ข่าวสารจุฬาฯ

เวทีจุฬาฯ เสวนา ครั้งที่ 18 นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญเสนอทางออก “เข้าใจปัญหาเยาวชนกับภาวะซึมเศร้า”

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดเวทีจุฬาฯ เสวนา ครั้งที่ 18  เรื่อง “เข้าใจปัญหาเยาวชนกับภาวะซึมเศร้า” เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 14 มีนาคม 2562 ณ ห้องประชุม 202 อาคารจามจุรี 4 เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาความเครียดและภาวะซึมเศร้าที่เกิดขึ้นในเยาวชนไทย ซึ่งบางครั้งได้นำไปสู่การจบชีวิตของตนเอง ตามที่ปรากฏเป็นข่าวทางสื่อในช่วงเวลาที่ผ่านมา รวมทั้งเพื่อเป็นเวทีในการร่วมกันเสนอแนวทางป้องกันปัญหาเยาวชนที่เผชิญภาวะซึมเศร้า โดยมี ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม รองอธิการบดี จุฬาฯ เป็นประธานกล่าวเปิดงานเสวนา ดำเนินรายการโดย อ.ดร.เจนนิเฟอร์ ชวโนวานิช คณะจิตวิทยา จุฬาฯ มีสื่อมวลชนและผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมงานเสวนาครั้งนี้จำนวนมาก

ผศ.ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ หัวหน้าศูนย์สุขภาวะทางจิต ประธานแขนงวิชาจิตวิทยาการปรึกษา คณะจิตวิทยา จุฬาฯ อธิบายถึงความแตกต่างระหว่างความเศร้ากับภาวะซึมเศร้าว่า ความเศร้าเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่จะมีช่วงที่เราฟื้นตัวกลับมาเป็นภาวะปกติได้ หากความเศร้าซึมนั้นอยู่เป็นเวลานาน ก็จะส่งผลเสียกับเรา เรียกว่าภาวะซึมเศร้า ซึ่งเหตุของความเศร้าและการรับมือของแต่ละคนจะแตกต่างกัน

ผศ.ดร.ณัฐสุดา ยังเผยข้อมูลจากงานวิจัยที่ศึกษาในนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยเกี่ยวกับภาวะเสียศูนย์ หรือภาวะไม่เป็นตัวเองเหมือนเดิม ไม่สามารถทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างที่เป็น ตัวกระตุ้นที่สำคัญคือ 1. การถูกประเมิน เช่น ผลการสอบ หากผิดจากความคาดหวัง มีโอกาสเสียศูนย์สูง 2. เรื่องเศรษฐกิจ บางคนต้องหาค่าเทอมเองเพื่อใช้ในการเรียน 3. ความรัก ไม่เฉพาะรักฉันหนุ่มสาว แต่รวมถึงความสัมพันธ์กับเพื่อน การเป็นที่ยอมรับของเพื่อน 4. ความรู้สึกผิดกับคนที่สำคัญ ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับเรื่องการประเมิน เช่น รู้สึกผิดต่อผู้ปกครอง อาจารย์ เมื่อไม่ได้เกรดเอ และ 5. ความสูญเสียที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน

นอกจากตัวกระตุ้นภายนอกแล้วยังมีตัวกระตุ้นภายในที่ทำให้สถานการณ์รุนแรงมากขึ้น คือ 1. การตีความและการรับรู้ต่อสถานการณ์ของแต่ละคนที่มีความแตกต่างกัน ดังนั้นเราจึงไม่สามารถนำประสบการณ์เดิมของเราไปครอบผู้อื่น แต่ควรจะเข้าใจว่าเขาตีความเหตุการณ์อย่างไรจากประสบการณ์ของเขา 2. รูปแบบการคิด คนที่อยู่ในภาวะเสียศูนย์จะประเมินเสมอว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจัดการไม่ได้ 3. การโยนออก เช่น ได้เกรดไม่ดีแล้วโทษอาจารย์ และ 4. มองโลกในแง่ร้าย ตีความว่าทุกอย่างจะเกิดผลลบตลอดเวลา

“พฤติกรรมที่ชี้ว่าอยู่ในภาวะเสียศูนย์ อย่างแรก แยกตัวเองออกจากสังคมอย่างชัดเจน หมดความสนใจในเรื่องการเรียนซึ่งเป็นเรื่องสำคัญของเด็กในวัยนี้ และพฤติกรรมทำร้ายตัวเอง โดยสิ่งที่เด็กในภาวะเสียศูนย์ต้องการคือ คนที่จะมาช่วยกันคิดและช่วยสนับสนุนทางจิตใจ อารมณ์ ความรู้สึก”

ผศ.ดร.ณัฐสุดา ระบุว่าปัจจัยที่อยู่รอบๆ ตัวที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดซ้ำมี 3 อย่าง ได้แก่ ครอบครัว เพื่อน และอาจารย์ ถ้าคนเหล่านี้ทำให้เด็กรู้สึกว่าสื่อสารได้ ได้รับการยอมรับ จะทำให้เขาพร้อมที่จะแบ่งปันเรื่องราว เข้าหาความช่วยเหลือ ในทางกลับกัน ถ้าเขาได้รับสิ่งที่ตีความว่าลบจากคนเหล่านี้ ก็จะยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลง

สำหรับวิธีแก้ปัญหาที่เหมาะสม ผศ.ดร.ณัฐสุดา แนะนำว่า “เราต้องฝึกการใช้วิธีการจัดการกับปัญหาที่หลากหลาย ทั้งวิธีการพึ่งพิง การจัดการทางอารมณ์ หยุดเพื่อเริ่มวางแผนในการจัดการกับปัญหา ฯลฯ มากกว่าจะมองว่าการแก้ปัญหาต้องวิ่งสู้ฟัดอย่างเดียว อีกทั้งเวลาที่เราอยู่ในความเศร้า หากเราสามารถมองได้ว่าเมื่อเราผ่านพ้นไปแล้วเหมือนที่เราเคยผ่าน เราจะเข้มแข็งขึ้น จะมองเห็นตัวเองในรูปแบบใหม่ ปัจจุบันเราพยายามแก้ปัญหาที่เจอ และเห็นโอกาสในอนาคตที่เราจะพัฒนาตนเองจากปัญหานั้น เราจะสู้และผ่านพ้นมันไปได้”

ด้าน ผศ.ดร.ปิยวรรณ วิเศษสุวรรณภูมิ หัวหน้าภาควิชาวิจัยและจิตวิทยาการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ เผยถึงประเด็นที่น่าสนใจจากงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับภาวะซึมเศร้าของนิสิตนักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย ได้แก่ 1. ยิ่งชั้นปีสูง ยิ่งพบภาวะซึมเศร้ามาก 2. ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่สำรวจมาพบว่า มีถึงร้อยละ 6.4 ของนิสิตนักศึกษาทั้งหมดที่พยายามฆ่าตัวตาย 3. เมื่อพบปัญหา คนที่นิสิตนักศึกษาจะขอความช่วยเหลือคือเพื่อน 4. สถานที่ที่ใช้ฆ่าตัวตายจะเป็นสถานที่คุ้นเคย อันดับ 1 คือหอพัก อันดับ 2 บ้าน และประเด็นสุดท้าย สาเหตุฆ่าตัวตาย อันดับ 1 ทะเลาะกับคนใกล้ชิด อันดับ 2 ปัญหาการเรียน อันดับ 3 ปัญหาความรัก

สำหรับปัจจัยที่ยิ่งมีมากจะยิ่งมีโอกาสซึมเศร้ามาก ได้แก่ ภาวะสุขภาพ ความเครียดวิตกกังวล ความสัมพันธ์ไม่ดีกับพ่อแม่ เพื่อน การไม่มีเพื่อนที่สามารถพูดคุยได้ ความคิดต่อตัวเองในเชิงลบ ครุ่นคิดแต่ในเรื่องที่ไม่ดี เหตุการณ์เชิงลบ รวมถึงบุคลิกภาพของพ่อแม่ ส่วนปัจจัยที่ยิ่งมีมากจะยิ่งมีโอกาสซึมเศร้าน้อย ได้แก่ การมีรายได้ที่เพียงพอ ความสามารถในการฟื้นพลัง บรรยากาศของครอบครัวที่ดี และการเห็นคุณค่าในตนเอง

ผศ.ดร.ปิยวรรณ กล่าวต่อว่า นิสิตนักศึกษาที่เข้ามาอยู่ในชั้นเรียน แต่ละคนจะมีความแตกต่างหลากหลาย รูปแบบการคิด ทัศนคติ ทุนชีวิต ภูมิต้านทาน บุคลิกภาพของแต่ละคนไม่เหมือนกัน จึงมีความเสี่ยงต่างกัน เด็กบางคนสอบตกบ่อยๆ ก็ไม่เป็นไร บางคนไม่ได้สอบตก แต่คะแนนลดลงนิดหน่อยก็เป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับเขา

สิ่งที่เกิดขึ้นในห้องเรียนจะมีส่วนต่อภูมิต้านทานของเด็กเมื่อออกไปสู่โลกภายนอก คนที่มีประสบการณ์ทำได้บ้างไม่ได้บ้าง จะมีภูมิคุ้มกันค่อนข้างดี ขณะที่คนที่ทำได้มาตลอด เมื่อไปเจอเหตุการณ์ที่ทำไม่ได้ก็เสี่ยงต่อการปรับตัวของเขา ส่วนคนที่ทำไม่ได้มาตลอด ก็เสี่ยงที่จะนำไปสู่การเห็นคุณค่าในตัวเองที่ต่ำลงได้ จึงอยากฝากผู้สอนว่า คนที่เรียนเก่งควรมีประสบการณ์ที่เขาล้มเหลวหรือทำไม่ได้บ้าง ส่วนคนที่เรียนไม่เก่งก็ควรให้เขามีประสบการณ์ที่สำเร็จบ้าง เพื่อให้เขารู้คุณค่าในตนเองและพยายามต่อไป

“ในการจัดการเรียนการสอน เด็กที่มีพื้นฐานต่างกัน ไม่เฉพาะเรื่องความรู้ แต่รวมถึงภูมิต้านทานของจิตใจ คำพูดบางคำ เด็กบางคนฟังแล้วเฉยๆ แต่อาจทำให้เด็กบางคนรู้สึกแย่มาก จึงจำเป็นต้องมีวิธีการที่ทำให้เขาสำเร็จได้แตกต่างกันไป” ผศ.ดร.ปิยวรรณ พูดทิ้งท้าย

สำหรับแนวทางการดูแลวัยรุ่นที่มีภาวะซึมเศร้า ผศ.นพ.ณัทธร พิทยรัตน์เสถียร หน่วยจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เผยว่า หากอาการยังไม่รุนแรง แพทย์จะดูอาการไปก่อน ยังไม่รักษา ในรายที่เป็นมากและต่อเนื่อง จิตแพทย์จะรักษาจากเบาไปหาหนัก เริ่มจากการพูดคุยจิตบำบัด พยายามให้เขาเข้าใจสิ่งที่เป็น ปรับทัศนคติว่าภาวะซึมเศร้าก็เป็นเรื่องความเจ็บป่วยแบบหนึ่ง เหมือนร่างกายที่ไม่สบายได้ จิตใจก็ไม่สบายได้และสามารถรักษาให้หายได้ ตรงนี้สำคัญเพราะ บางทีจะมีตราบาปที่คนมองว่าเป็นโรคจิตหรือเป็นบ้าหรือเปล่า ทำให้คนยิ่งไม่อยากเข้ามารักษา จากนั้นจะชักชวนให้เขารู้จักติดตามอารมณ์ตนเอง เข้าใจว่าอาจมีภาวะขึ้นและลง ไม่ได้แย่ตลอด จะมีประโยชน์ในระยะยาว เพราะเมื่อเขาหายจากภาวะซึมเศร้าแล้ว จะทำให้เวลาเขามีความทุกข์ก็จะรับมือกับมันได้

ในการดูแลตัวเองของวัยรุ่นที่มีภาวะซึมเศร้า ผศ.นพ.ณัทธร แนะนำว่า เรื่องสำคัญคือการทำให้ตัวเองกลับเข้ามาสู่ชีวิตแบบเดิมให้เร็วที่สุด เพราะคนซึมเศร้าจะไม่อยากทำอะไร หมดพลังกับชีวิต ถ้ารอให้หายซึมเศร้าก่อนค่อยไปทำอะไรก็จะยิ่งจมลงไปอีก ถ้าไปเรียนไหวให้กลับไปเรียน หรือถ้าทำอะไรไม่ไหวก็พยายามจัดข้าวของในบ้าน ไปออกกำลังกาย ฯลฯ รวมทั้งหาคนที่เป็นผู้รับฟังได้ และปรับความคิดในแง่ลบ ตั้งคำถามว่าโลกแย่ขนาดนั้นจริงหรือไม่ เราไม่มีคุณค่าจริงหรือ หรือตัวเรามีอะไรที่ดีกว่าที่เราคิด เพื่อให้ความรู้สึกดีขึ้นได้

“เรื่องการทำร้ายตัวเอง สิ่งที่จะช่วยได้มากคือ การมีแผนรับมือกับความรู้สึกนั้น เพราะถ้าไปรอให้คิดตอนมีอาการมักจะคิดไม่ทัน ตอนที่อาการดีขึ้นระดับหนึ่งจึงควรคิดแผนไว้ก่อนว่า อะไรควรทำไม่ควรทำ อะไรทำแล้วเสี่ยง อารมณ์จะแย่ลง อีกประเด็นที่หนักใจคือ เรื่องเหตุผลของการมีชีวิตอยู่ คนที่ฆ่าตัวตายมักจะหมดหวังในชีวิต ชีวิตเจ็บปวดจนเกินรับได้ มองไปไม่เห็นอนาคต แต่ชีวิตก็ยังมีสิ่งที่ดีอยู่ เพียงแต่ตอนเศร้าจะนึกไม่ออก ถ้านึกออกก็จะเป็นตัวที่ดึงเอาไว้ บางคนนึกถึงพ่อแม่ หรือดาราก็มี

“สิ่งที่เป็นห่วงคือเวลาถามเด็กยุคนี้ว่า อะไรคือความหมายของชีวิต อะไรคือสิ่งที่ทำให้อยากมีชีวิตอยู่  คำตอบคือไม่รู้ ชีวิตมีแค่การเรียนหนังสือ คิดไม่ออกว่าจะทำอย่างไรให้มีความสุขนอกจากสอบได้คะแนนดีๆ ตรงนี้เป็นประเด็นสังคมว่า จะทำอย่างไรให้เด็กยุคใหม่มีความหมายของชีวิต มากกว่าการอยู่ไปวันๆ” ผศ.นพ.ณัทธร  กล่าว

ขณะที่ พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ชี้ว่า ภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่นอาจไม่ได้แสดงความเศร้าตรงๆ แต่จะแสดงออกมาเป็นปัญหาพฤติกรรม ได้แก่ ยาเสพติด เรื่องเพศหรือการตั้งท้องในวัยรุ่น และพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง  เกิดจากความเครียดวิตกกังวล ซึ่งมักพบว่ามากับอารมณ์เศร้า และอาการสมาธิสั้น รวมถึงการเลี้ยงดูแบบตามใจและไม่มีระเบียบวินัย

“ภาวะซึมเศร้าเป็นโรคทางจิตเวชที่มีภาระโรคสูงที่สูด คือเป็นโรคที่สร้างภาระให้ประเทศ โดยวัดจากจำนวนปีที่ตายก่อนวัยอันควรหรือก่อนอายุ 80 ปี  บวกกับจำนานปีที่อยู่โดยสูญเสียสุขภาวะ ซึ่งภาวะซึมเศร้าก่อให้เกิดปัญหาการตายก่อนวัยอันควรจากการฆ่าตัวตาย และทำให้อยู่อย่างไม่มีความสุข ถ้าเทียบกับโรคโดยรวมก็อยู่ใน 10 อันดับแรกมาโดยตลอด แต่ไม่ค่อยถูกพูดถึง เพราะจับต้องไม่ได้ และคนรู้สึกอายเวลาบอกคนอื่น”

พญ.ดุษฎี ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยมีระบบช่วยเหลือดูแลนักเรียนในสถานศึกษาที่ทำกันมาแล้ว 4 – 5 ปี แต่ยังครอบคลุมเพียง 10% โดยระบบของโรงเรียนมัธยมศึกษาจะใช้เครื่องมือ SDQ แบบประเมินจุดแข็งจุดอ่อน ถ้ามีปัญหาอารมณ์ก็จะถูกส่งมาที่ระบบการดูแล ซึ่งการที่วัยรุ่นไม่ได้แสดงอาการเศร้าออกมาตรงๆ แต่ออกมาเป็นพฤติกรรมเกเรดังกล่าว หากครูไม่เข้าใจจะมองว่าเด็กนิสัยไม่ดี ถูกตามใจจนทำให้เสียคน ทำให้เด็กไม่ได้รับความช่วยเหลือ

ประเด็นเรื่องข่าวการฆ่าตัวตายที่นำเสนอผ่านสื่อ พญ.ดุษฎี ระบุว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากคือ เรื่องcopycat  ถ้ามีการผลิตซ้ำข่าว โดยยิ่งอธิบายรายละเอียดของวิธีการมากแค่ไหน พบว่าอัตราการฆ่าตัวตายก็จะยิ่งเพิ่มขึ้น แต่หากการเสนอข่าวเน้นที่วิธีแก้ปัญหาหรือดูแลช่วยเหลือสำหรับคนที่มีภาวะซึมเศร้าและเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย พบว่าอัตราการฆ่าตัวตายลดลง

พญ.ดุษฎี สรุป 4 หลักการในเชิงการป้องกันการฆ่าตัวตาย คือ 1. การสร้างทักษะชีวิต ต่อให้สอบตกก็ปรับตัวได้ มองเหตุการณ์ต่างๆ ตามความเป็นจริง จัดการอารมณ์ทั้งบวกและลบได้อย่างเหมาะสม จัดการทักษะทางสังคมได้อย่างดี 2. ไม่ผลิตข่าวซ้ำ 3.จำกัดวิธี เช่น บางแห่งจัดคนไปเฝ้าสะพานที่มีคนกระโดดบ่อยๆ และ 4. มีระบบเฝ้าระวัง โดยหลักการคือ สอดส่องมองหาคนที่มีความเสี่ยง ใส่ใจรับฟังอย่างเข้าใจ และส่งต่อเชื่อมโยงเมื่ออาการไม่ดีขึ้น

“อยากชวนให้ทุกคนมาสร้างสังคมที่มีความชื่นชม ให้คุณค่าและให้โอกาสคนทำผิด ไม่ซ้ำเติมกัน สิ่งที่พบจากการเวิร์กชอปกับกลุ่มครูทั่วประเทศและกลุ่มพ่อแม่ในระดับประถมวัย คือ ครูเพิ่งรู้ว่าชมเด็กแล้วดี และที่น่าตกใจกว่าคือ พ่อแม่เพิ่งรู้ว่าชมลูกแล้วลูกจะดี เด็กเยาวชนไทยโตมาโดยแห้งแล้งคำชม      ไม่เคยได้รับการสะท้อนด้านบวกว่าเขาทำอะไรได้ดี ทำให้เด็กเติบโตมาแบบไม่แน่ใจในคุณค่าของตนเอง ซึ่งความรู้สึกไม่มีคุณค่านั้นก็คือสิ่งที่ทำให้คนไม่อยากมีชีวิตอยู่” พญ.ดุษฎี กล่าวเชิญชวน

           สุดท้าย ดร.ลูซี่ ตันอติชาติ สมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นสมาคมที่ทำงานในรูปแบบอาสาสมัครในการให้บริการคำปรึกษาทางโทรศัพท์เพื่อป้องกันการฆ่าตัวตาย กล่าวว่า สมาคมฯ จัดตั้งในประเทศไทยมาแล้วประมาณ 40 ปี โดยจะมีผู้โทรเข้ามาที่สมาคมฯ ประมาณหมื่นกว่ารายต่อปี วิธีการช่วยเหลือของสมาคมฯ คือ การรับฟังโดยไม่ด่วนตัดสิน และให้ความเป็นเพื่อนกับผู้ที่เหงา ท้อแท้   สิ้นหวัง ซึ่งอาจนำไปสู่การจบชีวิต รวมทั้งผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าที่มีความเสี่ยงสูง โดยผู้ให้บริการเป็นอาสาสมัครจากทุกวิชาชีพซึ่งผ่านการฝึกอบรมแล้ว บริการหลักของเราคือทางโทรศัพท์ที่เปิดโอกาสให้ผู้โทรเข้ามาได้พูดคุยกับคนที่ไม่รู้จักถึงความไม่สบายใจ เราจะให้คำปรึกษาและอยู่เป็นเพื่อนจนกระทั่งผ่านวิกฤติในชีวิตไปได้ ตอนนี้ได้เพิ่มช่องทางบริการทาง Facebook

ดร.ลูซี่ เล่าขั้นตอนในการให้บริการว่า เริ่มจากการให้ผู้โทรเข้ามาได้พูดถึงความไม่สบายใจ โดยไม่เร่งเร้า ช่วยสะท้อนถึงสถานการณ์ที่ผู้โทร.กำลังเผชิญอยู่ และถามถึงทางออกที่คิดว่าจะทำให้เหตุการณ์ดีขึ้น หากยังคิดไม่ออกก็จะช่วยกันคิด แต่เราจะไม่ให้แนะนำ เพราะเราเชื่อว่าทุกคนต้องเป็นผู้หาทางออกให้ตัวเองได้ เพียงแต่บางครั้งอาจยังมองไม่เห็น จากนั้นถามถึงความคิดที่จะจบชีวิต  ให้กำลังใจ ถามผู้โทรว่าจะทำอย่างไรหลังจบการสนทนา และชักชวนให้โทรกลับมาใหม่เมื่อมีความทุกข์

“ระหว่างสนทนา อาสาสมัครจะประเมินความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายของผู้โทร จากทั้งคำพูด น้ำเสียง ครอบครัว สิ่งแวดล้อมต่างๆ ถ้ามีแนวโน้มสูงก็จะขอผู้โทร. ไปพบโดยผ่านผู้อำนวยการ แต่ถ้าผู้โทร ไม่ต้องการ เราก็จะเคารพสิทธิของเขา แล้วพูดคุยประวิงเวลาเพื่อให้เขาได้ผ่านวิกฤตช่วงนั้นไป” ดร.ลูซี่ กล่าว

 

 

จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด

คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า