ข่าวสารจุฬาฯ

วิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ จัดเสวนา “เข้าใจน้ำท่วม แนวคิดวิศวกร” เผยแพร่องค์ความรู้ใหม่รับมืออุทกภัยในอนาคต

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ โดยภาควิชาสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ร่วมกับสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาฯ  จัดงานเสวนา “เข้าใจน้ำท่วม แนวคิดวิศวกร”  เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2567  ณ ห้องประชุมชั้น 2 อาคารเจริญวิศวกรรม (ตึก 4) คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เพื่อมองปัญหาน้ำท่วมอย่างตรงประเด็น รวมทั้งรับฟังผู้บริหารและวิศวกรผู้เชี่ยวชาญที่มาร่วมแชร์ข้อมูลและแนวคิด เพื่อการวิเคราะห์ปัญหารอบด้านอย่างเป็นระบบ รวมทั้งนำเสนอภาพรวมการแก้ปัญหาน้ำท่วมในมุมของวิศวกรทั้งในเชิงกลยุทธ์และการใช้เทคโนโลยีเครื่องมือต่างๆ เรียนรู้จากกรณีศึกษาทั้งจากประเทศไทยและต่างประเทศ

รศ.ดร.วิทยา วัณณสุโภประสิทธิ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ
คุณวิโรจน์ เจริญตรา นายกสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ
รศ.ดร.เจนยุกต์ โล่ห์วัชรินทร์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน
คณะวิศวกรรรมศาสตร์ จุฬาฯ

กล่าวเปิดการเสวนาโดย รศ.ดร.วิทยา วัณณสุโภประสิทธิ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวต้อนรับโดยคุณวิโรจน์ เจริญตรา นายกสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวรายงานโดย รศ.ดร.เจนยุกต์ โล่ห์วัชรินทร์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน คณะวิศวกรรรมศาสตร์ จุฬาฯ

วิทยากรผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย

  • ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
  • ศ.กิตติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ภาควิชาสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ
  • คุณชวลิต จันทรรัตน์ กรรมการและผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำ ทีมกรุ๊ป บริษัททีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนต์ 
  • ดร.สุกิจ วิเศษสินธุ์ ผู้เชี่ยวชาญระบบแผนที่เพื่อการบริหารทรัพยากรธรรมชาติ บริษัท จีไอเอส จำกัด

ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ผู้ดำเนินรายการเสวนาเปิดเผยว่าการสัมมนาในครั้งนี้มีเป้าหมายหลักเพื่อให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับปัญหาน้ำท่วมแก่ประชาชน รวมถึงการเตรียมความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่มีแนวโน้มรุนแรงและเกิดบ่อยมากขึ้น  การรวมผู้เชี่ยวชาญในหลายสาขา ทั้งจากภาครัฐ เอกชน และภาควิชาการครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสสำคัญที่จะช่วยกันสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการแก้ปัญหาในระยะยาวได้

เนื้อหาการสัมมนาแบ่งออกเป็น 4 ส่วนหลักๆ โดยเริ่มจากการให้ความรู้ทางด้านภาพรวมเกี่ยวกับลุ่มน้ำต่างๆ ในประเทศไทย ตามมาด้วยการวิเคราะห์ความเสี่ยงที่กรุงเทพฯ จะเผชิญกับน้ำท่วมในอนาคต นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอข้อมูลการทำ Mapping ในอนาคตเพื่อเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และปิดท้ายด้วยการเสวนาจากวิศวกรผู้เชี่ยวชาญถึงบทบาทของวิศวกรรมในการช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมที่อาจรุนแรงมากขึ้น

ในส่วนของบทบาทของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ในการแก้ปัญหาน้ำท่วม ศ.ดร.พิสุทธิ์ กล่าวว่าได้มีการต่อยอดความรู้จากประสบการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ด้วยการจัดทำหนังสือด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม เพื่อเผยแพร่ความรู้แก่สาธารณชน นอกจากนี้ คณะยังได้ร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ในการวิจัยพัฒนานวัตกรรม เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีถังกรองน้ำเมมเบรน ที่สามารถผลิตน้ำสะอาดสำหรับการอุปโภคบริโภค ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของคณวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ในการช่วยแก้ปัญหาอุทกภัย

ศ.ดร.พิสุทธิ์กล่าวเพิ่มเติมว่า “การสร้างความรู้ความเข้าใจในวงกว้างเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากประชาชนมีความรู้มากขึ้น ก็จะสามารถช่วยกันป้องกันและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ นอกจากนี้ การร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาแพลตฟอร์มและนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ จะเป็นปัจจัยสำคัญในการรับมือกับน้ำท่วมในอนาคต โดยจุฬาฯ จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการบูรณาการความรู้และความร่วมมือจากทุกภาคส่วน”

 ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  กล่าวว่าตามที่หลายคนตั้งคำถามว่าน้ำท่วมจะท่วมกรุงเทพฯ หรือไม่ ตนอยากให้ความกระจ่างถึงสถานการณ์ปัจจุบันว่า น้ำท่วมกรุงเทพฯ มี 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ “น้ำเหนือ น้ำหนุน และน้ำฝน” แต่ปัจจุบันยังไม่มีสัญญาณชัดเจนที่จะทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้เน้นย้ำว่าน้ำท่วมใหญ่ที่เกิดขึ้นในปี 2554 มาจากน้ำท่าที่ล้นออกจากเขื่อนด้านบน ซึ่งแตกต่างจากน้ำฝนสะสมที่ในปีนี้มีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย

ในส่วนของแนวทางการป้องกันและจัดการน้ำของกรุงเทพฯ ดร.ชัชชาติ เน้นว่าได้มีการระบายน้ำลงแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีโครงการอุโมงค์ระบายน้ำและการขุดลอกคลองเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ นอกจากนี้ ยังต้องแก้ปัญหาฟันหลอของแนวเขื่อนในบางพื้นที่ที่ยังคงต้องเร่งแก้ไข เช่น ชุมชนที่อยู่นอกแนวเขื่อน และจุดอ่อนเรื่องการจัดการขยะที่กีดขวางทางระบายน้ำ

 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกล่าวถึงความสำคัญของการใช้เทคโนโลยีในการคาดการณ์และจัดการน้ำ โดยใช้เรดาร์ที่ญี่ปุ่นช่วยเหลือในการพยากรณ์ปริมาณน้ำได้อย่างแม่นยำ และแอปพลิเคชัน Traffy Fondue ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนรายงานปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ต่าง ๆ

“การแก้ปัญหาน้ำท่วมไม่ใช่แค่เรื่องวิศวกรรม แต่เป็นเรื่องของการเข้าใจและเห็นอกเห็นใจประชาชน การทำงานร่วมกับชุมชนในการแก้ปัญหา และการรักษาความโปร่งใสในการบริหารจัดการมีความสำคัญ  เพื่อให้การป้องกันน้ำท่วมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ”

จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด

คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า