รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
ข่าวสารจุฬาฯ
28 พฤศจิกายน 2567
งานวิจัยและนวัตกรรม, ข่าวเด่น
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ Google Cloud เปิดตัวโครงการ ‘ChulaGENIE’ เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2567 ณ เรือนจุฬานฤมิต เพื่อบุกเบิกการพัฒนาและส่งมอบแอปพลิเคชันที่นำเอาเทคโนโลยี Generative AI อันล้ำสมัยที่สุดในโลกมาให้ประชาคมจุฬาฯ ใช้งานได้อย่างปลอดภัย เชื่อถือได้ และไม่มีค่าใช้จ่าย โดยคาดว่าในระยะแรก ChulaGENIE จะเปิดให้คณาจารย์และบุคลากรใช้งานได้ในเดือนมกราคม 2568 และจะเปิดให้บริการแก่นิสิตทุกคนได้ภายในเดือนมีนาคม 2568 โดยชื่อ ChulaGENIE ย่อมาจาก ‘Chula’s Generative AI Environment for Nurturing Intelligence and Education’ โดยมี ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายอรรณพ ศิริติกุล Country Director, Google Cloud ประเทศไทย รศ.ดร.มาโนช โลหเตปานนท์ รองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมแถลงข่าวในครั้งนี้ ในงานมีการสาธิตแอปพลิเคชัน AI ล่าสุดของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยคุณพุฒิ ตั้งตระกูลวงศ์ ผู้จัดการฝ่ายโซลูชันลูกค้า ประเทศไทย Google Cloud
ChulaGENIE เป็นการผสานรวมกับ Model Garden บน Vertex AI ทำให้ ChulaGENIE เปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถค้นหาและเลือกใช้โมเดล AI พื้นฐานที่ได้รับการคัดสรรอย่างดี ซึ่งแต่ละโมเดลมีจุดเด่นและความเหมาะสมกับงานที่แตกต่างกัน ในระยะแรกผู้ใช้สามารถใช้งาน Gemini 1.5 Flash หรือ Gemini 1.5 Pro ของ Google และในอนาคตอันใกล้จะมีตัวเลือก ในการใช้โมเดล Claude จาก Anthropic และโมเดล Llama จาก Meta อีกด้วย
ผู้ใช้ ChulaGENIE สามารถใช้ความสามารถในการรองรับหลายภาษา (multilinguality) ของโมเดล Gemini เพื่ออธิบายหัวข้อที่ซับซ้อนให้เข้าใจได้ง่าย รวมถึงสร้างเนื้อหาในภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาอื่น ๆ ด้วยความรวดเร็วและความแม่นยำ และด้วยความสามารถในการรองรับข้อมูลหลายประเภท (multimodality) และขอบเขตการประมวลผลช่วงบริบทที่ยาว (long context window) ของโมเดล Gemini ทำให้ผู้ใช้สามารถอัปโหลดเอกสารที่มีความยาวและซับซ้อน (เช่น เอกสารที่มีความยาว 1.4 ล้านคำ พร้อมตาราง แผนภูมิ และภาพประกอบ) รวมถึงไฟล์ PDF โดยโมเดล Gemini สามารถประมวลผลเนื้อหาและองค์ประกอบภาพในเอกสารเหล่านี้เพื่อช่วยให้ผู้ใช้ดึงข้อมูลหรือวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับนักวิจัยที่ต้องการสรุปวรรณกรรมทางวิชาการหรือวิเคราะห์ชุดข้อมูลขนาดใหญ่
ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ในการเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำด้าน AI ของประเทศไทย (AI University) วันนี้จุฬาฯ ประกาศจับมือกับพันธมิตรระดับโลกเพื่อเร่งรัดการพัฒนา AI ที่มีความรับผิดชอบ เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับสังคมไทยในระยะยาว การใช้แพลตฟอร์ม Vertex AI ของ Google Cloud ซึ่งรวมเอาความสามารถที่เราต้องการ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการด้านความปลอดภัย และความเป็นส่วนตัวไว้ในที่เดียว รวมถึงความยืดหยุ่นในการเลือกโมเดลผ่าน Model Garden และความสามารถในการปรับแต่งโมเดลพื้นฐานที่ทรงพลังให้เหมาะกับความต้องการที่หลากหลายและการตอบสนองได้แม่นยำ ด้วยความสามารถเหล่านี้ ทำให้จุฬาฯ สามารถพัฒนา ChulaGENIE ได้ภายในเวลาไม่ถึงสามเดือน ทำให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในประเทศไทยที่มีแอปพลิเคชัน Generative AI สำหรับการใช้งานเพื่อการศึกษาและวิจัยในระดับอุดมศึกษา โดยยึดหลัก AI ที่มีความรับผิดชอบ และตอบสนองความต้องการของประชาคมในวงกว้าง โดยจุฬาฯ มีแผนที่จะร่วมมือกับ Google Cloud เพื่อพัฒนา ChulaGENIE ให้ดียิ่งขึ้น และส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม AI ด้านการศึกษาที่พัฒนาขึ้นเองในประเทศให้ใช้งานได้จริงเพื่อสนับสนุนการศึกษาทุกระดับ”
การจะเป็นมหาวิทยาลัย AI นั้นไม่ใช่เพียงการมีการเรียนการสอนที่ดีเลิศด้านปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ซึ่งจุฬาฯ มีอยู่แล้วทั้งในหลักสูตรและในลักษณะการเรียนรู้ตลอดชีวิต ผ่านช่องทางที่หลากหลาย แต่นั้นหมายรวมถึงการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาพัฒนาการดำเนินงานในทุก ๆ ด้านของมหาวิทยาลัยอีกด้วย ChulaGENIE จะเป็นตัวเปลี่ยนเกม หรือ Game Changer ในการเรียนรู้ของนิสิต นอกจากด้านการเรียนรู้ ChulaGENIE ยังสามารถช่วยพัฒนากระบวนการวิจัยของคณาจารย์และนิสิตในทุกระดับ
ศ.ดร.วิเลิศกล่าวว่า “นอกจากการพัฒนา ChulaGENIE แล้ว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังมีการพัฒนา AI ในอีกหลากหลายมิติที่ผ่านมา อาทิ DeepGI ซึ่งเป็นการพัฒนาของคณะแพทยศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ในการตรวจจับมะเร็งลำไส้ใหญ่ DMind ซึ่งเป็น Application สำหรับช่วยคัดกรองผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า ในแอปพลิเคชั่นหมอพร้อม จากการพัฒนาของคณะแพทยศาสตร์และคณะวิศวกรรมศาสตร์ Gowajee นวัตกรรม AI ถอดความภาษาไทย แปลงเสียงเป็นข้อความและข้อความเป็นเสียง จากการพัฒนาของคณะวิศวกรรมศาสตร์ ReadMe โปรแกรมที่ใช้สแกนตัวหนังสือจากภาพ หรือวีดิโอ ให้กลายเป็นตัวหนังสือแบบดิจิทัล เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ผล พร้อมนำไปประยุกต์ใช้งานได้ทันที จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ แอปพลิเคชั่นเหล่านี้เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความสามารถของคณาจารย์ นักวิจัย และนิสิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และแสดงถึงความพร้อมของจุฬาฯ ในการจะเป็น AI University ที่ตอบโจทย์ของประเทศ และของสังคม เมื่อสังคมมีปัญหา จุฬาฯ มีคำตอบ”
เสริมศักยภาพให้ประชาคมจุฬาฯ ด้วย AI ที่ปรับแต่งได้และมีความรับผิดชอบ
จุฬาฯ เตรียมเพิ่มฟังก์ชันใหม่บน ChulaGENIE เร็ว ๆ นี้ โดยประชาคมจุฬาฯ จะสามารถสร้างตัวช่วยเฉพาะทางที่ปรับแต่งได้สำหรับงานเฉพาะด้าน ตัวอย่างของตัวช่วย AI ที่ปรับแต่งได้ มีดังนี้:
● ตัวช่วยด้านการวิจัย ที่ถูกปรับแต่งในประเด็นเฉพาะ เช่น ประสิทธิภาพของเทคนิคการกักเก็บคาร์บอนต่าง ๆ ในวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม หรือการปรับปรุงการจราจรในเขตเมืองในด้านวิศวกรรมโยธา ซึ่งจะช่วยให้อาจารย์และนิสิตสามารถเชื่อมโยงหรือค้นหาความเชื่อมโยงในงานวิจัย รวมถึงเสนอคำถามหรือสมมติฐานใหม่ ๆ ได้
● ตัวช่วยด้านการศึกษา ที่พัฒนาจากตำรา หรือฐานข้อมูลด้านการศึกษาและอาชีพ พร้อมข้อมูลแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศและข้อพิจารณาด้านจริยธรรม ช่วยให้นิสิตได้รับคำแนะนำที่ปรับให้เหมาะสมและเป็นเฉพาะบุคคลในการเลือกหลักสูตรและการวางแผนเส้นทางอาชีพได้
● ตัวช่วยด้านการบริหารและธุรการ ที่สามารถเข้าใจและตอบคำถามในประเด็นต่าง ๆ เช่น การสมัครเรียน การลงทะเบียน ทุนการศึกษา การจัดการอาคารสถานที่ หรือการสนับสนุนด้าน IT เป็นต้น
จุฬาฯ ให้ความสำคัญสูงสุดกับการใช้งาน AI ที่มีความรับผิดชอบ โดยทางมหาวิทยาลัยได้นำระบบกรองเนื้อหาของ Vertex AI และนโยบาย AI ของจุฬาฯ มาใช้เพื่อออกแบบ ChulaGENIE มิให้ตอบหรือสร้างเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมหรือเป็นอันตราย นอกจากนี้จุฬาฯ ยังเตรียมเพิ่มความแม่นยำในการตอบคำถามของ ChulaGENIE ด้วยการเปิดใช้งานการ Grounding ด้วย Google Search ซึ่งเป็นฟีเจอร์พิเศษที่พัฒนาโดย Google Cloud
นอกจากนี้จุฬาฯ ยังใช้เทคโนโลยีการเข้ารหัสข้อมูลและการควบคุมการเข้าถึงระดับองค์กรของ Google Cloud เพื่อมอบประสบการณ์ AI ที่มีความเป็นส่วนตัวและปลอดภัย ระบบนี้ช่วยให้มั่นใจได้ว่าคำสั่งหรือข้อมูลที่ผู้ใช้งานป้อนรวมถึงคำตอบของ AI จะไม่ถูกผู้พัฒนาโมเดลภายนอกจุฬาฯ นำไปใช้ในการฝึกโมเดลพื้นฐานที่อยู่เบื้องหลัง ซึ่งเป็นการรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน ในขณะเดียวกันจุฬาฯ ยังสามารถวิเคราะห์แนวโน้มการใช้งานโดยรวมของ ChulaGENIE เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพของแอปพลิเคชัน และที่สำคัญระบบดังกล่าวยังช่วยป้องกันไม่ให้ ChulaGENIE เผยแพร่ข้อมูลงานวิจัยที่เป็นความลับหรือทรัพย์สินทางปัญญาที่มีความอ่อนไหวโดยไม่ได้ตั้งใจอีกด้วย
ในอนาคต จุฬาฯ มีแผนที่จะขยายความร่วมมือกับ Google Cloud เพื่อพัฒนาโมเดลภาษาไทยขนาดใหญ่แบบโอเพ่นซอร์สที่เน้นเฉพาะด้านสำหรับการศึกษาในระดับอุดมศึกษา โมเดลนี้สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาแอปพลิเคชันที่ปรับให้เหมาะกับความเร็วและรูปแบบการเรียนรู้ของนิสิตแต่ละคน โดยให้แบบฝึกหัด คำอธิบาย และข้อเสนอแนะที่ปรับแต่งได้ตามความต้องการ นอกจากนี้ โมเดลดังกล่าวยังสามารถสนับสนุนแอปพลิเคชันที่วิเคราะห์หลักสูตรที่มีอยู่ เพื่อค้นหาช่องว่างหรือจุดที่ควรปรับปรุง พร้อมเสนอแนวทางแก้ไขโดยอ้างอิงจากงานวิจัยล่าสุดและแนวโน้มด้านการศึกษาในปัจจุบัน
เสริมทักษะ AI ที่จำเป็นให้กับประชาคมจุฬาฯ
จุฬาฯ อบรมคอร์ส Google AI Essentials ให้กับบุคลากร คณาจารย์ และนักศึกษา โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ภายใต้โครงการ Samart Skills ของ Google ซึ่งในปัจจุบันมีผู้สำเร็จหลักสูตรนี้แล้วกว่า 800 คน และได้รับใบรับรองจาก Google เพื่อยืนยันความเชี่ยวชาญในการใช้งานเครื่องมือ Generative AI โดยคอร์ส Google AI Essentials นี้มุ่งเน้นให้ผู้เรียนพัฒนาทักษะการใช้งาน AI ผ่านวิดีโอการสอนจากผู้เชี่ยวชาญ การฝึกปฏิบัติจริง รวมถึงการประเมินผล และเครื่องมืออื่น ๆ โดยมีเป้าหมายให้ผู้เรียนเข้าใจเทคนิคการเขียนคำสั่ง (prompting) และการใช้งาน AI อย่างมีความรับผิดชอบ
ทั้งนี้ จุฬาฯ กำลังปรับหลักสูตร Google AI Essentials ให้เรียบง่ายขึ้นสำหรับผู้เรียนที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก เพื่อให้ประชาคมจุฬาฯ ทุกคนสามารถเรียนรู้การใช้งาน ChulaGENIE ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการทำงาน แก้ไขปัญหาในโลกความเป็นจริง และส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมในสาขาของตนเอง
รศ.ดร.มาโนช โลหเตปานนท์ รองอธิการบดี จุฬาฯ กล่าวว่า “ChulaGENIE เป็นระบบหรือ Platform ที่จุฬาฯ พัฒนาขึ้นเพื่อตอบโจทย์ที่สำคัญ 3 ประการคือ 1.การเข้าถึง Generative AI อย่างเท่าเทียมในประชาคมจุฬาฯ หลายคนกังวลว่า AI จะเข้ามาแทนที่มนุษย์ แต่ก็มีคำกล่าวว่า “AI คงไม่แทนที่มนุษย์ แต่มนุษย์ที่ใช้ AI ต่างหากที่จะก้าวไปข้างหน้า” ซึ่งเน้นย้ำว่าทักษะในการทำงานร่วมกับ AI จะกลายเป็นทักษะสำคัญในอนาคต จุฬาฯ จึงริเริ่มโครงการ ChulaGENIE เพื่อให้มั่นใจว่านิสิต คณาจารย์ นักวิจัย และบุคลากรทุกคนสามารถเข้าถึงเครื่องมือ Generative AI คุณภาพสูงได้อย่างเท่าเทียมกัน ลดช่องว่าง และสนับสนุนเป้าหมายของจุฬาฯ ในการสร้างโอกาสทางการเรียนรู้ที่เท่าเทียมกัน 2.การขับเคลื่อนจุฬาฯ สู่มหาวิทยาลัยปัญญาประดิษฐ์ชั้นนำ (AI University) ChulaGENIE จะสร้างแรงกระเพื่อมครั้งสำคัญ การที่นิสิตเข้าถึงเครื่องมือนี้ ย่อมส่งผลต่อรูปแบบการเรียนการสอน การบ้าน การวัดผล ในขณะเดียวกัน อาจารย์ก็มีเครื่องมือทรงพลังในการถ่ายทอดองค์ความรู้ ChulaGENIE จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ต่อการเรียนการสอน และการทำงานในมหาวิทยาลัยอย่างแน่นอน 3.เปิดพื้นที่ให้ชาวจุฬาฯ ร่วมสร้างสรรค์เครื่องมือ Generative AI ChulaGENIE เปิดโอกาสให้ทุกคนเข้ามาร่วมพัฒนา สร้างสรรค์เครื่องมือ Generative AI ในรูปแบบของ Workspace เช่น ห้องให้คำปรึกษาการสัมภาษณ์งาน ห้องเรียนรู้การแต่งซิมโฟนี หรือแม้แต่ห้องเรียนรู้ทฤษฎีฟิสิกส์ ฟีเจอร์เหล่านี้จะทยอยเปิดตัวในอนาคต”
“ChulaGENIE คือการทดลองขนาดใหญ่ในระดับมหาวิทยาลัย เมื่อเราเห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจน ขั้นต่อไปคือการขยายผลสู่สังคม” รศ.ดร.มาโนช กล่าว
นายอรรณพ ศิริติกุล Country Director, Google Cloud ประเทศไทย กล่าวว่า “ที่ Google Cloud เราเชื่อมั่นว่าประโยชน์ของ AI ขึ้นอยู่กับความแม่นยำและการนำไปใช้อย่างรับผิดชอบ แพลตฟอร์ม Vertex AI ของเราช่วยให้องค์กรต่าง ๆ อย่างเช่น จุฬาฯ สามารถนำ AI ที่มีความรับผิดชอบไปใช้ได้จริงผ่านฟีเจอร์ต่าง ๆ เช่น Grounding บริการประเมินโมเดล และเครื่องมือที่ออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์มาตรฐานที่เข้มงวดในด้านการกำกับดูแลข้อมูล ความเป็นส่วนตัว และการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา การเปิดตัว ChulaGENIE อย่างรวดเร็วของจุฬาฯ ตอกย้ำคุณค่าของแนวทางที่เน้นแพลตฟอร์มเป็นศูนย์กลาง (platform-first approach) สำหรับโครงการริเริ่มด้าน AI เชิงกลยุทธ์ ซึ่งช่วยให้สามารถพัฒนา ติดตั้ง และจัดการ AI ได้ในวงกว้าง ประกอบกับการพัฒนาโมเดลภาษาไทยขนาดใหญ่สำหรับการศึกษาในระดับอุดมศึกษา และโครงการพัฒนาทักษะ AI ของ Google จะช่วยเปิดโอกาสใหม่ ๆ ในด้านการวิจัยและวิชาการ ซึ่งในท้ายที่สุดจะสร้างประโยชน์ให้กับสังคมไทยของเรา”
● ChulaGENIE แอปพลิเคชัน Generative AI ที่มีความสามารถหลายภาษา (multilingual) และรองรับข้อมูลหลายประเภท (multimodal) บนแพลตฟอร์ม Vertex AI ของ Google Cloud ได้รับการพัฒนามาโดยเฉพาะเพื่อรองรับการวิจัยและการเรียนรู้ ของประชาคมที่มีความหลากหลายของจุฬาฯ
● เครื่องมือ AI ที่มีความรับผิดชอบบน Google Cloud Vertex AI ทำให้ ChulaGENIE สามารถมอบประสบการณ์ การใช้เครื่องมือ Generative AI ที่ปลอดภัย เป็นส่วนตัว และน่าเชื่อถือให้กับบุคลากร คณาจารย์ และนิสิตกว่า 50,000 คน ● จุฬาฯ เปิดโอกาสให้คณาจารย์ นิสิต และบุคลากรสามารถเข้าถึงคอร์ส Google AI Essentials ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย พร้อมทั้งมีแผนพัฒนาร่วมกับ Google Cloud เพื่อสร้างโมเดลภาษาไทยขนาดใหญ่ สำหรับการศึกษาในระดับอุดมศึกษา
ปัจจัยผลกระทบต่อรายได้และการเติบโต ธุรกิจ Education Technology (EdTech) ในประเทศไทย
รศ.ดร.ณัฐชา ทวีแสงสกุลไทย อดีตอาจารย์คณะวิศวฯ จุฬาฯ ได้รับการประกาศเกียรติคุณ”Friend of Thai Science 2024″
เศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ เจ้าภาพจัดงานประชุมระดับโลก AASLE 2024 ครั้งแรกในไทย รวมนักเศรษฐศาสตร์แรงงานจากทั่วโลกร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และนำเสนอผลงานวิจัย
สัมมนาเรื่อง EDCs สารเคมีที่ส่งผลต่อสุขภาพและระบบนิเวศ
“Nifty Elderly: ของเล่นของแต่งบ้านเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์เด็กเล็กและผู้สูงวัย”ผลงานอาจารย์ครุศาสตร์ จุฬาฯ คว้ารางวัลเหรียญทองการประกวดนวัตกรรมที่ฮ่องกง
อาจารย์คณะครุศาสตร์ – วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาฯ และนักเรียนสาธิตจุฬาฯ คว้ารางวัลเหรียญทองจากการประกวดนวัตกรรมนานาชาติ KIDE 2024 ที่ไต้หวัน
จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้ ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้
ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้