ข่าวสารจุฬาฯ

“จุฬาฯ ฝ่าวิกฤตรับมือฝุ่น PM 2.5” นักวิชาการจุฬาฯ แสดงทัศนะ และเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้จัดเวทีแสดงทัศนะโดยคณาจารย์ นักวิชาการจุฬาฯ ผู้ทรงคุณวุฒิในหัวข้อ  จุฬาฯ ฝ่าวิกฤตรับมือฝุ่น PM 2.5เมื่อวันอังคารที่ 15 มกราคม 2562 ณ ห้องประชุมสารนิเทศ หอประชุมจุฬาฯ เพื่อไขข้อข้องใจในเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ซึ่งส่งผลกระทบและสร้างความวิตกกังวลแก่ประชาชนที่ต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตของคุณภาพอากาศ ตั้งแต่สาเหตุการเกิด การเฝ้าระวังและติดตาม การป้องกันภัย พร้อมนำเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาในระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.ศรัณย์ เตชะเสน รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาฯ สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้      

รศ.ดร.ศิริมา ปัญญาเมธีกุล อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ อธิบายถึงที่มาของฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ว่า เกิดจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ แหล่งกำเนิดการเผาไหม้ เช่น การคมนาคมขนส่ง อุตสาหกรรมและการผลิตต่างๆ และปัจจัยทางธรรมชาติ คือ อากาศปิด ทำให้อากาศไม่สามารถระบายทางแนวดิ่งได้ อีกทั้งกรุงเทพฯ เป็นเมืองใหญ่ที่มีตึกสูงล้อมรอบ ทำให้ไม่มีลมระบายอากาศทางแนวนอน ฝุ่นและมลพิษที่ควรลอยขึ้นหรือกระจายออกด้านข้างจึงไปไหนไม่ได้

“PM 2.5 มีมานานแล้ว โดยในช่วงที่อากาศไม่ปิด ค่า PM 2.5 เฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ประมาณ 20 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่ที่เราเพิ่งมาตื่นเต้นกันเมื่อปีที่แล้ว ก็เพราะเพิ่งเห็นหลักฐานเชิงประจักษ์ในเรื่องของความเข้มข้น”

รศ.ดร.ศิริมา ได้ให้ข้อเสนอแนะการป้องกันและแนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีมาตรการจัดการที่แหล่งกำเนิดออกมามากมาย คงต้องเข้มงวดมากขึ้นหรือมีการเตรียมการล่วงหน้า ซึ่งมาตรการการลดมลพิษต่างๆ ต้องใช้ระยะเวลา แต่ในช่วงวิกฤต คือช่วงอากาศปิด ต้องขอให้  ทุกคนช่วยกันจัดการมลพิษนี้ อย่าคิดว่าเป็นเรื่องของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง

“ส่วนการทำฝนเทียมเพื่อช่วยลดฝุ่น PM 2.5  ถ้าฝนตกหนักๆ เหมือนเอาผ้าชุบน้ำมาทำความสะอาดโต๊ะ ฝุ่นก็ไป แต่ถ้าฝนตกเล็กน้อย ก็เหมือนฉีดน้ำด้วยฟ็อกกี้ คิดว่าโอกาสที่หยดน้ำจะไปโดนฝุ่น PM 2.5 ที่เล็กกว่า 20 เท่าของเส้นผม และหล่นลงมา จะมีมากแค่ไหน หรือการฉีดพ่นน้ำกระจายแบบที่ กทม. ทำ จะช่วยลดฝุ่นใหญ่ ซึ่งก็มีฝุ่นเล็กรวมอยู่ มีส่วนช่วยในระดับหนึ่ง แต่ถ้าจะลดฝุ่น PM 2.5 ให้ได้มาตรฐาน เช่น มีการคำนวณว่า จาก 60 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ลงมาเป็น 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เท่ามาตรฐาน จะต้องใช้ตัวฉีดน้ำ 20 ตัวต่อตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ กทม. ประมาณ 1,500 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นตัวฉีดน้ำประมาณ 30,000 ตัว ฉีดพร้อมทั้งหมดจึงจะจัดการกับฝุ่น PM 2.5 ได้”

ส่วนประชาชน แม้จะอยู่แต่ในบ้านหรืออาคาร แล้วเปิดแอร์ แต่ถ้าไม่เคยล้างเครื่องกรองแอร์เลย จะมีความเสี่ยงที่จะได้ฝุ่น PM 2.5 และเชื้อโรคอื่นๆ 100 % เพราะจะสูดอากาศในนั้นตลอดเวลา ขณะที่ออกมาข้างนอกยังมีลมระบายบ้าง คุณภาพอากาศในอาคารจึงเป็นเรื่องที่ควรตระหนัก

“ต้องทำความเข้าใจว่าทุกเรื่องมีความเสี่ยง แม้แต่เรื่องการใส่หน้ากากอนามัย แต่อยู่บนพื้นฐานงานวิจัยว่าจะมีความเสี่ยงเท่าใดและกลุ่มไหนเป็นกลุ่มเสี่ยง ซึ่งรัฐก็ต้องมีการประกาศตัวเลขและข้อมูลต่างๆ เพื่อให้ประชาชนมีข้อมูลที่ถูกต้องและสื่อถึงข้อเท็จจริง เพื่อที่สามารถเลือกและตัดสินใจตามความเสี่ยงของตนเองได้”

ผู้ที่อยากติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ของไทย สามารถดูได้ที่เว็บไซต์ของกรมควบคุมมลพิษ http://air4thai.pcd.go.th/webV2/ หรือแอปพลิเคชัน AIR4THAI และเว็บไซต์ของกรุงเทพมหานคร http://www.bangkokairquality.com/bma/index.php

ด้าน รศ.ดร.กุลยศ อุดมวงศ์เสรี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาฯ กล่าวถึงปัจจัยด้านแหล่งกำเนิดการเผาไหม้ในส่วนของโรงไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรมว่า โรงไฟฟ้าจะทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5 มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับเชื้อเพลิงที่ใช้และมาตรการในการจัดการ โดยโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่อยู่ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล รวมทั้งของประเทศไทยเกือบทั้งหมดใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่ค่อนข้างสะอาด ทำให้เกิดฝุ่นน้อย จึงมีผลกระทบไม่มากนัก ตัวที่ค่อนข้างมีผลมากคือ โรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเขตภาคตะวันออก แต่ก็เป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่มีระบบดักจับฝุ่นและมลพิษอื่นๆ อยู่แล้ว จึงไม่น่ากังวลมากนัก สิ่งที่น่ากังวลอยู่เล็กน้อยคือ โรงไฟฟ้าขนาดเล็ก เช่น โรงงานไฟฟ้าชีวมวลและโรงไฟฟ้าขยะ ที่อาจมีเทคโนโลยีไม่เท่าโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ก็ต้องมีการตรวจที่เข้มข้นว่าฝุ่นที่ออกมาเกินค่ามาตรฐานหรือไม่   

“ส่วนโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิงความร้อน มีกระจายตัวอยู่ในบริเวณภาคกลาง กรุงเทพฯ และปริมณฑล ฝั่งตะวันตก ฝั่งตะวันออก ซึ่งหากเปรียบเทียบการกระจายของที่ตั้งของโรงงานเหล่านี้กับการกระจายตัวของฝุ่น PM 2.5 จะพบว่ามีลักษณะที่ใกล้เคียงกัน แต่ก็ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะฟันธงว่าโรงงานเหล่านี้เป็นแหล่งที่ทำให้เกิดปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในขณะนี้หรือไม่ ก็คงต้องมีการตรวจวัดและเก็บข้อมูลมากกว่านี้”  

 

ในส่วนของการคมนาคมขนส่ง  รศ.ดร.มาโนช โลหเตปานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันการขนส่ง จุฬาฯ ให้ข้อมูลว่า ต้นเหตุของฝุ่น PM 2.5 ในภาคขนส่งมาจากเครื่องยนต์รถที่เผาผลาญไม่สมบูรณ์ คือรถดีเซล และรถอายุมากที่ไม่ได้รับการบำรุงรักษา พร้อมเสนอมาตรการแก้ปัญหา ดังนี้

ในระยะยาว ยกระดับมาตรฐานเครื่องยนต์และเชื้อเพลิงให้ปล่อยมลพิษน้อยลง แต่ก็ต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร เพราะมีค่าใช้จ่ายและเงินทุนมหาศาลสำหรับผู้ประกอบการ รวมทั้งประชาชนในการเปลี่ยนรถให้ได้มาตรฐานสูง สิ่งที่รัฐสามารถทำได้คือการส่งเสริมให้ประชาชนเดินทางในรูปแบบที่ไม่อาศัยเครื่องยนต์ เช่น การเดิน การขับขี่จักรยาน ฯลฯ ซึ่งจะทำได้ก็ต้องสร้างสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม ควบคู่กับการทำให้การครอบครองรถยนต์มีต้นทุนที่แท้จริงมากขึ้น

ในระยะกลาง สำหรับปัญหารถควันดำ สิ่งสำคัญคือการบังคับใช้กฎหมายและติดตามควบคุมรถ รวมทั้งมีมาตรการแก้ปัญหารถที่ไม่ผ่านเกณฑ์อย่างจริงจัง ส่งเสริมการใช้ระบบการขนส่งสาธารณะและลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลอย่างจริงจังและเป็นระบบ จะช่วยลดได้ทั้งปัญหาฝุ่น PM 2.5 และปัญหารถติดพร้อมกัน ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลก็มีการลงทุนพัฒนาการขนส่งระบบรางเป็นจำนวนมาก เป็นการลงทุนที่ดี แต่ยังไม่ใช่ภาพสมบูรณ์ ปัญหาที่ยังไม่มีคือการเชื่อมโยงระบบขนส่งมวลชนทั้งหมด

“รัฐควรแก้ปัญหาเรื่องรถเมล์อย่างจริงจัง เพราะเป็นส่วนหนึ่งที่ปล่อยฝุ่น PM 2.5 เป็นจำนวนมาก โดยในส่วนรถเมล์ของภาคเอกชน คงต้องออกมาตรการช่วยเหลือ เพราะถูกจำกัดเรื่องการเก็บรายได้ แต่มีต้นทุนสูง ทำให้การบำรุงรักษาไม่สมบูรณ์ ในภาครัฐ การจัดซื้อจัดจ้างก็มีปัญหา ทำให้ยังไม่มีรถใหม่        สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือ บทบาทของเทคโนโลยีในปัจจุบัน เรามีแอปพลิเคชันที่เข้ามาช่วยในการเดินทางในเขตเมืองมากขึ้น คงต้องมีการศึกษาและแก้ปัญหา เพื่อส่งเสริมให้นำมาใช้ได้อย่างถูกกฎหมาย

ในระยะสั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การดูแลสุขภาพของประชากร ควรลดการเดินทางหากไม่จำเป็น เช่น การหยุดเรียน เพื่อให้ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กวัยเรียนหรือเด็กเล็ก ไม่ต้องออกมาเผชิญกับสภาพอากาศที่ไม่ดี ขณะเดียวกัน ก็เป็นการลดจำนวนเที่ยวของเดินทาง ลดการปล่อยฝุ่น PM 2.5 หรือหน่วยงานอาจจะสนับสนุนการเดินทางมาทำงานโดยใช้ระบบขนส่งมวลชนมากขึ้น ลดจำนวนวิ่งรถเชิงพาณิชย์ที่มีควันดำให้น้อยลง เพื่อให้พ้นวิกฤตช่วงนี้ไปให้ได้ก่อน

สุดท้าย มิติด้านสุขภาพ ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม รองอธิการบดีด้านการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคภูมิแพ้ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับผลกระทบของฝุ่น PM 2.5 ต่อร่างกายว่า ถ้าสัมผัสในระยะสั้น จะทำให้เกิดผื่นคัน ตาแสบ เคือง แดง แสบจมูก ไอ จาม มีเสมหะมากขึ้น ติดหวัดง่ายขึ้น แต่ไม่ได้เป็นทุกคน คนที่เป็นภูมิแพ้ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ เป็นโรคหลอดลมและหอบหืดจะมีผลกระทบมากกว่า ผู้ที่มีแนวโน้มความดันสูงอยู่แล้วจะมีความดันสูงขึ้น คนเป็นโรคหัวใจ หากอยู่ในที่ที่มีมลภาวะสูงนานๆ ก็อาจมีภาวะหัวใจกำเริบได้ คนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงจึงควรจะอยู่ภายในบ้าน ถ้ามีเครื่องฟอกอากาศที่มี HEPA Filter ก็จะยิ่งดี รวมทั้งควรงดกิจกรรมที่ทำให้หายใจลึกและแรง

ประเด็นที่คนสงสัยว่าฝุ่น PM 2.5 ทำให้เป็นมะเร็งจริงหรือไม่ ศ.นพ.เกียรติ ยกตัวอย่างงานวิจัยโดยสมาคมมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกาที่พบว่า ทุก 10 ไมโครกรัมต่อตารางเมตร ที่เพิ่มขึ้นของฝุ่น PM 2.5 อัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งปอดของคนอเมริกาจะเพิ่มขึ้นถึงประมาณ 20 % และอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจจะเพิ่มขึ้น 5 %

“สาเหตุที่ฝุ่น PM 2.5 และมลพิษมีผลเสียต่อสุขภาพขนาดนี้ เพราะขนจมูกเราจะกรองฝุ่นได้ขนาดประมาณ 30 ไมโครเมตร ถ้าเล็กกว่า 30 ไมโครเมตร จะไปติดที่คอ แต่ถ้าเล็กกว่า 10 ไมโครเมตร จะลงไปในหลอดลม ถ้าเล็กกว่า 2.5 ไมโครเมตร จะลงไปที่หลอดลมฝอยและถุงลม เมื่อถึงถุงลมก็จะดูดซึมเข้ากระแสเลือดได้ ระหว่างทางยังค่อยๆ ทำลายเซลล์เยื่อบุของทางเดินหายใจ ขนพัดโบก และเซลล์ต่อสู้เชื้อโรคในปอด ดังนั้น ถ้าเด็กเล็กเจอฝุ่นพวกนี้บ่อยๆ จะติดเชื้อเป็นปอดบวมได้ง่าย และเกิดการอักเสบที่ตา จมูก ทางเดินหายใจ”

ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็ง มีหลายทฤษฎี แต่ในระดับเซลล์พบว่า ฝุ่น PM 2.5 สามารถทำให้     ดีเอ็นเอของเซลล์เสื่อมสภาพ หากร่างกายซ่อมแซมผิดพลาดก็จะเกิดมะเร็ง อีกทั้งในมลภาวะยังมีไฮโดรคาร์บอน ที่ทำให้เกิดมะเร็งได้เช่นกัน

“เมื่อฝุ่น PM 2.5 เข้าไปในร่างกายจะทำให้เกิดการอักเสบหลายๆ แห่ง ที่น่าเป็นห่วงคือ หญิงตั้งครรภ์ ถ้าสูดดมมลพิษพวกนี้เข้าไปอยู่ตลอด จะซึมไปถึงทารกในครรภ์ ทำให้พัฒนาการทางสมอง ปอด ฯลฯ มีปัญหา จึงควรต้องมีการดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง” ศ.นพ.เกียรติ กล่าวในที่สุด

จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้

ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า