ข่าวสารจุฬาฯ

วิกฤตโควิด-19 กับ “ชีวิตปกติใหม่” ของชาวจุฬาฯ

สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 พิสูจน์ให้เห็นว่าเราทุกคนมีศักยภาพในการเรียนรู้และปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว ชาวจุฬาฯ ใส่หน้ากากอนามัยเมื่อออกนอกบ้าน ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) ทั้งในการเดินทาง การใช้บริการต่างๆ การรับประทานอาหาร เราทำงานแบบ Work from Home เปิดแพลตฟอร์มการเรียนการสอนทางออนไลน์ ประชุม อบรมสัมมนาด้วยแอปพลิเคชัน เราใช้ชีวิตอยู่บ้าน มีเวลากับครอบครัวและตัวเองมากขึ้น เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ที่ไม่เคยรู้หรือมีเวลาทำมาก่อน ทั้งหมดนี้กลายเป็น ”ชีวิตปกติใหม่” ที่เราคุ้นเคยมากขึ้นเรื่อยๆ

คณาจารย์ บุคลากร และนิสิตจุฬาฯ ส่วนหนึ่งร่วมแบ่งปันประสบการณ์ “ชีวิตปกติใหม่” หรือ New Normal ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ว่าพวกเขาปรับตัวและเรียนรู้อะไรบ้าง และเมื่อถึงเวลาที่รั้วจามจุรีเปิดอีกครั้งในเดือนมิถุนายนนี้ มีอะไรที่พวกเขาคิดถึงและคิดจะทำเป็นอันดับแรกๆ

            ในวิกฤตมีโอกาส ศ.ดร.บุษกร บิณฑสันต์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า สถานการณ์โรคระบาดช่วยเร่งทางลัด (shortcut) สู่การเกิดนวัตกรรม

“คณาจารย์หันมาใช้เทคโนโลยีกันอย่างเต็มที่ในการทำงานและการเรียนการสอนออนไลน์ ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ในการนำเสนอผลงานของนิสิต เช่น การสร้างแกลเลอรีออนไลน์ การแสดงแฟชั่นออนไลน์ การส่งคลิปการแสดงของนิสิตแทนการแสดงจริงในหอประชุม แม้แต่การแสดงดนตรีไทยก็มีการใช้โปรแกรม ZOOM แล้วนำมาเผยแพร่ใน YouTube”

            “ส่วนสิ่งแรกที่จะทำเมื่อกลับมาทำงานในจุฬาฯ คือ จัดสรรปริมาณงาน ดูความเป็นไปได้ในการทำงานจากที่บ้าน หากสถานการณ์ยังไม่ปกติจริงๆ อาจต้องมีการสลับคนมาทำงาน สลับวันหรือสลับช่วงเวลา”

ไม่เพียงทักษะและความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับการทำงานและการเรียนการสอน แต่การอยู่บ้านมากขึ้นทำให้ ศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล รองคณบดีด้านยุทธศาสตร์นวัตกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ได้บริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในบ้านมากขึ้น อย่างการคัดแยกขยะ เทคนิคการประหยัดน้ำและไฟฟ้า รวมถึงเห็นทักษะสำคัญในอนาคตที่ทุกคนควรใส่ใจ

            “คนไทยควรคิดเรื่องการพึ่งพาตัวเองและอยู่อย่างพอเพียง วิกฤตทำให้เราเห็นว่าระบบการให้ความช่วยเหลือและความมีระเบียบวินัยเป็นเรื่องสำคัญมาก ทุกคนต้องดูแลรักษาสุขภาพของตัวเองมากขึ้น และพัฒนาทักษะความรู้ด้านเทคโนโลยี ซึ่งจะเป็นความปกติใหม่ในเชิงการเรียนรู้ทักษะต่างๆ”

            “เมื่อกลับมาทำงานในจุฬาฯ ทุกคนต้องช่วยกันดูแลสุขภาวะในที่ทำงาน เนื่องจากการปิดมหาวิทยาลัยในช่วงที่ผ่านมา อาจเกิดเชื้อราหรือแบคทีเรียตามพื้นห้อง เพดาน ระบบระบายอากาศ จึงควรเปิดห้องทำงานเพื่อระบายอากาศ และพื้นที่ทำงานต้องมีการปรับปรุง หรือเปลี่ยนแปลง”

 

            ศ.ดร.พิสุทธิ์ ได้ฝากบทความเรื่องการพลิกวิกฤตโควิดให้เป็นโอกาส ซึ่งสถานีวิทยุจุฬาฯ ได้นำไปจัดทำเป็นคลิปวิดีโออธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ผู้สนใจสามารถติดตามได้ที่

https://www.facebook.com/143482385679217/posts/3435112526516170/  หรือ

 

            แม้การอยู่บ้านจะทำให้ค่าไฟสูงลิ่ว แต่หลายคนก็ได้ “ชิล” กับครอบครัวมากขึ้นกว่าก่อน กรรชิต จิตระทาน ผู้อำนวยการสำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม เผยว่า “การทำงานที่บ้านทำให้ได้ทบทวนชีวิต ได้ทำหลายอย่างที่เคยคิดอยากทำ แต่ยังไม่ได้ทำ และก็ได้ใช้เวลากับลูกๆ มากขึ้น การ Work from Home ช่วยให้ไม่ต้องเสียเวลากับการเดินทาง รถติดน้อยลง ลดมลภาวะทางอากาศ แต่ข้อเสียก็คือทำงานหนักมากกว่าเดิม ทำงานได้ไม่เต็มร้อย เพราะไม่ได้เห็นหน้ากัน สื่อสารไม่ชัดเจนเท่าที่ควร

“สิ่งแรกที่อยากทำเมื่อมหาวิทยาลัยเปิด คือ ประชุม หารือกับบุคลากรในสำนักฯ เพื่อปรับแผนการใช้ระบบออนไลน์และเทคโนโลยีในการทำงาน พร้อมรับ New Normal วิถีชีวิตปกติใหม่ ก้าวสู่ความเป็นดิจิทัลมากขึ้น”

ในช่วงล็อกดาวน์ หลายคนนิยมสั่งอาหาร delivery แต่ไม่ใช่สำหรับผู้จัดการโครงการ Chula Zero Waste ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี ที่ยังคงเหนียวแน่นกับภารกิจลดโลกร้อน

“ส่วนตัวไม่สั่งอาหารแบบ Delivery เพราะทำให้เกิดขยะจำนวนมาก เราสามารถทำอาหารทานเองได้ ถ้าต้องซื้ออาหารก็จะนำภาชนะของตนเองไปใส่อาหาร ที่บ้านปลูกผัก เพาะถั่วงอก และทำปุ๋ยหมักสำหรับใส่ในแปลงผักที่ปลูกด้วย เวลาใช้ชีวิตที่บ้าน เราสร้างความสุขง่ายๆ ให้ตัวเอง พาลูกไปเดินออกกำลังกายรอบหมู่บ้านทุกวัน  ได้เห็นนกหลากหลายสายพันธุ์ ทำให้สนใจธรรมชาติรอบตัวมากขึ้น

“กลับมาทำงานที่จุฬาฯ เมื่อไร จะทำงานชดเชยกับช่วงเวลาที่ขาดไป สื่อสารกับนิสิตใหม่ในการใช้ถุงผ้า พกกระบอกน้ำ ทำแคมเปญแนะนำแอปพลิเคชัน ECOLIFE ลดการใช้พลาสติก และจัดกิจกรรมเก็บขยะรอบรั้วจุฬาฯ”

นันทรัตน์ ปราบนอก ผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร ศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาคจุฬาฯ กล่าวว่า วิกฤตช่วยฝึกอุปนิสัยใหม่ในการทำงานให้หลายคน “การทำงานที่บ้านฝึกให้บริหารจัดการเวลาในการทำงาน และด้วยสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการทำงาน ไม่มีพื้นที่ส่วนตัว อาจทำให้ขาดสมาธิในการทำงานได้ เราจึงต้องมีวินัยในการทำงานอย่างมาก

 “วิกฤตโควิด-19 ไม่เพียงผลกระทบเรื่องงาน แต่ยังส่งผลต่อความสัมพันธ์กับผู้คน ที่เราไม่สามารถเดินทางไปมาหาสู่กันได้เหมือนเดิม ดังนั้น เมื่อมหาวิทยาลัยเปิด สิ่งแรกที่อยากทำคือรับประทานอาหารที่โรงอาหารจุฬาฯ เพื่อเจอเพื่อน พี่น้อง หลังจากที่ไม่เจอกันนาน”

สถานการณ์การระบาดของโรคอุบัติใหม่เป็นห้องเรียนขนาดใหญ่สำหรับนิสิตแพทย์ จิรัชยา ลอยพิพันธ์ นิสิตคณะแพทยศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 เผยว่า นอกจากการเรียนรู้วิธีการรับมือและการป้องกันตัวจากโรคระบาดแล้ว เธอยังฝึกทักษะชีวิตอื่นๆ อีก “ในช่วงที่กักตัวอยู่บ้านได้มีโอกาสฝึกทักษะใหม่ๆ เช่น ได้จัดห้อง และทำงานฝีมือ วาดรูป ทำอาหารและเย็บปักถักร้อย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน ส่วนเรื่องการเรียน สิ่งที่ปรับมากที่สุดคือปรับสภาพแวดล้อมในบ้านให้มีมาตรฐานสำหรับการเรียน และจัดตารางการเรียนออนไลน์ ซึ่งมีช่วงเวลาที่ซ้อนทับกันบ้าง”

สำหรับนิสิตที่ใกล้จบการศึกษา กิตติคุณ เสมอภาค นิสิตปริญญาโทคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เผยความกังวลและการเตรียมตัวสำหรับการงานในอนาคต

“ผลกระทบที่ผมเจอมากที่สุดคือเรื่องค่าตอบแทน ที่ได้จากการทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยสอนให้อาจารย์ที่คณะฯ เมื่อมหาวิทยาลัยปิด งานก็หายไปด้วย หลังจากสถานการณ์โควิด-19 คงต้องหางานทำ ซึ่งคงยากกว่าเดิม เนื่องจากเทคโนโลยี AI เข้ามามีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการระบาดของโควิด-19 ผมต้องปรับตัวเตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงในการทำงานในอนาคต” 

จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้

ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า