ข่าวสารจุฬาฯ

จุฬาฯ มหาวิทยาลัยสีเขียวอันดับ 3 ของไทย ปี 2019 อันดับ 1 ด้านการจัดการพลังงาน การจัดการขยะ การเรียนการสอนและการวิจัย

ผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียวของโลก หรือ UI Green Metric World University Ranking 2019 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับการจัดอันดับเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวอันดับที่ 84 ของโลก และเป็นอันดับที่ 3 ของมหาวิทยาลัยไทย โดยได้คะแนนเป็นอันดับ 1 ใน 3 ตัวชี้วัด ได้แก่ ด้านการจัดการพลังงาน ด้านการจัดการขยะ และด้านการเรียนการสอนและการวิจัย

สำหรับปีนี้มีมหาวิทยาลัย 780 แห่งทั่วโลก ที่เข้าร่วมการจัดอันดับ และมีมหาวิทยาลัยไทยเข้าร่วมทั้งสิ้น 37 แห่ง ในภาพรวมอันดับของมหาวิทยาลัยไทย โดยเฉพาะสามอันดับแรกคือมหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีผลคะแนนและอันดับที่ขยับขึ้นจากปีก่อน

ทั้งนี้ Green Metric World University Ranking มีเกณฑ์ชี้วัดแบ่งออกเป็น 6 หมวด ได้แก่ 1) Setting and Infrastructure (การจัดการพื้นที่ในมหาวิทยาลัย เช่น พื้นที่สีเขียว พื้นที่ซึมซับน้ำ) คิดเป็น 15% ของคะแนน 2) Energy and Climate Change (การจัดการพลังงาน รวมไปถึงเรื่องของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและ Carbon Footprint องค์กร) คิดเป็น 21% 3) Waste Management (การจัดการขยะ) คิดเป็น 18% 4) Water Management (การจัดการน้ำ) คิดเป็น 10% 5) Transportation (การขนส่ง) คิดเป็น 18% และ 6) Education and Research (การเรียนการสอน การวิจัย ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องของสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน) คิดเป็น 18 %


กอปร ลิ้มสุวรรณ หัวหน้ากลุ่มภารกิจการจัดการสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า การที่จุฬาฯ ได้ผลคะแนนเป็นอันดับ 1 ใน 3 ตัวชี้วัด ได้แก่ ด้านการจัดการพลังงาน ด้านการจัดการขยะ และด้านการเรียนการสอนและการวิจัย เป็นผลมาจากความสำเร็จในการดำเนินการด้านต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นในด้านการจัดการขยะ จุฬาฯ มี โครงการ Chula Zero Waste ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในการยกระดับการจัดการขยะในมหาวิทยาลัยและสร้างความตระหนักให้แก่ประชาคมจุฬาฯและสังคมภายนอก ส่วนด้านการจัดการพลังงาน สิ่งที่จุฬาฯ เน้นคือการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพส่งเสริมการใช้อุปกรณ์ที่ประหยัดพลังงาน มีโครงการปรับเปลี่ยนเครื่องปรับอากาศประสิทธิภาพสูง และโครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยแสงอาทิตย์ เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน Renewable Energy ซึ่งมีการศึกษาความเป็นไปได้ในการติดตั้งเรียบร้อยแล้วทั้งมหาวิทยาลัย และทยอยดำเนินการ โดยในปีนี้กำลังติดตั้งที่อาคารจามจุรี 9 ส่วนเรื่องของการศึกษาและวิจัย จุฬาฯ มีกองทุนวิจัยต่างๆ ที่ส่งเสริมการวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนในหลากหลายมิติ อีกทั้งมีการประเมิน Carbon Footprint และจัดทำรายงานความยั่งยืน หรือ Sustainable Report ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2013 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คะแนนของจุฬาฯ เพิ่มมากขึ้น

หัวหน้ากลุ่มภารกิจการจัดการสิ่งแวดล้อม จุฬาฯ กล่าวว่า ในด้านการจัดการพื้นที่ในมหาวิทยาลัย (Setting and Infrastructure) จุฬาฯ ค่อนข้างเสียเปรียบเพราะเป็นมหาวิทยาลัยใจกลางเมืองที่มีอาคารจำนวนมากว่า 200 อาคาร รองรับกิจกรรมการเรียนการสอนการวิจัยของนิสิตบุคลากรมากกว่า 45,000 คน ซึ่งทำให้ จุฬาฯ มีข้อจำกัดอย่างมากในการเพิ่มปริมาณพื้นที่สีเขียว แต่เราพยายามเพิ่มคุณภาพของพื้นที่สีเขียวให้คนได้เข้ามาใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ หรือในด้านการจัดการน้ำ (Water Management) จุฬาฯ ก็มีข้อจำกัดด้วยเรื่องของพื้นที่เช่นกัน ทำให้เราจำเป็นต้องใช้น้ำประปาและไม่สามารถสร้างบ่อสำหรับเก็บกักน้ำฝนหรือระบบบำบัดน้ำเสียรวมขนาดใหญ่เพื่อหมุนเวียนน้ำกลับมาใช้ได้อย่างเต็มที่ ยังคงต้องใช้ระบบบำบัดน้ำเสียภายในแต่ละอาคารเป็นหลัก
“เรื่องระบบขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จุฬาฯ ทำได้ดีจากการดำเนินงานตามแผนแม่บทการพัฒนามหาวิทยาลัย โดยเรามีอาคารจอดรถสี่มุมเมือง ช่วยลดการจราจรและมลภาวะทางอากาศ รวมทั้งมีทางเลือกการเดินทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เช่น รถโดยสารภายในจุฬาฯ (Chula Pop Bus) ซึ่งเป็นรถขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าทั้งหมด หรือการส่งเสริมให้คนเดินเท้าด้วยการทำทางเดินมีหลังคาคลุม และมีโครงข่ายการสัญจรที่จุฬาฯ ทำไว้ทั้ง CU Bike , CU Toyota Ha:mo และ Muvmi” กอปร กล่าว


แม้จะมีข้อจำกัดทางด้านกายภาพและพื้นที่ แต่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังคงไม่หยุดที่จะพัฒนาเพื่อการเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวอย่างยั่งยืนต่อไป สิ่งที่จะพัฒนาต่อไปในอนาคต จุฬาฯ จะให้ความสำคัญกับในเรื่องของคุณภาพสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วม (Engagement) ของคนในจุฬาฯ และชุมชนรอบๆ ให้มากขึ้น เน้นการสร้างจิตสำนึกของคนในองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิสิต เช่น โครงการ Chula Zero Waste ที่มีการบริหารจัดการขยะในภาพรวมของมหาวิทยาลัย และลงไปถึงพฤติกรรมของนิสิตด้วย ทั้งนี้เรื่องของมหาวิทยาลัยสีเขียวหรือมหาวิทยาลัยยั่งยืนไม่ควรถูกจำกัดอยู่แค่เรื่องกายภาพอย่างเดียว แต่ควรขยายไปยังเรื่องของสังคม เศรษฐกิจ และอื่นๆ ที่ครอบคลุมบริบทของความยั่งยืนด้วยเช่นกัน

“การจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียว โดย UI Green Metric ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะทำให้เราได้เห็นมาตรฐาน (benchmark) เมื่อเทียบกับตัวเองในอดีต และเทียบกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ ด้วย แต่สิ่งสำคัญมากกว่านั้นคือการทำให้ทุกคนตระหนักและร่วมมือกันทำให้จุฬาฯ เป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวอย่างยั่งยืน” กอปร กล่าวทิ้งท้าย

ติดตามผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียวประจำปี 2019 ได้ที่  https://greenmetric.ui.ac.id/

จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม

รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า