ข่าวสารจุฬาฯ

สรุปเวทีจุฬาฯ เสวนา ครั้งที่ 19 “กัญชา เพื่อเยียวยาสุขภาพ?”

การนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์กำลังเป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจของสังคมอย่างกว้างขวางในเวลานี้ วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิได้เผยแพร่ความรู้และสร้างความเข้าใจในประเด็นดังกล่าวในงานเวทีจุฬาฯ เสวนา ครั้งที่ 19 เรื่อง “กัญชา เพื่อเยียวยาสุขภาพ?” ซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 2 พฤษภาคม 2562 ณ ห้องประชุม 202 อาคารจามจุรี 4 มีสื่อมวลชนและผู้สนใจเข้าร่วมการเสวนาจำนวนมาก

ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม รองอธิการบดีด้านวิจัย จุฬาฯ กล่าวเปิดงานเสวนาครั้งนี้ โดยให้ข้อมูลว่าปัจจุบันมีการใช้กัญชาในทางการแพทย์ที่ได้รับการรับรองทางกฎหมายอย่างสมบูรณ์ 35 ประเทศ รับรองบางส่วน 14 ประเทศ และประเทศอาเซียนที่กำลังดำเนินการเรื่องนี้คือ ไทยและฟิลิปปินส์ ส่วนอีก 100 กว่าประเทศ ยังถือว่าผิดกฎหมายอยู่ แสดงว่ายังมีประเด็นเชิงวิทยาศาสตร์ การแพทย์ สังคม และการบริหารจัดการที่ต้องคิดรอบคอบ

“หลักฐานเชิงประจักษ์ทางการแพทย์ว่ารักษาโรคได้มีแน่นอน แต่เราต้องไม่งมงายว่ารักษาได้ทุกโรค เป็นสิ่งที่สังคมต้องระวังอย่างรุนแรง ซึ่งกรมการแพทย์ก็เพิ่งออกนโยบายเชิงสุขภาพว่า ควรใช้สาร CBD ที่สกัดจากกัญชาอย่างไรบ้าง หากเราจะใช้กัญชาในทางการแพทย์ มีประเด็นที่ต้องถกกันให้ชัดเจนคือ 1. โรคใดที่ได้ผลชัดเจน 2. ความปลอดภัยทางวิชาการ เพราะแม้แต่พาราเซตามอลก็ยังทำให้คนที่แพ้เสียชีวิตได้ 3. คุณภาพของสารสกัดจากกัญชาว่าสกัดถูกวิธีหรือมีสารปนเปื้อนหรือไม่ และ 4. การเข้าถึงอย่างเป็นระบบ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว”  ศ.นพ.เกียรติ กล่าว

ศ.นพ.เกียรติ กล่าวเสริมว่า เป้าหมายสุดท้ายของการใช้กัญชาในทางการแพทย์ก็เหมือนยารักษาโรคทุกชนิด คือ ทำอย่างไรให้ผู้ป่วยที่จำเป็นเข้าถึงยาได้เร็วที่สุด และถูกต้อง ปลอดภัยที่สุด จึงต้องมุ่งเน้นเรื่องหลักฐานเชิงประจักษ์ ประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และใช้อย่างมีสติ

          ผศ.ภญ.ดร.รุ่งเพ็ชร สกุลบำรุงศิลป์ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ  กล่าวถึงนโยบายและงานวิจัยของจุฬาฯ ในเรื่องกัญชาว่า จุฬาฯ มีการส่งเสริมการวิจัยด้านกัญชา โดยความร่วมมือของหลายคณะ ทั้งคณะแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข มีเป้าหมายตั้งแต่การปลูกและการพัฒนาสายพันธุ์ต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีองค์ความรู้ในหลายลักษณะ เช่น การได้สารสกัดกัญชาที่ไม่ได้มาจากต้นกัญชา เนื่องจากการปลูกต้นกัญชาต้องใช้เวลา 3 – 4 เดือน กว่าจะเก็บเกี่ยวและนำไปสกัด แต่กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ทำให้สารสกัดนี้ไปเกิดบนต้นไม้อื่นได้ โดยได้ปริมาณสารสกัด  ที่เหมาะสมและรวดเร็วกว่า และการพัฒนาสายพันธุ์ที่ดี มีคุณภาพ ให้สารสกัดในปริมาณที่ต้องการ

“ด้านกระบวนการสกัด มีการวิจัยเพื่อทำให้มั่นใจว่ามีความปลอดภัยและได้ปริมาณที่เหมาะสม กระบวนการผลิตก็ทำการพัฒนาตำรับที่เหมาะกับการใช้ ไม่ว่าจะใช้ทางปาก การเหน็บ การพ่น ฯลฯ รวมถึงมีการศึกษาเรื่องความปลอดภัยในการใช้ในคนและในมิติต่าง ๆ เพื่อให้แน่ใจว่าใช้แล้วไม่เกิดการติดหรือการนำไปใช้ในทางที่ผิด ถ้ามีผลข้างเคียงจากการใช้ยาก็ต้องติดตามได้ หลังกระบวนการเสร็จสิ้นจึงจะนำไปขึ้นทะเบียนเป็นยา จะเห็นว่าขั้นตอนเพื่อให้ได้มาซึ่งยานั้นไม่ได้ต้องการเพียงยาที่รักษาโรคเท่านั้น แต่ยังต้องการยาที่มีความปลอดภัย มีมาตรฐาน และมีคุณภาพ” คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว

ผศ.ภญ.ดร.รุ่งเพ็ชร ยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับงานวิจัยอีกสองชิ้น ได้แก่ งานวิจัยที่เป็นความร่วมมือกับหลายมหาวิทยาลัย โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นผู้ให้ทุนสนับสนุน เพื่อทำงานวิจัยในภาพรวมของทั้งประเทศ เป็นโรดแมปของกัญชาว่าองค์ความรู้ใดที่รู้แล้วและองค์ความรู้ใดที่ยังไม่รู้ เพื่อให้ทั้งประเทศ  ไม่ต้องนับหนึ่งวิจัยใหม่ แหล่งทุนต่างๆ สามารถให้ทุนวิจัยในมิติที่เหมาะสม โดยวิจัยตั้งแต่เรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การตลาด ไปจนถึงการให้ข้อเสนอแนะด้านนโยบาย งานวิจัยอีกชิ้นเป็นงานวิจัยเรื่องการประเมินกฎระเบียบและนโยบายต่างๆ เพื่อปรับเปลี่ยนให้มีความเหมาะสมกับการใช้กัญชาในประเทศ โดยร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

นอกจากนี้ จุฬาฯ กำลังพัฒนางานวิจัยจุฬาฯ กับ อ.เดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ ซึ่งศึกษาการใช้กัญชาในแง่ของแพทย์แผนไทยว่าใช้กับโรคและอาการใดบ้าง มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล หรือผลข้างเคียงอย่างไรบ้าง โครงการลักษณะนี้เป็นโครงการที่เกิดจากการใช้จริง จึงเป็นโอกาสที่จะได้มีข้อมูลมากขึ้นเกี่ยวกับโรคและอาการต่างๆ ที่ยังไม่ชัดเจนว่าได้ผลหรือไม่

ขณะที่ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ปณิธานที่เป็นหลักสำคัญของสภากาชาดไทยคือ ต้องการธำรงศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ผู้ป่วยหากจะเสียชีวิตก็ต้องเสียชีวิตอย่างสงบ ไม่ทรมาน ไม่เป็นภาระแก่ลูกหลาน และเรื่องยา ซึ่งกัญชาก็ถือว่าเป็นยา ทุกคนต้องเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม

“สิ่งสำคัญคือวันที่ 19 พ.ค. ที่เป็นวันพิพากษาของคนไทยทั้งหมด ว่าทำอย่างไรให้วันที่เหลือ ผู้ป่วยและผู้ปลูกกัญชาทั่วประเทศ ทั้งผู้ปลูกรายบุคคล ที่ปลูกที่บ้าน และผู้ปลูกรายย่อยในชมรมจิตอาสา และผู้ปลูกเกษตรกรรายย่อย ได้มาขึ้นทะเบียนได้ง่ายและสะดวกที่สุดโดยไม่ถูกจับถูกปรับ ซึ่ง 3 เดือนหลังจากนั้น ของ    ทุกอย่างต้องอยู่ในระบบ มีความปลอดภัยและสะอาด มีหน่วยงานที่ไปทำการสกัดและมีมาตรฐานในการตรวจสอบ เมื่อขึ้นทะเบียนเรียบร้อย สภาเกษตรกรแห่งชาติก็จะเริ่มจับคู่โดยอัตโนมัติ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จะมีความระบบ ระเบียบ ลดพวกเอาเปรียบขายราคาแพงได้ เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาได้”

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เผยว่า ในส่วนของผู้สั่งใช้กัญชาในการรักษาโรค ในประเทศไทยอยู่ในระดับรักษาตนเอง คือไม่ใช่แพทย์ แต่สั่งใช้กันเองในชมรมจิตอาสาหรือชมรมใต้ดินที่เกิดจากความต้องการรักษาชีวิตของตนเองหรือครอบครัว โดยดูความเหมาะสม โรคและสาเหตุที่ชัดเจน ความรู้ที่พวกเขาได้จากตรงนี้มีความรวดเร็วมาก

“เมื่อใต้ดินและบนดินต่อท่อขึ้นมาอยู่บนผืนแผ่นดินเดียวกันและได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน สิ่งที่เป็นประโยชน์กับผู้ป่วยมากที่สุด คือ การรู้ได้ว่าสามารถใช้กัญชาได้อย่างปลอดภัย ทั้งเรื่องปริมาณการใช้ที่เหมาะสมและความสะอาด หลังจากนั้นจะมีการจับคู่ โดยผู้ป่วยที่ใช้อยู่แล้วมารักษาที่โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลจังหวัด วิธีปฏิบัติคือ ให้แพทย์สั่งใช้ได้ตามกฎหมายและให้คู่หูใต้ดินเป็นคนอธิบายว่าควรใช้อย่างไร และอนาคตหวังว่าจะมีการปฏิบัติอย่างนี้ลงไปถึงอนามัยหมู่บ้าน หรืออาสากาชาดที่ลงไปถึงพื้นที่ชุมชนเลย”

สำหรับโรคที่ใช้กัญชารักษาได้ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ระบุว่า ได้แก่ อาการปวด แบ่งเป็นปวดจากระบบประสาทผิดปกติ และปวดนอกระบบประสาท เช่น ปวดข้อ ปวดหลัง ปวดกระดูก ฯลฯ อาการเกร็ง บิด ที่เกิดจากสาเหตุใดก็ตาม โรคลมชัก โรคสมองเสื่อม และเรื่องอารมณ์ เช่น แฟนทิ้ง ฯลฯ ก็ใช้ได้ ยกเว้นโรคไบโพลาร์ ที่ใช้กัญชารักษาไม่ได้

“ในส่วนโรคมะเร็ง ผู้ป่วยเมื่อทราบว่าเป็นโรคนี้จะหดหู่ทันที ทำให้กินไมได้นอนไม่หลับ มะเร็งก็ยิ่งลุกลาม เราสามารถใช้กัญชารักษาคุณภาพชีวิตตั้งแต่ระยะที่หนึ่ง ส่วนระยะสุดท้าย จะทำให้ผู้ป่วยสั่งเสียครอบครัวได้ เสียชีวิตโดยไม่ทรมาน บางรายใช้แล้วมะเร็งบางชนิดยุบลงหรือหยุดการแพร่กระจายได้และมีข้อมูลทางการแพทย์ที่ชัดเจน แต่ตราบใดที่ยังมีกฎหมายที่น่ากลัวก็จะทำให้ขาดข้อมูลที่สำคัญเหล่านี้ไป ผมไม่ปฏิเสธหรือสนับสนุนว่ากัญชาช่วยเรื่องมะเร็งได้ แต่กัญชาจะช่วยได้ในบางราย บางระยะ แต่ไม่ใช่ทุกคน และขอยืนยันว่าการรักษาต้องควบรวมทั้งการักษาด้วยยาแผนปัจจุบันและกัญชา ห้ามทิ้งอย่างใดอย่างหนึ่ง” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

ในมิติทางด้านสังคม ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ เผยว่า การศึกษาเรื่องการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์มีมานานแล้ว และมีการเตรียมการขับเคลื่อนทางการเมืองมา 2 – 3 ปี กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ ซึ่งจะเป็นกรณีศึกษาให้กับเรื่องอื่นๆ ที่คิดว่าจะทำและเป็นประโยชน์ว่าควรจะตั้งต้นอย่างไร แต่การเมืองเรื่องกัญชาก็ยังมีซ้อนเร้นที่ยังไม่จบอีกหลายเรื่อง เช่น ราคา การยึดครองทรัพย์สินทางปัญญา ฯลฯ อีกทั้งการให้ข้อมูลเกี่ยวกับกัญชาแก่ประชาชน เช่น ใช้ได้ผลกับโรคใดบ้าง ออกฤทธิ์อย่างไร สาระสำคัญคืออะไร อันตรายหรือไม่ ฯลฯ ก็เป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลต้องจัดการ และมหาวิทยาลัยเองก็ต้องมีหน้าที่นำข้อมูลที่ถูกต้องเผยแพร่ออกไป

ความเข้าใจทางสังคมเป็นช่องว่างใหญ่ แต่งานวิจัยทางสังคมศาสตร์ยังมีไม่มากที่จะช่วยขยายบริบทของการเข้าไปทำงาน ได้ความรู้เพิ่มเติมและได้แลกเปลี่ยนแนวคิดประสบการณ์ ทาง กพย. ได้ร่วมกับอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำงานวิจัยเรื่อง “พฤติกรรมการใช้กัญชาในกลุ่มผู้ใช้กัญชาในเขตกรุงเทพมหานคร”  สัมภาษณ์เชิงลึกในผู้ใช้กัญชา 31 คน พบว่า มีการใช้ 2 รูปแบบคือกัญชาแห้งกับน้ำมันกัญชา โดยผู้ใช้กัญชาที่ใช้เพื่อความบันเทิงนิยมใช้กัญชาแห้งเพื่อนำมาสูบ ส่วนผู้ใช้กัญชาเพื่อการแพทย์จะใช้น้ำมันกัญชามารับประทานเพื่อรักษาอาการป่วย

“การจำแนกผู้ใช้ตามโรค แบ่งเป็นมะเร็ง 9 ราย ลมชัก 7 ราย อื่นๆ 6 ราย ใช้ทดแทนยาเสพติด 6 ราย และไม่ระบุ 5 ราย ซึ่งน่าสนใจว่ากัญชาและกระท่อมน่าจะสามารถใช้เป็นยาทดแทนยาเสพติด ที่เราผลิตเองไม่ได้ ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ มีราคาแพง และผู้ป่วยเข้าไม่ถึงดี ส่วนสาเหตุการใช้ คือ ถูกปฏิเสธจากแพทย์ว่ารักษาไม่ได้ จึงต้องหาที่พึ่ง บางรายบอกว่า อาการดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ช่วยให้เจริญอาหาร บางคนก็เชื่อว่าป้องกันโรคได้”

สำหรับน้ำมันกัญชาที่ผู้ป่วยใช้มาจากแพทย์พื้นบ้านผลิต โดยคาดหวังว่าการใช้น้ำมันกัญชาจะช่วยให้หายจากอาการป่วยโดยเฉพาะโรคมะเร็ง และพบการใช้น้ำมันกัญชาในกลุ่มผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคลมชักช่วยให้คุณภาพชีวิตของเด็กและสภาพจิตใจของผู้ดูแลดีขึ้น แต่ปัญหาคือขาดคู่มือหรือแนวทางปฏิบัติ ปริมาณการให้น้ำมันกัญชาในแต่ละโรคและผลกระทบจากการใช้กัญชาระยะยาว

ผศ.ภญ.ดร.นิยดา ชี้ว่า กัญชาจะเปิดบริบทใหม่ของการตีความเรื่องการแพทย์ แพทย์แผนปัจจุบันแบบดั้งเดิมอาจไม่ใช่คำตอบ 100 % แล้ว ยังมีความรู้ที่เรายังไม่รู้อีกมากมาย เป็นเรื่องที่ต้องปรับบทบาทและเรียนรู้ โดยเฉพาะการเรียนรู้จากผู้ป่วย เป็นศาสตร์ที่สำคัญมาก สิ่งที่น่าสนใจคือ ในเครือข่ายผู้ป่วยเอง เราจะช่วยกันรวมกลุ่มแลกเปลี่ยนประสบการณ์ต่างๆ และดึงความรู้จากผู้ป่วยทั้งประสบการณ์ที่สำเร็จ ที่ล้มเหลว และอาการไม่พึงประสงค์บางอย่าง เข้ามาสู่การสังเคราะห์ภาพใหญ่และนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไร และความรู้ใหม่ๆ ที่ได้มาก็เป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยหรือนักวิชาการต้องย่อยและสื่อสารให้ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่

“ส่วนตัวมองว่าต้องเปลี่ยนการควบคุมเป็นระบบจัดการให้ผู้ป่วยและประเทศได้ประโยชน์สูงสุด โดยประกาศนโยบายแห่งชาติให้ชัดเจน ทำสถาบันที่เป็นศูนย์รวมของประเทศ ข้อมูลต้องทันสมัยที่สุด กฎกระทรวง ที่จำเป็นต้องออกมาให้ทันการ ไม่เช่นนั้นจะเกิดความลักลั่น” ผู้จัดการ กพย. กล่าวในที่สุด

ด้านการแพทย์แผนไทย ภญ.ดร.อัญชลี จูฑะพุทธิ  ผู้อำนวยการกองวิชาการและแผนงาน กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลว่า กัญชาอยู่ในตำรับตำราการแพทย์แผนไทยตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  มีการใช้ใบ ช่อดอก ราก เมล็ด ก้าน ทั้งแบบสดและแห้ง เตรียมตำรับยาในหลายรูปแบบ ทั้งลูกกลอนเม็ด ปั้นแท่ง ผง ต้ม ดอง น้ำมัน

“ตำรับยาแผนไทยที่ถูกประกาศให้เป็นตำรับยาแผนไทยของชาติ มีจำนวน 26,000 ตำรับ ในจำนวนนี้มีกัญชาเป็นส่วนประกอบมากกว่า 200 ตำรับ ตัดที่ซ้ำซ้อนกันเหลือ 90 ตำรับ โดยมีการประชุมรับฟังความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์แผนไทย เพื่อพิจารณาว่าตำรับใดควรที่จะนำมารื้อฟื้นใช้ในการแพทย์แผนไทย จนคัดเลือกได้ 16ตำรับที่การประกาศให้ใช้ได้แล้ว เป็นตำรับยาตามองค์ความรู้ที่เป็นที่รู้จักและยอมรับทางการแพทย์แผนไทย ตัวยาอื่นในตำรับหาง่าย ไม่เป็นอันตราย ส่วนตำรับยาปรุงเฉพาะรายและตำรับหมอพื้นบ้านจะดำเนินการเพื่อให้มีการประกาศเพิ่มเติมในภายหลัง”

เพื่อให้มีการขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบ ทางกรมการแพทย์แผนไทยฯ จึงแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการ และคณะกรรมการการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์แผนไทยทั้ง 4 ด้าน ประกอบด้วย ด้านการปลูก และการผลิตตำรับยา  ด้านการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากร ด้านการวิจัยและพัฒนาวิชาการตำรับยาแผนไทยที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ และ  ด้านการประเมินรับรองตำรับยาแผนไทยที่มีกัญชา และการใช้ยาแผนไทยที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่

ภญ.ดร.อัญชลี ระบุว่า ปัจจุบันกรมการแพทย์แผนไทยฯ ได้จัดตั้งสำนักงานจัดการกัญชาและกระท่อมทางการแพทย์แผนไทย เป็นศูนย์ประสานงานการขับเคลื่อนจัดการกัญชาและกระท่อมทางการแพทย์แผนไทย และเป็นสำนักงานเลขานุการคณะ คณะกรรมการอำนวยการ และคณะกรรมการการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์แผนไทย  รวมทั้งประสานและติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานจากคณะกรรมการทุกคณะ

สำหรับการผลิตยาแผนไทยที่มีกัญชาปรุงผสม ในการปลูกกัญชาได้มีการทำงานเชื่อมโยงกับศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) มทร.อีสาน และสภาเกษตรกรฯ ซึ่งให้กัญชามาใช้ในการผลิต โดยจะผลิตยาเพื่อใช้ในสถานพยาบาลของรัฐและเอกชน เพื่อการวิจัย รวมถึงผลิตเครื่องยาผสมกัญชากลาง เนื่องจากทางกรมฯ มีข้อห่วงใยว่าเครื่องยากัญชาอาจนำมาใช้เพื่อสันทนาการได้ การเอาเครื่องยาแผนไทยมาใช้ในการผลิตจะบดและผสมกับตัวยาที่มีอยู่ในตำรับ เพื่อลดโอกาสที่จะนำไปใช้ในทางที่ผิด

นอกจากนี้ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกยังมีบทบาทในการจัดอบรมหลักสูตรการใช้กัญชาทางการแพทย์แผนไทย สำหรับแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ และแพทย์พื้นบ้าน และ    ได้จัดอบรมวิทยากรหลักสูตรการใช้กัญชาทางการแพทย์แผนไทยเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีตัวแทนจากเขตสุขภาพทั้ง 13 เขต เข้าร่วมการฝึกอบรม

ด้านการวิจัยตำรับยาที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ จะวิจัยตั้งแต่ต้นพันธุ์ การผลิตเป็นยา การวิเคราะห์คุณภาพ ความปลอดภัย ประสิทธิผล โดยการติดตามผลจะดำเนินการกับโรงพยาบาลเครือข่ายที่เข้าร่วมโครงการวิจัย เก็บข้อมูลตำรับละ 100 ราย ติดตามหลังการใช้ยา 1 เดือน เมื่อพบตำรับที่น่าสนใจจึงทำการวิจัยให้เต็มศักยภาพ และประเมินผลเชิงประสิทธิผล

ผศ.ดร.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ได้กล่าวถึงมุมมองด้านกฎหมายเกี่ยวกับกัญชา โดยตั้งคำถามว่าประเทศไทยซึ่งอยู่ในประชาคมโลกสามารถทำ “กัญชาเสรี” ได้จริงหรือไม่ เป็นการใช้คำผิดหรือแค่เพียงสร้างวาทกรรมที่นำไปสู่การออกนโยบายใหม่ และกฎหมายจะออกมาหรือไม่ แล้วจะแยกแยะอย่างไร ระหว่างใช้เพื่อรักษาโรค ใช้เพื่อสันทนาการ และใช้เพื่อเสพเยี่ยงยาเสพติด

ในมิติกฎหมายระหว่างประเทศ ผศ.ดร.คนึงนิจ ระบุว่า มีอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 1961 ซึ่งรัฐภาคีของอนุสัญญาฯ รวมถึงประเทศไทย ต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการออกกฎหมายอนุวัติการให้เป็นไปตามเนื้อหาในอนุสัญญาฯ ซึ่งกัญชาในอนุสัญญาฯ นี้หมายถึง ดอกและผลส่วนยอดของพืชกัญชา ซึ่งรวมถึงสารสกัดจากกัญชา ถูกจัดให้เป็นยาเสพติดหรือสารเสพติด ประเภทที่ 1 แต่ก็มีข้อยกเว้นให้รัฐภาคีสามารถนำไปใช้ประโยชน์เฉพาะวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และในทางวิทยาศาสตร์ได้ ภายใต้เงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่อนุสัญญาฯ กำหนด ไม่ว่าจะเป็นการเพาะปลูก การแปรรูป นำเข้า ส่งออกหรือแจกจ่าย โดยไม่รวมถึงการใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการนันทนาการ

“การใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ในทางการแพทย์หรือวิทยาศาสตร์นั้น รัฐภาคีต้องดำเนินการกำหนดมาตรการและมาตรฐานหลายประการ ไม่ใช่ปล่อยให้ใช้ตามอำเภอใจ เช่น ประเมินผลปริมาณความต้องการกัญชาเป็นยารักษาโรค รายงานสถิติการใช้ต่อคณะกรรมการควบคุมสารเสพติดระหว่างประเทศเป็นประจำทุกปี จำกัดปริมาณการผลิตและการส่งออก ฯลฯ ปัญหาคือ ในด้านการแพทย์ทางเลือกจะทำอย่างไร เพราะอนุสัญญาฯ ไม่ได้พูดถึง”

สำหรับกัญชาในมิติของกฎหมายภายในประเทศ ผศ.ดร.คนึงนิจ กล่าวว่า แบ่งเป็นยุคก่อนคลายล็อก เช่น พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522  ซึ่งกัญชาถูกกำหนดให้เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เช่นเดียวกับกระท่อมและฝิ่น ห้ามผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออก มีไว้ในครอบครอง และเสพ ในยุคนั้น หากนักวิชาการต้องการวิจัยกัญชาต้องขออนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และห้ามทดลองในมนุษย์เด็ดขาด ทำให้สิทธิของผู้ป่วยที่จะได้รับและใช้กัญชาทางการแพทย์สูญเสียไป

อีก พ.ร.บ. ที่เกี่ยวข้องคือ พ.ร.บ. วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559 ระบุว่า วัตถุออกฤทธิ์ หมายความว่า วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทที่เป็นสิ่งธรรมชาติหรือที่ได้จากสิ่งธรรมชาติ หรือวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทที่เป็นวัตถุสังเคราะห์ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด กัญชามีสาร tetrahydrocannabinot (THC) ซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1 ที่ไม่ใช้ในทางการแพทย์และอาจก่อให้เกิดการนำไปใช้หรือมีแนวโน้มในการนำไปใช้ในทางที่ผิดสูง จึงห้ามผลิต ขาย นำเข้าหรือส่งออก เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาตเฉพาะในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ของทางราชการเท่านั้น

ต่อมาเป็นยุคหลังคลายล็อก เริ่มจาก พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 มีเจตนารมณ์เพื่อเปิดโอกาสให้สามารถนำกัญชาและพืชกระท่อมไปทำการศึกษาวิจัยและพัฒนาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ โดยห้ามผลิต นำเข้า หรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เว้นแต่เพื่อประโยชน์ของทางราชการ การแพทย์ การรักษาผู้ป่วย หรือการศึกษาวิจัยและพัฒนา รวมถึงการเกษตรกรรม พาณิชยกรรม วิทยาศาสตร์ หรืออุตสาหกรรม เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ซึ่งได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาตโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ

ส่วนการเสพนั้น ห้ามมิให้ผู้ใดเสพยาเสพติดในประเภท 5 เว้นแต่เสพเพื่อรักษาโรค ตามคำสั่งของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ทันตกรรม การแพทย์แผนไทย การแพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือหมอพื้นบ้านตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทยที่ได้รับใบอนุญาต หรือเสพเพื่อการศึกษาวิจัย

ด้านบทนิรโทษกรรม ผู้ใดครอบครองยาเสพติดในประเภท 5 เฉพาะกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ การรักษาผู้ป่วย การใช้รักษาโรคเฉพาะตัว หรือการศึกษาวิจัย อยู่ก่อนวันที่ พ.ร.บ. นี้ใช้บังคับ ไม่ต้องรับโทษสำหรับการกระทำนั้น หากยื่นคำขอใบรับอนุญาตต่อเลขาธิการ อย. ภายใน 90 วันนับแต่วันที่ พ.ร.บ นี้ใช้บังคับ และให้สามารถครอบครองยาเสพติดให้โทษดังกล่าวได้ต่อไปจนกว่าการพิจารณาอนุญาตจะแล้วเสร็จ ในกรณีไม่ได้รับอนุญาต ให้ยาเสพติดให้โทษนั้นตกเป็นของกระทรวงสาธารณสุขหรือให้ทำลาย

หากเป็นผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้ยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชาเพื่อรักษาโรคเฉพาะตัว และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ ให้แจ้งการครอบครองต่อเลขาธิการ อย. ภายใน 90 วันนับแต่วันที่ พ.ร.บ นี้ใช้บังคับ ในกรณีไม่ได้รับอนุญาต ให้ยาเสพติดให้โทษนั้นตกเป็นของกระทรวงสาธารณสุขหรือให้ทำลาย

“พ.ร.บ. ล่าสุดที่เพิ่งประกาศ คือ พ.ร.บ. ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562 เป็นกฎหมายควบคุมและกำกับดูแลผลิตภัณฑ์สมุนไพรสำหรับมนุษย์ เพื่อส่งเสริมให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรอย่างเป็นระบบและครบวงจร เพิ่มมูลค่าในการส่งออกไปยังต่างประเทศให้มากยิ่งขึ้น โดยกัญชาเข้าข่ายเป็น “สมุนไพร” ตามความหมายของ พ.ร.บ นี้ อย่างไรก็ตาม กัญชาอาจไม่เข้าความหมายของ “ผลิตภัณฑ์สมุนไพร”ได้ เนื่องจากยังคงเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท และยังเป็นยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทและกฎหมายยาเสพติดให้โทษ จึงควรมีการพิจารณาต่อไปว่าจะดำเนินการอย่างไรเพื่อออกแบบกฎหมายที่จะสามารถตอบโจทย์ธรรมชาติของพืชกัญชา ที่มีทั้งด้านที่เป็นยาเสพติดและด้านที่เป็นเชิงการรักษาได้” ผศ.ดร.คนึงนิจ กล่าว

 

 

 

 

จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม

รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า