ข่าวสารจุฬาฯ

“DeepGI” ความร่วมมือวิศวฯ และแพทย์จุฬาฯ ส่องกล้องลำไส้ใหญ่และระบบทางเดินอาหารด้วย AI ตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ผลแม่นยำ ผลงานสร้างชื่อระดับนานาชาติในการประชุม ENDO 2024 ที่เกาหลีใต้

อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมพัฒนา DeepGI นวัตกรรม AI ใช้ในการส่องกล้องลำไส้ใหญ่และระบบทางเดินอาหาร เพื่อตรวจมะเร็งได้ผลแม่นยำ ใช้งานจริงแล้วที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ผลงานสร้างชื่อเป็นที่ยอมรับจากต่างชาติในการประชุมของแพทย์ส่องกล้องระบบทางเดินอาหารนานาชาติ ENDO 2024 ที่ประเทศเกาหลีใต้

ศ.นพ.รังสรรค์ ฤกษ์นิมิตร ผู้รักษาการผู้ช่วยอธิการบดี ด้านนวัตกรรม จุฬาฯ อาจารย์ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการส่องกล้องระบบทางเดินอาหารจากศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เปิดเผยว่า จากการประชุมของแพทย์ส่องกล้องระบบทางเดินอาหารนานาชาติ ENDO 2024 เมื่อเร็วๆ นี้ที่ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งจัดโดย the World Endoscopy Organization (WEO) ร่วมด้วย the Korean Society of Gastrointestinal Endoscopy ( KSGE) มีผู้เข้าร่วมประชุม 3,200 คน โดยมีการถ่ายทอดสัญญาณสดจากโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อให้ผู้เข้าประชุมได้รับชมการส่องกล้องในระบบทางเดินอาหาร

สาขาวิชาโรคระบบทางเดินอาหาร ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับการคัดเลือกเป็นหนึ่งในสามของศูนย์ส่องกล้องจากทั่วโลกให้ทำการส่องกล้องแบบ live transmission ไปยังผู้เข้าร่วมประชุม ENDO 2024 โดยได้นำเสนอการส่องกล้องในผู้ป่วย 4 ราย ซึ่ง 1 ใน 4 รายเป็นการนำเสนอการส่องกล้องโดยการใช้เทคโนโลยี DeepGI ที่เป็นปัญญาประดิษฐ์โดย ความร่วมมือของคณะวิศวกรรมศาสตร์และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อช่วยแพทย์ในการตรวจหาเยื่อบุกระเพาะอาหารที่ผิดปกติก่อนเป็นมะเร็ง

การส่องกล้องแบบ live transmission โดย DeepGI ในการประชุม ENDO 2024
บรรยากาศในการประชุม ENDO 2024
บรรยากาศในการประชุม ENDO 2024

ศ.นพ.รังสรรค์กล่าวว่า การส่องกล้องด้วยเทคโนโลยี DeepGI จากสาขาวิชาโรคระบบทางเดินอาหาร ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้รับการตอบรับอย่างดียิ่งจากผู้ชมในการประชุม ENDO 2024  มีผู้ร่วมงานสนใจจะร่วมทำงานวิจัยกับทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนานวัตกรรมนี้ให้เกิดการต่อยอดในต่างประเทศด้วย  ซึ่งปัจจุบันมีประเทศอินเดียและอิตาลีให้ความสนใจเทคโนโลยีดังกล่าว

AI ตรวจจับความผิดปกติในทางเดินอาหาร (DeepGI – Deep Technology for Gastrointestinal Tracts) เป็นนวัตกรรมที่ถูกพัฒนาขึ้นโดย รศ.ดร.พีรพล เวทีกูล และ ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ หนูไพโรจน์ จากภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ ศ.นพ.รังสรรค์ จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และทีมวิจัยจากศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โดยได้รับความร่วมมือจากบริษัท อีเอสเอ็ม โซลูชั่น จำกัด ในการร่วมสนับสนุนนวัตกรรม และเป็นตัวแทนจำหน่าย DeepGI ซึ่งปัจจุบันได้ให้บริการตรวจคนไข้ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และทดสอบใช้งานในโรงพยาบาลหลายแห่ง

            ปัจจุบันวิธีมาตรฐานที่ใช้ในการตรวจหาความผิดปกติต่าง ๆ คือการส่องกล้องผ่านช่องทวารหนัก (ตรวจลำไส้ใหญ่) หรือระบบทางเดินอาหารส่วนปลาย ซึ่งการตรวจจับความผิดปกติค่อนข้างมีความท้าทายมาก เนื่องจากลักษณะของติ่งเนื้อมีรูปแบบที่หลากหลาย เช่น แบบที่นูน และแบบที่แบนราบไปกับผนังลำไส้ อีกทั้งอาจจะมีขนาดที่เล็ก และสีที่กลมกลืนไปกับบริเวณโดยรอบ จึงทำให้การตรวจวินิจฉัยผิดพลาดได้ง่ายหากแพทย์ขาดประสบการณ์หรืออุปกรณ์การแพทย์ไม่ครบเครื่อง จากสถิติพบว่าการตรวจอาจผิดพลาดได้ถึงร้อยละ 22

ศ.นพ.รังสรรค์ ฤกษ์นิมิตร

นวัตกรรม AI ตรวจจับความผิดปกติในทางเดินอาหาร DeepGI มีจุดเด่น 4 ประการ ได้แก่

  1. Deep Technology เทคโนโลยีขั้นสูงของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่เรียกว่าการเรียนรู้เชิงลึก (Deep Learning) มาช่วยตรวจจับ (Detection) พร้อมแยกประเภทชิ้นเนื้อผิดปกติ (Characterization) แบบ real-time ด้วยความแม่นยำสูงสุด
  2. Vendor Unlock รองรับกล้องส่องทางเดินอาหารทุกแบรนด์และทุกรุ่น
  3. Extensible Future ต่อยอดได้อีกในอนาคตเพื่อตรวจหาชิ้นเนื้อผิดปกติตามจุดอื่น ๆ ภายในร่างกาย เช่น ท่อน้ำดี และกระเพาะอาหาร เป็นต้น
  4. Affordable ราคาต่ำกว่าระบบอื่นในตลาด ซึ่งโรงพยาบาลหรือหน่วยงานราชการต่าง ๆ สามารถเข้าถึงได้ เพิ่มศักยภาพการตรวจ ขยายผลสู่แพทย์ชนบท
รศ.ดร.พีรพล เวทีกูล

รศ.ดร.พีรพล เวทีกูล ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่าปัจจุบัน DeepGI ได้ขยายขีดความสามารถรองรับการตรวจจับความผิดปกติในกระเพาะอาหาร ที่เรียกว่า Gastrointestinal Metaplasia (GIM) ซึ่งเป็นระยะเริ่มแรกของการเป็นมะเร็ง ในกระเพาะอาหาร โดยมะเร็งชนิดนี้เป็นหนึ่งในมะเร็งที่พบได้บ่อยและมีอัตราการเกิดมากขึ้น สืบเนื่องจากพฤติกรรมการทานอาหาร นวัตกรรมนี้จะช่วยให้ทีมแพทย์ (AI-Assisted Solution) สามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และลดความผิดพลาด เนื่องจาก DeepGI จะประมวลวิเคราะห์ภาพที่ได้จากวิดีโอระหว่างการส่องกล้อง แล้ววิเคราะห์ความผิดปกติด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยใช้เทคนิคเครื่องจักรเรียนรู้ที่เรียกว่า การเรียนรู้เชิงลึก (Deep Learning) ซึ่งโมเดลจะตีกรอบบริเวณที่มีความผิดปกติ แล้วแจ้งเตือนให้กับแพทย์แบบทันที (real-time) โดยมีความแม่นยำมากกว่าร้อยละ 90 พร้อมให้การวินิจฉัย (characterization) ชนิดของติ่งเนื้อว่าเป็นชิ้นเนื้อที่เป็นอันตราย (Neoplastic) หรือไม่เป็นอันตราย (Hyperplastic) อย่างแม่นยำ ความสามารถด้านนี้จะช่วยเพิ่มให้แพทย์มีความมั่นใจในการวินิจฉัยโรคได้มากขึ้น จากผลการวิจัยพบว่า DeepGI สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการค้นหาติ่งเนื้อถึง 16% การตรวจพบติ่งเนื้อเพิ่มขึ้น 1% และจะสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งลำไส้ได้ถึง 3%

ทั้งนี้ “มะเร็งลำไส้ใหญ่” เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับต้น ๆ ในกลุ่มผู้สูงอายุ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนประชากรสูงวัยที่เพิ่มขึ้น ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มเสี่ยงของโรคมะเร็งระบบทางเดินอาหาร    หากตรวจพบโรคมะเร็งในระยะเริ่มต้นจะช่วยในการรักษาได้ทันท่วงที ช่วยลดอัตราการป่วยและเสียชีวิตจากโรคนี้ได้

ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ หนูไพโรจน์

DeepGI มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องโดยมีความพร้อมด้านเทคโนโลยีระดับ 5 (Technology Readiness Level 5, TRL5) และถูกทดสอบใช้งานจริงในหลายโรงพยาบาล มีการเปรียบเทียบประสิทธิภาพกับคู่แข่งในท้องตลาด และสามารถตรวจจับความผิดปกติได้ทั้งในลำไส้ใหญ่ และในกระเพาะอาหาร ซึ่งจะทำให้ป้องกันการเกิดมะเร็งในลำไส้ใหญ่และกระเพาะอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในอนาคต DeepGI จะมีการขยายขีดความสามารถอย่างต่อเนื่อง เช่น การตรวจหาความผิดปกติในท่อน้ำดี เป็นต้น

  • ผู้สนใจเกี่ยวกับ DeepGI  ติดตามได้ที่เว็บไซต์ https://deepgi.co/ และ https://www.chula.ac.th/highlight/70627/
  • การเข้ารับบริการด้วยนวัตกรรมระบบตรวจความผิดปกติในทางเดินอาหาร (DeepGI) เพื่อป้องกันโรคมะเร็งทางเดินอาหาร ติดต่อได้ที่ ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ ชั้น 10 โซน A โทรศัพท์ 0-2256-4000 ต่อ 81001-2
DeepGI
การสาธิตการส่องกล้องด้วย DeepGI
การสาธิตการส่องกล้องด้วย DeepGI
คณาจารย์ผู้พัฒนา DeepGI ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน

จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม

รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า