กรรมการโควิด-19 จุฬาฯ แจ้งมาตรการเฝ้าระวังและการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาด
ศ.นพ.ดร.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล ประธานคณะกรรมการโควิด-19 จุฬาฯ ชี้แจงเรื่องบุคลากรจุฬาฯ ติดเชื้อ COVID-19 โดยนำเสนอมาตรการเมื่อพบผู้ติดเชื้อ COVID-19 ที่เน้นการทำงานเชิงรุกในการควบคุมการแพร่ระบาดอย่างเร่งด่วน แนะนำการประเมินตนเองว่าเสี่ยงหรือไม่ อย่างไร และการปฏิบัติตนของบุคลากรในสถานการณ์ดังกล่าว ขอให้ประชาคมจุฬาฯ มั่นใจว่าสถานการณ์ ณ ขณะนี้ยังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้
สามารถรับชมได้ที่ https://youtu.be/Df8hhkmoe1M
ศ.นพ.ดร.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล กล่าวว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ดำเนินมาตรการต่างๆ ในการตรวจติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ มีการตรวจคัดกรองเชิงรุกโดยศูนย์บริการสุขภาพแห่งจุฬาฯ ร่วมกับคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาฯ พร้อมให้คำแนะนำถึงมาตรการต่างๆ รวมทั้งประสานงานกับส่วนงานที่เกี่ยวข้องในการตรวจพบผู้ติดเชื้อ นอกจากนี้ได้มีการควบคุมการแพร่ระบาดด้วยการสอบสวนวงจรการแพร่กระจายเชื้อของผู้ติดเชื้อ กำหนดให้ผู้ที่มีความเสี่ยงลาหยุดเพื่อดูอาการเป็นเวลา 14 วันโดยไม่ถือเป็นวันลา ฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ ทำความสะอาดสถานที่ต่างๆ ทุกพื้นที่ที่มีความเสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่หอพักจุฬานิวาส ตามมาตรฐานทางสาธารณสุข รวมทั้งได้กำหนดให้หอพักจุฬานิวาสเป็นเขตที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ จำกัดคนเข้าออก มีมาตรการเฝ้าระวังติดตาม ดูแลเรื่องอาหารและน้ำดื่ม ความเป็นอยู่ของบุคลากรที่หอพักจุฬานิวาสอย่างเต็มที่
ทั้งนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเคร่งครัดตามมาตรการการป้องกันการระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการในการสวมหน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่าง และการดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น “หมอชนะ” ขอให้ทุกคนมั่นใจว่าสถานการณ์การติดเชื้อของผู้ป่วยโควิด-19 ในจุฬาฯ อยู่ในสถานการณ์ที่ควบคุมได้ และจะมีการติดตามเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มั่นใจได้ว่าไม่มีการระบาดของโควิด-19 ในจุฬาฯ
สามารถติดตามข้อมูลต่างๆ ได้ทาง https://www.chula.ac.th/covid-19/ หัวข้อ “ข่าวสาร COVID-19” หรือทางแอปพลิเคชัน CU Nex และ CU Nex Staff



จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้
ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย