ข่าวสารจุฬาฯ

ประกาศจุฬาฯ 4 ฉบับ แนวปฏิบัติเพื่อการบริหารจัดการความปลอดภัยในมหาวิทยาลัย

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญกับเรื่องการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ได้มาตรฐาน เพื่อให้ประชาคมจุฬาฯ ทุกระดับมีจิตสำนึกและมีส่วนร่วมในเรื่องความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน โดยมีศูนย์ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม (SHECU) เป็นหน่วยงานหลักของจุฬาฯ ที่ดำเนินภารกิจในเรื่องนี้ ล่าสุดได้มีประกาศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2563จำนวน 4 ฉบับซึ่งเกี่ยวข้องกับแนวปฏิบัติเพื่อการบริหารจัดการความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมในการทำงานของจุฬาฯ และแนวปฏิบัติฯ ทางด้านเคมี ด้านรังสี และด้านชีวภาพ

ศ.ดร.ธีรยุทธ วิไลวัลย์ ผู้อำนวยการศูนย์ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม จุฬาฯ เปิดเผยว่าระบบความปลอดภัยในจุฬาฯ แต่เดิมมีลักษณะต่างคณะและหน่วยงานทำตามความเข้าใจ มาตรฐานจึงไม่ตรงกัน มหาวิทยาลัยจึงได้ตั้งศูนย์ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม เพื่อขับเคลื่อนนโยบายความปลอดภัยของจุฬาฯ และผลักดันให้สู่การนำไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยตาม พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 จุฬาฯ จะต้องจัดให้มีระบบการจัดการความปลอดภัยในการทำงานและดำเนินการให้เป็นไปตามระบบ ซึ่งประกอบด้วย นโยบาย โครงสร้างการรับผิดชอบ แผนการดำเนินการ การประเมินทบทวนแผนและนำมาปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีเอกสารข้อมูลต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถเข้าถึงได้

ด้วยเหตุผลดังกล่าว มหาวิทยาลัยจึงได้ออกประกาศจุฬาฯ  4 ฉบับ ประกอบด้วย 1.แนวปฏิบัติเพื่อการบริหารจัดการความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม ด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาแวดล้อมในการทำงาน 2.แนวปฏิบัติเพื่อการบริหารจัดการความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมด้านเคมี 3.แนวปฏิบัติเพื่อการบริหารจัดการความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมด้านรังสี  และ 4.แนวปฏิบัติเพื่อการบริหารจัดการความปลอดภัย ทางชีวภาพและการรักษาความปลอดภัยทางชีวภาพ  เพื่อให้ทุกส่วนงานมีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนและเป็นมาตรฐานเดียวกัน ตลอดจนมีการทำให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติดังกล่าว

ศ.ดร.ธีรยุทธ กล่าวถึงประโยชน์ที่ประชาคมจุฬาฯ จะได้รับจากการที่มหาวิทยาลัยออกประกาศทั้ง 4 ฉบับนี้ว่า จะทำให้ประชาคมจุฬาฯ มีความปลอดภัยมากขึ้นจากการมีแนวปฏิบัติด้านความปลอดภัยที่ชัดเจน อันที่จริงแล้วเรื่องความปลอดภัยเป็นเรื่องของจิตสำนึกมากกว่ากฎระเบียบหรือแนวปฏิบัติ การที่จะทำให้จุฬามีความปลอดภัยอย่างยั่งยืนทุกคนต้องเห็นความสำคัญ และมีส่วนร่วมในการทำให้ความปลอดภัยเป็นวัฒนธรรมของจุฬาฯ อย่างไรก็ตามการปลูกฝังให้เกิดวัฒนธรรมความปลอดภัยขึ้นในจุฬาฯ ต้องใช้เวลา ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในเร็ววัน สิ่งที่ทำได้ในระยะเริ่มต้นคือการสร้างแนวปฏิบัติ ซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง และ SHECU จะประสานงานให้คณะและหน่วยงานต่าง ๆ มีการดำเนินการตามแนวปฏิบัติเหล่านี้ โดย SHECU จะเข้าไปช่วยเป็นพี่เลี้ยงในการจัดทำแผนและให้คำแนะนำต่าง ๆ โดยตั้งเป้าหมายว่าภายในปีงบประมาณ 2564 ทุกส่วนงานในมหาวิทยาลัยจะมีผู้รับผิดชอบและมีระบบจัดการเรื่องความปลอดภัยด้านชีวอนามัยฯ ในด้านการทำงานและมีการดำเนินงานตามแนวปฏิบัติได้ครบ 100%  และเป้าหมายในระยะยาวคือการทำให้ประชาคมจุฬาไม่เพียงแต่ปฏิบัติตามกฎจนเป็นนิสัยเท่านั้น แต่ยังต้องมีความตระหนักถึงความสำคัญของความปลอดภัยและมีส่วนร่วมในการทำให้เกิดความปลอดภัยอย่างยั่งยืนจนกลายเป็นวัฒนธรรมในที่สุด

“เรื่องความปลอดภัยไม่ใช้กฎระเบียบที่จะทำให้ชีวิตเรายุ่งยากมากขึ้น แต่เป็นสิ่งที่เราต้องทำกันมานานแล้ว เพียงแต่เราไม่ได้ทำ SHECU ได้สร้างระบบและเครื่องมือขึ้นมารองรับ รวมถึงมีการจัดอบรมให้กับหน่วยงานต่างๆ  เป้าหมายสูงสุดในการดำเนินงานของศูนย์ฯ คือไม่ต้องการให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นใน จุฬาฯ  หรือ Zero Accident เราพยายามทำให้สภาพแวดล้อมในการทำงานดีขึ้น อยากให้ประชาคมจุฬาฯ ตระหนักว่าความปลอดภัยเป็นเรื่องของทุกคน ถ้าต่างคนต่างไม่เห็นความสำคัญ วัฒนธรรมความปลอดภัยก็จะเกิดขึ้นได้ยาก” ศ.ดร.ธีรยุทธ กล่าว

รศ.ดร.อมร เพชรสม ผู้อำนวยการสำนักงานวิทยทรัพยากร จุฬาฯ กล่าวถึงประกาศจุฬาฯ ที่ออกมาว่ามีความเหมาะสมกับกิจกรรมต่างๆ ของมหาวิทยาลัย มีแนวทางในการปฏิบัติที่ชัดเจน และเป็นหลักการปฏิบัติที่ถูกต้องของบุคลากรผู้ทำงานเกี่ยวข้อง ทำให้ประชาคมจุฬาฯ ได้รับความรู้และแนวทางการปฏิบัติตนเพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ช่วยลดปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้ ประกาศทั้ง 4 ฉบับจะครอบคลุมทุกคณะและหน่วยงานในมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะมีห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์หรือไม่    ล้วนจำเป็นที่จะต้องดูแลด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมการทำงานทั้งสิ้น

รศ.ดร.อมร กล่าวเพิ่มเติมถึงความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายว่าแต่ละสถานที่ แต่ละกิจกรรมมีความเสี่ยงที่แตกต่างกัน เช่น พื้นทางเท้าเป็นหลุมเป็นบ่อมีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ แม้แต่การก่อสร้างก็ต้องป้องกันเสียง ฝุ่นละออง ป้องกันการหล่นของวัตถุที่ทำให้เกิดอันตรายได้ เจ้าของสถานที่จำเป็นต้องดูแลเพื่อลดความเสี่ยงซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอันตราย ส่วนผู้ทำงานในพื้นที่และผู้ใช้บริการก็ต้องเพิ่มความระมัดระวังในการป้องกันตนเอง คุณสมบัติของผู้ที่จะมาเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยควรเป็นผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านอาชีวอนามัยและต้องผ่านการอบรมอย่างสม่ำเสมอ โดยมีวิธีการคัดเลือก การกำหนดกรอบนโยบายและการสรรหาแต่งตั้งที่ชัดเจน นอกจากนี้ควรมีใบรับรองในการเป็นเจ้าหน้าที่ด้านความปลอดภัยด้วย

          ศ.ดร.สมเกียรติ งามประเสริฐสิทธิ์ ประธานคณะกรรมการด้านความปลอดภัยของคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า  ประกาศทั้ง 4 ฉบับเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในหลายมิติ ประกาศที่ออกมาจะเป็นพื้นฐานแนวปฏิบัติว่าควรจะดำเนินการอย่างไรเพื่อให้มีความปลอดภัยในการทำงานทั้งในคณะและมหาวิทยาลัย ที่ผ่านมาคณะวิทยาศาสตร์ได้ดำเนินการในเรื่องแนวปฏิบัติต่างๆ ด้านความปลอดภัยมากว่า 10 ปีแล้ว ห้องปฏิบัติการของคณะวิทยาศาสตร์มีห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน มอก.2677 – 2558 จำนวน 2 ห้องใน 3 ห้องของจุฬาฯ ก่อนหน้านี้ทางคณะฯ ถือเอาคู่มือการประเมินความปลอดภัยห้องปฏิบัติการ หรือ ESPReL ของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ตลอดจนแนวปฏิบัติจากต่างประเทศมาปรับใช้ในการดูแลด้านความปลอดภัย ประกาศนี้ทำให้มีแนวปฏิบัติทั่วไปสำหรับบุคลากรที่ทำงานที่เกี่ยวข้องเครื่องมือ วัตถุอันตราย สารเคมีหรือรังสีอย่างชัดเจน ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ดี แม้จะยังไม่สมบูรณ์ที่สุด แต่ก็ช่วยป้องกันและดูแลในเรื่องของความปลอดภัยให้ได้ตามมาตรฐาน และไม่เกินกำลังที่เราจะสามารถปฏิบัติตามได้ 

            “ความปลอดภัยเป็นสิ่งที่สำคัญและเป็นเรื่องของทุกคน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีความห่วงใยประชาคมจุฬาฯ อยากให้ทุกคนใช้ชีวิตในจุฬาฯ อย่างมีความสุข มีความปลอดภัยในการเรียนและการทำงาน เราอาจไม่ทราบว่าในการทำงานที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีและรังสีนั้นมีอันตรายมากน้อยขนาดไหน แนวปฏิบัตินี้จะทำให้มั่นใจได้ว่าเราสามารถที่จะทำงานได้อย่างปลอดภัย อยากให้ทุกคนศึกษาประกาศและนำไปปฏิบัติตามด้วย ในส่วนของคณะวิทยาศาสตร์ หลังมีประกาศออกมาได้รับความร่วมมือจากบุคลากรเป็นอย่างดี” ศ.ดร.สมเกียรติ กล่าวในที่สุด

            วชิราภรณ์ วิไลวรรณ นิสิตปริญญาเอกวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาฯ ในฐานะ Chula Safety Ambassador ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างศูนย์ SHECU กับนิสิตในมหาวิทยาลัยให้มีความเข้าใจตรงกันในเรื่องของความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน เปิดเผยว่า ประกาศจุฬาฯ ทั้ง 4 ฉบับมีแนวปฏิบัติเฉพาะด้านที่ชัดเจนกว่า พ.ร.บ. ฉบับเดิม สามารถปฏิบัติตามได้ง่าย และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ส่งผลต่อความปลอดภัยของนิสิต ช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุที่จะเป็นอันตรายได้ อยากให้ทุกคนตระหนักในเรื่องความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยเริ่มต้นได้ด้วยตัวเราเอง และยังสามารถบอกต่อกับผู้อื่นได้อีกด้วย

            ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกาศจุฬาฯ ทั้ง 4 ฉบับได้ที่

https://bit.ly/announce_SHECU

จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้

ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า