ข่าวสารจุฬาฯ

นักธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ พบ “หลักฐานใหม่บนเขาพนมรุ้ง” ยืนยันพื้นที่เขาพนมรุ้งมีสิ่งปลูกสร้างโบราณซ่อนอยู่

อาจารย์ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ สำรวจพบวัสดุแปลกปลอม คาดว่าน่าจะเป็น “อิฐเผา” กลางป่าเขาพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญที่ยืนยันว่า “บนเขาพนมรุ้งไม่ได้มีแค่ปราสาทหินพนมรุ้งเพียงอย่างเดียว แต่มีสิ่งปลูกสร้างโบราณซ่อนอยู่”

ศ.ดร.สันติ ภัยหลบลี้ ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ
ศ.ดร.สันติ ภัยหลบลี้
อาจารย์ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ

การค้นพบวัสดุใหม่ดังกล่าวเกิดจากการลงพื้นที่สำรวจเขาพนมรุ้งโดย ศ.ดร.สันติ ภัยหลบลี้ อาจารย์ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ และคณะนักวิจัย ผู้สนใจศึกษาด้านโบราณคดีผ่านข้อมูลโทรสัมผัส (Remote Sensing) และภูมิสารสนเทศ (GIS) ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ค้นพบ ร่องรอยสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่เขาพนมรุ้ง อุทยานประวัติศาสตร์ของไทยที่มีอายุเก่าแก่นับพันปี (อ่านเพิ่มเติม https://www.chula.ac.th/news/66580/)

ศ.ดร.สันติ ให้ข้อมูลว่าในทางธรณีวิทยา เขาพนมรุ้งเป็นภูเขาไฟยุคใหม่ (ยุคควอเทอร์นารี) ที่เกิดจากลาวาประทุเมื่อประมาณ 1 ล้านปีก่อน ซึ่งจากการสำรวจชนิดหินของนักธรณีวิทยาได้ข้อสรุปว่า เขาพนมรุ้งเกิดขึ้นเนื่องมาจากการไหลหลากทับถมกันของลาวาที่มาจากแมกมาสีเข้ม (mafic magma) ซึ่งเมื่อลาวาเย็นตัวลง หินที่เป็นไปได้บนเขาลูกนี้จึงควรมีแค่ชนิดเดียว คือ หินบะซอลต์ (basalt)

ภูมิลักษณ์ (landform) ของเขาพนมรุ้ง
ภูมิลักษณ์ (landform) ของเขาพนมรุ้ง

เมื่อเร็วๆ นี้ ศ.ดร.สันติ และทีมนักวิจัย ได้เดินสำรวจป่าบนเขาพนมรุ้งและพบว่า นอกจากจะพบหินบะซอลต์จำนวนมากแล้ว ยังพบวัสดุแปลกปลอมใหม่ที่ไม่ใช่หินบะซอลต์ในพื้นที่ แต่มีลักษณะคล้ายปูนซีเมนต์ที่ผุกร่อน เพื่อพิสูจน์ว่าวัสดุดังกล่าวคืออะไร ศ.ดร.สันติ จึงมอบหมายให้ น.ส. นพมาศ ฤทธานนท์ นิสิตภาควิชาธรณีวิทยา จุฬาฯ นำตัวอย่างวัสดุบางส่วนไปวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการโดยเครื่องมือวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ที่เรียกว่า เครื่องวิเคราะห์การเลี้ยวเบนรังสีเอกซ์ (X-ray Diffractometer หรือ XRD) ซึ่งสามารถวิเคราะห์สมบัติเชิงโครงสร้างของวัสดุได้โดยไม่ต้องทำลายตัวอย่าง ผลจากการวิเคราะห์บ่งชี้ว่าวัสดุดังกล่าวประกอบไปด้วย แร่ควอตซ์ (Quartz) หรือตะกอนทราย และส่วนใหญ่ที่พบคือ แร่ดิน (Clay Mineral) หรือดินเหนียว ที่เชิงอุตสาหกรรม เรียกว่า ดินเกาลิน (Kaolin) ที่ปัจจุบันนำมาใช้ปั้นถ้วยชามเซรามิก

ดินเกาลิน (Kaolin)
ตัวอย่างวัสดุแปลกปลอมที่พบในพื้นที่

ดินเกาลิน (Kaolin)
ผลการวิเคราะห์ด้วย XRD
พบว่าเป็น ดินเกาลิน (Kaolin)

นอกจากนี้ ศ.ดร.สันติและทีมสำรวจ ได้สำรวจพื้นที่ราบโดยรอบเขาพนมรุ้ง พบบ่อน้ำชาวบ้านที่เพิ่งขุดใหม่ แสดงให้เห็นการลำดับชั้นหินในพื้นที่ โดยชั้นล่างสุดคือ หินทรายแป้งสีแดง ถัดขึ้นไปชั้นกลางคือ ดินเกาลินสีขาว และชั้นบนสุดคือดินสีดำ ที่เกิดจากการผุพังของหินบะซอลต์บนเขาพนมรุ้งและไหลมาสะสมตัวปิดทับพื้นที่นี้ในภายหลัง จึงเป็นหลักฐานสำคัญที่บอกว่า “ดินเกาลินที่ใช้สร้างสิ่งก่อสร้างบางอย่างบนเขาพนมรุ้งสามารถหาได้ง่ายในพื้นที่

ศ.ดร.สันติ กล่าวว่าจากการถ่ายภาพเนื้อวัสดุแบบความละเอียดสูงด้วย กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบสแกนนิง (Scanning Electron Microscope, SEM) ซึ่งสามารถแสดงรายละเอียดของโครงสร้างภายนอกหรือผิวของตัวอย่างแบบ 3 มิติ ได้อย่างชัดเจน พบผลึกควอตซ์เม็ดใหญ่ ที่ล้อมรอบด้วยดินเกาลินที่มีพื้นผิวไม่เรียบ เมื่อเปรียบเทียบกับงานวิจัยในอดีต ที่รายงานความแตกต่างของเนื้อดินเกาลินที่สัมพันธ์กับอุณหภูมิที่ได้รับ สรุปได้ว่า ดินเกาลินหรือวัสดุแปลกปลอมบนเขาพนมรุ้ง ได้รับการเผาด้วยอุณหภูมิประมาณ 700 – 800 องศาเซลเซียส หลังจากการศึกษาในรายละเอียดในห้องปฏิบัติการ และผ่านเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ขั้นสูง ทำให้อนุมานได้ว่าวัสดุดังกล่าวน่าจะเป็น “อิฐเผา”

Scanning Electron Microscope, SEM
ภาพถ่ายความละเอียดสูง
แสดงผิวของตัวอย่างแบบ 3 มิติ

“เมื่อลงพื้นที่สำรวจอีกครั้งในภายหลัง พบหลักฐานชิ้นสำคัญคือ ก้อนวัสดุใหม่แสดงทั้งความผุและไม่ผุอยู่ในก้อนเดียวกัน ส่วนที่ผุมีสีขาว ส่วนที่ยังไม่ผุมีสีส้มอมดิน เหมือนอิฐมอญในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังพบร่องรอยรูขนาดเล็ก และแนวเส้นใยเล็กๆ ที่ชอนไชอยู่ในเนื้อก้อนดินหรืออิฐดังกล่าว จึงสันนิษฐานว่า ในกระบวนการผลิตวัสดุดังกล่าวน่าจะมีการผสมเศษฟางเศษหญ้าเข้ามาปั้นเป็นก้อนดินนั้นด้วย จึงเป็นหลักฐานสำคัญที่ช่วยยืนยันว่า กลางป่าพนมรุ้งมีสิ่งปลูกสร้างโบราณซุกซ่อนอยู่ ไม่ได้มีแค่ปราสาทหินพนมรุ้ง แค่อย่างเดียว” ศ.ดร.สันติ กล่าวในที่สุด


ทีมสำรวจ : สันติ ภัยหลบลี้, นพมาศ ฤทธานนท์, กังวล คัชชิมา, สมบัติ มั่งมีสุขศิริ, อุเทน วงศ์สถิตย์, ปัญญา นากระโทก, จักรกริช อุดรพิมพ์, ตามศักดิ์ วงศ์มุนีวร, และ สิทธิโชค โตวิริยะกุล

ผลผลิตของจุฬาฯ คือ การผลิตบัณฑิต สร้างคนคุณภาพสู่สังคม

ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า