ข่าวสารจุฬาฯ

“ศูนย์ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม” ส่งเสริมวัฒนธรรมความปลอดภัยในจุฬาฯ

ความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการมีความสำคัญอย่างมากในมหาวิทยาลัย และเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเราในชีวิตประจำวัน ไม่มีใครอยากประสบอุบัติเหตุ ได้รับอันตรายจากสารเคมีที่สะสมเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว การปลูกฝังให้นิสิตผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับห้องปฏิบัติการในมหาวิทยาลัยมีจิตสำนึกในเรื่องความปลอดภัยในการทำงานก่อนจะจบออกไปประกอบวิชาชีพในการทำงานในหน่วยงานต่างๆ มีความจำเป็นอย่างยิ่ง

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีห้องปฏิบัติการหรือห้อง Lab จำนวนมาก ไม่ต่ำกว่า 1,000 ห้อง ที่ผ่านมาจุฬาฯ ได้ดำเนินการด้านระบบความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการและการกำจัดสารเคมี ของเสียอันตรายอย่างถูกวิธีมากว่า 20 ปี ปัจจุบันหน่วยงานในจุฬาฯ ที่ทำหน้าที่กำกับดูแลการปฏิบัติงานของคณะและหน่วยงานต่างๆ เพื่อส่งเสริมพฤติกรรมความปลอดภัย และลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในห้องปฏิบัติการ มีชื่อว่า “ศูนย์ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม (ศปอส.) จุฬาฯ (Center for Safty, Health and Environment of Chulaloingkorn University) ซึ่งได้รับการจัดตั้งขึ้นโดยมติสภามหาวิทยาลัย เมื่อปลายปี 2559 หลายคนอาจรู้จักศูนย์แห่งนี้ในชื่อ “SHE CU”  หรือศูนย์ SHE ที่หลายคนคุ้นเคย

“ศูนย์ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม จุฬาฯ เป็นหน่วยงานระดับศูนย์ที่ทำหน้าที่ด้านระบบความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการเป็นแห่งที่สามของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ต่อจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี  และมหาวิทยาลัยมหิดล ปัจจุบันกำลังจะมีศูนย์ในลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยต่างๆ ตามมาอีกเป็นจำนวนมาก  เนื่องจากเป็นพันธกิจสำคัญที่มหาวิทยาลัยขาดไม่ได้


ศ.ดร.ธีรยุทธ วิไลวัลย์ ผู้อำนวยการศูนย์ความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม จุฬาฯ เปิดเผยว่า เป้าหมายที่ศูนย์ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม จุฬาฯ พยายามสร้างก็คือทัศนคติที่ดีในเรื่องความปลอดภัย ทำให้เกิด “วัฒนธรรมความปลอดภัยในจุฬาฯ” ที่ผ่านมาศูนย์ SHE ได้จัดกิจกรรม Chula Safety 2019 เพื่อสร้างความเข้าใจและส่งเสริมพฤติกรรมความปลอดภัยให้เกิดขึ้นกับชาวจุฬาฯ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆทั้งในจุฬาฯ และหน่วยงานภายนอกร่วมจัดกิจกรรมต่างๆ ระหว่างวันที่  29 – 30 สิงหาคมที่ผ่านมา ณ ศาลาพระเกี้ยว

การทำงานของศูนย์ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม แบ่งเป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มที่ทำงานวิชาการ และกลุ่มที่ดูแลเจ้าหน้าที่ด้านความปลอดภัย

กลุ่มที่ทำงานวิชาการ จะทำหน้าที่พัฒนาหลักสูตรออนไลน์ “พื้นฐานความปลอดภัยทั่วไป”  เนื้อหาการอบรมเกี่ยวข้องกับเรื่องพื้นฐานความปลอดภัย ทุกคนสามารถเรียนได้ เป็นการปรับพฤติกรรมและจิตสำนึกของคนในเรื่องความปลอดภัย ลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งไม่ได้เป็นเรื่องที่เกิดเฉพาะในห้อง Lab เท่านั้น ผู้ผ่านการอบรมจะได้รับประกาศนียบัตร นอกจากนี้ยังมีหลักสูตรสำหรับนิสิตชั้นปีที่ 1 ที่จะต้องทำงานในห้อง Lab เคมี ชีววิทยา จะต้องผ่านการอบรมและได้รับประกาศนียบัตรรับรองจากศูนย์ฯ ด้วยเช่นกัน โดยจะมีการเรียนผ่านทางระบบออนไลน์  ในขณะเดียวกัน จะมีหลักสูตรการอบรมเรื่องความปลอดภัยในระดับที่สูงขึ้นสำหรับนิสิตที่เรียนชั้นปีที่ 4 หรือระดับบัณฑิตศึกษา เปิดการอบรมตลอดทั้งปี รวมทั้งจัดการอบรมหลักสูตรเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยระดับผู้บริหาร หัวหน้างานในห้อง Lab  และเจ้าหน้าที่ที่ดูแลความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการ

ในส่วนของกลุ่มที่ดูแลด้านความปลอดภัย จะมีเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยในด้านต่างๆ ครอบคลุมทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นในด้านสารเคมี เชื้อโรค  รังสี ฯลฯ นอกจากนี้ ศูนย์ฯ ยังทำหน้าที่รับแจ้งเหตุที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการ เพื่อวิเคราะห์สาเหตุการเกิดอันตรายและถอดบทเรียนออกมา นำไปสู่การป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก โดยมีระบบการแจ้งความไม่ปลอดภัยในห้องปฏิบัติการไปยังคณะและหน่วยงานต่างๆ ในจุฬาฯ ด้วย

“การทำงานของศูนย์ฯ ไม่ได้เกี่ยวข้องแต่ในห้อง Lab เท่านั้น แต่ยังรวมถึงเรื่องความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในอาคารเรียน เช่น ระบบไฟฟ้า การเกิดไฟไหม้  แต่ไม่ใช่การเข้ามาระงับเหตุ เช่น ดับไฟที่ไหม้  สิ่งที่เราทำคือการทำแผนตอบโต้เหตุฉุกเฉิน ปัจจุบันเราทำแผนให้มหาวิทยาลัยเมื่อเกิดเหตุไฟไหม้ จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนอย่างไร ใครเป็นผู้รับผิดชอบ การดำเนินงานของศูนย์ SHE กว่า 3 ปีที่ผ่านมาเป็นที่น่าพอใจ จุฬาฯ มีแนวปฏิบัติด้านความปลอดภัยที่เป็นไปตามมาตรฐานทางกฎหมาย มีแผนงานด้านความปลอดภัย และการตรวจติดตามประเมินผล ซึ่งเตรียมประกาศใช้เร็วๆนี้  ในอนาคตทางศูนย์ฯ จะดำเนินการสำรวจจำนวนห้อง Lab ทั้งหมดในจุฬาฯ ว่ามีจำนวนเท่าใด ห้อง Lab แต่ละห้องมีความเสี่ยงในเรื่องใด  ซึ่งเป็นภารกิจใหญ่ที่เจ้าของห้อง Lab จะต้องมีส่วนร่วมด้วย  นอกจากนี้จะมีการขยายผลการดำเนินงานด้าน     อาชีวอนามัยและความปลอดภัยจากส่วนกลางไปยังผู้ปฏิบัติในส่วนงานต่างๆ ให้มากขึ้น ปัจจุบันมีกรรมการความปลอดภัยจาก 23 ส่วนงานที่มีความเสี่ยงเรื่องความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการเข้าร่วมกิจกรรมกับศูนย์ฯ ซึ่งจะต้องเพิ่มจำนวนส่วนงานให้มากขึ้นในอนาคต” ศ.ดร.ธีรยุทธ กล่าว

ศ.ดร.ธีรยุทธ กล่าวเสริมว่า “ศูนย์ SHE มุ่งหวังความสำเร็จในเรื่อง Chula Safty เช่นเดียวกับโครงการ Chula Zero Waste ส่วนหนึ่งคือการดึงนิสิตเข้ามามีส่วนร่วมกับการดำเนินงานของศูนย์ฯ โดยจัดให้มี Chula Safety Ambassador เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกให้นิสิตจุฬาฯ ส่งต่อให้เพื่อนๆ นิสิตตระหนักว่าความปลอดภัยเป็นเรื่องใกล้ตัว มองเห็นความเสี่ยงและเตรียมรับมือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ซึ่งความรู้เหล่านี้สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน รวมทั้งในห้อง Lab ด้วย หากพบเห็นความไม่ปลอดภัยในห้อง Lab หรือห้องเรียน สามารถแจ้งมาได้ที่ศูนย์ SHE  ซึ่งมีระบบที่พร้อมประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ฐิตาภรณ์ เหลืองวิลัย และเอกราช สมบัติสวัสดิ์ นิสิตและบัณฑิตปริญญาเอกวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาฯ ผู้ทำหน้าที่ Chula Safety Ambassador กล่าวว่า การมีจิตสำนึกในเรื่องของความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าเราจะอยู่ที่มหาวิทยาลัย ที่บ้านหรือที่ทำงาน ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น การจัดการสารเคมีและอุปกรณ์ป้องกันตนเอง เช่น ถุงมือ ในห้อง Lab การเล่นโทรศัพท์มือถือหรือนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ซึ่งต้องก้มตัว อาจทำให้ปวดหลังได้ หรือการเลือกใช้ปลั๊กไฟแบบปลั๊กพ่วง หากไม่ได้มาตรฐานก็อาจส่งผลให้เกิดอันตรายได้ การสร้างความตระหนักให้ทุกคนเห็นว่าเรื่องความปลอดภัยเป็นเรื่องใกล้ตัว จะทำให้เกิดการปฏิบัติตามและลดความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้

ช่องทางการติดต่อศูนย์ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม จุฬาฯ มีทั้งทาง Facebook : SHECU2560 หรือทาง Line : Shecu.chula และทางเว็บไซต์ shecu@chula.ac.th โทร. 0-2218-5222 หรือ 09-9132-6622

จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้

ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า