ข่าวสารจุฬาฯ

UNEP ชื่นชม Chula Zero Waste สร้างผลงานการจัดการขยะเพื่อความยั่งยืน และสร้างจิตสำนึกให้กับประชาคมจุฬาฯ เห็นผลจริง



UNEP ชื่นชม Chula Zero Waste ที่สร้างผลงานอย่างต่อเนื่อง ชัดเจน และเห็นผลเป็นรูปธรรม ในการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง สร้างจิตสำนึกให้กับประชาคมจุฬาฯ เน้นการลงมือทำจริง



คณะทำงานจากโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme – UNEP) และโครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Settlements Programme – UN-Habitat) ได้มาเยือนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและศึกษาดูงานโครงการ Chula Zero Waste เนื่องในวันปลอดขยะสากล เมื่อวันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา โดยได้เยี่ยมชมสถานีคัดแยกขยะในโรงอาหาร การใช้เครื่องย่อยสลายชีวภาพและเครื่องอัดขยะในมหาวิทยาลัย

คณะทำงาน UNEP ชื่นชม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้ริเริ่มโครงการ Chula Zero Waste และสร้างระบบการจัดการขยะอย่างครบวงจรมาตั้งแต่ 7-8 ปีที่แล้ว แสดงให้เห็นว่าจุฬาฯ ตั้งใจมุ่งมั่นอย่างจริงจัง ในเรื่องการจัดการขยะ โดยมีนโยบายและแผนงานการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง สู่ปลายทางอย่างต่อเนื่อง ชัดเจน และเห็นผลเป็นรูปธรรม อาทิ มีระบบการแยกขยะในโรงอาหารสำนักงาน นโยบายลดขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งโดยการไม่แจกถุง ลดการใช้หลอด เปลี่ยนการใช้แก้วน้ำเป็นแก้ว Zero Waste Cup การเพิ่มตู้กดน้ำดื่มสะอาด เป็นต้น การแยกขยะภายในจุฬาฯ นอกจากจะมีการแยกขยะแบบละเอียดแล้ว ยังมีการลงทุนในเทคโนโลยีที่ใช้จัดการขยะอย่างเหมาะสมกับบริบทเมืองและปริมาณขยะที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เช่น เครื่องย่อยสลายชีวภาพ หรือ Biodigester และเครื่องอัดขยะ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการต่อสู้กับมลพิษทางขยะของประชาคมจุฬาฯ

โครงการ Chula Zero Waste

ริเริ่มโดยสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาฯ ร่วมกับสำนักบริหารระบบกายภาพ จุฬาฯ ด้วยเจตจำนงอันแน่วแน่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการสร้างความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมที่ดีให้เกิดขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสนับสนุนวิถีชีวิตที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมของประชาคมจุฬาฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้เกิดขึ้นกับนิสิต โครงการ Chula Zero Waste ได้สร้างความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในการพัฒนาการดำเนินงานระบบการจัดการขยะและของเสียที่มีประสิทธิภาพทั้งขยะที่เป็นอันตรายและไม่เป็นอันตรายที่เกิดจากปฏิบัติงานและกิจกรรมต่าง ๆ นำไปใช้อย่างทั่วถึงภายในมหาวิทยาลัยและชุมชนโดยรอบ เป็นตัวอย่างที่ชัดแจ้งว่าการริเริ่มสร้างสรรค์โครงการ Chula Zero Waste แสดงให้เห็นถึงศักยภาพนโยบายของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สามารถขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและส่งเสริมอนาคตที่ยั่งยืนสำหรับทุกคนได้เป็นอย่างดี

“ขยะ” เป็นหนึ่งในภัยคุกคามต่อสุขภาพมนุษย์ สร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจโลกหลายแสนล้านดอลลาร์ต่อปี ทำให้วิกฤติการณ์ของโลกรุนแรงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มลพิษทางอากาศผลกระทบต่อธรรมชาติ และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ หากไม่มีการจัดการอย่างเร่งด่วน คาดการณ์ว่ามนุษยชาติจะสร้างขยะมูลฝอยในเขตชุมชนจำนวน 3.88 พันล้านตันต่อปี ภายในปี 2593 ซึ่งปัจจุบันขยะร้อยละ 45 ยังได้รับการจัดการที่ไม่ถูกต้อง

วันปลอดขยะสากล

Chula Zero Waste ให้ความสำคัญกับแนวทางลดขยะให้เป็นศูนย์ ส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่มีความรับผิดชอบ และก้าวไปสู่ระบบหมุนเวียนที่ยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (United Nations General Assembly – UNGA) ในการประชุมของ UNGA สมัยที่ 77 ได้เน้นถึงศักยภาพของความคิดริเริ่มแนวทางลดขยะให้เป็นศูนย์ เพื่อส่งเสริมการจัดการและการลดของเสียที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงประกาศให้วันที่ 30 มีนาคมของทุกปี เป็น “วันปลอดขยะสากล”

ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme – UNEP) จะร่วมมือกับโครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Settlements Programme – UN-Habitat) และคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (Economic and Social Commission for Asia and the Pacific – ESCAP) เพื่อประกาศวันปลอดขยะสากลครั้งแรกในภูมิภาคระหว่างการประชุม Asia Pacific Forum on Sustainable Development ครั้งที่ 10 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักในประเด็นปัญหาการจัดการขยะอย่างเร่งด่วนในภูมิภาค มุ่งเน้นความสำคัญของการดำเนินมาตรการห่วงโซ่คุณค่าอย่างครบวงจร ตั้งแต่การหลีกเลี่ยงการสร้างขยะและของเสียไปจนถึงการจัดการที่ยั่งยืน พร้อมทั้งนำเสนอแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดและทุ่มเทสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างต่อเนื่องจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ เพื่อลดการสร้างของเสียตั้งแต่ต้นทางสู่ปลายทาง เพื่อเรียกร้องให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตั้งแต่ภาครัฐบาล ภาคธุรกิจเอกชน ภาคประชาสังคม และเยาวชน สร้างการมีส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้น

เป้าหมาย และความร่วมมือ เพื่อสิ่งแวดล้อม

โครงการ Chula Zero Waste ตั้งเป้าหมายที่จะนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้ 75% ภายในปี 2583 โดยเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาคมจุฬาฯ สร้างพฤติกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะกับนิสิตให้เกิดการขยายผล ส่งต่อประสบการณ์และสิ่งที่จุฬาฯ เรียนรู้มา เผยแพร่ให้สังคมภายนอกสามารถนำไปต่อยอดและใช้ได้จริง พร้อมทั้งสร้างการร่วมมือระหว่างองค์กร สู่สังคม และประเทศชาติ ทั้งนี้ ในปี 2566 โครงการ Chula Zero Waste ได้รับความร่วมมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในการเป็นภาคีที่ปรึกษาที่จะทำงานร่วมกับโรงเรียน ศาสนสถาน ชุมชน อาคารสำนักงาน และบริษัทต่าง ๆ ในโครงการพัฒนาเขตนำร่องการจัดการขยะมูลฝอยที่ต้นทางอย่างยั่งยืนในกรุงเทพมหานคร ในกิจกรรมลดและคัดแยกขยะในองค์กรในพื้นที่เขตปทุมวัน รวมถึงร่วมมือกับสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ (PMCU) ในการจัดการขยะในแหล่งกำเนิดด้วย

การต่อยอดในอนาคต โครงการ Chula Zero Waste จะเน้นไปที่การสื่อสารให้มากขึ้น เนื่องจากระบบ Infrastructure ในการจัดการขยะค่อนข้างพร้อมทำงานอย่างเต็มที่แล้ว เพื่อสร้างความตระหนักให้ประชาคมจุฬาฯ ทั้งบุคลากรและนิสิต หันมาใส่ใจผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่ทุกคนมีส่วนสร้าง ใส่ใจกับขยะที่เกิดขึ้นในการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยมากขึ้น เลือกพฤติกรรมเพื่อรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น ลดขยะที่ต้นทาง พกกระติกน้ำ เลือกปริมาณข้าวที่เหมาะกับตนเอง พยายามกระตุ้น Sustainable Lifestyle ให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนงานด้านความยั่งยืนไปพร้อม ๆ กัน

โครงการที่ Chula Zero Waste เข้าไปมีส่วนในการเป็นภาคีที่ปรึกษา
ในการจัดการขยะตามแหล่งกำเนิด ในพื้นที่เขตปทุมวัน

อนึ่ง จุฬาฯ ได้ประกาศเจตนารมณ์ลดก๊าซเรือนกระจกในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการตั้งเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2040 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในที่สุด (Net Zero Greenhouse Gas Emission) ภายในปี ค.ศ. 2050 โดยมีนโยบายผลักดันให้ประชาคมจุฬาฯ ร่วมรับผิดชอบต่อปัญหาสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน หรือ Chula’ 2050 Net-Zero Transition ประกอบด้วย 5 กลยุทธ์ ดังนี้

  1. Energy Transition ปรับเปลี่ยนเป็น Zero-Carbon Energy System โดยเพิ่มการใช้พลังงานทดแทน อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ (solar PV development) และลดการใช้ไฟฟ้า
  2. Improving Energy System Resilience โดยเพิ่มระบบการกักเก็บพลังงานทดแทน เปลี่ยนอุปกรณ์ไฟฟ้าเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าประหยัดพลังงาน
  3. Creating Green Growth โดยสนับสนุนการลงทุนสีเขียวและความร่วมมือระดับนานาชาติเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีไร้คาร์บอน
  4. Lifestyle Transition โดยเปลี่ยนมาใช้ Low Carbon Transportation, Chula Zero-Waste รวมทั้ง Low Carbon Diet
  5. Social Transition Social Support System สร้างการมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

อ่านรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อประกาศเจตนารมณ์ด้านการจัดการขยะและของเสีย วันที่ 30 มีนาคมเนื่องใน “วันปลอดขยะสากล” ได้ที่

Facebook : Chula Zero Waste

Facebook : United Nations Thailand สหประชาชาติ ประเทศไทย

Facebook : UN Environment Programme in Asia Pacific

ติดตามภารกิจและกิจกรรมของโครงการ Chula Zero Waste ได้ที่ chulazerowaste.chula.ac.th

หรือทาง Facebook : chulazerowaste และ Twitter : chulazerowaste

สามารถอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับนโยบายด้านการบริหารจัดการขยะและขยะอันตราย ขับเคลื่อนความยั่งยืนในจุฬาฯ ได้ที่ นโยบาย





ภาพ : ณัฐริณีย์ พร้อมวงศ์ ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาฯ

ผลผลิตของจุฬาฯ คือ การผลิตบัณฑิต สร้างคนคุณภาพสู่สังคม

ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า