ข่าวสารจุฬาฯ

บอกลาอาการปวดหลังด้วย “DynaSeat” ที่นั่งปรับพฤติกรรมออฟฟิศซินโดรม

ทีมนิสิตปริญญาเอก จุฬาฯ สร้างนวัตกรรมที่นั่งอัจฉริยะ “DynaSeat” ปรับพฤติกรรมการนั่ง ป้องกันอาการปวดคอและหลังจากออฟฟิศซินโดรม

เมื่อเอ่ยถึงออฟฟิศซินโดรม หลายคนคงคุ้นเคยกับโรคฮิตยุคดิจิทัลนี้กันบ้างไม่มากก็น้อย ไม่ว่าอาการปวดเมื่อยคอบ่าไหล่ ตึงร้าวจากต้นแขนถึงปลายนิ้ว ที่บั่นทอนคุณภาพชีวิตและการทำงาน หนทางแก้อาการก็ทำกันหลายขนาน ทั้งนวดผ่อนคลาย กินยา ฝังเข็ม ทำกายภาพบำบัด หรือซื้ออุปกรณ์คลายพังผืดและกล้ามเนื้อ อาการก็อาจดีชึ้นชั่วระยะ แล้วก็จะกลับมาอีกเรื่อยๆ แบบเรื้อรัง ทั้งนี้ก็เนื่องจากปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดออฟฟิศซินโดรมยังไม่ถูกปรับแก้

“ออฟฟิศซินโดรมเป็นกลุ่มอาการที่ต้องใช้เวลาสั่งสม กว่าจะรู้ตัวก็เป็นโรคนี้ไปเสียแล้ว การบำบัดเยียวยาก็ใช้เวลา ซึ่งสาเหตุหลักคือพฤติกรรมการนั่ง ท่านั่งที่ไม่ถูกต้องและการนั่งต่อเนื่องเป็นเวลานาน ดังนั้น หากเรานั่งได้ถูกต้องเหมาะสมก็จะเป็นหนทางป้องกันไม่ให้เกิดอาการออฟฟิศซินโดรมได้” ทีมนิสิตปริญญาเอก จุฬาฯ – นิภาพร อัครกิตติโชค สาขาชีวเวชศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย และ ภูริพัฒน์ วาวเงินงาม ภาควิชากายภาพบำบัด คณะสหเวชศาสตร์ เผยแนวคิดตั้งต้นในการคิดค้นไดนาซีท (DynaSeat) นวัตกรรมที่นั่งปรับพฤติกรรมออฟฟิศซินโดรม ที่เพิ่งคว้ารางวัลเหรียญทองและรางวัลระดับดีมากในการประกวดผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษาประจำปี 2563 จากงานมหกรรมวิจัยแห่งชาติ 2563 (Thailand Research Expo 2020)

ทีมวิจัยได้รับรางวัลเหรียญทองและรางวัลระดับดีมากในการประกวดผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษาประจำปี 2563 จากงานมหกรรมวิจัยแห่งชาติ 2563
นิภาพร อัครกิตติโชค สาขาชีวเวชศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย

ทีมวิจัยอธิบายอุปกรณ์และการทำงานของผลงานชิ้นนี้ว่า มีเพียงองค์ประกอบหลัก 3 ส่วน ได้แก่ ที่นั่งเป่าลม ตัวควบคุม และแอปพลิเคชัน และการออกแบบฟังก์ชันที่ช่วยปรับพฤติกรรมการนั่ง 2 แบบ

“แบบแรกเป็นโปรแกรมปรับการนั่งเรียกว่าไดนาซีท (Dynaseat) คือ เมื่อผู้ใช้นั่งไม่สบายตัว นั่งไม่สมดุล หรือนั่งผิดวิธีนานเกินไป เครื่องควบคุมจะเป่าลมไปในที่ที่นั่งเพื่อบังคับให้ผู้ใช้ขยับตัว ขณะเดียวกันก็จะขึ้นสัญญาณไฟสีแดงแจ้งเตือนว่าควรเปลี่ยนท่านั่งให้ถูกต้อง โดยจะมีการรายงานผ่านแอปพลิเคชันแบบเรียลไทม์ว่าผู้ใช้มีพฤติกรรมการนั่งอย่างไร เช่น นั่งตัวเบี้ยว นั่งเอียงซ้าย นั่งไขว่ห้าง โดยสังเกตจากการทิ้งน้ำหนักตัวของผู้ใช้ ผ่าน Pressure Sensor ที่วัดแรงกดของถุงลมในที่นั่ง ผู้ใช้จะได้ทราบว่าต้องปรับพฤติกรรมการนั่งให้ถูกต้องอย่างไร เพื่อให้ตัวเองไม่รู้สึกเมื่อยระหว่างนั่ง หากผู้นั่งสามารถนั่งได้ถูกต้องสัญญาณไฟจะเปลี่ยนเป็นสีเขียว” นิภาพร อธิบาย

ส่วนการทำงานอีกโปรแกรมเรียกว่าไดนาเรสท์ (DynaRest) ที่จะแจ้งเตือนให้ผู้ใช้ลุกออกจากที่นั่งบ้าง

“เมื่อผู้ใช้ไดนาซีทนั่งนานเป็นเวลานานแล้ว ระบบจะเตือนให้ผู้ใช้ขยับร่างกายออกจากที่นั่งเพื่อไปพักผ่อนจากการทำงาน โดยจะมีการจับเวลา หากผู้ใช้ออกไปพักน้อยกว่าหรือมากกว่าเวลาที่โปรแกรมกำหนด เวลาจะก็จะทบไปครั้งต่อไปด้วย โปรแกรมนี้จะทำให้ผู้ใช้ได้ขยับตัวและไม่นั่งอยู่กับที่เป็นระยะเวลานานเกินไป”

การแสดงผลบนแอปพลิเคชัน
อุปกรณ์ “ไดนาซีท (DynaSeat)” ขณะติดตั้งกับเก้าอี้ทำงาน

นิภาพรกล่าวถึงผลการทดลองว่าไดนาซีทช่วยป้องกันการปวดคอได้ 70 เปอร์เซนต์ และป้องกันการปวดหลังได้ถึง 80 เปอร์เซนต์ ในกลุ่มตัวอย่างที่ได้ทดลองใช้ที่นั่งอัจฉริยะนี้

“นอกจากนี้ เรายังได้ทดลองกับผู้ที่มีอาการปวดคอจากออฟฟิศซินโดรม เราพบว่าการใช้ไดนาซีทควบคู่ไปกับการทำกายภาพบำบัดช่วยให้อาการปวดคอของผู้ป่วยทุเลาเร็วขึ้นในระยะเวลาเพียง 1 เดือน ซึ่งโดยมาก ผู้ป่วยที่บำบัดอาการปวดคอด้วยการทำกายภาพและใช้ชีวิตตามปกติ จะใช้เวลาราว 2 เดือนกว่าอาการจะบรรเทา”

การสาธิตการใช้งานไดนาซีท

ผลงานชิ้นนี้มีศาสตราจารย์ ดร.ประวิตร เจนวรรธนะกุล ภาควิชากายภาพบำบัด คณะสหเวชศาสตร์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา และได้รับการสนับสนุนจากศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรม (Chulalongkorn University Technology Center: UTC) บริษัท ศรีไทยโอโตซีทส์ อินดัสตรี จำกัด และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) “ขณะนี้ ไดนาซีทกำลังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาเพื่อปรับขนาดให้เหมาะกับการใช้งานและออกแบบให้พร้อมจำหน่ายให้ผู้บริโภคในราคาที่ทุกคนเข้าถึงได้ และในอนาคต เราวางแผนจะต่อยอดไดนาซีทให้ไปใช้งานในสถานที่อื่นๆ เช่น เก้าอี้โดยสารบนเครื่องบิน รถสาธารณะ โรงภาพยนตร์ เป็นต้น” นิภาพร กล่าวทิ้งท้าย

จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด

คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า