รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
ข่าวสารจุฬาฯ
12 กุมภาพันธ์ 2563
ข่าวเด่น
จากงานเวทีจุฬาฯ เสวนา ครั้งที่ 23 เรื่อง “ตระหนัก ดีกว่า ตระหนก เรียนรู้ และป้องกัน โคโรนาไวรัส 2019” ซึ่งศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาฯ ร่วมกับศูนย์บริการสุขภาพแห่งจุฬาฯ จัดขึ้นเมื่อวันอังคารที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563 ณ ห้องประชุม ศ.กิตติคุณ ดวงเดือน พิศาลบุตร อาคารประชุมสุข อาชวอำรุง คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ วิทยากร 5 ท่านได้ให้ความรู้เกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ และวิธีการป้องกันตนเองจากโรคนี้
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงสถานการณ์ปัจจุบันเรื่องการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธ์ุใหม่ 2019 ว่า โคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่มีระยะฟักตัวโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 3-7 วัน และมีความเป็นไปได้ที่จะสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้โดยที่ยังไม่แสดงอาการ ซึ่งจะทำให้การแพร่ระบาดเกิดขึ้นได้ง่ายและการคัดกรองทำได้ยากขึ้น ส่วนตัวเลขของผู้เสียชีวิต ยังไม่น่าจะเป็นตัวเลขที่แน่นอน เนื่องจากไม่สามารถทราบจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมดได้อย่างแท้จริง ส่วนพาหะหรือสัตว์ต้นกำเนิดของเชื้อไวรัสชนิดนี้ จากที่เคยคาดการณ์ว่าเป็นค้างคาว ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมามีการตีพิมพ์ในวารสาร Nature ว่าพาหะที่แท้จริงอาจจะเป็นตัวนิ่ม (Pangolins) เนื่องจากพบเชื้อโคโรนาไวรัสที่มีพันธุกรรมที่คล้ายคลึงกับไวรัสอู่ฮั่นถึง 99% แต่ยังไม่ได้รับการยืนยัน สำหรับผู้เข้าข่ายต้องสงสัยในการติดเชื้อในปัจจุบัน ได้แก่ผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย เช่น บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ที่เดินทางมาจากประเทศจีน ร่วมกับมีอาการป่วยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ ปอดบวม และมีการยืนยันการตรวจพบจากห้องปฏิบัติการ ทั้งนี้กลุ่มเสี่ยงยังคงเป็นผู้สูงอายุและผู้ที่มีปัญหาทางสุขภาพ
ศ.นพ.ยง กล่าวว่า ปัจจุบันอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยเริ่มลดลง เหลือเพียงประมาณ 3,000 คนต่อวัน นั่นหมายความว่าจีนเริ่มจะควบคุมสถานการณ์ได้ จากการใช้มาตรการที่เด็ดขาด เมื่อเทียบกับอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยนอกมณฑลหูเป่ยที่ลดลงมากเช่นกัน จึงถือเป็นสัญญาณอันดี คาดการณ์แนวโน้มว่าอาจต้องใช้เวลาอีกเป็นปีจึงจะอยู่ในภาวะที่ควบคุมได้อย่างเบ็ดเสร็จ เพราะยังไม่ถึงจุดสูงสุดของการระบาดที่แท้จริง จึงต้องใช้มาตรการการควบคุมการระบาดให้น้อยที่สุด โดยยืดเวลาการระบาดออกไปให้นานที่สุดเพื่อให้ระบบสาธารณสุขรองรับได้เสียก่อน
ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ด้านคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เปรียบเทียบสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่กับการต่อจิ๊กซอว์ เนื่องจากต้องปะติดปะต่อข้อมูลที่ได้รับจากทางการจีนในการช่วยวิเคราะห์ ณ ปัจจุบันมีความเป็นไปได้ที่จะมีการติดต่อจากคนสู่คนในระยะที่ผู้ป่วยยังไม่แสดงอาการ ซึ่งต้องรอการยืนยัน สำหรับอาการทางคลินิกที่พบในผู้ป่วยที่มีการอาการปานกลางถึงรุนแรงทุกราย จะมีอาการปอดอักเสบ มีไข้ ไอ และปวดกล้ามเนื้อ อาจมีอาการที่ระบบอื่นๆ เช่น ปวดหัว ท้องเสีย มีโรคแทรกซ้อนที่สำคัญคือ ระบบหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และไวรัสกระจายในกระแสเลือด
ส่วนการรักษายังต้องทำในลักษณะของการประคับประคอง หรือรักษาตามอาการ ยังไม่มีตัวยาใดที่ใช้ในการรักษา เนื่องจากโดยธรรมชาติเมื่อติดเชื้อไวรัส ผู้ป่วยสามารถหายเองได้โดยไม่ต้องใช้ยา ยกเว้นในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิต และโรคหัวใจ ที่อาจจะต้องใช้ยาช่วยในการรักษา ซึ่งต้องพิจารณาข้อดีและโทษหรือผลข้างเคียงของการใช้ยาเป็นหลัก ทั้งนี้การรักษาโดยการใช้ยาต้านไวรัส ยังไม่มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือว่ามีประสิทธิภาพ และอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ จึงไม่แนะนำ ยกเว้นในรายที่มีการรุนแรงจริงๆ เท่านั้น และต้องเก็บข้อมูลการรักษาในลักษณะของงานวิจัย
นพ.เอนก มุ่งอ้อมกลาง ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่ามาตรการป้องกันและควบคุมโรคในประเทศไทย เริ่มทำกันตั้งแต่ทราบข่าวการระบาดของโรคปอดอักเสบนิวมูเนียในอู่ฮั่น แต่ยังไม่ทราบว่าคือโรคอะไร มีการตั้งด่านสกัดทั้งที่สนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมืองโดยกรมควบคุมโรค โดยคัดกรองผู้ที่มีการไข้หวัด และเมื่อเริ่มมีความชัดเจนของสถานการณ์ว่าเป็นโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ก็มีการขยายมาตรการการเฝ้าระวังไปยังกลุ่มโรงแรมและผู้ประกอบการต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรงพยาบาลเอกชนที่มีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากในการคัดกรองผู้ป่วยที่เป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ และโรงพยาบาลรัฐที่ทำหน้าที่ดูแลรักษาและเฝ้าระวังในกรณีที่มีการติดเชื้อภายในประเทศ (Local Transmission) มีการติดตามกลุ่มเสี่ยงทั้งสิ้น 260 คนที่เข้ามาในประเทศ รวมถึงคนไทยที่มีการติดต่อกับกลุ่มเสี่ยงอีก 200 กว่าคนพบว่าไม่มีอาการติดเชื้อแต่อย่างใด เหลือเพียงแต่การสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องสำหรับคนไทยเท่านั้น
สำหรับมาตรการในการรับมือนั้น นพ.เอนก กล่าวว่า ปัจจุบันมีห้องปฏิบัติการ 12 แห่งทั่วประเทศที่สามารถตรวจหาโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่และดูแลผู้ติดเชื้อ หลังจากที่เฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงที่เดินทางมาจากต่างประเทศหรือในกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนแล้ว ในระยะที่สองจะมีการเฝ้าระวังการติดเชื้อภายในประเทศเป็นสำคัญ โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานใกล้ชิดกับนักท่องเที่ยวและบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อชะลอการแพร่กระจายของโรค สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้คนไทยมีการระวังตัวมากขึ้น เช่น ล้างมือบ่อยๆ และใช้หน้ากากอนามัย ทำให้โรคประจำถิ่น เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ มีอัตราแพร่กระจายลดลงจากเดิมอย่างมีนัยสำคัญ
พญ.วรรษมน จันทรเบญจกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ แนะนำในเรื่องของการป้องกันตัวเองจากเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งมีช่องทางการพี่กระจายเชื้อที่สำคัญ ได้แก่ ละอองฝอยของเชื้อ ผ่านการไอ จาม เหมือนเชื้อกลุ่มไข้หวัดใหญ่ และการสัมผัสกับสิ่งของที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่งของผู้ป่วยแล้วนำมาสัมผัสกับปาก จมูก ตา ซึ่งสามารถป้องกันได้โดยการล้างมือด้วยสบู่เป็นระยะเวลา 15-30 วินาทีในอ่างล้างมือและเช็ดให้แห้ง หรือล้างมือโดยการใช้แอลกอฮอล์เจล เป็นระยะเวลา 15-20 วินาทีจนแห้ง ส่วนหน้ากากอนามัย องค์การอนามัยโลกไม่แนะนำให้ใส่ในสถานการณ์ทั่วไป ยกเว้นต้องดูแลใกล้ชิดผู้เจ็บป่วย แต่ในประเทศไทยซึ่งอยู่ในสถานการณ์ที่มีการเฝ้าระวัง แนะนำให้ใส่เมื่อมีโอกาสสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการติดเชื้อ เช่น ผู้ที่ทำงานในสถานพยาบาล โรงแรม สนามบิน คนขับรถ หรือต้องไปในที่ที่มีความแอดอัด
สำหรับแนวทางการปฏิบัติตัวของผู้ที่ป่วยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ ต้องใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันตัวและล้างมือเป็นประจำ ไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น อยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทและห่างจากคนอื่นๆ อย่างน้อย 1 เมตร หยุดงานหรือเรียนอย่างน้อย 7-14 วัน ขึ้นอยู่กับอาการหรือตามแพทย์สั่ง ทำความสะอาดสิ่งของ เสื้อผ้า และบริเวณที่สัมผัสอยู่เสมอ
อ.ดร.หยกฟ้า อิศรานนท์ ผู้ช่วยคณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาฯ และอาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาสังคม นำเสนอในประเด็นของการรับข้อมูลข่าวสาร และการเลือกปฏิบัติกับชาวจีนหรือผู้ที่มีความเสี่ยง จะเห็นได้ว่าในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมามีการตื่นตัวในการรับข้อมูลข่าวสาร เห็นได้จากการค้นหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ปรากฏในเว็บเพจต่างๆ มากกว่า 14 ล้านหน้าเว็บเพจ ในเชิงจิตวิทยามองว่าเป็นเรื่องปกติเมื่อคนเราตกอยู่ในสถานการณ์กำกวมหรืออันตรายก็จะหาข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจให้มากที่สุด ทั้งนี้คนเรามักมีอคติในการค้นหาข้อมูล โดยมักจะหาข้อมูลที่สอดคล้องกับความเชื่อเดิมของตน (Confirmation Bias) เป็นหลัก จึงอาจไม่ได้รับข้อมูลรอบด้าน หรือรับข้อมูลที่มีการบอกเล่าแบบปากต่อปาก ซึ่งอาจไม่ครบถ้วนหรือขาดใจความสำคัญ ส่วนในเรื่องของข่าวปลอม (Fake News) สาเหตุหลักที่ทำให้คนเชื่อ ได้แก่ การมีอคติ การใช้อารมณ์ในการรับข้อมูลข่าวสาร และปรากฏการณ์ความจริงเทียม (ปรากฏการณ์ที่เราค้นเจอชุดข้อมูลเดิมซ้ำๆ ไม่ว่าจะเป็นจริงหรือเท็จ แต่ผู้รับสารจะมีแนวโน้มเชื่อว่าข้อมูลนั้นเป็นจริง) ซึ่งเน้นให้เกิดความรู้สึกที่เข้มข้น เช่น กลัว โกรธ หรือรังเกียจ แนวทางในการรับข้อมูลอย่างไม่ตื่นตระหนกก็คือ ตรวจสอบแหล่งที่มา พิจารณาความเป็นเหตุเป็นผล หาข้อมูลจากหลายๆ แหล่ง ทำใจให้เป็นกลาง เมื่อรู้สึกเครียดหรือกังวลให้เบี่ยงเบนไปทำอย่างอื่น
ส่วนในประเด็นของการเลือกปฏิบัติ อคติรังเกียจกลุ่ม/ การเหยียด (Racism) ที่เกิดขึ้นกับคนจีนและกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงซึ่งเกิดขึ้นนั้น ควรเร่งสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ปรับมุมมองจากการมองที่เชื้อชาติหรือชนชาติให้ทุกๆ คนเป็นคนที่มีคุณค่าเท่ากัน สร้างบรรทัดฐานทางสังคมที่มีต่อชนชาติหรือเชื้อชาติโดยปราศจากอคติ
ละครนิเทศจุฬาฯ 2567 “ด้ายแดงเป็นเหตุ Unfortunate Love”
24 - 26 มกราคม 2568
ณ โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ ชั้น 7 อาคารสยามสแควร์
จุฬาฯ ต้อนรับคณะศึกษาดูงานด้านการบริหารความเสี่ยงจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แบ่งปันประสบการณ์การพัฒนาระบบบริหารความเสี่ยงของมหาวิทยาลัย
คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ จัดอบรมเรื่อง “กัญชาทางการแพทย์: ความรู้ที่ต้องมีสำหรับเภสัชกรยุคใหม่”
11 ธ.ค. 67 เวลา 09.00 – 12.15 น.
คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ และ Zoom
คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ จัดอบรมโครงการ “Next-Gen Arts: พัฒนาศักยภาพครูศิลปะด้วย Soft Power”
นิสิตเก่าจุฬาฯ พัฒนาโฟมล้างมือแบบเม็ดฟู่ “Fongdoo” ลดขยะพลาสติก ภายใต้การสนับสนุนของ CU Innovation Hub
วิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ จัดเสวนา “เข้าใจน้ำท่วม แนวคิดวิศวกร” เผยแพร่องค์ความรู้ใหม่รับมืออุทกภัยในอนาคต
จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด
คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้