รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
Highlights
7 กุมภาพันธ์ 2566
ผู้เขียน ภัทรพร รักเปี่ยม
ทีมวิจัยคณะแพทยศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมพัฒนา AICute นวัตกรรรมตรวจประเมินโอกาสของการเป็นโรคหลอดเลือดสมองที่เกิดจากโรคหัวใจ มุ่งช่วยโรงพยาบาลที่ขาดแคลนแพทย์เฉพาะทางด้านโรคหัวใจ เพิ่มประสิทธิภาพการรักษาโรคหลอดเลือดสมอง ลดความแออัดในโรงพยาบาลศูนย์หรือโรงเรียนแพทย์
ในแต่ละปี คนไทยจำนวนมากป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง (stroke) หลายคนเสียชีวิตและอีกจำนวนมากต้องพิการช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ แม้โรคนี้จะเป็นโรคที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน แต่ก็ใช่ว่าจะตรวจประเมินความเสี่ยงล่วงหน้าเพื่อป้องกันไว้ก่อนไม่ได้
ทีมวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงร่วมกันคิดค้นและพัฒนาเครื่องมือที่จะช่วยตรวจประเมินโอกาสในการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยในลำดับแรก ทีมวิจัยประสบความสำเร็จในการพัฒนานวัตกรรมที่ช่วยตรวจประเมินความเป็นไปได้ในการเป็นโรคหลอดเลือดสมองที่มีสาเหตุมาจากโรคหัวใจ โดยให้ชื่อว่า “AICute” ซึ่งทีมวิจัยหวังให้นวัตกรรมดังกล่าวสนับสนุนการดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล ที่ขาดแคลนเครื่องมือและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ
ประเทศไทยมีผู้ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมอง หรือที่เรียกกันว่า Stroke ราว 250,000 คนต่อปี หรือกล่าวได้ว่าในทุก ๆ 2 นาที จะมีผู้ป่วยด้วยโรคนี้ 1 คน! ในจำนวนนี้ 30% อาจเสียชีวิต อีก 30% พิการรุนแรง ขยับแขนขาไม่ได้ ปากเบี้ยว ส่วนผู้ป่วยอีก 40% มีโอกาสกลับคืนสู่สภาพปกติหรือมีอาการของโรคเหลืออยู่บ้างเล็กน้อย
แม้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองส่วนใหญ่จะมีอายุอยู่ในช่วง 50-60 ปี แต่ปัจจุบันพบว่าผู้ป่วยมีอายุน้อยลงเรื่อย ๆ เนื่องจากรูปแบบการใช้ชีวิตที่ขาดการออกกำลังกาย พักผ่อนไม่เพียงพอ สูบบุหรี่ ใช้สารเสพติด รับประทานอาหารไม่สมดุล และมีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน โรคนอนกรน และโรคหัวใจ
แม้โรคหลอดเลือดสมองจะเป็นอันตรายถึงชีวิต แต่หากรู้สาเหตุที่ก่อโรค และเข้ารับการรักษาได้เร็ว โอกาสหายจากโรคก็มีสูงและลดการเกิดโรคซ้ำได้
“การหาสาเหตุของโรคสำคัญต่อการให้แนวทางการรักษาที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ หากไม่หาสาเหตุ ก็มีโอกาสเป็นโรคนี้ซ้ำ และเมื่อเป็นซ้ำครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 โอกาสที่จะพิการก็มากขึ้น ทำให้ต้องอยู่ในภาวะพึ่งพิง เป็นภาระของผู้ดูแลและค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาก็เพิ่มขึ้นด้วย” อ.นพ. วสันต์ อัครธนวัฒน์ จากศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ด้านโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าว
โรคหลอดเลือดสมองเกิดได้จากหลายสาเหตุ (อ่านเพิ่มเติมใน information box) ซึ่งแต่ละสาเหตุก็มีแนวทางการรักษาต่างกัน ทั้งนี้ ในปัจจุบัน พบว่า 18% ของโรคหลอดเลือดสมองมาจากโรคหัวใจ
“ผู้ป่วยในกลุ่มนี้มักเป็นผู้ป่วยโรคหัวใจ ชนิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ และชนิดลิ้นหัวใจผิดปกติ หรือภาวะหัวใจโต ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดลิ่มเลือดที่หัวใจ และลอยไปอุดตันที่สมอง ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองได้”
อ.นพ.วสันต์ อธิบายว่าในการหาสาเหตุของโรคหลอดเลือดสมองที่มาจากโรคหัวใจนั้น จำเป็นต้องมีการตรวจหัวใจอย่างละเอียดและอาศัยความชำนาญของแพทย์เฉพาะทางด้านโรคหัวใจ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ยังขาดแคลนในโรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล
“โรงพยาบาลดังกล่าวคงไม่สามารถส่งตัวผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองไปตรวจหาโรคหัวใจโดยละเอียดได้ทุกคน เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง อีกทั้งการส่งตัวผู้ป่วยไปตรวจที่โรงพยาบาลศูนย์หรือโรงเรียนแพทย์ก็จะทำให้เกิดปัญหาความแออัดในโรงพยาบาล นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทีมวิจัยเลือกที่จะพัฒนานวัตกรรมเพื่อการตรวจประเมินโรคหลอดเลือดสมองที่เกิดจากหัวใจก่อนเป็นอันดับแรก” อ.นพ. วสันต์ หนึ่งในทีมวิจัยและพัฒนานวัตกรรม AICute กล่าว พร้อมอธิบายความหมายของชื่อนวัตกรรม AICute ว่า “หากพูดเร็ว ๆ เสียงของ AICute จะคล้ายกับคำว่า acute ซึ่งหมายถึงลักษณะอาการที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันทันใดของโรคหลอดเลือดสมองที่ต้องรีบรับการรักษา”
นอกจากศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ แล้ว นวัตกรรม AICute เกิดขึ้นได้จากความร่วมมือจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และกลุ่มนิสิตจุฬาฯ ภายใต้การสนับสนุนของศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรม จุฬาฯ (Chula UTC)
AICute เป็นเว็บแอปพลิเคชันที่มีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ช่วยวิเคราะห์และประเมินความเป็นไปได้ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ที่มีความเสี่ยงสูงจากโรคหัวใจ ช่วยให้แพทย์ในโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลขนาดเล็ก สามารถตัดสินใจและเลือกส่งผู้ป่วยตรวจหัวใจได้รวดเร็วขึ้น ทำให้การรักษาโรคหลอดเลือดสมองมีประสิทธิภาพมากขึ้น
อ.นพ.วสันต์ อธิบายถึงการใช้งาน AICute ว่า “แพทย์ผู้ใช้อุปกรณ์เพียงล็อกอินผ่านเว็บแอปพลิเคชัน และกรอกข้อมูลเข้าไปในระบบ เป็นข้อมูลหลัก ๆ 2 อย่าง คือ อาการของผู้ป่วยกับประวัติบางส่วน และภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง จำนวน 30-32 รูป ซึ่งส่วนใหญ่โรงพยาบาลขนาดเล็กก็จะมีเครื่องมือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองอยู่แล้ว จากนั้นตัวแอปพลิเคชันจะนำข้อมูลมาประมวลผล ใช้เวลาประมาณ 3-5 นาที แล้วสรุปออกมาเป็นรายงานว่าผู้ป่วยมีความเป็นไปได้กี่เปอร์เซ็นต์ ที่จะเป็นโรคหลอดเลือดสมองที่เกิดจากโรคหัวใจ หลังจากนั้น แพทย์ผู้ใช้งานจะอ่านผลและตัดสินใจว่าจะส่งผู้ป่วยตรวจทางหัวใจต่อหรือไม่”
อ.นพ.วสันต์ กล่าวว่า AICute มีความแม่นยำในการประมวลผลและตรวจพบความผิดปกติอยู่ที่ 92-94% โดยอ้างอิงจากฐานข้อมูลภาพเอกซเรย์ความละเอียดสูงในการประมวลผลกว่า 40,000 ภาพ
อ.นพ.วสันต์ เผยว่าปัจจุบัน AICute ยังอยู่ในเฟสของงานวิจัยและได้เริ่มทดลองใช้งานแล้วภายในโรงพยาบาลจุฬาฯ ซึ่งได้ผลตอบรับดี เป็นที่น่าพอใจ
“ทางทีมวิจัยมีแผนว่าจะวิจัยต่อในกลุ่มคนไข้จริงเป็นกลุ่มใหญ่และเก็บข้อมูลนอกโรงพยาบาลจุฬาฯ เพื่อปรับปรุง AI ให้ดีขึ้น อีกทั้งพัฒนา interface ให้ใช้งานง่าย สวยงาม โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณกลางปีนี้ (2566) และเปิดให้โรงพยาบาลอื่น ๆ ที่สนใจได้ใช้งานและพัฒนาวิจัยร่วมกัน โดยในระยะยาวจะออกเป็นซอฟต์แวร์เชิงพาณิชย์ ที่มีค่าใช้จ่ายในการใช้งาน”
ในอนาคต ทีมวิจัยยังมีแผนการพัฒนา AI เพื่อตรวจหาสาเหตุโรคหลอดเลือดสมองอื่น ๆ ซึ่งอาจต้องมีการเพิ่มฐานข้อมูลภาพการเอกซเรย์หลอดเลือด และการฉีดสี เพื่อใช้ในการประมวลผลต่อไป
โรงพยาบาลที่สนใจ AICute สามารถติดต่อ ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ อาคารภูมิสิริ ชั้น 7 โซน Cหรือโทร. 02 256 4000 ต่อ 80724-5
หุ่นยนต์ดินสอรุ่นล่าสุด “Home AI Assistance” ผู้ช่วยประจำบ้านดูแลผู้สูงอายุตลอด 24 ชั่วโมง อีกก้าวของหุ่นยนต์สัญชาติไทย
Halal Route Application กิน เที่ยวทั่วไทย ปลอดภัยสไตล์ฮาลาล
ร้อยแก้วแนวต่างโลก! (Isekai) ชุบชีวิตวรรณคดีไทยด้วยรูปแบบร่วมสมัย โดนใจคนรุ่นใหม่
โคโค่แลมป์ แก้ปัญหาลูกเต่าหลงทาง นวัตกรรมพิทักษ์ชีวิตลูกเต่าทะเล จากนิสิตจุฬาฯ
ทางออกวิกฤตราคาโกโก้ไทย “ศูนย์นวัตกรรมการวิจัยและพัฒนาโกโก้ไทยเพื่อความยั่งยืน จุฬาฯ” เติมหวังให้เกษตรกรและธุรกิจโกโก้ไทย
จุฬาฯ น่าเที่ยว! เปิดพิกัดเที่ยวเพลินในจุฬาฯ ชมสถาปัตยกรรม พิพิธภัณฑ์ และดนตรี
จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้ ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้
ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้