถามว่า “ทองคำยังเป็นสรวงสวรรค์แห่งความปลอดภัยอยู่หรือไม่”

สินทรัพย์แห่งความปลอดภัยคืออะไร

อ้างอิงงานวิจัยของ Prof.Dirk Baur แห่งมหาวิทยาลัย Western Australia (UWA) และ Prof. Brian Lucey จากวิทยาลัยทรินิตี้ของมหาวิทยาลัยดับลิน ได้นิยามสินทรัพย์แห่งความปลอดภัย หรือ “Safe Haven Asset” ไว้ว่า สินทรัพย์แห่งความปลอดภัยจะต้องเป็นสินทรัพย์ที่ผลตอบแทน “ไม่ติดลบ” โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่สินทรัพย์หลัก (เช่น หุ้น) เข้าสู่ภาวะวิกฤต นอกจากนี้ต้องมีผลตอบแทน “เป็นบวก” ในช่วงเวลาที่สินทรัพย์หลักเข้าสู่ภาวะวิกฤต สินทรัพย์แห่งความปลอดภัยนี้จะถูกจัดว่าเป็นสินทรัพย์แห่งความปลอดภัยที่แข็งแกร่ง หรือ “Strong Safe Haven Asset” ดังนั้นนิยามของ Prof.Dirk Baur และ Prof.Brian Lucey ข้างต้น จะไม่สนใจเลยว่าสินทรัพย์แห่งความปลอดภัยจะมีผลตอบแทนเป็นอย่างไรในช่วงเวลาปกติ

ทำไมทองคำถึงเป็นสินทรัพย์แห่งความปลอดภัย

เหตุผลหลักหรืออาจจะเป็นเหตุผลเดียวที่ทำให้ทองคำถูกจัดเป็นสินทรัพย์แห่งความปลอดภัยคือ การที่นักลงทุนทั่วไป “เชื่อว่า” ทองคำเป็นสินทรัพย์ที่จัดว่ามีความเสี่ยงต่ำมากโดยเฉพาะในภาวะวิกฤต ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ทำให้เกิดคำถามสำคัญถึง 2 คำถามนั่นคือ คุณลักษณะอะไรของทองคำที่ทำให้นักลงทุนทั่วไปมีความเชื่อเช่นนี้ งานวิจัยของ Prof. Dirk Baur (และ Thomas McDermott) ซึ่งเป็นงานวิจัยที่สำคัญที่ใช้หลักการของเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม (Behavioral Economics) ได้ให้เหตุผลว่า ในยามที่โลกอยู่ในภาวะวิกฤตที่มีความผันผวนสูง นักลงทุนจะเลือกใช้ข้อมูลจากประสบการณ์ในอดีต “ที่นึกถึงได้ง่ายและเด่นชัดที่สุด” เพื่อการตัดสินใจให้สำเร็จโดยเร็วที่สุด (แม้ว่าอาจไม่ใช่การตัดสินใจที่ดีที่สุด) ซึ่ง ภาพของทองคำที่เป็นสีเหลืองทองส่องสว่าง จับต้องได้จริง รวมทั้งประสบการณ์ที่ดีของทองคำในอดีตที่ถูกใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน (Medium of Exchange) อย่างแพร่หลายทั่วโลก หรือแม้แต่การที่ประเทศต่าง ๆ ยังคงเก็บและใช้ทองคำเป็นส่วนหนึ่งของทุนสำรองระหว่างประเทศ  ทำให้นักลงทุนคิดเหมือน ๆ กันว่า ทองคำน่าจะเป็นสินทรัพย์แห่งความปลอดภัยได้ในภาวะวิกฤต 

ทองคำยังเป็นสินทรัพย์แห่งความปลอดภัยอยู่หรือไม่

คำถามสำคัญคำถามที่สองที่นักลงทุนทุกคนควรตระหนักอยู่ตลอดเวลาคือ ทองคำยังเป็นสินทรัพย์แห่งความปลอดภัยอยู่หรือไม่ เพราะการที่ทองคำจะเป็นสินทรัพย์แห่งความปลอดภัยได้นั้นขึ้นอยู่กับ “ความเชื่อ” ของนักลงทุนทั่วไป ศาสตราจารย์ Dirk Baur (และ Thomas McDermott) ได้เคยกล่าวไว้ในงานวิจัยอย่างน่าสนใจว่า ทองคำมีโอกาสที่จะเป็นสินทรัพย์แห่งความปลอดภัยเพียงชั่วคราว หรือจนกว่านักลงทุนจะหมดความเชื่อมั่นในคุณค่าของทองคำ ดังนั้นถ้าเมื่อไหร่การลงทุนในทองคำสร้างประสบการณ์ที่ไม่ดีต่อนักลงทุนในช่วงภาวะวิกฤตซ้ำแล้วซ้ำเล่า โอกาสที่นักลงทุนจะหมดความเชื่อมั่นอย่างถาวรในคุณค่าของทองคำ เป็นสิ่งที่มีความเป็นไปได้สูง

เพื่อตอบคำถามที่สำคัญนี้ คณาจารย์จากศศินทร์ฯ ได้ทำโครงการวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนรัชดาภิเษกสมโภชแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยโครงการวิจัยนี้มีจุดประสงค์หลักที่จะตอบคำถามว่า ทองคำยังเป็นสินทรัพย์แห่งความปลอดภัยในภาวะวิกฤตโควิด-19 อยู่หรือไม่ เพื่อให้เห็นความสัมพันธ์ของทองคำกับสินทรัพย์หลักอย่าง S&P500 (ซึ่งเป็นดัชนีหุ้นของบริษัทขนาดใหญ่ 500 บริษัทในประเทศสหรัฐอเมริกา) ภาพที่ 1 นำเสนอความสัมพันธ์ของทองคำกับ S&P500 ในอดีต ซึ่งสามารถเห็นได้ชัดเจนว่าในช่วงวิกฤตในอดีตอย่างเช่น วิกฤตฟองสบู่ดอทคอม (ช่วงปี ค.ศ. 2000) และวิกฤตสินเชื่อซับไพรม์ (ช่วงปี ค.ศ. 2007) ราคาทองคำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในขณะที่ราคาของ S&P500 ปรับตัวลดลงในช่วงวิกฤต

ภาพที่ 1: ความสัมพันธ์ของทองคำกับ S&P500 ในอดีต (ภาพซ้าย: วิกฤตฟองสบู่ดอทคอม; ภาพขวา: วิกฤตสินเชื่อซับไพรม์

ที่มา: ผู้เขียนคำนวณจากข้อมูลราคา S&P500 (แกนซ้าย) จาก Yahoo Fianance และ ข้อมูลราคาทองคำ (แกนขวา) จาก World Gold Council

ภาพที่ 2 นำเสนอความสัมพันธ์ของทองคำกับ S&P500 ในปัจจุบัน โดยช่วงเวลาที่นำเสนอจะเป็นช่วงเวลาก่อนและหลังการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 (ภาพซ้าย) รวมถึงช่วงเวลาที่เกิดสงครามระหว่างประเทศรัสเซียกับประเทศยูเครน (ภาพซ้าย)

ภาพที่ 2: ความสัมพันธ์ของทองคำกับ S&P500 ในปัจจุบัน (ภาพซ้าย: วิกฤตโควิด-19; ภาพขวา: วิกฤตสงครามระหว่างประเทศรัสเซียกับประเทศยูเครน

ที่มา: ผู้เขียนคำนวณจากข้อมูลราคา S&P500 (แกนซ้าย) จาก Investing.com และ ข้อมูลราคาทองคำ (แกนขวา) จาก World Gold Council

สิ่งที่น่าสนใจจากภาพที่ 2 คือความความสัมพันธ์ของทองคำกับ S&P500 ดูเหมือนจะเริ่มเปลี่ยนไปจากเมื่อก่อน โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตสงครามระหว่างประเทศรัสเซียกับประเทศยูเครน ที่ทำให้เกิดความผันผวนในราคาน้ำมัน ราคาก๊าซธรรมชาติ และราคาอาหาร รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เป็นช่วงที่ราคาทองคำปรับตัวลดลงซึ่งเป็น “ทิศทางเดียวกัน” กับการปรับตัวลดลงของราคา S&P500 ดังนั้นสิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าความสัมพันธ์ของทองคำกับราคาสินทรัพย์หลักอย่าง S&P500 อาจไม่เหมือนเดิมอย่างในอดีต (ที่เวลาหุ้นตก ทองคำมักจะปรับตัวขึ้นเสมอ) นอกจากนี้โครงการวิจัยนี้ได้ใช้แบบจำลองทางเศรษฐมิติที่เป็นมาตรฐานในการพิสูจน์ว่าทองคำยังเป็นสินทรัพย์แห่งความปลอดภัยในภาวะวิกฤตโควิด-19 และวิกฤตสงครามระหว่างประเทศรัสเซียกับประเทศยูเครนอยู่หรือไม่ ซึ่งโครงการนี้พบหลักฐานทางสถิติที่สอดคล้องกับคำกล่าวข้างต้น

อนาคตของทองคำ

คณาจารย์ศศินทร์ฯ ผู้เขียนบทความเชื่อว่าทองคำเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่สำคัญของนักลงทุนที่สามารถช่วยกระจายความเสี่ยงในการลงทุนได้ อย่างไรก็ดี ข้อคิดที่สำคัญที่สุดของบทความนี้ “ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน” (uncertainty is certainty) การที่ทองคำเคยมีคุณลักษณะเป็นสินทรัพย์แห่งความปลอดภัยที่แข็งแกร่งในอดีต อาจไม่ใช่สิ่งที่สามารถยืนยันได้ในอนาคตว่าทองคำจะมีคุณลักษณะเช่นนี้ตลอดไป ดังนั้นการตระหนักถึงความไม่แน่นอน รวมถึงการยอมรับถึง “สิ่งที่เราไม่รู้” เป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับการใช้ชีวิตและการลงทุนอย่างไม่ประมาท  และให้เข้าใจในประโยคที่เรามักจะได้ยินกันตลอดเวลาว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง”

อ้างอิง

Baur, D. G., & Lucey, B. M. (2010). Is gold a hedge or a safe haven? An analysis of stocks, bonds and gold. Financial review, 45(2), 217-229.

Baur, D. G., & McDermott, T. K. (2016). Why is gold a safe haven?. Journal of Behavioral and Experimental Finance, 10, 63-71.

ผลผลิตของจุฬาฯ คือ การผลิตบัณฑิต สร้างคนคุณภาพสู่สังคม

ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า