ข่าวสารจุฬาฯ

“Chula Fresh Milk” ตู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์นมอัตโนมัติ ยกระดับผลิตภัณฑ์นมเกรดพรีเมียมจากฟาร์มเกษตรกรสู่ชุมชนเมือง เสริมความเข้มแข็ง สร้างรายได้ให้เกษตรกรอย่างยั่งยืน

          สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) โดยหน่วยบริหารและจัดการด้านทุนการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนโครงการวิจัย เรื่อง “การขับเคลื่อนผู้ประกอบการแปรรูปผลิตภัณฑ์นมในพื้นที่เข้าสู่ห่วงโซ่คุณค่านมใหม่” โดยมี รศ.น.สพ.ดร.กิตติศักดิ์ อัจฉริยะขจร เป็นหัวหน้าโครงการ คณะผู้วิจัยร่วมกับหลายหน่วยงานของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงาน “มีนา จุฬามีนม” เปิดตัว Chula Fresh Milk Vending Machine  เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้ารูปแบบใหม่ ภายใต้โครงการวิจัยการขับเคลื่อนผู้ประกอบการแปรรูปผลิตภัณฑ์นมในพื้นที่สู่ห่วงโซ่คุณค่านมใหม่ สำหรับเกษตรกรฟาร์มโคนม สู่ประชาชนทั่วไป บุคลากรและนิสิตในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้มีกิจกรรมให้ความรู้เรื่องโภชนาการการบริโภคนมและสร้างการรับรู้เกี่ยวกับโครงการ เมื่อวันศุกร์ที่ 5 เมษายน 2567 ณ โถงอาคารจามจุรี 9 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

          ศ.นพ.ดร. นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล รองอธิการบดี ด้านการติดตามและประเมินผลยุทธศาสตร์ แผนการงบประมาณ และสุขภาวะ จุฬาฯ เป็นประธานในพิธีกล่าวเปิดงาน พร้อมด้วย ศ.สพ.ญ.ดร.สันนิภา สุรทัตต์ คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ศ.กิตติคุณ น.สพ.ดร. มงคล   เตชะกำพุ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม จุฬาฯ สระบุรี (AIC สระบุรี) รศ.ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็ง และยกระดับขีดความสามารถในการจัดการภาครัฐและท้องถิ่น (ฝ่าย 4)  หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ดร.ศุภิชัย ตั้งใจตรง กรรมการผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาฯ (Chula Unisearch)ในฐานะหน่วยงานบริหารทุนวิจัยฯ นพ.สัณฐิติ ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์บริการสุขภาพแห่งจุฬาฯ และรศ.น.สพ.ดร.กิตติศักดิ์ อัจฉริยะขจร อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ หัวหน้าโครงการวิจัย ร่วมเปิดตัวอย่างเป็นทางการของ Chula Fresh Milk Vending Machine

          โครงการวิจัยการขับเคลื่อนผู้ประกอบการแปรรูปผลิตภัณฑ์นมในพื้นที่สู่ห่วงโซ่คุณค่านมใหม่ มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับขีดความสามารถของเกษตรกรตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของฟาร์มโคนมต้นน้ำ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ และการพัฒนาทักษะทางธุรกิจให้กับเกษตรกร  ด้วยการบูรณาการศาสตร์ต่างๆที่เกี่ยวข้องจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

          โครงการวิจัยฯ ซึ่งดำเนินการโดย ศูนย์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาการเลี้ยงโคนมในเขตร้อนชื้น คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้เข้ามาผลักดันให้เกิดห่วงโซ่คุณค่าใหม่ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างรายได้เพิ่มให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมอย่างยั่งยืน ผ่านการศึกษาเพื่อประเมินศักยภาพและความต้องการที่แท้จริงของเกษตรกรหรือผู้ประกอบการในพื้นที่ต่าง ๆ ตั้งแต่ต้นน้ำ ตลอดกระบวนการผลิต แปรรูป ไปจนถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากน้ำนมด้วยนวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และการพัฒนากระบวนการรับรองคุณภาพ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค กระบวนการวิจัยได้พัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการเกษตรกรฟาร์มโคนมในพื้นที่เข้าสู่ห่วงโซ่นมคุณภาพพรีเมียม “Dairy Premium Local Enterprise (DPLE)” โดยศึกษารูปแบบการตลาด (Marketing) และการสร้างแบรนด์ (Branding) เพื่อยกระดับขีดความสามารถของสินค้าชุมชนสู่ตลาดเมือง โดยการคัดเลือกฟาร์มโคนมที่สามารถผลิตน้ำนมดิบที่มีคุณภาพสูงและมีความพร้อมในการเป็นผู้ประกอบการจากพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศมาร่วมกระบวนการพัฒนาการแปรรูปผลิตภัณฑ์นมจนได้ผลิตภัณฑ์นมที่มีอัตลักษณ์เป็น Exclusive Single Source Dairy Premium Products ของแต่ละพื้นที่เพื่อผลิตสินค้าและร่วมกันจำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มการตลาดจุฬาเฟรชมิลค์ Chula Fresh Milk ปัจจุบันมีอย่างน้อย 5 ผู้ประกอบการที่เป็นต้นแบบเกษตรกรที่มีศักยภาพสูงในการสร้างห่วงโซ่คุณค่าใหม่ของสินค้า ได้แก่

          1. เลิศฤทธิ์ฟาร์ม จ.สระบุรี – ฟาร์มโคนมอินทรีย์ที่ผ่านการรับรอง มีผลิตภัณฑ์น้ำนมสดพาสเจอร์ไรซ์ และกรีกโยเกิร์ตจากน้ำนมอินทรีย์ 100% ปราศจากนมผงและสารปรุงแต่งใดๆ มีเนื้อสัมผัสที่เข้มข้น มีประโยชน์ต่อสุขภาพ

          2. นางฟ้าวัวน้อยฟาร์ม จ.สระบุรี – Young Smart Farmer ที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการจัดการฟาร์ม สามารถผลิตภัณฑ์น้ำนมดิบที่มีคุณภาพเพื่อนำมาแปรรูปเป็นโยเกิร์ตพร้อมดื่มรสชาติต่างๆ โดยการผสมผสานเนื้อผลไม้ ทำให้มีเนื้อสัมผัสที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว

          3. อินทร์แปลงฟาร์ม จ.ชุมพร – ฟาร์มโคนมของเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ผลิตนมคุณภาพสูง เพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์นมรสชาติต่างๆทั้ง นมช็อกโกแลตจากโกโก้ อ.สะทิงพระ นมชาไทยจากใบชาที่ขึ้นชื่อในการทำชาชักจาก จ.สตูล นมกาแฟโรบัสต้า จ.ชุมพรที่เป็นมหานครโรบัสต้า แหล่งปลูกกาแฟพันธุ์โรบัสต้าที่มีชื่อเสียง ช่วยสนับสนุนทั้งเกษตรกรฟาร์มโคนมและชาวสวนกาแฟ จ.ชุมพร

          4. อิมม์ฟาร์ม จ.ลำพูน – ฟาร์มโคนมที่เลี้ยงโคนมพันธุ์เจอร์ซี่ ทำให้ได้น้ำนมดิบที่มีความเข้มข้น ผลิตภัณฑ์กรีกโยเกิร์ตและสมูทตี้โยเกิร์ต จึงมีเนื้อสัมผัสเข้มข้น หอม มัน น้ำนมจากโคพันธุ์เจอร์ซี่ มีไขมันเนยสูงจึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับการแปรรูปเป็นเนยสดแท้ เนยสดแท้ Farm made butter จากวัตถุดิบภายในประเทศที่ผลิตโดยคนไทยแต่คุณภาพทัดเทียมเนยจากประเทศต้นกำเนิด

          5. ราชาฟาร์ม จ.อุดรธานี – น้ำนมโคสดคุณภาพสูงจากดินแดนที่ราบสูง แปรรูปเป็นกรีกโยเกิร์ตเนื้อครีมมี่พร้อมช็อกโกแลตซอส ทานคู่กับเนื้อมังคุดแท้อบกรอบ เกิดเป็นความอร่อยจากส่วนผสมที่ลงตัวพร้อมประโยชน์ต่อสุขภาพที่มากขึ้นด้วยคุณค่าโปรตีน และเชื้อจุลินทรีย์ที่ดีพร้อมสารต้านอนุมูลอิสระจากมังคุดจันทบุรี ต่อยอดธุรกิจฟาร์มให้เป็นธุรกิจผลิตภัณฑ์จากนมด้วยไอเดียสร้างสรรค์

          ทางคณะผู้วิจัยจึงได้พัฒนาแพลตฟอร์มการตลาดในรูปแบบตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติหรือ Vending Machine ภายใต้ชื่อ “Chula Fresh Milk” เพื่อขยายช่องทางการกระจายสินค้าของเหล่าเกษตรกรจากพื้นที่ชุมชนต่าง ๆ สู่ตลาดเมืองอย่างเป็นรูปธรรม ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติหรือ Vending Machine เป็นหนึ่งในโมเดลทางการตลาดที่คณะวิจัยมองว่ามีศักยภาพ และสามารถยกระดับการนำเสนอสินค้า     พรีเมียมของ Local Farm Dairy Products ได้อย่างน่าสนใจ อีกทั้งเป็นช่องทางการขายที่ผู้ประกอบการหรือเกษตรกรในพื้นที่มีความสามารถในการลงทุน เมื่อเทียบกับการสร้างหน้าร้านซึ่งมีต้นทุนสูงกว่า การมีแพลตฟอร์มการขายในรูปแบบตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ “Chula Fresh Milk” อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ทางธุรกิจ โดยทำการทดสอบตลาดภายในพื้นที่มหาวิทยาลัย เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนารูปแบบหน่วยธุรกิจ (Business unit) ที่เหมาะกับการลงทุนเพื่อการขยายธุรกิจของเกษตรกรในพื้นที่ต่อไป

            การพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าน้ำนมใหม่ โดยการยกระดับประสิทธิภาพตลอดห่วงโซ่การผลิต ทำให้สามารถขับเคลื่อนธุรกิจของเกษตรกรในพื้นที่ให้เกิดการขยายตัว ทั้งในท้องถิ่นและเชื่อมต่อสังคมเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างรายได้เพิ่มจากผลิตภัณฑ์คุณภาพสูง เกิดเป็นธุรกิจที่ยั่งยืนตามเป้าหมายของโครงการวิจัยฯ ปัจจุบันตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ “Chula Fresh Milk” ตั้งบริการจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์นมแปรรูปภายใต้โครงการวิจัย ฯ  ในพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 2 จุด คือ โถงชั้นล่าง อาคารจามจุรี 9  และ โรงพยาบาลสัตว์เล็ก คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ

          ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถรับชมงานนิทรรศการกิจกรรมส่งเสริมการตลาดผลิตภัณฑ์นมพรีเมียม Chula Fresh Milk “การขับเคลื่อนผู้ประกอบการแปรรูปผลิตภัณฑ์นมในพื้นที่เข้าสู่ห่วงโซ่คุณค่านมใหม่” ย้อนหลังได้ที่

          https://www.facebook.com/share/v/ZkXpCeKMPZ599uJ1/?mibextid=oFDknk

          ติดตามความก้าวหน้าและกิจกรรมดี ๆ ของ Chula Fresh Milk ได้ที่

          Facebook Page: ศูนย์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาการเลี้ยงโคนมในเขตร้อนชื้น

          https://www.facebook.com/thaitropicaldairy

สอบถามรายละเอียด ติดต่อ

รศ.น.สพ.ดร. กิตติศักดิ์ อัจฉริยะขจร  โทร. 08-1820-3425 E-mail: Kittisak.a@chula.ac.th

คณะผู้วิจัย

รศ.น.สพ.ดร. กิตติศักดิ์ อัจฉริยะขจร         คณะสัตวแพทยศาสตร์ 

ผศ.น.สพ. ธนศักดิ์ บุญเสริม                     คณะสัตวแพทยศาสตร์

สพ.ญ. ดร. สิริรัตน์ วัตระดี                       คณะสัตวแพทยศาสตร์

ผศ.ดร. ขวัญรัฐ ส่วนพงษ์                        คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี

รศ.ดร. ชาลีดา บรมพิชัยชาติกุล                คณะวิทยาศาสตร์

จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม

รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า