ข่าวสารจุฬาฯ

สามคณาจารย์จุฬาฯ “นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2563” กับผลงานวิจัยที่มีคุณค่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ

ศ.ดร.สมบูรณ์ ธนาศุภวัฒน์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ รศ.ดร.ทิศนา แขมมณี คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ได้รับการประกาศเกียรติคุณจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ให้ได้รับรางวัล “นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2563” ด้วยผลงานวิจัยซึ่งมีความโดดเด่นและเป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ ในสาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา สาขาปรัชญา และสาขาการศึกษา

          ศ.ดร.สมบูรณ์ ธนาศุภวัฒน์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา เป็นผู้มีผลงานการวิจัยทางจุลชีวิทยา โดยเฉพาะการแยกเชื้อ เช่น เชื้อแบคทีเรียและเชื้อในอาหารหมักพื้นบ้านของประเทศไทย เช่น แหนม  ปลาร้า ปลาจ่อม น้ำปลา ทำให้พบแบคทีเรียชนิดใหม่หลากหลายชนิดและจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ในวงกว้าง ทั้งในด้านเภสัชกรรมและอุตสาหกรรม ตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)  นอกจากนี้ยังศึกษาเชื้อแบคทีเรียในดิน ในทะเล และอื่นๆ ทำให้พบแบคทีเรียใหม่ๆ มากกว่า 130 สปีชีส์ ซึ่งเป็นสกุลใหม่มากกว่า 14 สกุล รวมถึงยีสต์ด้วย โดยแบคทีเรียที่ค้นพบส่วนใหญ่เป็นเชื้อที่มีประโยชน์ เช่น แลคโตบาซิลลัสที่สามารถพบได้ในปลาร้า หรือแลคโตบาซิลลัสสายพันธุ์ใหม่ของโลกที่พบในใบเมี่ยงหมักทางภาคเหนือ ซึ่งปัจจุบันได้นำเชื้อที่แยกออกมาจำนวนมากไปทดลองใช้ในอุตสาหกรรมปศุสัตว์ โดยผสมในอาหารสัตว์เพื่อลดการใช้ยาปฏิชีวนะ และล่าสุดซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก คือเชื้อจุลินทรีย์ที่สามารถย่อยขวดพลาสติก PET และไบโอพลาสติกให้เป็นโพลิเมอร์

ศ.ดร.สมบูรณ์ ได้ฝากข้อคิดสำหรับนักวิจัยรุ่นใหม่ว่า “ในการทำวิจัยต้องเห็นความสำคัญของทุกฝ่าย มีความเห็นอกเห็นใจ สร้างความเข้าใจในทีม คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมและเป้าหมายในการวิจัยเป็นหลัก ประเทศเรายังขาดแคลนเรื่องของกำลังคนในการทำวิจัย อยากเห็นคนที่สนใจงานด้านนี้จริงๆ มีใจรักในการทำงานวิจัย และมีน้ำใจในการทำงานร่วมกัน”

          ศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาปรัชญา เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย – พม่าในหลากหลายมิติ ผลงานวิจัยเด่นๆที่ผ่านมา เช่น สงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310 พระสุพรรณกัลยา พม่ารบไทย พม่าอ่านไทย ฯลฯ ผลงานวิชาการล่าสุดคือหนังสือ “คาชูราโอ สวรรค์บนพื้นพิภพ” และ “จากศึกบางกุ้งถึงศึกอะแซหวุ่นกี้”

ศ.ดร.สุเนตร กล่าวว่าวิธีการศึกษาวิจัยว่าเน้นศึกษาข้อมูลหลักฐานจากพงศาวดารพม่า และต้องลงพื้นที่ด้วย ซึ่งองค์ความรู้ที่ได้จากการทำวิจัยเกี่ยวกับพม่าซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์กับประเทศไทยเป็นประโยชน์ต่อวงวิชาการในหลายด้าน ที่สำคัญคือเป็นพื้นฐานสำคัญในการนำไปสร้างบทภาพยนตร์เรื่อง “สุริโยไท”และ “ตำนานสมเด็จพระนเรศวร” สิ่งที่ยึดมั่นในการทำงานวิจัยมาโดยตลอดคือการ    ไม่หยุดที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและความรู้ต่างๆ ทั้งนี้การเข้าใจปัญหาต่างๆ ได้อย่างลึกซึ้งรอบด้าน ไม่สามารถทำได้ด้วยศาสตร์แขนงใดแขนงหนึ่ง แต่ต้องมีการประสานความรู้ทั้งในมิติของวิทยาศาสตร์และมนุษยศาสตร์ไปพร้อมกัน

“อดีตช่วยให้เรามีตัวตนที่ชัดเจนในปัจจุบัน เป็นบทเรียนที่ทำให้เรารู้ว่าในอนาคตเราควรจะก้าวไปอย่างไร  เราควรเปลี่ยนความคิดที่ว่าประวัติศาสตร์เป็นวิชาที่ใครความจำดีถึงจะเรียนได้ ประวัติศาสตร์คือวิชาที่สอนให้เราแสวงหาความจริงโดยการใช้ข้อมูลหลักฐานในอดีตที่ผ่านมา เป็นเรื่องที่มีสีสันสนุกสนานและมีมิติของการเรียนรู้หลายอย่าง” ศ.ดร.สุเนตร กล่าว

รศ.ดร.ทิศนา แขมมณี คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาการศึกษา ราชบัณฑิต ประเภทวิชาศึกษาศาสตร์ สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง เปิดเผยถึงงานวิจัยที่ผ่านมาตลอดระยะเวลา 38 ปี    ที่เป็นอาจารย์ ครอบคลุมงานวิจัยด้านการศึกษาในระดับต่างๆ ตั้งแต่ปฐมวัยจนถึงอุดมศึกษา ส่วนใหญ่เป็นงานวิจัยระยะยาว เพื่อให้ได้องค์ความรู้ที่เกิดประโยชน์ในแวดวงการศึกษาของไทย แม้จะเกษียณอายุราชการ   ไปแล้วก็ยังไม่ละทิ้งการทำงานวิจัย

รศ.ดร.ทิศนาในฐานะคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ได้ศึกษาวิจัยเรื่องการปฏิรูปการศึกษาเพื่อช่วยขจัดปัญหาและยกระดับคุณภาพการศึกษาของเด็กไทยให้ดีขึ้น ผลการศึกษาพบว่าเด็กไทยนำความรู้ที่เรียนมาไปใช้ไม่เป็น ประยุกต์ใช้ทักษะความรู้ไม่ได้  ผลการวิจัยทำให้ได้กรอบสมรรถนะที่จำเป็นสำหรับผู้เรียนระดับขั้นพื้นฐาน 10 สมรรถนะ ซึ่งมีความจำเป็นสำหรับผู้เรียนยุคใหม่ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการกำลังดำเนินการปรับหลักสูตรปัจจุบันให้เป็นหลักสูตรสมรรถนะเพื่อที่จะช่วยให้การปฏิรูปการศึกษาขับเคลื่อนได้เร็วขึ้น

          “การทำงานวิจัยช่วยทำให้เป็นคนใฝ่รู้ตลอดเวลา การทำงานวิจัยให้สำเร็จต้องเริ่มจากการเลือกเรื่องที่อยู่ในความสนใจ ยิ่งเป็นเรื่องที่มีประโยชน์ ก็จะทำให้เรามีกำลังใจในการทำวิจัยมากยิ่งขึ้น” รศ.ดร.ทิศนา ย้ำว่า การศึกษาในบ้านเราจะพัฒนาและก้าวไปอย่างมั่นคงยั่งยืน ไม่ได้เป็นหน้าที่ของคนในวงการการศึกษาเท่านั้น แต่ทุกฝ่าย รวมทั้งพ่อแม่ ผู้ปกครองและสังคมต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง 

จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้

ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า