รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
ข่าวสารจุฬาฯ
6 พฤษภาคม 2563
ข่าวเด่น
สถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลกส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยจะเริ่มคลี่คลาย แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนับจากนี้ที่ทุกคนต้องรับมือคือ “New Normal” หรือ “ความปกติใหม่ในวิถีชีวิต” ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่อรูปแบบการดำเนินชีวิตใหม่ของเราทุกคน
อ.ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ และผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ เปิดเผยว่า วิกฤตโควิด-19 เป็นเรื่องใหญ่มากที่เราไม่เคยพบมาก่อน วิกฤตการณ์นี้จะส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ๆ แบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ในระยะสั้นเป็นเรื่องของการรับมือกับผลกระทบของวิกฤต จะทำอย่างไรที่จะเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบมากไม่ให้ลำบากจนเกินไป และในระยะยาวคือในเชิงพฤติกรรม โดยให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพและเทคโนโลยี ความเป็นไปได้หลังวิกฤตินี้ก็คือการที่สังคมใช้วิกฤตเป็นตัวเร่งในการเปลี่ยนแปลงในทุกมิติของเทคโนโลยีและชีวิต
สำหรับการตั้งรับและปรับตัวเพื่อให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติโดยเร็ว อ.ดร.อาร์ม กล่าวว่าอยากให้ทุกคนตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหาว่าเกิดขึ้นในหลายมิติ ไม่เฉพาะเรื่องสาธารณสุข แต่ยังรวมไปถึงเรื่องเศรษฐกิจในทุกภาคส่วน ลามไปเป็นปัญหาสังคม ปัญหานี้ไม่สามารถจัดการได้ภายในระเวลาอันสั้น หากทุกคนไม่ปรับวิถีชีวิต ไม่ปฏิบัติตามมาตรการเคร่งครัดของรัฐบาล การระบาดของโรคนี้ก็อาจเกิดระลอกใหม่ได้ อยากให้ใช้การระบาดของโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางสร้างสรรค์ให้มากขึ้น เช่น การลดการพึ่งพิงทางด้านการส่งออกจากต่างประเทศ ให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศด้วยการยกระดับรายได้ของประชาชน
“บทเรียนที่ประเทศไทยได้รับจากโควิด-19 นอกจากการรับมือกับวิกฤตในระยะสั้นแล้ว เรายังต้องคำนึงถึงการวางแผนสร้างพื้นฐาน การหาจุดเติบโตใหม่ๆ ให้กับประเทศ เพื่อรองรับสถานการณ์วิกฤตในครั้งนี้ซึ่งคาดว่าจะยาวนานกว่า 1-2 ปี สิ่งที่กังวลคือหากเรายังขาดการแก้ปัญหาในระยะยาวโดยใช้ภาคเศรษฐกิจใหม่ๆ ที่จะมาเป็นเครื่องจักรในการสร้างการเติบโตให้กับประเทศ ก็ยากที่เราจะก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปได้อย่างสวยงาม” อ.ดร.อาร์ม กล่าวทิ้งท้าย
ผศ.ดร.รุ่งเกียรติ รัตนบานชื่น คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ กล่าวถึงระบบเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ภายหลังวิกฤต COVID-19 ว่า ประกอบด้วย Digital Infrastructure หรือโครงสร้างพื้นฐานทางด้านดิจิทัล เพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงโลกดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพและเท่าเทียมกัน มีการประยุกต์เทคโนโลยีด้านดิจิทัล เพื่อนำเสนอรูปแบบของธุรกิจใหม่ๆ เช่น E-Commerce การให้บริการผ่านระบบ Cloud หรือ Sharing Platform เป็นต้น และมีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในอุตสาหกรรมการผลิตแบบเดิมให้มากขึ้น สัดส่วนของระบบเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียช่วงก่อนหน้าสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ได้รับการประเมินไว้โดยบริษัทที่ปรึกษาต่างๆ อยู่ที่ประมาณไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ของ GDP แต่ในอนาคตหากมีการเปลี่ยนผ่านด้านเศรษฐกิจดิจิทัลมากขึ้น คาดการณ์ว่าจะมีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้นถึง 25 -30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือเป็นช่องทางใหม่สำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต
“หลายคนอาจจะมองว่า New Normal ที่จะเกิดขึ้นคือการซื้อของผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลัก หรือเป็นการเว้นระยะห่างในชีวิตประจำวันกันเป็นปกติ คนจะไม่ค่อยซื้ออสังหาริมทรัพย์ในเมือง แต่อยากจะไปอยู่ในชนบทเพราะไม่จำเป็นต้องเข้ามาอาศัยอยู่เมือง ผมคิดว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นจริง เพราะว่าคนเรายังต้องการการมีปฏิสัมพันธ์กับสังคมอยู่ การประชุมออนไลน์ การทำงาน Work from Home หรือชอบซื้อของแบบออนไลน์ เป็นแค่พฤติกรรมที่เราถูกบังคับให้ต้องทำในช่วงนี้เท่านั้น” ผศ.ดร.รุ่งเกียรติ กล่าว
ในมุมมองของ ผศ.ดร.รุ่งเกียรติ New Normal ที่คิดว่าจะเกิดขึ้นคือ E-Commerce แต่จะไม่ได้เข้ามาแทนที่ตลาดเดิม เช่น ห้างสรรพสินค้าหรือร้านค้าออฟไลน์ทั่วไป คนเรายังคงชอบที่จะเดินห้าง ไปจับต้องสินค้าจริงๆ เพียงแต่การซื้ออาจจะไม่ได้ซื้อผ่านร้านค้าอย่างเดียว ดังนั้นผู้ประกอบการอาจจะต้องสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้แก่ผู้บริโภคมากขึ้น เพื่อให้เกิดการซื้อทั้งในช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ จะเกิดการเร่งตัวในการเกิดธุรกิจแบบที่เรียกว่า Light Business Model หรือ Agile Business Model ซึ่งเป็นรูปแบบธุรกิจที่เหมาะสมกับการอยู่รอดในภาวะวิกฤต คือไม่สร้างภาระที่มากจนเกินไปให้กับธุรกิจ ไม่มีสินทรัพย์ถาวรและหนี้สิน และลูกจ้างจำนวนมาก การจ้างงานในอนาคตจะไม่ใช่การจ้างงานแบบลูกจ้างประจำ จะเกิดธุรกิจแบบ Everything at a Service Model เน้นการให้เช่าใช้เป็นหลักหรือ pay-per- use เช่นเดียวกับธุรกิจอย่าง Netflix หรือ Spotify ที่เราไม่ต้องจ่ายเงินแพงๆ เพื่อซื้อดีวีดีมาเก็บไว้เอง ทั้งที่อาจจะดูหนังและฟังเพลงแค่ไม่กี่ครั้ง และ New Normal ด้านการเงิน หลังเกิดวิกฤตโควิด-19 น่าจะมีการตั้งคำถามกันมากขึ้นว่าเงินที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันยังมีค่าเท่าเดิมหรือไม่ เนื่องจากวิกฤตนี้ทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกพิมพ์เงินออกมาเพื่อเพิ่มปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเกิดเงินเฟ้ออย่างมหาศาล หรือพูดง่ายๆ ก็คือของจะแพงขึ้น เงินมีค่าน้อยลง ซึ่งอาจนำไปสู่ New Normal คือ Central Bank Digital Currency ขึ้นมาแทนที่เงินในรูปแบบธนบัตร เงินเฟ้อและพฤติกรรมการหลีกเลี่ยงธนบัตร อาจทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกคิดหาการสร้างสกุลเงินขึ้นมาใหม่เพื่อใช้แทน
“หลายคนพูดกันว่าในวิกฤติครั้งนี้ คนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือคนทำงานฟรีแลนซ์ ผู้รับเหมาอิสระ (Gig Economy) หรือคนรุ่นใหม่ที่ไม่ชอบเป็นลูกจ้างใคร แต่หลังจากวิกฤติในครั้งนี้ เชื่อว่านายจ้างจะไม่ค่อยอยากจ้างลูกจ้างประจำอีกต่อไป เพราะฉะนั้นคนทำงานจะต้องกระตือรือร้นอยู่เสมอ เพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ในทุกเทรนด์และเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะเข้ามา คุณจะไม่สามารถทำงานเช้าชามเย็นชาม หรือเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านใดด้านหนึ่งแบบ 100% ได้อีกต่อไป แต่จะต้องเป็นคนที่เรียนรู้อยู่ตลอดเวลา พยายามทำตัวเองให้เป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องใหม่ๆ ตลอดเวลาให้ได้ เพื่อให้ได้รับการจ้างงาน คนทำงานต้องรู้จักการบริหารการเงิน เพื่อให้มั่นใจว่าหากวันหนึ่งต้องตกงานจะสามารถอยู่รอดได้ พฤติกรรมการใช้เงินแบบเดือนชนเดือนต้องเปลี่ยน ถ้าไม่เปลี่ยนจะก็ตามระบบเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ไม่ได้” ผศ.ดร.รุ่งเกียรติ กล่าว
“การเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจแบบดิจิทัล สิ่งหนึ่งที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงคือเรื่อง Digital Literacy หรือทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัลขั้นพื้นฐาน การวางนโยบายในอนาคตเพื่อให้มีการปรับเปลี่ยนไปสู่ Digital Economy ที่ดีและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ต้องทำให้ทุกคนมี Digital Literacy ที่เหมาะสม” ผศ.ดร.รุ่งเกียรติ กล่าวในที่สุด
ด้านการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและประชากร ศ.ดร.วิพรรณ ประจวบเหมาะ คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยว่า วิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายของคน ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว แรงงานข้ามประเทศหรือกิจกรรมต่างๆ ข้ามประเทศ ความสัมพันธ์ทางสังคมแต่เดิมจะเน้นการมีส่วนร่วมในชุมชนที่มีคนหมู่มาก จะเปลี่ยนรูปแบบไปเป็นการรักษาระยะห่างทางกายภาพเพิ่มขึ้น เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามามีส่วนช่วยในเรื่องระยะห่างทางกายภาพ เช่น ช่วยให้คนทำงานจากบ้าน ติดต่อสื่อสารกันได้ หรือเรื่องการพบแพทย์อาจจะไม่ต้องมาเจอกันตัวต่อตัว มีการนำเทคโนโลยีด้านแพทย์ทางไกลที่เรียกว่าโทรเวชกรรมมาใช้ สิ่งที่ต้องกังวลคือทุกคนไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้ เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ใช้แรงงาน การเกิด New Normal ต้องไม่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรม การอยู่รอดในอนาคตจะต้องมีการเรียนรู้ตลอดชีวิต พร้อมที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน มีทักษะชีวิต รับความจริงถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ที่สำคัญคือมีความพอเพียง ไม่วิ่งตามกระแสโลก ดำรงชีวิตในทุกมิติอย่างสมดุล รู้จักกินรู้จักใช้ให้พอเหมาะพอดี ไม่ว่าจะเกิดวิกฤตเพียงใดเราก็จะอยู่รอดได้
“ผลกระทบของโควิด-19 ส่งผลโดยตรงต่อคนในเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนจน เมื่อมีการปิดกิจการต่างๆ โดยเฉพาะภาคบริการ ภาคแรงงานต่างๆ คนที่ตกงานจากภาคอุตสาหกรรมก็กลับไปสู่ภาคเกษตรกรรมในชนบท คนในเมืองมีลักษณะต่างคนต่างอยู่ เมื่อเผชิญกับภาวะวิกฤตแทบจะไม่มีใครรอบข้างมาช่วยเหลือ ในขณะที่คนในชนบทจะมีระบบที่ดีกว่าในเมือง เช่น มีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านไปเยี่ยมตามบ้าน แต่ละพื้นที่จะมีการดูแลกันเป็นอย่างดี คนในชนบทยังมีพื้นที่ในการกักตัว แต่ในกรุงเทพฯ มีพื้นที่จำกัดทำให้ไม่สามารถรักษาระยะห่างทางสังคมได้ กลุ่มอาชีพแรงงานไม่ใช่เสี่ยงจากโรคอย่างเดียว แต่ยังเสี่ยงตายจากการอดอยากเพราะไม่มีเงิน” ศ.ดร.วิพรรณ แสดงความห่วงใย
คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ได้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาในระยะยาว โดยการนำงานไปสู่พื้นที่ชนบทเพื่อลดการย้ายถิ่นของคนที่จะเข้ามาแออัดในเมือง ส่วนในกรุงเทพฯ ต้องแก้ไขระบบที่พักอาศัย และสุขลักษณะการอยู่อาศัยในเมืองทั้งหมดซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ เรายังขาดข้อมูลเกี่ยวกับคนในเมืองที่เป็นปัจจุบัน เนื่องจากคนเมืองมีการเคลื่อนย้ายบ่อย ไม่มีการรวมข้อมูล สะท้อนให้เห็นว่าเรายังขาดข้อมูลในระดับพื้นที่ สิ่งที่ตามมาคือทำให้การแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุดและไม่เป็นระบบ การบูรณาการการทำงานของหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจึงสำคัญมาก เราควรเร่งพัฒนาคนที่ไม่ใช่เก่งทางด้านวิชาการอย่างเดียวแต่ต้องครอบคลุมในทุกมิติ ทั้งด้านสุขภาพ การเรียนรู้ตลอดชีวิต การจัดการการเงิน ต้องรู้จักแบ่งบัน เสียสละ เมื่อวิกฤตนี้หมดไปเรายังต้องเจอวิกฤตเศรษฐกิจและปัญหาปากท้อง ถ้าไม่มีทักษะที่จะเปลี่ยนชีวิต หรือทักษะทางใจที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงก็จะเป็นเรื่องน่าห่วงอย่างยิ่ง ที่สำคัญต้องสร้างพลังของครอบครัว เพราะเป็นพลังพื้นฐานที่จะช่วยกันและกันในยามที่มีภาวะวิกฤต
ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง (UddC-CEUS) จุฬาฯ กล่าวถึงภาวะสถานการณ์โควิด-19 ว่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อชีวิตของคนในเมือง ในกรณีระยะสั้นและการคิดค้นวัคซีนใช้ได้จริงจะไม่ค่อยส่งผลมากนัก แต่ผู้คนจะมีความระมัดระวังมากขึ้น แต่ในระยะยาวจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตคนหลายด้าน ด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมจะต้องใส่ใจในเรื่องระยะห่างระหว่างมนุษย์ (human distancing) อย่างน้อยที่สุดคือในรัศมี 2 × 2 เมตร ไม่ว่าคุณจะอยู่ในวัฒนธรรมใดประเทศใดก็ตาม จะมีการเปลี่ยนแปลงการออกแบบและใช้อุปกรณ์สิ่งของที่เป็นแบบแยกเดี่ยว (Isolation) มากขึ้น
“สิ่งที่เมืองต้องให้ความสำคัญคือด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะสุขภาวะและการหาเลี้ยงชีพของคนในเมือง ต้องให้กลับมาสู่สภาวะปกติให้เร็วที่สุดเพราะคนทุกกลุ่มได้รับผลกระทบทั้งหมด” ผศ.ดร.นิรมลกล่าว
ทั้งนี้คนที่ยังสามารถหารายได้หรือสามารถ Work from Home อาจจะได้รับผลกระทบในเรื่องความอ้วนหรือความเครียด ความแออัดที่ต้องอยู่ในที่บริเวณแคบเพราะขนาดสภาพแวดล้อมของบ้านไม่เอื้ออำนวย แต่กลุ่มคนที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มผู้ที่ไม่สามารถทำงานหรือหารายได้เนื่องจากการกักตัว ผู้ใช้แรงงานและนักศึกษาจบใหม่ที่มักจะถูกให้ออกจากงานเป็นกลุ่มแรก รวมถึงกลุ่มแรงงานนอกระบบ ซึ่งกลุ่มนี้มีประชากรรวมกว่า 5 ล้านคนทั่วประเทศ และกลุ่มคนไร้บ้านเป็นกลุ่มที่เปราะบางที่สุดมีโอกาสเสี่ยงมากเพราะไม่สามารถรับมือกับโรคได้เท่ากับคนทั่วไป การปิดเมืองส่งผลให้แรงงานรายวันไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการที่รัฐบาลจัดสรรได้และไม่มีความมั่นคงทางรายได้ ทำให้เห็นความเหลื่อมล้ำชัดเจนมากยิ่งขึ้นจากสถานการณ์ความไม่พร้อมของแต่ละบุคคล
ผศ.ดร.นิรมลให้ข้อมูลเกี่ยวกับความปกติรูปแบบใหม่ (New Normal) เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยว่า บ้านเดี่ยวชานเมืองอาจได้รับความสนใจมากขึ้น หรือห้องขนาดใหญ่ในคอนโดมิเนียมจะมีมากขึ้นและมีพื้นที่ในการทำอาหารส่วนกลางในอาคาร มีการเปลี่ยนแปลงการออกแบบผังทางสถาปัตยกรรม เช่น ห้องอาบน้ำ อ่างล้างมือมาไว้หน้าบ้าน Work from Home จะเป็นความนิยมรูปแบบใหม่ ขนาดของพื้นที่ออฟฟิศจะหดลง ตำแหน่งงานบางอย่างจะเป็น Outsource มากขึ้น ด้านการออกแบบ รูปแบบผังเปิดโล่งจะต้องมีการปรับระยะห่าง บางครั้งอาจจำเป็นต้องมีฉากกั้น บางธุรกิจที่เป็นแนวคิดสังคมเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน (Sharing Economy) ได้รับผลกระทบพอสมควร ส่วนธุรกิจที่จะดีมากขึ้นคือ ธุรกิจที่ให้บริการบน Cloudระบบขนส่งเปลี่ยนจากการให้ความสำคัญจากพื้นที่ถนนมาเป็นทางเท้าหรือทางสำหรับยานพาหนะขนาดเล็ก เพิ่มทางเลือกโดยการใช้ Micromobility ยานพาหนะที่มีความเร็วไม่เกิน 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สัญจรในระยะทางไม่เกิน 10 กิโลเมตร และการเดินจะมีความสำคัญต่อเมืองมากขึ้น มีการใช้แอปพลิเคชันเพิ่มฟังก์ชันการจองที่นั่งที่ยืนในรถเมล์ ทำให้คนทั่วไปสามารถใช้ได้อย่างแพร่หลาย ระบบขนส่งจะต้องให้ความสำคัญด้านความสะอาดต่อผู้ใช้บริการมากขึ้น
ส่วนการเรียนออนไลน์นั้น ผศ.ดร.นิรมลมองว่าไม่ตอบโจทย์ทั้งหมดและมีข้อจำกัดในหลายด้าน การเรียนที่ใช้ทักษะฝีมือที่จะต้องเรียนรู้จากของจริงหรือการเรียนการสอนที่ต้องใช้เครื่องมือที่มีราคาแพง ผู้เรียนไม่สามารถที่จะมีเครื่องมือเหล่านี้อยู่ที่บ้านได้ การพัฒนาทักษะทางสังคมต้องอาศัยการมีพื้นที่ทางกายภาพสำหรับปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ถ้าลดความเหลื่อมล้ำด้านดิจิทัลให้มีมาตรฐานเดียวกันทั้งหมดจะสามารถช่วยลดความหนาแน่นและการกระจุกตัวของสถานศึกษาบางแห่งโดยเฉพาะในตัวเมืองได้
“เมื่อเกิดการระบาด เราจะอยู่เฉพาะบริเวณย่านที่เราอาศัย ดังนั้นจึงต้องมีการออกแบบวางผังสภาพแวดล้อม ต้องมีการทบทวนอย่างจริงจัง สร้างสภาพแวดล้อมให้เป็นย่านที่น่าอยู่ มีสาธารณูปโภคเพียงพอสำหรับการใช้ชีวิต มีร้านค้า ตลาด ธนาคารและบริการสาธารณสุขครบถ้วน สำหรับประเด็นด้านเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของประเทศ ต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยวโดยใช้หลักข้อปฏิบัติด้านสาธารณสุขเป็นเกณฑ์ เมืองจะต้องมีความหนาแน่นที่พอเหมาะ โปร่ง ถ่ายเทอากาศได้ดี ไม่มีมุมอับชื้น น้ำขัง มีทางเลือกด้านการคมนาคมและทางสาธารณะที่สะดวก มีการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นมากขึ้น มีการจัดการที่ต่อเนื่องและต้องให้ความสำคัญกับคนส่วนใหญ่เป็นอันดับแรก” ผศ.ดร.นิรมล กล่าวทิ้งท้าย
จุฬาฯ ผงาดอีกครั้งครองอันดับที่ 17 ของโลก อันดับ 1 ของไทย Times Higher Education Impact Rankings 2023
วิศวฯ จุฬาฯ ร่วมกับสถานีวิทยุจุฬาฯ จัดโครงการ Envi Mission ภารกิจรักษ์สิ่งแวดล้อม ปีที่ 4 รวมพลังคิด(ส์) ฝ่าวิกฤตพลังงาน
ขอเชิญนักเรียนชั้นมัธยมปลายร่วมการแข่งขันสร้างแอปพลิเคชัน
คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดโครงการ “Special LawLAB การสืบสวนสอบสวนยุค 5G” รุ่น 2
โครงการอบรมความทางรู้ทางจิตวิทยาเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning)
4 ก.ค. 66
คณะจิตวิทยา จุฬาฯ
จุฬาฯ เชิญร่วมกิจกรรมเสริมหลักสูตร CUVIP เดือนมิถุนายน 2566 Theme “Preparation for working World with CUVIP”
จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้ ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้
ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้