ข่าวสารจุฬาฯ

ประกาศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง แนวปฏิบัติในการจัดการการเรียนการสอน การวัดและประเมินผลการศึกษา สำหรับภาคการศึกษาปลายและภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา ๒๕๖๓ (ฉบับที่ ๓)

ประกาศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เรื่อง แนวปฏิบัติในการจัดการการเรียนการสอน การวัดและประเมินผลการศึกษา
สำหรับภาคการศึกษาปลายและภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา ๒๕๖๓ (ฉบับที่ ๓)

—————————————

           ตามที่มหาวิทยาลัยได้ออกประกาศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง แนวปฏิบัติในการจัดการการเรียนการสอน การวัดและประเมินผลการศึกษา สำหรับภาคการศึกษาปลายและภาคการศึกษาฤดูร้อน ปีการศึกษา ๒๕๖๓ (ฉบับที่ ๒) ลงวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๔ นั้น

           เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรค COVID-19 มีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้นและยืดเยื้อต่อไป แต่เพื่อให้การจัดการเรียนการสอน การวัดและประเมินผลการศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นไปด้วยความเรียบร้อย  มหาวิทยาลัยโดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินโควิด-19 ในการประชุมเมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๔ จึงเห็นสมควรปรับแนวปฏิบัติในการจัดการเรียนการสอน การวัดและประเมินผลการศึกษา สำหรับภาคการศึกษาปลายและภาคการศึกษาฤดูร้อน ปีการศึกษา ๒๕๖๓ ให้เป็นรูปแบบออนไลน์ทั้งหมด โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

            ข้อ ๑  ให้ยกเลิกประกาศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง แนวปฏิบัติในการจัดการการเรียนการสอน การวัดและประเมินผลการศึกษา สำหรับภาคการศึกษาปลายและภาคการศึกษาฤดูร้อน ปีการศึกษา ๒๕๖๓ (ฉบับที่ ๒) ลงวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๔

            ข้อ ๒  ด้านการเรียนการสอน

            (๑)  ให้ทุกรายวิชาที่เปิดสอนในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ทั้งหมด ในสองลักษณะดังต่อไปนี้

                        (ก)  รูปแบบที่นิสิตสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้ทุกที่ทุกเวลา (Asynchronous Learning) โดยต้องมีการกำหนดวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ด้วยตนเองของนิสิตไว้อย่างชัดเจน

                        (ข)  รูปแบบที่นิสิตทั้งชั้นเรียนได้มีโอกาสอภิปรายและเรียนรู้ร่วมกันในเวลาเดียวกันผ่านระบบเสมือนจริง (Synchronous Virtual Learning) ทั้งนี้ไม่ควรเป็นการสอนทางเดียวโดยอาจารย์ แต่ควรเน้นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างนิสิตกับอาจารย์ เช่น การอภิปราย การแก้โจทย์ปัญหา การเรียนรู้แบบ problem-based learning เป็นต้น

            หัวหน้าส่วนงานอาจกำหนดให้รายวิชาใดจัดการเรียนการสอนเป็นรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง หรือให้มีการผสมผสานของทั้งสองรูปแบบให้เหมาะสมตามลักษณะของรายวิชาก็ได้

            (๒)  กรณีการจัดการอภิปรายและเรียนรู้ร่วมกันในเวลาเดียวกันผ่านระบบเสมือนจริง (Synchronous Virtual Learning) ผู้สอนควรจัดการเรียนการสอนในช่วงเวลาปกติของรายวิชา หากมีความจำเป็นต้องจัดการเรียนการสอนนอกเวลาปกติ ให้ผู้สอนตกลงวัน-เวลาในการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมร่วมกับนิสิต

            (๓)  หัวหน้าส่วนงานอาจพิจารณาให้มีการจัดการเรียนการสอนรายวิชาภาคปฏิบัติโดยใช้สถานที่ภายในมหาวิทยาลัย ในกรณีที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งกรณีใดกรณีหนึ่ง ดังต่อไปนี้

                        (ก) เป็นรายวิชาที่มีนิสิตที่ศึกษาในภาคการศึกษาสุดท้ายลงทะเบียนเรียนอยู่ และ เป็นรายวิชาที่ต้องใช้ห้องปฏิบัติการ เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ในการเรียนที่มีขนาดใหญ่ หรือที่มีเฉพาะในมหาวิทยาลัยเท่านั้น

                        (ข) เป็นรายวิชาที่ต้องมีการฝึกปฏิบัติตามเกณฑ์มาตรฐานสภาวิชาชีพ ซึ่งหากไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้ จะส่งผลให้นิสิตไม่สามารถสำเร็จการศึกษาได้ตามมาตรฐานที่สภาวิชาชีพกำหนดไว้

            ทั้งนี้ ต้องปฏิบัติตามมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค COVID-19 ตามที่ราชการ มหาวิทยาลัย หรือสภาวิชาชีพกำหนดอย่างเคร่งครัด และต้องใช้ความระมัดระวังอย่างที่สุดที่จะมิให้เกิดการติดเชื้อโรคจากการมาฝึกปฏิบัติในรายวิชานั้น ถ้าหากมีกรณีติดเชื้อโรคขึ้น ส่วนงานมีหน้าที่ต้องชี้แจงและแจ้งให้ผู้เกี่ยวข้องทราบและดำเนินการอื่นใดเพื่อป้องกันหรือยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโรคดังกล่าว

            รายวิชาภาคปฏิบัติ หมายความรวมถึง รายวิชาที่ต้องมีกิจกรรมการเรียนแบบฝึกทักษะปฏิบัติประเภทเดี่ยวหรือกลุ่ม (เช่น วิชา Studio, Skill, Perform, Ensemble, รายวิชาทางคลินิก) หรือรายวิชาที่มีลักษณะการเรียนการสอนในรูปแบบที่คล้ายคลึงกัน

            ข้อ ๓  ด้านการฝึกงาน การทัศนศึกษา หรือการดูงานภายในประเทศ ของแต่ละหลักสูตร

            (๑)  ให้ปรับรูปแบบการฝึกงาน การทัศนศึกษา หรือการดูงานของแต่ละหลักสูตรเป็นแบบออนไลน์ทั้งหมด โดยให้ใช้การมอบหมายงาน (Assignment Based) หรือ ให้ทำงานที่บ้าน (WFH) หรือในลักษณะมอบหมายโครงการ (Project Based) และนัดประเมินหรือให้ข้อสังเกตแก่นิสิตเป็นระยะ ๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ ทั้งนี้ การปรับรูปแบบการฝึกงาน การทัศนศึกษา หรือการดูงานจะต้องพิจารณาไม่ให้กระทบต่อเกณฑ์มาตรฐานของหลักสูตรหรือข้อกำหนดของสภาวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง

            หัวหน้าส่วนงานอาจพิจารณาให้นิสิตออกไปฝึกงาน ทัศนศึกษา หรือดูงานภายในประเทศได้ เฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งซึ่งไม่สามารถปรับรูปแบบกิจกรรมเป็นลักษณะอื่นได้ หรือกิจกรรมนั้น ๆ เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชาตามข้อ ๒ (๓) ทั้งนี้ ต้องปฏิบัติตามมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค COVID-19 ตามที่ทางราชการ มหาวิทยาลัย หรือหน่วยงานนั้น ๆ กำหนดอย่างเคร่งครัด และต้องใช้ความระมัดระวังอย่างที่สุดที่จะมิให้เกิดการติดเชื้อโรคจากกิจกรรมดังกล่าว ถ้าหากมีกรณีติดเชื้อโรคขึ้น ส่วนงานมีหน้าที่ต้องชี้แจงและแจ้งให้ผู้เกี่ยวข้องทราบและดำเนินการอื่นใดเพื่อป้องกันหรือยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโรคดังกล่าว

            (๒) สำหรับกิจกรรมหรือโครงการด้านวิชาการใด ๆ ที่มีนิสิตหรือบุคลากรของมหาวิทยาลัยเดินทางไปต่างประเทศ หรือมีนิสิตหรือบุคลากรจากต่างประเทศเดินทางเข้ามายังราชอาณาจักรไทย ให้ปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งของรัฐบาลและมหาวิทยาลัยอย่างเคร่งครัด               

            ข้อ ๔  การวัดและการประเมินผลผู้เรียน ให้ปรับรูปแบบเป็นการใช้วิธีการผ่านช่องทางออนไลน์ทั้งหมด เช่น การสอบในรูปแบบออนไลน์ (Online Examination) การมอบหมายงาน (Assignment) การทำรายงาน (Report) หรือการทำข้อสอบนอกห้องสอบ (Take-home Examination) หรือการวัดและประเมินผลแบบออนไลน์ในรูปแบบอื่น ๆ เป็นระยะ ๆ

            หัวหน้าส่วนงานอาจพิจารณาให้มีการจัดการวัดและการประเมินผลผู้เรียนรายวิชาภาคปฏิบัติโดยใช้สถานที่ภายในมหาวิทยาลัยได้ ในกรณีรายวิชาตามข้อ ๒ (๓)

            ข้อ ๕  การดำเนินการตามข้อ ๒ ถึงข้อ ๔ ทุกรายวิชา ต้องสื่อสารให้นิสิตรับทราบล่วงหน้าถึงขั้นตอน กระบวนการ หรือรายละเอียดของการจัดการเรียนการสอน การวัดและประเมินผลของรายวิชาที่ปรับเปลี่ยนไป

            ข้อ ๖  ให้หัวหน้าส่วนงานกำหนดผู้รับผิดชอบในด้านต่าง ๆ ตามข้อ ๒ ถึงข้อ ๔ ซึ่งรวมถึงกิจกรรมด้านวิชาการที่เกี่ยวเนื่องกับการจัดการเรียนการสอน  เช่น  การปฐมนิเทศนิสิต  การสอบเพื่อเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติงาน  และให้จัดระบบต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับประกาศหรือคำสั่งของทางราชการและมหาวิทยาลัยอย่างเคร่งครัด

            ข้อ ๗  การสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อเข้าศึกษาในหลักสูตร เช่น การสอบข้อเขียน การสอบสัมภาษณ์ การสอบปฏิบัติ ให้ปรับรูปแบบเป็นการใช้วิธีการผ่านช่องทางออนไลน์ทั้งหมด และหลักสูตรต้องสื่อสารให้ผู้สมัครรับทราบล่วงหน้าถึงขั้นตอนรายละเอียดของการสอบคัดเลือกที่เปลี่ยนแปลงไป

            หัวหน้าส่วนงานอาจพิจารณาจัดการสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อเข้าศึกษาในหลักสูตรโดยใช้สถานที่ภายในมหาวิทยาลัยได้เฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งและไม่สามารถปรับรูปแบบกิจกรรมเป็นออนไลน์ได้ ทั้งนี้ ต้องปฏิบัติตามมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค COVID-19 ตามที่ทางราชการ มหาวิทยาลัย หรือหน่วยงานนั้น ๆ กำหนดอย่างเคร่งครัด และต้องใช้ความระมัดระวังอย่างที่สุดที่จะมิให้เกิดการติดเชื้อโรคจากกิจกรรมดังกล่าว ถ้าหากมีกรณีติดเชื้อโรคขึ้น ส่วนงานมีหน้าที่ต้องชี้แจงและแจ้งให้ผู้เกี่ยวข้องทราบและดำเนินการอื่นใดเพื่อป้องกันหรือยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโรคดังกล่าว

            ข้อ ๘  การดำเนินการตามประกาศนี้ ให้หัวหน้าส่วนงานเป็นผู้วินิจฉัยสั่งการหรือกำหนดรายละเอียดเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควรเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับความในประกาศนี้

            ข้อ ๙  กรณีมีปัญหาหรือข้อขัดข้องเกี่ยวกับการดำเนินการตามประกาศนี้ ให้อธิการบดีหรือรองอธิการบดีที่ได้รับมอบหมายวินิจฉัยสั่งการ

            ข้อ ๑๐  ในกรณีที่มีสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปเป็นประการใด มหาวิทยาลัยจะรีบแจ้งให้ทุกส่วนงานทราบโดยเร็วต่อไป

ประกาศ ณ วันที่  ๑๖  เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๔

   (ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์)

   อธิการบดี

จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด

คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า