รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
ข่าวสารจุฬาฯ
2 เมษายน 2563
ข่าวเด่น
สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในปัจจุบัน ส่งผลให้บุคลากรจุฬาฯ ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานจากเดิมที่ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยมาเป็น Work from Home เพื่อความปลอดภัยและลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคนี้ แม้มหาวิทยาลัยจะปิดทำการแต่ก็ยังมีบุคลากรจุฬาฯ บางส่วนที่มาปฏิบัติงานในจุฬาฯ อย่างแข็งขัน ทุ่มเทและเสียสละ หนึ่งในนั้นคือจิตอาสาที่ทำหน้าที่ประสานงาน อำนวยความสะดวกแก่ประชาคมจุฬาฯ ในโครงการ CU V Care ซึ่งเป็นโครงการของจุฬาฯ ที่ให้การดูแลบุคลากรหรือนิสิตที่พักฟื้นจากการติดเชื้อ COVID-19 ที่มีอาการดีขึ้น รวมถึงผู้ที่เข้าข่ายการสืบค้นโรคให้มาพักในจุฬาฯ ที่อาคารจุฬานิเวศน์ และหอพักจำปา
จีรเดช ราชวังเมือง หัวหน้ากลุ่มภารกิจบริการอาคารสถานที่ สำนักบริหารระบบกายภาพ จุฬาฯ ผู้ประสานงานหลักโครงการ CU V Care อาคารจุฬานิเวศน์ กล่าวว่า ตนทำหน้าที่ประสานงานกลางระหว่างทีมแพทย์ ทีมจิตอาสา และผู้เข้าพัก รวมถึงบริหารจัดการอาคารจุฬานิเวศน์และจัดหาอุปกรณ์จำเป็นต่างๆ ให้พร้อมสำหรับผู้เข้าพัก การกลัวติดเชื้อเป็นความกังวลแรกที่เกิดขึ้นจากการได้มาปฏิบัติงานในโครงการนี้ แต่เมื่อได้ศึกษาเกี่ยวกับวิธีการติดเชื้อ COVID-19 ทำให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น ซึ่งการมาทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้สามารถช่วยเหลือผู้ที่ติดเชื้อได้แม้เราจะไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์ก็ตาม เป็นการแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาลได้อีกทางหนึ่ง คนที่ยังไม่ติดเชื้อหรือยังไม่ป่วยก็ควรช่วยเหลือคนที่เป็นผู้ป่วย เพราะถ้าเราไม่ช่วยเหลือกันและกัน สุดท้าย เราทุกคนก็จะป่วยกันหมด รู้สึกประทับใจผู้ปฏิบัติงานจิตอาสาทุกคนที่เสียสละตนเองในการทำงาน ทำให้โครงการนี้สำเร็จลุล่วง
วสันต์ ลือลาภ เจ้าหน้าที่สำนักบริหารระบบกายภาพ จิตอาสาในโครงการ CU V Care ทำหน้าที่ฝ่ายประสานงานระหว่างผู้เข้าพักในอาคารจุฬานิเวศน์และฝ่ายรับ-ส่งอาหาร รวมทั้งประสานงานในภาพรวม เผยว่าการเสียสละมาปฏิบัติหน้าที่ในส่วนนี้เป็นการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกันในภาวะที่ ทุกคนรู้สึกหวาดกลัวการติดเชื้อ ประทับใจทีมงานทุกคนที่ทำให้โครงการนี้สำเร็จโดยไม่แบ่งแยกว่าเป็นผู้บริหารหรือผู้ปฏิบัติงาน ได้เห็นถึงความร่วมแรงร่วมใจของทุกคนที่มีเป้าหมายเดียวกันคือ ความสำเร็จของโครงการ
สันติ ทองนิ่ม เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ศูนย์รักษาความปลอดภัยและจัดการจราจร ซึ่งทำหน้าที่ส่งอาหารให้ผู้เข้าพักในโครงการนี้ กล่าวด้วยความภูมิใจที่เห็นผู้ที่เข้าพักได้กลับบ้านโดยสวัสดิภาพ ตนยังทำหน้าที่เป็นจิตอาสาต้นแบบเพื่อให้จิตอาสาที่ไม่ได้เข้ารับการอบรมได้เรียนรู้วิธีป้องกันตนเองที่ถูกต้อง การปฏิบัติหน้าที่ในส่วนนี้ ถ้าเรียนรู้วิธีป้องกันและปฏิบัติงานด้วยความระมัดระวังตามที่ได้รับอบรมมาโอกาสที่จะติดโรคจะน้อยมาก อีกทั้งมหาวิทยาลัยได้จัดเตรียมอุปกรณ์ป้องกันให้จิตอาสาที่เข้าปฏิบัติงานในพื้นที่ทุกคนอย่างพอเพียง ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อยังสามารถนำไปส่งต่อถึงเพื่อนร่วมงานและครอบครัวได้ด้วย
จุฑามาส ใจกล่ำ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ซึ่งอาสามาปฏิบัติหน้าที่เฝ้าเวรยามหน้าอาคารจุฬานิเวศน์ เผยว่ามีความกลัวบ้าง แต่เมื่อหาข้อมูลเพิ่มเติมและเข้ารับการอบรมจากผู้เชี่ยวชาญตามที่มหาวิทยาลัยจัดให้ ทำให้คลายความวิตกกังวลได้บ้าง ผู้ที่เข้าพักที่นี่ก็คือผู้ป่วยที่ได้รับการรักษามาแล้วและมีเชื้อในร่างกายระดับต่ำ ถ้าตัวเราหรือคนในครอบครัวติดเชื้อก็ต้องการคนดูแลเช่นกัน ทุกคนที่อาสามาทำงานนี้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยใจ โรคระบาดเกิดขึ้นมาได้ก็หายได้เช่นกัน ขอให้ทุกคนมีกำลังใจผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกัน
ศูนย์บริการสุขภาพแห่งจุฬาฯ เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการให้บริการตรวจคัดกรองสำหรับผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อ COVID-19 ด้วยระบบตรวจคัดกรอง Chula COVID-19 Strip Test Service ซึ่งในแต่ละวันมีประชาคมจุฬาฯ และประชาชนทั่วไปมารับบริการตรวจคัดกรองที่ศูนย์บริการสุขภาพแห่งจุฬาฯ อาคารจามจุรี 9 เป็นจำนวนมาก
นพ.สัณฐิติ ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์บริการสุขภาพแห่งจุฬาฯ กล่าวว่าศูนย์บริการสุขภาพแห่งจุฬาฯ รับผิดชอบงานนี้เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องช่วยเหลือกัน ทีมแพทย์พยาบาลเป็นทัพหน้าคอยดูแลเกี่ยวกับโรคระบาดก็จริง แต่เราต้องทำงานร่วมกัน มีทีมแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ทำงานระบบหลังบ้านเป็นทัพหลัง ทุกคนทำงานด้วยความสมัครใจ ทีมแพทย์พยาบาลบางท่านมาจากภายนอกเป็นจิตอาสา ซึ่งมาทำงานด้วยใจจริงๆ เราผ่านสถานการณ์วิกฤตต่างๆ มาหลายครั้ง ต่อไปอาจจะมีสถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก คำพูดและขวัญกำลังใจสำคัญที่สุด เรามักจะพูดกันเสมอว่า “Social Distancing เว้นระยะทางสังคมแต่รักกันเหมือนเดิม” การทำงานดูแลคัดกรองผู้ติดเชื้อที่ศูนย์บริการสุขภาพแห่งจุฬาฯ เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่จุฬาฯ ดำเนินการเท่านั้น ที่สำคัญที่สุดคือระบบการทำงานที่ทุกภาคส่วนในจุฬาฯ ร่วมมือกันอย่างดียิ่ง การที่เราเหน็ดเหนื่อยและเสียสละในการทำงานอย่างเต็มความสามารถ เมื่อเวลาผ่านไปเราจะภูมิใจกับสิ่งที่เราทำในครั้งนี้
ศุภกัญญา บินทปัญญา หัวหน้าพยาบาล ศูนย์บริการสุขภาพแห่งจุฬาฯ เผยว่ารู้สึกภูมิใจที่ได้ช่วยเหลือผู้ป่วยในสถานการณ์เช่นนี้ หน้าที่ในแต่ละวันที่ศูนย์บริการสุขภาพจะเจาะเลือดเก็บตัวอย่างของคนไข้เพื่อส่งตรวจตามระบบการตรวจคัดกรอง Chula COVID-19 Strip Test Service ในภาวะวิกฤต COVID-19 เราไม่หยุดที่จะให้บริการ แต่ด้วยอัตรากำลัง และอุปกรณ์ที่มีจำกัด จะจัดสรรอย่างไรให้คนไข้ได้รับบริการมากที่สุด และต้องระมัดระวังการติดเชื้อเพิ่มของบุคลากรทางการแพทย์ควบคู่ไปด้วย บุคลากรต้องตระหนักเรื่องการเตรียมความพร้อมในรูปแบบที่เป็นสากล
สำหรับบุคลากรจุฬาฯ บางหน่วยงานที่ยังคงมาปฏิบัติงานในจุฬาฯ ในสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ได้เผยถึงงานในหน้าที่ความรับผิดชอบของคนทำงานทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังที่เสียสละและอุทิศตนมาปฏิบัติงานที่จุฬาฯ แม้จะมีมาตรการ Work from Home ก็ตาม
ปราณี จงไกรจักร เจ้าหน้าที่สำนักงาน (ธุรการ) โรงพยาบาลสัตว์เล็ก คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ที่โรงพยาบาลสัตว์เล็กยังมีคนมาใช้บริการตามปกติทุกวัน เวลา 08.00 – 15.00 น. งดเฉพาะคลิกนิกนอกเวลา ตนมีหน้าที่ดูแลงานเอกสารและยา รวมทั้งเติมเจลแอลกอฮอล์ทำความสะอาดซึ่งผลิตโดยภาควิชาเภสัชวิทยา คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ แม้มหาวิทยาลัยจะปิดทำการในสถานการณ์ COVID-19 ระบาด แต่การดูแลรักษาสัตว์เลี้ยงที่ป่วยยังคงเปิดให้บริการเหมือนเดิม สัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่ยังคงมาทำงานแต่ลดจำนวนลงจากเดิม 8 คน เหลือวันละ 4 คน มีการสลับวันทำงาน เป็นวันจันทร์ พุธ ศุกร์ กับวันอังคารและพฤหัสบดี
อุทิศ สุดารักษ์ พนักงานรักษาความปลอดภัย คณะเภสัชศาสตร์ เล่าถึงการทำหน้าที่ของ รปภ.ว่ามีความจำเป็นในสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งไม่ได้ทำหน้าที่ดูแลความปลอดภัยเท่านั้น แต่ต้องคัดกรองบุคลากรและนิสิตที่มาทำงานหรือติดต่อคณะในเบื้องต้นด้วย ส่วนตัวรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยในช่วง COVID-19 ระบาด ถ้าให้เลือกระหว่างหยุดงานกับการมาทำงาน ตนอยากมาทำงานมากกว่า ที่ผ่านมาทางคณะได้ให้การสนับสนุนหน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์ ในขณะปฏิบัติหน้าที่จะต้องมีระยะห่างกับคนอื่นๆ ด้วย
ฉัตรชุลี ชาติปัญญาวุฒิ หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ กล่าวว่า สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ ยังเปิดให้บริการตามปกติ เพื่อให้บริการสมาชิกที่จำเป็นต้องมาใช้บริการโดยเฉพาะสมาชิกอาวุโส หรือสมาชิกที่ยังไม่มีบัตรเอทีเอ็ม นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ตอบคำถามให้ข้อมูลสมาชิกที่โทรศัพท์เข้ามาสอบถามเรื่องต่างๆ เป็นจำนวนมาก การมาปฏิบัติงานในภาวะวิกฤตเช่นนี้ ส่วนหนึ่งก็กลัว แต่ก็นึกถึงสมาชิกบางส่วนที่ไม่สามารถจะใช้ช่องทางอื่นในการรับบริการของสหกรณ์ได้ รู้สึกภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่ตรงนี้ให้ดีที่สุด ในการทำงานจะปฏิบัติตามขั้นตอนการคัดกรองตามมาตรฐานเบื้องต้น ทั้งการวัดไข้ ใส่หน้ากากอนามัย และล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์
วิรัตน์ แววอาราม รักษาการหัวหน้าแผนกควบคุมการออกอากาศ สถานีวิทยุจุฬาฯ ทำหน้าที่ควบคุมการออกอากาศรายการต่างๆ ในสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ยังคงมาทำงานทุกวัน แต่ปริมาณงานน้อยลง เนื่องจากวิทยากรและผู้ดำเนินรายการบันทึกเสียงผ่านทางโทรศัพท์หรือทางไลน์ แม้มหาวิทยาลัยจะปิด บุคลากรจะ Work from Home แต่ผมยังคงทำงานตามปกติ เพราะรายการวิทยุจะหยุดออกอากาศไม่ได้ รู้สึกภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่นี้ ไม่ว่าจะเผชิญกับภาวะวิกฤตในเรื่องไหน ในช่วงนี้มีผู้ฟังรายการโทรมาสอบถามในเรื่องการใช้หน้ากากอนามัย ผมก็จะไปหาคำตอบเพิ่มเติมจากอาจารย์ผู้จัดรายการ เพื่อให้คำแนะนำที่ถูกต้องแก่ประชาชน ประทับใจทีมงานสถานีวิทยุจุฬาฯ ทุกคนที่ร่วมมือร่วมใจกันเต็มที่ในสถานการณ์เช่นนี้ บางคนไม่สะดวกในการเดินทางก็มานอนที่สถานี รวมทั้งมีการเย็บหน้ากากผ้าแจกทีมงานด้วย
เปิดมิติใหม่ความร่วมมือ จุฬาฯ และ AFP ขยายโอกาสนิสิตไทยในวงการสื่อสารระดับโลก
คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ “รักษาฟันฟรี” ถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เนื่องในวันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ
17 ต.ค. 67 เวลา 08.00 น.
อาคารบรมนาถศรีนครินทร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ
เสวนา Chula the Impact ครั้งที่ 25 “แพลตฟอร์มจุฬาฯ ฝ่าพิบัติ: Digital War Room” นวัตกรรมจากจุฬาฯ ที่ใช้ชี้จุด คาดคะเน และให้ข้อมูลผู้ประสบภัยได้อย่างแม่นยำและทันสมัย
9 ต.ค. 67
ห้องประชุม 202 อาคารจามจุรี 4 จุฬาฯ
คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ จัดการประชุมวิชาการ The 1st International Study Group on Creative Arts Therapy ดูแลสุขภาวะด้วยศิลปะบำบัด
คณะสถาปัตย์ จุฬาฯ จัดบรรยายพิเศษครั้งที่ 7 “Human + Machine: A New Territories of Design” แลกเปลี่ยนความรู้การออกแบบในโลกดิจิทัล
PMCU เชิญร่วมงานเทศกาลอิ่มเจ อิ่มบุญ อิ่มความสุข ที่สามย่าน-บรรทัดทอง
จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้ ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้
ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้