ข่าวสารจุฬาฯ

นิสิตเก่าศศินทร์ จุฬาฯ ต่อยอดธุรกิจเทรดดิ้ง ด้วยแนวคิดความยั่งยืน

การสานต่อธุรกิจครอบครัวที่ก่อตั้งมาอย่างยาวนาน นับเป็นเรื่องท้าทายกับเจนเนอเรชั่นต่อ ๆ มาเพื่อให้ธุรกิจนั้นยังคงดำเนินกิจการไปได้อย่างมั่นคงยั่งยืน นับว่าเป็นเรื่องไม่ง่าย ซึ่งผู้ที่จะมาสานต่อธุรกิจและฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ในการเข้ามาเป็นผู้บริหารเจนเนอเรชั่นใหม่ ต้องเป็นผู้ที่มีความเข้าใจความเป็นมาของธุรกิจเป็นอย่างดีและมีความมุ่งมั่นไม่น้อยเลยทีเดียว

    คุณธนะโชติ  วงศ์สืบชาติ Merchandise Director บริษัท สินสมบรูณ์ เทรดดิ้ง จำกัด และนิสิตเก่าสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเข้ามาสานต่อธุรกิจครอบครัวเป็นเจนเนอเรชั่นที่ 2 กล่าวถึงธุรกิจครอบครัวว่า “เป็นบริษัทเทรดดิ้ง ขายส่งเครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศไทย ดำเนินธุรกิจมาแล้ว 37 ปี  โดยมีคุณพ่อคุณแม่เป็นผู้ก่อตั้งบริษัท ตัวเองจึงมาสานต่อธุรกิจครอบครัว สำหรับในส่วนที่รับผิดชอบ จะดูแลแผนกจัดซื้อ ซื้อสินค้า เลือกสินค้าแบบไหน รุ่นไหน จากซัพพลายเออร์ ดูเรื่องราคา เพื่อมาขายให้กับตัวแทนจัดจำหน่ายของบริษัท เราจะมีทีมขายที่ลงพื้นที่เพื่อสำรวจตลาดและในบางครั้งก็จะลงพื้นที่สำรวจตลาดด้วยตัวเองเช่นกัน เพื่อให้เข้าใจลูกค้ามากขึ้นและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับตัวแทนจำหน่าย ซึ่งเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ขายส่ง มีทั้งแบรนด์ของบริษัทเอง ชื่อว่า Vicktor  มีสินค้าประเภทพัดลม ตู้กดน้ำ และตู้กรองน้ำ และเป็นตัวแทนจำหน่ายให้กับหลาย ๆ แบรนด์ ประมาณ 17 แบรนด์ เช่น ฟิลิปส์ แอลจี  ซัมซุง  ฮิตาชิ พานาโซนิค มิตซูบิชิ โตชิบา ชาร์ป  และอีกหลากหลายแบรนด์ โดยจะส่งสินค้าให้กับร้านค้าปลีกในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังมีส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง เช่น พม่า ลาว มาเลเซีย ดูไบ ปากีสถาน บังคลาเทศ ศรีลังกา และแถบตะวันออกกลางด้วย โดยแต่ละประเทศมีความนิยมแบรนด์ไม่เหมือนกัน” 

     คุณธนะโชติ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า “ธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้ามีการแข่งขันกันสูงมากในหลายด้าน  ทั้งในเรื่องของแบรนด์ที่มีการแข่งขันกันสูงอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังมีแบรนด์ใหม่ ๆ เกิดขึ้นเยอะ ที่ผ่านมาแบรนด์ที่มีอยู่เดิมจะเป็นแบรนด์ของญี่ปุ่น แต่ภายใน 20 ปีนี้เกิดแบรนด์ของเกาหลีที่เติบโตค่อนข้างดี และภายใน 10 ปีนี้ มีแบรนด์ของจีนเข้ามาในตลาดไทยค่อนข้างมาก ทั้งหมดนี้ยังไม่รวมแบรนด์อเมริกา ยุโรป แบรนด์ไทย จึงมีการแข่งขันกันทั้งทางด้านราคาและคุณภาพ และการแข่งขันช่องทางการขาย” 

     “สำหรับบริษัทเราเองจะมีช่องทางผ่านตัวแทนจำหน่ายในจังหวัดต่างๆ จะมีทั้งแบบขายปลีกและขายส่ง ถือว่าเป็นช่องทางจัดจำหน่ายแรก ๆ ของการจัดจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้า และ 30 ปีถัดมาจากนั้น จะมีช่องทางจัดจำหน่ายตามโมเดิร์นเทรด ในห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ ถือว่าเป็นช่องทางที่ใหญ่ที่สุดของการขาย และช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมาที่ทำให้การแข่งขันสูงขึ้นไปอีกก็คือช่องทางออนไลน์ ซึ่งเกิดการตัดราคากันมากขึ้น สามารถเช็คราคาได้ง่ายขึ้น  สำหรับบริษัทเรากำลังหาวิธีที่จะพัฒนาเพื่อเพิ่มยอดขายมากขึ้น ยังเชื่อว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าในช่องทางออฟไลน์  หรือช่องทางค้าปลีกที่เป็นร้านค้ายังมีความสำคัญอยู่ ยังมีกลุ่มผู้บริโภคที่ชอบซื้อสินค้ากับร้านค้า มากกว่าการซื้อผ่านออนไลน์ เพราะมีความน่าเชื่อถือ และสามารถดูสินค้าจริงได้ หรือมีปัญหาอะไรต้องการรับบริการก็สามารถติดต่อกับร้านค้าได้โดยตรง และเรื่องบริการหลังการขายจะดูน่าเชื่อถือมากกว่า นอกจากนี้เรายังร่วมมือกับตัวแทนจำหน่ายให้พัฒนาช่องทางการขายอยู่ตลอด  

เช่นการตกแต่งร้าน  พัฒนาทีมขายให้มีความรู้ด้านสินค้าสามารถแนะนำลูกค้าได้ และการบริการหลังการขายถือว่าเป็นจุดขายของช่องทางค้าปลีก เพื่อให้ลูกค้าเชื่อมั่นว่าหากสินค้ามีปัญหาการใช้งานจะมีการดูแลจากทีมขายเป็นอย่างดี  

ในขณะเดียวกันก็ให้คำแนะนำร้านค้าตัวแทนจำหน่ายของเรา ให้เพิ่มช่องทางการขายแบบออนไลน์ในแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ ด้วยเช่นเดียวกัน สำหรับบริษัทเรามีตัวแทนจัดจำหน่ายทั่วประเทศประมาณ 400 กว่าร้านค้า มีทั้งร้านค้าที่ทำธุรกิจร่วมกันมาตั้งแต่เริ่มต้น และรวมทั้งร้านค้าใหม่ ๆ ปัจจุบันบริษัทมีรายได้ต่อปีประมาณ พันห้าร้อยกว่าล้านบาท  สำหรับประเทศไทยภาพรวมของตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้ามียอดขายต่อปีประมาณแสนล้านบาท” 

      นอกจากนี้บริษัทสินสมบูรณ์ได้รับการแต่งตั้งเป็นตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศของแบรนด์ฟิลิปส์ ในหมวดบิวตี้และหมวดคิชเช่น (Kitchen) ตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปัจจุบัน เป้าหมายที่วางไว้จะเพิ่มยอดขายให้เติบโตประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ต่อปี และมีการติดต่อกับแบรนด์และซัพพลายเออร์ใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา ในแต่ละปีเราจะมีแบรนด์ใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น เพื่อมาส่งเสริมให้ยอดขายโตขึ้นในแต่ละปี  มีการพัฒนาตัวแทนจำหน่าย การส่งเสริมการขายในแคมเปญต่าง ๆ เพื่อให้ตัวแทนจำหน่ายมียอดขาย มีผลกำไรเพิ่มขึ้น และเป็นธุรกิจท้องถิ่นที่อยู่ได้อย่างยั่งยืน สำหรับแนวคิดการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน ถ้าพูดถึงสินค้าที่นำมาจัดจำหน่าย เราเชื่อว่าผู้ผลิตแต่ละแบรนด์ให้ความสำคัญในเรื่องนี้อยู่แล้ว เช่น กล่องใส่ผลิตภัณฑ์สามารถนำมาปรับเป็นของใช้อื่น ๆ ได้อีก หรือการไม่ใช้กล่องในการใส่ผลิตภัณฑ์แต่มีการห่อหุ้มแบบลดขยะ รวมทั้งมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในเรื่องการประหยัดไฟ ส่วนในฝั่งของผู้จัดจำหน่าย เราต้องพยายามทำให้ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์ด้วยกันหมด ทั้งบริษัทผู้ผลิต ตัวเราเองซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่าย  และร้านตัวแทนจำหน่ายสินค้า เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในอาชีพ ผู้แทนจำหน่ายของเราส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอี เป็นคนในพื้นที่ในท้องถิ่น ทุกอำเภอ ทุกจังหวัด เราให้คำแนะนำพัฒนาร้านค้าให้มีความยั่งยืนทางธุรกิจ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจเอสเอ็มอีในประเทศไทยจะได้แข็งแรงมากขึ้น มีความตรงไปตรงมาและโปร่งใสมากที่สุดถือว่าเป็นความยั่งยืนด้านการบริหารจัดการขององค์กร นโยบายการขาย โปรโมชั่น ราคาต่าง ๆ ให้มีความโปร่งใสกับตัวแทนจำหน่ายของเรา เพื่อให้ทำธุรกิจด้วยกันอย่างสบายใจ และมั่นใจในบริษัทเราตามเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการทำธุรกิจกับร้านค้าตัวแทนจำหน่ายอย่างยั่งยืน การทำธุรกิจ ใด ๆ ก็ตามให้ยึดหลักความโปร่งใส คำนึงถึงผู้เกี่ยวข้องในทุก ๆ ด้าน เชื่อว่าเป็นส่วนสำคัญในการทำธุรกิจได้อย่างยั่งยืน

      ในมุมมองของคุณธนะโชติ การเริ่มต้นธุรกิจครอบครัวและธุรกิจทั่ว ๆ ไป ก็หมือนกัน เพราะต้องเริ่มจากเจ้าของธุรกิจเช่นเดียวกัน  ตอนเริ่มต้นเรื่องการจัดระบบการจัดการในการบริหารของธุรกิจครอบครัวไม่น่ามีปัญหาอะไรเยอะมาก  เพราะเริ่มต้นจากคนเดียว แต่เมื่อธุรกิจขยายตัว และมาจนถึงเจนเนอเรชั่นรุ่นที่ 2 และรุ่นถัด ๆ ไป คิดว่าถ้าจะลดปัญหาในการส่งต่อธุรกิจครอบครัว อาจต้องมีแผนระยะยาว เช่นการพัฒนาลูกหลานให้มีความพร้อมในการเข้ามาสานต่อธุรกิจครอบครัว เมื่อเรียนจบแล้วหรือมีประสบการณ์แล้ว โดยอาจเป็นประสบการณ์จากการทำงานจากข้างนอกมาก่อนก็ได้เช่นกัน  อย่างที่สองบางครอบครัวอาจมองข้ามไป เช่น ลูกหลาน อาจโตมากับครอบครัวที่ทำธุรกิจ  คุณพ่อคุณแม่คุยธุรกิจกันทุกวันทั้งที่บ้านและที่ทำงาน จึงควรสร้างบรรยากาศหรือประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกหลาน เพื่อให้มีความสนใจ หรือมีความต้องการที่จะมาร่วมทำงานกับธุรกิจของครอบครัว สุดท้ายเป็นเรื่องของการวางแผนบริหารจัดการธุรกิจคนในครอบครัว  ก่อนจะเข้ามาร่วมงานต้องมีปัจจัยความพร้อมอย่างไรบ้าง  เมื่อเข้ามาแล้วสามารถทำอะไรได้บ้าง  มีกฎระเบียบสำหรับครอบครัว เพื่อให้ทุกคนอยู่ภายใต้กฎเดียวกัน และมีความสัมพันธ์ภายในครอบครัวเป็นไปด้วยดี เพราะถ้ามีปัญหาทางด้านความสัมพันธ์ การบริหารงานก็จะไม่ราบรื่น  เป็นความยากในการทำงานร่วมกัน

คุณธนะโชติ  วงศ์สืบชาติ
Merchandise Director บริษัท สินสมบรูณ์ เทรดดิ้ง จำกัด

     สำหรับการเข้ามาทำงานสานต่อในธุรกิจครอบครัว และเป็นเจนเนอเรชั่น 2 จะมีอุปสรรคในเรื่องความคิดเห็นไม่ตรงกันบ้างในแนวคิดการทำงาน เรามีคุณพ่อคุณแม่ที่เป็นผู้ก่อตั้งธุรกิจนี้ และพี่น้องอีกหลายคนที่เข้ามาสานต่อในธุรกิจครอบครัว ก็อาจจะมีผลต่อการบริหารการทำงานและความสัมพันธ์ในครอบครัวบ้าง ต้องคอยบริหารจัดการให้ดีในการทำงานกับพ่อแม่พี่น้อง นอกจากนี้บริษัทก่อตั้งมาถึง 37 ปี ก็จะมีผู้บริหารที่ร่วมงานกับเรามากว่า 20 – 30 ปี ซึ่งจะมีตำแหน่งเป็นผู้จัดการฝ่าย ผู้อำนวยการฝ่ายต่าง ๆ มีความเป็นอาวุโสมากกว่าลูก ๆ ที่เข้ามาสานต่อธุรกิจครอบครัว  ซึ่งเราก็ต้องให้ความเคารพในความอาวุโส ประสบการณ์ และความสามารถ ให้การตัดสินใจในแผนกที่รับผิดชอบ ส่วนพี่น้องที่เข้ามาทำงานจะแบ่งแยกหน้าที่ความรับผิดชอบการบริหารงานแต่ละแผนกค่อนข้างชัดเจน         

     คุณธนะโชติ กล่าวถึงการเรียนที่ศศินทร์ว่า “ทุกวิชาที่เรียนเกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจครอบครัว การเรียน MBA เป็นการบริหารจัดการธุรกิจ และมีวิชาที่เกี่ยวกับธุรกิจครอบครัวโดยตรง เป็นการเรียน วิเคราะห์ ด้วยเคสธุรกิจครอบครัว จากการเชิญเจ้าของธุรกิจครอบครัวที่มีประสบการณ์ในการส่งต่อและสานต่อธุรกิจระหว่างเจนเนอเรชั่น  มาแชร์ประสบการณ์การบริหารจัดการ ทำให้เห็นมุมมองธุรกิจครอบครัวว่ามีปัญหาแบบนี้ ซึ่งบางปัญหาอาจตรงกับธุรกิจครอบครัวของเราด้วย สามารถนำมาปรับใช้ได้โดยตรง นอกจากนี้ในชั้นเรียนมีอาจารย์ของศศินทร์ ซึ่งดูแลรับผิดชอบการให้คำปรึกษากับองค์กรต่าง ๆ นำหลักการวิเคราะห์ธุรกิจครอบครัว มาสอนในชั้นเรียนด้วย”

คุณธนะโชติ ในฐานะที่เป็น Entrepreneur-in-Residence ของศูนย์บริหารจัดการความยั่งยืนและส่งเสริมผู้ประกอบการสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ฯ  ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการจัดการแข่งขัน FECC-AP ได้กล่าวถึงบทบาทการทำงานที่ศศินทร์ และการจัดการแข่งขัน Family Enterprise Case Competition – Asia Pacific (FECC-AP) ว่า “การส่งเสริมธุรกิจครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญ และการแข่งขันนี้จัดขึ้นมาเพื่อให้นิสิตได้พัฒนาการเรียนรู้ด้านการดำเนินธุรกิจครอบครัวได้อย่างมีศักยภาพ เราจะสามารถเห็นการพัฒนาของนิสิตได้ชัดเจน นิสิตที่เข้าร่วมการแข่งขันมีความเข้าใจธุรกิจครอบครัวมากขึ้น จากการนำเสนอเคสในวันแรกกับวันสุดท้ายของการแข่งขัน  ความมั่นใจกับความสามารถในการนำเสนอ” และเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา คุณธนะโชติ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาทีมนิสิตของศศินทร์ ได้นำทีมเข้าร่วมการแข่งขัน Schlesinger Global Family Enterprise Case Competition (SG-FECC) ที่สหรัฐอเมริกา และไปคว้ารางวัลชนะเลิศระดับโลกได้สำเร็จอีกด้วย

จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม

รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า