ข่าวสารจุฬาฯ

นักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ค้นพบปะการังอ่อนชนิดใหม่ของโลก ได้รับพระราชทานนาม “สิรินธรเน่”

คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาฯ และโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองทัพเรือ ร่วมกัน เผยแพร่การค้นพบ “ปะการังอ่อนพันธุ์ใหม่ของโลก” ซึ่งเป็นพันธุ์หายาก ชี้ให้เห็นถึงความหลากหลายทางนิเวศวิทยาของทะเลไทย ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  พระราชทานนามว่า “สิรินธรเน่”

รศ.ดร.วรณพ วิยกาญจน์ หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยว่าจากการที่ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยกลุ่มการวิจัยชีววิทยาแนวปะการัง ได้ร่วมกับหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองทัพเรือ ภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาได้ศึกษาวิจัยความหลากหลายของปะการัง ความอุดมสมบูรณ์ของแนวปะการัง รวมถึงการฟื้นฟูทรัพยากรปะการัง ทั้งบริเวณฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน จนกระทั่งล่าสุดได้ค้นพบปะการังอ่อนชนิดใหม่ของโลก 2 ชนิด ซึ่งอยู่ภายใต้สกุล “Chironephthya” จึงนำเสนอเรื่องเพื่อกราบบังคลทูลสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า  กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อทรงทราบ และขอทรงมีพระราชวินิจฉัยพระราชทานชื่อวิทยาศาสตร์ โดยปะการังอ่อนสองชนิดที่ค้นพบใหม่นี้ หนึ่งในปะการังชนิดใหม่นี้ได้รับพระราชทานพระราชานุญาตให้ใช้ชื่อชนิดว่า“sirindhornae” (สิรินธรเน่) ซึ่งเป็นชื่อตามพระนามขององค์ประธานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ  สำหรับปะการังอ่อนอีกชนิดหนึ่งได้ชื่อว่า “cornigera” (คอร์นิกีร่า)  โดยชื่อปะการังชนิดใหม่ของโลกที่ค้นพบในน่านน้ำไทยได้ตีพิมพ์เผยแพร่ผ่านวารสารวิจัยระดับนานาชาติ Zootaxa  ในปี 2563

รศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์  อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ  กล่าวว่า การค้นพบในครั้งนี้ดำเนินการภายใต้โครงการการศึกษาวิจัยความหลากหลายของปะการังในน่านน้ำไทย  โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักเลขาธิการคณะอนุกรรมาธิการสมุทรศาสตร์ระหว่างรัฐบาลภาคพื้นแปซิฟิกตะวันตกภายใต้ยูเนสโก (UNESCO-IOC/WESTPAC)  สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ  และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง  ปะการังอ่อนชนิดใหม่ทั้งสองชนิดนี้จัดเป็นปะการังที่หายาก แต่สามารถพบได้ในบริเวณหมู่เกาะแสมสารและที่หมู่เกาะแถวพัทยา จังหวัดชลบุรี  ที่ระดับความลึกตั้งแต่ประมาณ 8 – 19 เมตร  ขนาดของปะการังสูงประมาณ 4 เซนติเมตร ปะการังอ่อนทั้งสองชนิดนี้ชอบอาศัยในบริเวณที่มีกระแสน้ำไหล เนื่องจากสามารถจับหาอาหารบริเวณนี้ได้เป็นอย่างดี  สำหรับปะการังอ่อนชนิด  “sirindhornae” เป็นปะการังอ่อนที่มีสีชมพูสวยงามเหมือนดอกไม้   ส่วนปะการังอ่อนชนิด “cornigera” เป็นปะการังอ่อนที่มีสีส้มเหลือง ชื่อ “cornigera” แปลว่า แตร เพราะมีรูปร่างเหมือนแตร

“การค้นพบปะการังอ่อนชนิดใหม่ของโลกในน่านน้ำไทยนี้  แสดงให้เห็นว่า ใต้ทะเลของประเทศไทยยังมีความหลากหลายของปะการังอีกมากที่ยังรอการค้นพบจากนักวิทยาศาสตร์  จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรีบทำการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเพื่อการอนุรักษ์ ก่อนที่ปะการังเหล่านั้นจะถูกทำลายและหายไปเนื่องจากกิจกรรมของมนุษย์”  รศ.ดร. สุชนา กล่าว

จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม

รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า