ข่าวสารจุฬาฯ

“วิธีดูแลผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์” ในช่วงโควิด-19 ระบาด

ในสถานการณ์ปกติ ทุกคนสามารถใช้ชีวิตประจำวันและทำกิจกรรมต่างๆ ได้ตามใจปรารถนา แต่ในช่วงเวลาที่โควิด-19 ระบาดและการใช้ชีวิตแบบ New Normal เราทุกคนต่างถูกจำกัดกรอบการใช้ชีวิตให้อยู่แต่ในบ้าน โดยเฉพาะบ้านที่มีผู้สูงอายุที่มีสภาวะสมองเสื่อมอย่างผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ซึ่งต้องการการดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษด้วยแล้ว ทำให้ผู้ที่ต้องดูแลผู้สูงอายุต้องปรับสภาพจิตใจเพื่อสร้างสมดุลระหว่างการเอาใจใส่ “เขา” และการเอาใจใส่ “เรา” ด้วย

ศาสตราจารย์ ดร.อรัญญา ตุ้ยคำภีร์

ศาสตราจารย์ ดร.อรัญญา ตุ้ยคำภีร์ รองคณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาฯ ให้คำแนะนำในเรื่องการดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ในช่วงโควิด-19 ระบาดว่า ลูกหลานในบ้านเปรียบเสมือนพื้นที่เชิงบวกในฐานะ“คนรู้ใจ” ของผู้สูงอายุ การดูแลให้ผู้สูงอายุได้รับปัจจัย 4 ครบถ้วนนั้นไม่เพียงพอ เพราะเมื่อคนเราอายุมากขึ้นมักเกิดความเจ็บป่วยทางกายหลายโรค ซึ่งไม่ส่งผลเฉพาะสุขภาพร่างกายเท่านั้น แต่ด้านจิตใจก็อาจได้รับผลกระทบ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ต้องการการเติมเต็มความใส่ใจห่วงใยการเป็นที่รักจากลูกหลาน 

ศาสตราจารย์ ดร.อรัญญ ให้ข้อมูลว่าผู้สูงอายุที่ป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์ เซลล์สมองจะถูกทำลาย ทำให้สมองไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ   สิ่งที่ค่อยๆ สูญเสียไปเรื่อยๆ เช่น ความจำระยะสั้นเสียไป ความสามารถในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และการพึ่งพาตนเองลดลง ในขณะเดียวกันก็จะมีมุมลบที่ชวนให้คนถอยห่างเพิ่มขึ้น เช่น อารมณ์แปรปรวน ก้าวร้าว  ครอบครัวผู้ดูแลจึงต้องคอยสังเกต “ความสุข” ของผู้สูงอายุ ผู้ใกล้ชิดต้องตระหนักรู้และเท่าทันพฤติกรรมด้านลบต่างๆ ที่เกิดขึ้น ลดความคาดหวังในการอยู่ร่วมกันและเพิ่มโอกาสเพื่อให้ผู้สูงอายุรู้สึกผ่อนคลายและอบอุ่นหัวใจ เมื่อมีโอกาสหรือจังหวะที่ผู้สูงอายุเปิดใจ ก็ค่อยๆ บอกกล่าวถึงความหวังดี ความห่วงใยที่ลูกหลานมีให้ท่าน ด้วยการเลือกใช้ถ้อยคำที่สื่อถึงความรักและพูดให้บ่อยครั้งสม่ำเสมอ

“ทีมวิจัยจากคณะจิตวิทยา จุฬาฯ ได้ลงพื้นที่พูดคุยกับผู้สูงอายุและชุมชนใน “โครงการจุฬาอารี” ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่าถ้อยคำดีๆ ที่ลูกหลานและคนรอบข้างพูดกับผู้สูงอายุเป็นสื่อสำคัญในการเชื่อมใจถึงใจ เช่น ซื้อของมาให้นะ เอาบุญมาฝาก วันนี้แต่งตัวสวยจัง กินยาด้วยนะ เป็นต้น นอกจากนี้สิ่งที่ไม่ควรปฏิบัติต่อผู้สูงอายุ เช่น ชักสีหน้า  แสดงท่าทีหงุดหงิด แสดงความไม่สนใจ” ศาสตราจารย์ ดร.อรัญญ กล่าว

สำหรับผู้ดูแลผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นอัลไซเมอร์ นอกจากการเป็นสิ่งแวดล้อมที่สร้าง “ความมั่นคงทางใจ” ให้ผู้สูงอายุแล้ว ผู้ใกล้ชิดก็ต้องดูแลใจของตนเองด้วย ซึ่งสามารถทดสอบตัวเองง่ายๆ ด้วยกิจกรรมเพิ่มสมรรถภาพความฟิตกายและใจทั้ง 5 ข้อ หากตอบว่าใช่ทุกข้อแสดงว่าท่านมี “ทุนทางใจ” ที่ดี

  1. เดินและ/หรือออกกำลังกายสม่ำเสมอบ้างหรือไม่
  2. รับประทานอาหารที่เหมาะกับสุขภาพใจ เน้นผัก ผลไม้ ถั่วเหลือง ลดคุกกี้ ขนมปังขาวให้น้อยลงบ้างหรือไม่
  3. หายใจเอาความเครียดออกไปด้วยท้องแบบผ่อนคลาย / การผ่อนคลายกล้ามเนื้อบ้างหรือไม่
  4. การรักษามิตรภาพและเครือข่ายกัลยาณมิตรบ้างหรือไม่
  5. การได้อยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติสีเขียวบ้างหรือไม่

ในสถานการณ์โควิด-19 อาจมีเรื่องที่น่ากังวลใจและสะสมความเครียด ผู้ที่มีหน้าที่ดูแลผู้ป่วยควรเตือนตัวเอง  ควรลดละเลิกการได้รับข่าวสารและการใช้โซเชียลมีเดียมากเกินไปในแต่ละวัน มีเวลาสำหรับสิ่งที่ต้องทำเป็นกิจวัตร ให้เวลาผ่อนคลายตัวเองบ้าง สุดท้ายหากเกิดความเครียด ความไม่สบายใจ ลองทำตามขั้นตอนต่อไปนี้

  1. ตระหนักรู้ : สังเกตและรับรู้ถึงความเครียดของตนเอง
  2. หยุด : ไม่ต้องทำอะไรทั้งสิ้น แค่หยุดนิ่งแล้วหายใจลึกๆ
  3. ดึงตัวเองกลับมา : บอกตัวเองว่าเป็นแค่ความกังวลเป็นแค่ความคิดและความรู้สึกชั่ววูบอย่าเชื่อทุกอย่าง    ที่ตนคิดเพราะความคิดไม่ใช่คำยืนยันหรือข้อเท็จจริง
  4. ปล่อยมันไป : ปล่อยความคิดความกังวลให้ผ่านไปไม่ต้องไปตอบโต้มัน
  5. สำรวจ : อยู่กับปัจจุบัน ฝึกดูลมหายใจของตนเอง สังเกตพื้นที่ที่ยืนอยู่ มองไปรอบๆ ตัว จากนั้นค่อยเปลี่ยนความสนใจกลับมาสู่สิ่งที่ต้องทำต่อไป

ศาสตราจารย์ ดร.อรัญญ กล่าวทิ้งท้ายโดยให้ข้อคิดที่น่าสนใจว่า “ไม่ว่าผู้สูงอายุจะป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องทางสมองหรือไม่ก็ตาม ในทางจิตวิทยา การได้รับความรักความเข้าใจ ความห่วงใยที่มีอยู่สม่ำเสมอ เป็นการเติมเต็มความต้องการทางจิตใจของคนทุกคน”

ในส่วนของคำแนะนำถึงวิธีการปฏิบัติต่อผู้ป่วยอัลไซเมอร์และผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อมในภาวะโควิด-19 ระบาด

อาจารย์ นายแพทย์ยุทธชัย ลิขิตเจริญ

อาจารย์ นายแพทย์ยุทธชัย ลิขิตเจริญ สาขาวิชาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยว่า ไม่ควรให้ผู้ป่วยออกนอกบริเวณบ้าน โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ พยายามลดจำนวนคนมาเยี่ยมผู้ป่วยและจำนวนคนที่ดูแลหรือวางตัวคนดูแลให้เป็นคนเดิมประจำ เพราะถ้าอยู่ในบริเวณเดิมที่อาศัยอยู่ โอกาสที่จะติดเชื้อโควิด-19 จะน้อยกว่าการออกนอกบ้านซึ่งมีโอกาสได้รับเชื้อจากชุมชนภายนอก     ถ้าผู้ป่วยจำเป็นต้องออกนอกบ้าน ผู้ดูแลหรือญาติก็ควรจะสวมหน้ากากอนามัย Face Shield  หรือใส่ถุงมือให้ผู้ป่วย ผู้ดูแลต้องพยายามบอกให้ผู้สูงอายุเข้าใจในความจำเป็นที่จะต้องป้องกันตัวเองในสถานการณ์เช่นนี้ ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์หรือผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อมอาจจะมีพฤติกรรมแอบซ่อนสิ่งของเครื่องใช้ หรือเก็บสมบัติไว้เพราะกลัวมีคนมาขโมย ซึ่งมักจะจำไม่ได้ว่าเอาไปเก็บไว้ที่ไหน ดังนั้นผู้ดูแลจึงควรตรวจสอบสิ่งของต่างๆ เพื่อนำมาทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ

อาจารย์ นายแพทย์ยุทธชัยให้คำแนะนำสำหรับผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นอัลไซเมอร์ว่า ควรออกกำลังกายเบาๆ ที่บ้านเป็นประจำ ที่สำคัญที่สุดคือให้ผู้ป่วยได้ทำกิจกรรมที่เคยชอบและอยากทำ เช่น การฟังเพลงเก่าๆ การเล่นกับสัตว์เลี้ยง การเล่นกับลูกหลานในบ้านหรือผ่านวีดิโอคอลในช่วงที่โควิด-19 ระบาด

สำหรับญาติและผู้ดูแลผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมสามารถติดตามรายละเอียดข้อมูลข่าวสารได้ที่สมาคมโรคสมองเสื่อมแห่งประเทศไทย www.thaidementia.com หรือขอรับคำปรึกษาได้ที่คลินิกความจำ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย www.chulancu.com  โทร.0-2256-4000 ต่อ 80723, 80731 ในวันและเวลาราชการ

จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้

ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า