ข่าวสารจุฬาฯ

สรุปเวทีจุฬาฯ เสวนา ครั้งที่ 13 “ TCAS – ทีใคร มองอนาคตการศึกษาไทย”

 

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดเวทีจุฬาฯ เสวนา ครั้งที่ 13 เรื่อง “ TCAS  –  ทีใคร มองอนาคตการศึกษาไทย” เมื่อวันจันทร์ที่ 11 มิถุนายน 2561 ณ ห้องประชุม 202 อาคารจามจุรี 4 เพื่อเผยแพร่ความรู้และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับระบบกลางการสอบคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษารูปแบบใหม่ หรือระบบ TCAS ซึ่งที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ได้นำมาใช้เป็นครั้งแรกในปีการศึกษา 2561 และเกิดปัญหาในด้านต่างๆ ตามมา เพื่อนำเสนอทางออกของปัญหาร่วมกัน โดยมี ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต รองอธิการบดี จุฬาฯ เป็นผู้กล่าวเปิดงานเสวนา ดำเนินรายการโดย อ.ดร.เจษฎา ศาลาทอง ภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ

 

 

 

คุณมนัส อ่อนสังข์ (ลาเต้) บรรณาธิการข่าวการศึกษาและแอดมิชชั่น เว็บไซต์ DEK-D.com  ให้มุมมองว่า TCAS ประกาศล่วงหน้าก่อนใช้จริง 4 เดือนเท่านั้น แต่ก็ไม่ได้เปลี่ยนระบบแบบหน้ามือเป็นหลังมือ เป็นเหมือนการจัดระเบียบให้ทุกมหาวิทยาลัยเปิดรับในช่วงเวลาที่กำหนด ลดค่าใช้จ่าย ค่าเดินทางและค่าที่พักในการไปสอบตามมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยให้ใช้ข้อสอบกลางและนำคะแนนไปยื่น และให้มีการสอบหลังจบ ม.6 เพื่อไม่ให้เด็กทิ้งการเรียนในห้อง ซึ่งการนำมาใช้เลยโดยไม่มีการทดลองใช้ก่อนทำให้เกิดปัญหาตามมา

คุณลาเต้ ได้สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นกับนักเรียน เริ่มจากการสอบหลังจบ ม.6 เด็กทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ากดดันมาก เพราะจบ ม.6 เดือนกุมภาพันธ์แล้ว เดือนมีนาคมมีการสอบทุกเสาร์-อาทิตย์ แต่ละสนามสอบก็ไม่เอื้อกัน คนละเนื้อหาคนละวิชา เรื่องค่าเดินทางที่พักก็ลดจริง แต่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่แพงกว่า เช่น รอบแรก ทปอ. ให้ทุกมหาวิทยาลัยคัดเลือกจากการยื่นพอร์ตโฟลิโอ ห้ามจัดสอบ หลายมหาวิทยาลัยเลยไปใช้คะแนนของหน่วยงานเอกชนที่จัดสอบแทน ซึ่งมีค่าสมัครสอบสูงมาก อีกทั้งเสียค่าใช้จ่ายในการทำพอร์ตโฟลิโอหลายเล่มเพื่อส่งให้แต่ละมหาวิทยาลัยที่สมัคร อีกประเด็นคือการกั๊กที่ ซึ่ง ทปอ.บอกว่า TCAS  ลดปัญหาได้ เพราะสมัยก่อนเด็กติด 10 ที่ ตอนนี้ติดได้มากที่สุด 4 ที่ แต่ในมุมของน้องๆ คนที่ติดถึง 10 ที่มีน้อยมาก ระบบใหม่ให้ทุกคนสมัครได้มากที่สุด 4 ที่ ทำให้ปริมาณการกั๊กที่มากขึ้น

“ในบางมุม ระบบเก่าๆ ก็มีการกั๊กที่แต่มันอยู่ใต้ดิน แต่ระบบใหม่ทำให้โปร่งใสขึ้น ที่สำคัญระบบเก่าเวลาประกาศผล มหาวิทยาลัยจะประกาศห่างกันที่ละประมาณ 2 เดือน แต่ระบบใหม่ให้ทุกมหาวิทยาลัยประกาศใน 3 วัน น้องเลยเห็นชื่อคนเดิมซ้ำๆ เรียกว่าระบบนี้นำสิ่งที่ไม่ดีในอดีตขึ้นมาให้เห็น นอกจากนี้ นักเรียนหลายคนยังมองว่า TCAS มีการจัดการไม่ดี เช่น ทั้งที่รู้ว่าจะเกิดการกั๊กที่ เหตุใดจึงไม่มีระบบตัวสำรองเรียกขึ้นมา และที่สะท้อนหนักคือการนำ TCAS มาใช้กะทันหันเกินไป จนบางมหาวิทยาลัยเตรียมตัวไม่ทัน”  คุณลาเต้ กล่าว

 

รศ.ดร.วิชาญ ลิ่วกีรติยุตกุล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ แสดงความเห็นว่า ระบบ TCAS ออกแบบให้ทุกคนต้องผ่านท่อเดียวกัน ซึ่งเด็กเก่งจะหลุดจากระบบไปตั้งแต่รอบแรกๆ จึงไม่มีปัญหา แต่เด็กปานกลางหรือรองลงไปจะอยู่ในระบบยาวขึ้น ทำให้มีความเครียดซ้ำแล้วซ้ำอีก ทั้งที่แต่ก่อนเด็กไม่ต้องผ่านทุกรอบ บางคน  ไม่สนใจระบบพอร์ตโฟลิโอ ระบบโควตา รับตรงก็สมัครแค่ 2 – 3 ที่ หรือรอยื่นแอดมิชชั่นเลย

รศ.ดร.วิชาญ กล่าวว่า  TCAS เป็นระบบช่วยมหาวิทยาลัยต่างๆ จัดการร่วมกัน มีการส่งข้อมูลกลับไปกลับมาระหว่าง ทปอ. กับมหาวิทยาลัยหลายรอบ แต่ละขั้นตอนต้องใช้เวลา ในแง่หนึ่ง มหาวิทยาลัยต้องมีความพร้อม เช่น สมัยก่อนรับตรง คณะอาจมีเวลาพิจารณาคะแนน 15 – 30 วัน แต่ระบบใหม่มีเวลาแค่ 3 วัน ถ้าเจ้าหน้าที่มีไม่พอหรือระบบคอมพิวเตอร์ไม่พร้อม ก็อาจเกิดข้อผิดพลาดที่ทำให้เสียหายทั้งระบบ และกระทบต่อความเชื่อมั่น

“TCAS มีการเรียกเป็นรอบ 1 – 5 ซึ่งรอบที่สำคัญจริงๆ คือรอบ 4 ที่เป็นแอดมิชชั่นกลาง แต่การที่เด็กต้องผ่านจากรอบ 1 – 3 มาก่อน จะทำให้เด็กส่วนใหญ่มีความมั่นใจลดลงไปเรื่อยๆ พอมาถึงรอบ 4 คว้าอะไรได้ก็จะคว้าไว้ก่อน ดังนั้นถ้าเราไม่เรียกรอบ 1 – 5 แต่เรียกแบบที่สะท้อนธรรมชาติของรอบนั้นจริงๆ เด็กก็อาจไม่รู้สึกเหมือนตัวเองตกรอบ” รศ.ดร.วิชาญ กล่าว

 

ด้าน ผศ.ดร.ประเสริฐ คันธมานนท์ เลขาธิการที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ชี้แจงเกี่ยวกับ TCAS รูปแบบ 4 ว่า ทปอ. ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเปิดศูนย์ช่วยเหลือ “พี่ช่วยน้องสอบ TCAS” รวม 9 แห่ง เพื่อช่วยเหลือเรื่องขั้นตอนการสมัคร ซึ่ง TCAS รูปแบบ 4 หรือรอบแอดมิสชั่นส์เดิม มีจำนวนรับที่มีการลงทะเบียนไว้กว่า 80,000 คน   สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้มี 2 ด้าน คือ การกันที่ อีกด้านคือเดือนมิถุนายนแล้วยังไม่มีที่เรียน ซึ่งเราต้องดูที่มาตั้งแต่เริ่มต้น ในปีที่แล้วมีปัญหาทั้งเรื่องค่าใช้จ่ายในการสอบ การวิ่งรอกสอบ เด็กขาดเรียนไปสอบ จองสิทธิ์ไว้แต่ไม่มาเรียนทำให้มีที่นั่งว่าง ฯลฯ จนเกิดนโยบายกระทรวงศึกษาธิการให้ระบบการคัดเลือกต้องเอื้อให้นักเรียนใช้เวลาในห้องเรียนจนจบหลักสูตร ให้ใช้ผลการสอบส่วนกลางมาใช้ในการคัดเลือกทุกระบบ รวมทั้งให้ความสำคัญกับระบบแอดมิชชั่น ซึ่งระบบ TCAS  ถูกออกแบบมาโดยยึดกับกติกานี้

“เราจัดการเรื่องการวิ่งรอกแล้วกันที่โดยใช้ระบบเคลียริงเฮ้าส์คือหนึ่งคนหนึ่งสิทธิ์ ซึ่งก็ได้ผลในระดับหนึ่ง โดยส่วนตัวคิดว่ารอบพอร์ตโฟลิโอนั้นมีข้อดีทำให้ได้เด็กที่มีความชำนาญเฉพาะด้าน โดยไม่จำเป็นต้องเป็นเด็กเก่ง รอบโควตาก็เป็นการให้โอกาสเด็กในพื้นที่อย่างเท่าเทียมมากขึ้น สิ่งที่เป็นประเด็นจริงๆ คือ TCAS  รอบ 3 ทั้งเรื่องกันที่และการจัดลำดับ เราได้รับไว้หมดและเชื่อว่าปีหน้าจะแก้ปัญหาได้แน่นอน แต่มหาวิทยาลัยต้องช่วย เพราะเกณฑ์การตัดสินเป็นของมหาวิทยาลัย ซึ่งเรามี 3,000 กว่าหลักสูตร ก็จะมีกว่า 3,000 เกณฑ์ แต่ปีนี้ไม่สามารถปรับได้ จึงมีรอบ 3/2 มาช่วย ส่วนประเด็นเรื่องระยะเวลาที่ขาดช่วงเกินไปหรือห่างกันเกินไประหว่างรอบแรกกับรอบสุดท้าย จริงๆ แล้วเราพยายามให้โอกาส แต่ปีหน้าก็จะจัดการเรื่องนี้ใหม่ให้กระชับขึ้น” เลขาธิการ ทปอ. กล่าว

ในประเด็นอนาคตของการศึกษาไทย ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล นักวิชาการด้านการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ตอนนี้มหาวิทยาลัยผลิตบัณฑิตตามความต้องการตลาด ทำให้ระบบการรับเข้าที่เป็นคอขวดถูกออกแบบมาเพื่อการนั้น มหาวิทยาลัยพยายามที่จะสรรหาเด็กเก่งให้ได้ก่อน ต่อให้แก้ระบบ คนก็จะซิกแซกไปเรื่อย คำถามคือเรามีมหาวิทยาลัยไว้เพื่อผลิตแรงงานป้อนตลาดเท่านั้น หรือมหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่ที่คนหนุ่มสาวมาค้นพบตัวเอง พัฒนาตัวเองเพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนสังคม

ผศ.อรรถพล ชี้ว่า ตอนนี้สังคมไทยอยู่ภาวะกบต้มในน้ำร้อน คนเริ่มสัมผัสความร้อนได้มากขึ้น ปีนี้คนเริ่มเห็นปัญหาที่ซุกไว้ใต้พรม เด็กเก่งเนื้อหาไปได้ทุกที่ มีเงินก็มีโอกาสสอบได้มากกว่า สังคมไทยต้องตั้งคำถามว่าเราอยากได้สังคมแบบไหน ยิ่งในเราอยู่ในสังคมสูงอายุที่คนหนุ่มสาวมีน้อยลง ทุกอาชีพควรจะมีความหมาย และเราจะไปไกลกว่าการเตรียมคนเข้าทำงานได้อย่างไร เพราะตอนนี้เป้าหมายของมหาวิทยาลัยไม่ชัด เราจึงออกแบบระบบตามค่านิยมสังคม ทำให้ทุกฝ่ายน่าเห็นใจ

“ประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องควรได้รับการถกเถียง ไม่เช่นนั้นเราจะอยู่กับการศึกษาที่นับวันก็ยิ่งแข่งขันสูง ทุกคนโดดลงไปเป็นผู้เล่นในเกม และพยายามดิ้นรนพาลูกหลานขึ้นไปให้ได้ โดยไม่สนว่าใครจะหล่นลงไปข้างล่างบ้าง ถ้าเราปล่อยไปอย่างนี้เรื่อยๆ สังคมในอนาคตจะเป็นอย่างไร ที่นั่งในมหาวิทยาลัยจริงๆ มีเพียงพอสำหรับเด็ก แต่ค่านิยมที่มีต่อคณะต่อสถาบันยังมีเหมือนเดิม ทั้งที่โลกของงานเปลี่ยนไปหมดแล้ว วันนี้จะเตรียมเด็กเก่งแค่ไหน อีก 5 ปี 10 ปี ไม่ได้การันตีว่างานแบบนี้จะมีอยู่ในอนาคต ตอนนี้น้ำร้อนกำลังเตือนว่าเราต้องกระโดดออกจากหม้อได้แล้ว แต่เราต้องกระโดดไปด้วยกัน เพราะสังคมเราทิ้งกันไม่ได้” ผศ.อรรถพล กล่าว

ผศ.ดร.พรรณระพี สุทธิวรรณ คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาฯ กล่าวในแง่จิตวิทยาว่า เวลามีเหตุการณ์ที่สังคมเข้ามาช่วยกันคิดช่วยกันทำในเวลาสั้นๆ จุดมุ่งเน้นจะมาอยู่ที่ความรู้สึก ใช้อารมณ์เยอะ จนบางทีไม่ฟังเหตุผลกัน ซึ่งทุกคนเป็น จึงต้องใจเย็นๆ TCAS เป็นเรื่องการแข่งขันและโอกาสที่เคยเกิดมาแล้วกับทุกคน แต่ครั้งนี้เครียดหนักกว่าเดิม เพราะเป็นระบบใหม่จึงมีความไม่แน่นอน ไม่มั่นใจ ทำให้เกิดความสับสน ทำให้เด็กยิ่งเครียด กังวล และกลัว รวมทั้งยังเกิดซ้ำหลายหน

ในแง่จิตวิทยา อะไรที่เราควบคุมไม่ได้หรือคาดเดาไม่ได้ มันก็เครียดทั้งสิ้น วิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้าคือ การเตรียมกรณีที่แย่ที่สุดไว้เลยว่าถ้าสอบไม่ติดจะทำอย่างไร อย่าคิดอย่างเดียวว่าจะติด เพื่อเปิดโอกาสให้ชีวิตลูก อย่าปล่อยให้ชีวิตเหลือประตูเดียวและเป็นประตูที่คนอื่นกำหนด ความรู้ความสามารถในชีวิตยังสามารถหาจากที่อื่นได้อีกมาก ถ้าเตรียมไว้ความเครียดจะลดลงไปได้เยอะ การควบคุมใจควบคุมสติสำคัญมาก โดยมีพ่อแม่เป็นแรงสนับสนุนสำคัญ แต่ต้องระวังว่าอย่าโดดลงไปเล่นด้วย เพราะนี่เป็นเกมของเด็กที่ต้องสู้และผ่านไปให้ได้ ให้สมหวังผิดหวังด้วยตัวเอง

“ตอนนี้ลูกไม่ได้สู้กับความคาดหวังของตัวเองเท่านั้น แต่แบกความคาดหวังของพ่อแม่ ของสังคมอยู่ตลอด พ่อแม่ต้องบอกเลยว่าไม่ว่าสอบได้หรือไม่ ปัญหาไม่ใช่ที่ความสามารถของลูก แต่เป็นที่ระบบ ให้ความมั่นใจว่าไม่ว่าจะสอบได้หรือไม่ ก็ไม่ได้ทำให้พ่อแม่รักลูกน้อยลง ตอนนี้เป็นเวลาที่เราจะพูดคุยกับลูก เป็นสติเป็นกำลังใจให้ลูก อย่าตั้งคำถามที่ไม่มีคำตอบกับลูก เพราะเป็นการเพิ่มความกดดันให้เด็ก ก่อนจะช่วยคิดให้ลูก ให้ฟังเขาระบายก่อน เพราะความเครียดของเขาไม่ได้กลัวเข้าไม่ได้ แต่กลัวทำให้พ่อแม่เสียใจ” ผศ.ดร.พรรณระพี กล่าวในที่สุด

จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม

รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า