ข่าวสารจุฬาฯ

DIRU นิเทศ จุฬาฯ เปิดเว็บไซต์ “คิด คุย ค้น” เรียนรู้ลดความเสี่ยงออนไลน์ พร้อมให้ประชาชนใช้งานแล้ว

หน่วยปฏิบัติการวิจัย DIRU คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ เปิดตัวเว็บไซต์ให้ประชาชนเรียนรู้เพื่อลดความเสี่ยงบนโลกออนไลน์ เสนอกระบวนการเพิ่มทักษะการรู้เท่าทันด้วยหลักการ “คิด คุย ค้น” ด้วยสื่อการเรียนรู้แบบปฏิสัมพันธ์ออนไลน์ การสร้างชุมชนคนรู้เท่าทัน และเครื่องมือค้นหา ตรวจสอบเนื้อหาข่าวปลอม ช่วยลดปัญหาความเสี่ยงอันตรายบนโลกออนไลน์ของประชาชนทุกช่วงวัย งานเปิดตัวเว็บไซต์จัดขึ้นเมื่อวันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน 2563  ณ ห้องประชุม ศ.บำรุงสุข สีหอำไพ ชั้น 10 อาคารมงกุฎสมมติวงศ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ โดยมี รศ.ดร.ปรีดา อัครจันทโชติ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ เป็นผู้กล่าวเปิดงาน

หน่วยปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านความรอบรู้ทางดิจิทัลและการรู้เท่าทันสื่อ หรือ DIRU ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ  สำนักงาน กสทช. ดำเนินโครงการวิจัยเชิงสำรวจความเสี่ยงจากการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของประชาชน และนำมาพัฒนาแพลตฟอร์มเพิ่มความสามารถในการรู้เท่าทัน เพื่อลดความเสี่ยงจากการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ สร้างเป็นเว็บไซต์ “คิด คุย ค้น” สามารถเข้าถึงได้จาก www.thaidigitalcitizen.net หรือ www.คิดคุยค้น.net เปิดให้ประชาชนทุกกลุ่มวัย ทั้งวัยรุ่น วัยหนุ่มสาววัยผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ ใช้งานได้แล้ว

เว็บไซต์นี้พัฒนาขึ้นจากหลักการเรียนรู้ที่เน้นกระบวนการเพิ่มความสามารถในการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างปลอดภัยได้ประโยชน์ 3 กระบวนการ ได้แก่ 1) กระบวนการ“คิด” เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านสื่อการเรียนรู้แบบปฏิสัมพันธ์ออนไลน์  2) กระบวนการ “คุย” แลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านเนื้อหาที่ช่วยลดความเสี่ยงและอันตรายจาก การใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ ร่วมกับการสร้างกลุ่มสนทนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างสมาชิกผู้ใช้งาน 3) กระบวนการ “ค้น” ซึ่งเป็นเครื่องมือเทคโนโลยีสืบค้นสำหรับตรวจสอบข้อมูล ข่าว ที่สงสัยว่าถูกต้อง เป็นจริง น่าเชื่อถือหรือไม่ ช่วยฝึกทักษะความรอบรู้และรู้เท่าทันสื่อออนไลน์

รศ. ดร.พนม คลี่ฉายา หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยฯ DIRU คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยว่า เว็บไซต์ คิด คุย ค้น เป็นแพลตฟอร์มที่พัฒนาขึ้นจากงานวิจัยที่ตั้งโจทย์สำคัญที่มุ่งแก้ปัญหาอันตรายจากการใช้งานและความผูกพันที่มีต่อสื่อสังคมออนไลน์ของคนทุกวัย จากผลการสำรวจความเสี่ยงบนโลกออนไลน์ของประชาชน พบว่ามีโอกาสที่จะเจออันตรายได้หลายรูปแบบ คือ การถูกชักชวนให้เล่นการพนัน หวยออนไลน์ แชร์ออนไลน์ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกหลอกลวงให้เสียทรัพย์สินเงินทอง การหลงเชื่อเนื้อหา หรือข่าวปลอม หรือโฆษณาเกินจริง การถูกหลอกลวงจากคนแปลกหน้า ถูกกลั่นแกล้งระรานถูกโกงจากการซื้อสินค้าออนไลน์ อันตรายจากการเข้าถึงเนื้อหาเรื่องเพศและภาพลามกอนาจาร ความเสี่ยงอันตรายจากระบบคอมพิวเตอร์มัลแวร์ (Malware) การถูกขโมยข้อมูลส่วนตัว ปัญหาความเสี่ยงเหล่านี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการเพิ่มภูมิคุ้มกันอันตรายให้ประชาชนในฐานะผู้ใช้งาน ให้รู้เท่าทันการถูกหลอก รู้วิธีลดความเสี่ยงและป้องกันอันตรายที่มาถึงตัว สามารถต่อต้านการถูกชักชวนไปในทางเสียหายได้ ความเข้มแข็งของประชาชนที่กล่าวมานี้ สามารถสร้างได้ด้วยการเรียนรู้  ฝึกทักษะ เพิ่มความรอบรู้ทางดิจิทัลและการรู้เท่าทัน ซึ่งประชาชนที่เข้าใช้งานเว็บไซต์นี้จะมีความรู้ ทักษะ และความสามารถในการรู้เท่าทันสื่อออนไลน์

เว็บไซต์ “คิด คุย ค้น” ประกอบด้วยการใช้งานหลัก 3 รายการ ดังนี้

รายการใช้งานที่ 1 “คิด” ซึ่งเป็นสื่อการเรียนรู้แบบปฏิสัมพันธ์ออนไลน์ที่ผู้ใช้งานเว็บไซต์สามารถเข้าไปเรียนรู้ด้วยตนเองตามอัธยาศัย ช่วยเพิ่มความรู้ ฝึกทักษะ และการตอบสนองอย่างปลอดภัยต่อเหตุการณ์ความเสี่ยง ประกอบด้วยสื่อเรียนรู้ด้วยตนเอง 8 เรื่อง โดยเริ่มจากการเรียนรู้ทักษะพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยลดความเสี่ยง  ทำความเข้าใจและใช้การติดต่อสื่อสารทางสังคมให้ถูกต้อง ปลอดภัย ได้ประโยชน์ และการทำความเข้าใจเนื้อความบนสื่อสังคมออนไลน์ ช่วยให้เกิดการรู้เท่าทัน ลดความเสี่ยงจากการถูกหลอกจากเนื้อหาที่ไม่เป็นจริง ข่าวปลอม การถูกหลอกลวงเรื่องผิดกฎหมาย การถูกกลั่นแกล้งระราน การถูกชักชวนให้เล่นการพนัน จากนั้นเป็นสื่อเรียนรู้อีก 6 เรื่องที่จำลองเหตุการณ์ที่เป็นความเสี่ยง ได้แก่ การถูกหลอกลวงให้เสียทรัพย์ ความรุนแรงและการถูกกลั่นแกล้งระราน ข่าวปลอม ข้อมูลสุขภาพที่ไม่จริง การถูกหลอกจากคนแปลกหน้า การถูกหลอกจากการซื้อสินค้า อันตรายจากการเข้าถึงเนื้อหาเรื่องเพศและภาพลามกอนาจาร และอันตรายจากระบบคอมพิวเตอร์ การถูกขโมยข้อมูลส่วนตัว เมื่อผู้ใช้งานได้เข้าเรียนจากสื่อการเรียนรู้และสามารถทำแบบทดสอบผ่านตามเกณฑ์ที่กำหนด จะได้รับใบประกาศนียบัตรเพื่อแสดงความเป็นผู้มีความรู้ ทักษะ และความสามารถด้านความรอบรู้และรู้เท่าทันสื่อดิจิทัล ซึ่งสามารถพิมพ์ได้จากระบบทันที

รายการใช้งานที่ 2  “คุย” เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานทุกคนได้พูดคุยและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับข่าวสารในโลกออนไลน์ มีการเตือน และช่วยกันตรวจสอบสิ่งที่ผู้ใช้งานทุกคนได้พบเจอ เป็นการสร้างชุมชนในลักษณะเครือข่ายสังคม ผ่านบทความ ข้อมูล Infographic และ VDO ที่สามารถแชร์ได้ และกระทู้ พูดคุย หรือแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในประเด็นต่าง ๆ ส่งต่อความรู้ให้กันได้

รายการใช้งานที่ 3  “ค้น” ใช้เป็นเครื่องมือตรวจสอบเนื้อหาข่าว ข้อมูลที่สงสัยว่าถูกต้อง น่าเชื่อถือหรือไม่ ได้ด้วยตนเอง เพื่อเพิ่มทักษะความสามารถรู้เท่าทันสื่อได้อีกช่องทางหนึ่ง โดยมีเว็บไซต์หรือแหล่งข้อมูลที่โครงการคัดกรองแล้วว่ามีความน่าเชื่อถือ ช่วยในการกรองสิ่งที่เราต้องการค้นหา และผู้ใช้สามารถนำข้อมูลที่ตรวจสอบแล้ว ไปใช้ได้อย่างถูกต้องในชีวิตประจำวัน

“เราได้พัฒนาเว็บไซต์นี้มาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 โดยเริ่มต้นงานวิจัยด้วยการสำรวจมาตั้งแต่ปี 2562 จนได้ผลสรุปและพบความเสี่ยง 15 เรื่อง และนำมาแบ่งกลุ่มเป็น 6 กลุ่มความเสี่ยง นำมาออกแบบเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยลดความเสี่ยงบนโลกออนไลน์ โดยมีการเผยแพร่เว็บไซต์ตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา และตั้งเป้าว่าจะทดลองเปิดให้ใช้งานเพื่อเก็บข้อมูลเป็นระยะเวลา 3 เดือนจนถึงสิ้นปีนี้ เพื่อสรุปลักษณะของการใช้งาน ประเด็นที่ต้องพัฒนาปรับปรุงในเชิงวิชาการ และส่งมอบงานนี้ให้กับแหล่งทุน คือกองทุนวิจัยของ กสทช. หวังว่าจะสามารถพัฒนาต่อไปได้ในอนาคต เว็บไซต์นี้ไม่ใช่ยาหม้อใหญ่ที่จะทำให้สังคมเปลี่ยนได้ภายในวันนี้หรือพรุ่งนี้ แต่เป็นกลไกที่จะช่วยสนับสนุนเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ในกลุ่มผู้ใช้งานให้มีความเข้มแข็งขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงขอเชิญชวนให้ประชาชนทุกวัยเข้าร่วมใช้งานเว็บไซต์นี้กันมากๆ”  รศ.ดร.พนม กล่าวเพิ่มเติม

เว็บไซต์ “คิด คุย ค้น” เป็นหนึ่งในกลไกที่พัฒนาขึ้นตามแนวคิดการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ใช้งาน  สื่อสังคมออนไลน์ และการประยุกต์เทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ประโยชน์เพื่อเพิ่มความสามารถในความรอบรู้และรู้เท่าทันสื่อออนไลน์ ช่วยลดปัญหาที่เกิดขึ้นจากความเสี่ยงบนโลกออนไลน์ที่สร้างปัญหาให้แก่ประชาชนและสังคมในภาพรวม การเข้าร่วมใช้งานเว็บไซต์นี้จากผู้ใช้จำนวนมากจะเป็นข้อมูลที่ประโยชน์อย่างยิ่ง ซึ่งการเพิ่มความสามารถเพื่อลดความเสี่ยงบนโลกออนไลน์ จำเป็นต้องพัฒนาให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่สร้างการใช้งานใหม่ๆ ที่อาจจะเป็นความเสี่ยงใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นอีก

เว็บไซต์ “คิด คุย ค้น” เปิดให้บริการแก่ประชาชนทั่วไปทั้งวัยรุ่น หนุ่มสาว ผู้ใหญ่ และวัยผู้สูงอายุ สามารถเข้าถึงได้ที่ www.thaidigitalcitizen.net หรือ www.คิดคุยค้น.net โดยสมัครเข้าใช้งานในครั้งแรกและสร้างบัญชีผู้ใช้งานของตนเองเพื่อใช้งานครั้งต่อไปได้ตามที่สะดวกและต้องการใช้งาน

จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด

คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า