ข่าวสารจุฬาฯ

สถาปัตย์ จุฬาฯ จัดสัมมนานำเสนอต้นแบบแผนที่มรดกเมืองสามัญแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ด้านอาหารและพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ นิสิตสถาปัตย์ใช้บางลำพูเป็น Living Lab ทดลองปฏิบัติงานจริง

               คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดตัวโครงการต้นแบบแผนที่มรดกเมืองสามัญแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ด้านอาหารและพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ผสมผสานแนวคิด “มรดกเมืองสามัญ” เพื่อนำเสนอคุณค่าของมรดกที่แฝงอยู่ในชีวิตประจำวันของชุมชน โดยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากจุฬาฯ และความร่วมมือจากนักวิจัยฝรั่งเศส หวังให้เกิดการอนุรักษ์และต่อยอดสู่การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน

               การสัมมนาการนำเสนอต้นแบบแผนที่มรดกเมืองสามัญแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ด้านอาหารและพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ภายใต้โครงการจัดทำแผนที่มรดกเมืองสามัญแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ด้านอาหารและพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ด้วยพื้นที่ร่วมทดลองปฏิบัติการจริงกับเครือข่ายวิจัยนานาชาติสู่การต่อยอดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2568 ณ ห้องการแสดงและกิจกรรมของนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ โดยมีนายปัทมนิธิ เสนาณรงค์ หัวหน้าฝ่ายนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ กล่าวต้อนรับ รศ.ดร.พรรณี ชีวินศิริวัฒน์ ผู้ช่วยอธิการบดี ด้านวิจัย จุฬาฯ และนายสานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานกล่าวเปิดการสัมมนา จากนั้นเป็นการนำเสนอภาพรวมและความเป็นมาของโครงการ โดย รศ.ดร.ปริญญ์ เจียรมณีโชติชัย หัวหน้าภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และหัวหน้าโครงการวิจัย ต่อด้วยการบรรยายพิเศษ “Fieldwork restitution: Subjects, Frameworks and Project Hypothesis” และการนำเสนอต้นแบบแผนที่มรดกเมืองสามัญกรุงรัตนโกสินทร์ ด้านอาหารและพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ โดยนิสิตภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และนักศึกษาจาก ENSA Paris-Belleville สถาบันการศึกษาด้านการออกแบบและสถาปัตยกรรมที่มีชื่อเสียงของประเทศฝรั่งเศส

               โครงการจัดทำแผนที่มรดกเมืองสามัญแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ด้านอาหารและพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อคัดกรองมรดกเมืองสามัญที่เคยดำเนินแล้วผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมของชุมชน สู่การสร้างฐานข้อมูลมรดกเมืองสามัญที่นำไปสู่การจัดทำต้นแบบแผนที่มรดกเมืองสามัญแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ด้านอาหารและพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ด้วยนวัตกรรมการทำแผนที่ใหม่ เพื่อให้เกิดความเข้าใจและรับรู้คุณค่าของมรดกเมืองสามัญด้านอาหารและพื้นที่ศักดิ์ในวงกว้าง สามารถขยายผลไปสู่การเป็นแหล่งรวบรวมทุนทางวัฒนธรรมที่มีศักยภาพ และการทำผลิตภัณฑ์ต้นแบบและบริการในระยะต่อไป

               รศ.ดร.ปริญญ์ เจียรมณีโชติชัย หัวหน้าโครงการวิจัย เปิดเผยว่า การจัดทำแผนที่มรดกเมืองสามัญแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ด้านอาหารและพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นงานวิจัยเกี่ยวกับมรดกชุมชนที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ดำเนินการมาเป็นเวลากว่า 3 ปี โดยเน้นศึกษา “มรดกเมืองสามัญ” ซึ่งเป็นมรดกที่ถ่ายทอดผ่านชีวิตประจำวันของชุมชน ไม่จำเป็นต้องเป็นวัตถุโบราณหายาก แต่เป็นสิ่งที่มีการสืบทอดและมีคุณค่าทางวัฒนธรรม งานวิจัยนี้ได้รับการพัฒนาร่วมกับนักวิจัยจากประเทศฝรั่งเศส โดยเริ่มต้นพื้นที่นำร่องที่บางลำพูซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญของมรดกชุมชน เช่น อาหารพื้นถิ่น ตึกแถวเก่า และพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ซ่อนอยู่ในชุมชน

               รศ.ดร.ปริญญ์ กล่าวว่าการนำแผนที่มรดกชุมชนมาใช้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวทำให้ได้ข้อมูลมาพัฒนาเป็นแผนที่มรดกชุมชนต้นแบบโดยนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งได้ทดลองออกแบบแผนที่ในรูปแบบใหม่ที่แตกต่างจากแผนที่ 2 มิติแบบดั้งเดิม และนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยในการนำเสนอข้อมูลให้เข้าใจง่ายขึ้น แผนที่ดังกล่าวไม่ได้เป็นเพียงครื่องมืออนุรักษ์มรดกชุมชน แต่ยังเป็นแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจผ่านการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและการสร้างมูลค่าให้กับสินค้าท้องถิ่น นอกจากงานวิจัยแล้ว คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ยังได้ผนวกกระบวนการเรียนการสอนเข้ากับการวิจัยในลักษณะของ Living Lab สำหรับให้นิสิตทำงานภาคสนามในชุมชนจริงและพัฒนาโครงการร่วมกับภาคีจาก ENSA Paris-Belleville ประเทศฝรั่งเศส นิสิตได้รับโจทย์จากชุมชนโดยตรง และได้นำเสนอแนวคิดใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาแผนที่ต้นแบบ โดยเชื่อมโยงมรดกชุมชนเข้ากับสถาปัตยกรรมและการออกแบบ

            ทั้งนี้ โครงการแผนที่มรดกชุมชนที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ  จัดทำขึ้นนี้มีเป้าหมายหลักที่จะช่วยสร้างการรับรู้และให้คุณค่ากับมรดกชุมชน  2 ด้าน ได้แก่ งานวิจัยและพัฒนาแผนที่มรดกชุมชน ด้วยการขยายผลต้นแบบที่พัฒนาไปสู่การใช้งานจริงและสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน และการเรียนรู้ของนิสิต เพื่อให้นิสิตได้ฝึกทักษะจากสถานการณ์จริง เสริมสร้างความเข้าใจในมิติทางวัฒนธรรมและการออกแบบที่ตอบโจทย์สังคม

               “คาดหวังว่าผลลัพธ์จากโครงการนี้จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่อื่น ๆ ได้ โดยพื้นที่บางลำพูจะเป็นตัวอย่างให้ชุมชนอื่นนำไปต่อยอดในการพัฒนาตนเองผ่านมรดกวัฒนธรรม นอกจากนี้ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ยังวางแผนขยายโครงการไปยังพื้นที่อื่น ๆ เช่น บางขุนเทียน และบางโพ เพื่อสร้างแนวทางที่ยั่งยืนในการอนุรักษ์และพัฒนาชุมชนผ่านมรดกทางวัฒนธรรมต่อไป ซึ่งโครงการนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการอนุรักษ์มรดกชุมชนให้คงอยู่และมีบทบาทในสังคมยุคปัจจุบัน อีกทั้งยังเป็นตัวอย่างของการบูรณาการระหว่างการวิจัย การศึกษา และการพัฒนาสังคม เพื่อสร้างความเข้าใจและความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมที่เป็นรากฐานของชุมชนไทย” รศ.ดร.ปริญญ์ กล่าวทิ้งท้าย

               รศ.ดร.พรรณี ชีวินศิริวัฒน์ ผู้ช่วยอธิการบดี ด้านวิจัย จุฬาฯ กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีนโยบายและยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมที่สร้างผลกระทบและเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกต่อสังคม โครงการวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัย Quickwin จากจุฬาฯ เป็นโครงการที่ดำเนินงานโดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งส่งเสริมทั้งทางด้านเศรษฐกิจของท้องถิ่น ตลอดจนอนุรักษ์ ต่อยอดมรดกทางวัฒนธรรมของชุมชน นับเป็นตัวอย่างงานวิจัยที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับชุมชนและสร้างความยั่งยืน รวมทั้งเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป คณะผู้วิจัยโครงการนี้นำโดย รศ.ดร.ปริญญ์ เจียรมณีโชติชัย ได้ลงพื้นที่ สำรวจ สัมภาษณ์และวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ สร้างกระบวนการร่วมกับชุมชน และพัฒนาต้นแบบแผนที่มรดกเมืองสามัญ ในนามของจุฬาฯ ขอขอบคุณพี่น้องในชุมชนที่เปิดโอกาสให้นิสิตได้มาเรียนรู้และทดลองปฏิบัติงานจริง (Living Lab) รวมถึงกรุงเทพมหานครที่ให้การสนับสนุนโครงการนี้อย่างดียิ่ง

จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด

คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไอคอน PDPA

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า