ข่าวสารจุฬาฯ

คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ก้าวไปอีกขั้นในการพัฒนานิสิตคุณภาพ ร่วมมือพันธมิตรระดับโลก ฮาคูโฮโด ประเทศไทย เปิดตัว HIT PROGRAM

คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Chulalongkorn Business School) ร่วมมือกับบริษัท ฮาคูโฮโด อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด พัฒนา “HIT PROGRAM” สอนนิสิตคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ชั้นปีที่ 4 ประจำปีการศึกษา 2566 เสริมทักษะให้นิสิตพร้อมทำงาน สนับสนุนให้ค้นพบตัวเองและสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานในสายงานที่เหมาะสมกับนิสิต

            งานแถลงข่าวความร่วมมือในครั้งนี้จัดขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 ณ CBS LOUNGE Chula คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ

ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ

            ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ กล่าวว่า “ทางคณะฯ โดยภาควิชาการตลาดได้ให้ความร่วมมือกับองค์กรสำคัญระดับนานาชาติมายาวนาน เพื่อเสริมสร้างให้นิสิตเป็นผู้นำแห่งอนาคตในด้านการตลาดและแบรนด์ มีความสามารถสูงและเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมและประเทศชาติ สำหรับความร่วมมือกับฮาคูโฮโดซึ่งเป็นองค์กรสำคัญในแวดวงการตลาดและการสื่อสารของโลกนั้นได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องกว่า 10 ปี และการลงนามในบันทึกความร่วมมือครั้งนี้จะยิ่งกระชับความร่วมมือของสององค์กรให้แน่นแฟ้นขึ้น”

คุณเทรุฮิซะ อิโต

            คุณเทรุฮิซะ อิโต ประธานบริษัทและผู้บริหารระดับสูงของบริษัท ฮาคูโฮโด อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) กล่าวว่าการดำเนินงานของฮาคูโฮโดเน้น 2 เรื่องที่สำคัญคือการเป็นพาร์ทเนอร์หรือพันธมิตรที่มองเห็นคุณค่าของการมีส่วนร่วมอย่างลึกซึ้ง ซึ่งในบริบทนี้ ฮาคูโฮโดถือเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย อีกประการหนึ่งคือแนวความคิดที่เรียกว่า Sei-katsu-sha (เซ-คัทสึ-ฉะ) หมายถึงความมุ่งมั่นที่จะเข้าใจ “ความเป็นอยู่ของผู้คน” มากกว่าจะมองเป็นเพียง “ผู้บริโภค” ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่เหมาะสมกับภาควิชาการตลาด ด้วยเหตุนี้ ฮาคูโฮโด ประเทศไทย จึงมีความตั้งใจในการสร้างประโยชน์ต่อสังคมไทย และรู้สึกดีใจที่ได้ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาชั้นนำของภูมิภาคอย่างจุฬาฯ

            คุณชุติมา  วิริยะมหากุล ผู้อำนวยการบริหาร จากบริษัท ฮาคูโฮโด อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) กล่าวว่า “ฮาคูโฮโด ได้ออกแบบคอร์ส HIT PROGRAM (Hyperfocus, Integrate, Transform) ให้เหมาะสมกับนิสิตปี 4 ของ Chulalongkorn Business School ที่จะช่วยผลักดันศักยภาพของนิสิต ด้วยการเชื่อมโยงวิชาที่นิสิตได้เรียนรู้เข้ากับประสบการณ์จริงผ่านผู้รู้ในหลากหลายอุตสาหกรรมและหลากหลายแบรนด์ ที่พร้อมนำความรู้มาถ่ายทอดและสร้างแบบฝึกหัดกับนิสิตอย่างเข้มข้น เพื่อเป้าหมายที่จะเสริมทักษะให้พร้อมทำงาน สนับสนุนให้นิสิตเกิดการค้นพบตัวเองและสร้างแรงบันดาลใจที่จะเข้าทำงานในสายงานที่เหมาะกับตัวเองอย่างแท้จริง”

            คุณยูโกะ อิโต กรรมการผู้จัดการ สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) กล่าวว่า “ฮาคูโฮโด ญี่ปุ่น มีโครงการพันธมิตรกับมหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่นที่หลากหลาย เช่น โครงการ BRANCO! ร่วมกับมหาวิทยาลัยโตเกียว เป็นการประกวดออกแบบแบรนด์ผ่านการวิจัยอย่างเข้มข้นเป็นระยะเวลา 6 เดือน ในโครงการนี้เน้นการร่วมมือพัฒนางานผ่านการตั้งคำถาม แบบที่ “ไม่จำเป็นต้องมีคำตอบที่ถูกต้อง” ซึ่งจะทำให้นิสิตได้ฝึกวิธีคิดแบบเปิดกว้างติดตัวไปใช้กับมุมมองอื่นๆในชีวิตด้วย นอกจากนั้น ยังมีโครงการ Hakuhodo Youth Lab ที่วิจัยร่วมกับนิสิตมหาวิทยาลัย ในหัวข้อเกี่ยวกับ Sei-katsu-sha ซึ่งไม่ได้แค่ศึกษาว่าจะทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่มาซื้อสินค้า แต่เน้นศึกษา ความเป็นอยู่ของผู้คนในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านสังคม ด้านธุรกิจ และด้านองค์กร ในหัวข้อที่สร้างความน่าสนใจ เช่น “ชีวิตแบบไหนที่เราควรสร้างในแบบของเรา” ซึ่งถือเป็นห้องปฏิบัติการที่สนับสนุนนวัตกรรมทางความคิดให้กับนิสิตและยังนำไปสู่การประชุมร่วมกันในกลุ่มคนรุ่นใหม่บนมุมมองใหม่ ๆ อีกด้วย”

ผศ.ดร.เอกก์ ภทรธนกุล

            ในงานแถลงข่าวมีการนำเสนอมุมมองเรื่องของนักการตลาดให้แก่นิสิตในหัวข้อ Marketeers of the Future: นักการตลาดแห่งอนาคต” นำโดย ผศ.ดร.เอกก์ ภทรธนกุล หัวหน้าภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ซึ่งมีสาระสำคัญคือ นักการตลาดแห่งอนาคตต้องมีทักษะ 5Re ประกอบด้วย Resilence (ความยืดหยุ่น) Resolution (เก่งแก้ปัญหา) Reliance (น่าเชื่อมั่นเชื่อถือ) Revolution (มุ่งหน้านวัตกรรม) และ Relationship (สร้างความสัมพันธ์กับสังคมและสิ่งแวดล้อม) ซึ่ง HIT PROGRAM  จะตอบสนองทั้งห้าประเด็นนี้เพื่อสร้างสรรค์นักการตลาดแห่งอนาคตเพื่อสังคมไทยต่อไป

            ทั้งนี้ในอนาคต ฮาคูโฮโด ประเทศไทย มีแนวความคิดที่จะนำโครงการที่ประสบความสำเร็จและสร้างการเรียนรู้ใหม่ ๆ จากญี่ปุ่น เข้ามาปรับใช้และร่วมมือกับภาคการศึกษาในประเทศไทยให้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของบริษัทที่ต้องการร่วมสร้างคนรุ่นใหม่ให้เป็นกำลังสำคัญทางสังคมต่อไป

จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้

ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า