ข่าวสารจุฬาฯ

“หุ่นจำลองปฏิสัมพันธ์กายวิภาคหัวสุนัขเพื่อการเรียนรู้ด้วยตนเอง” นวัตกรรมจากอาจารย์สัตวแพทย์ จุฬาฯ คว้ารางวัล Special Award และเหรียญทอง งานนวัตกรรมนานาชาติ IWIS 2021

ผศ.สพ.ญ.ภาวนา เชื้อศิริ
ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ


นวัตกรรม “หุ่นจำลองปฏิสัมพันธ์กายวิภาคหัวสุนัขเพื่อการเรียนรู้ด้วยตัวเอง” (Canine Head Anatomy Interaction Model for Self-Learning) ผลงานของ ผศ.สพ.ญ.ภาวนา เชื้อศิริ ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ คว้ารางวัล Special Award และ เหรียญทองในงาน International Warsaw Inventions show (IWIS) 2021 ที่ประเทศโปแลนด์ ซึ่งเป็นการประกวดนวัตกรรมระดับนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดของยุโรป ซึ่งปีนี้จัดในรูปแบบออนไลน์ มีผลงานส่งเข้าประกวดถึง 400 รายการ

ที่มาของ “หุ่นจำลองปฏิสัมพันธ์กายวิภาคหัวสุนัขเพื่อการเรียนรู้ด้วยตัวเอง”

ผศ.สพ.ญ.ภาวนาเปิดเผยว่า หุ่นจำลองกายวิภาคหัวสุนัขเป็นนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาการเรียนการสอนทางด้านกายวิภาคซึ่งต้องใช้ร่างอาจารย์ใหญ่ที่ยังมีข้อจำกัดหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความสมบูรณ์ของร่างอาจารย์ใหญ่ หรือการใช้สารเคมีเพื่อคงคุณภาพของร่างอาจารย์ใหญ่ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้เรียนและผู้สอนได้ จึงเกิดแนวคิดในการสร้างสรรค์นวัตกรรมหุ่นจำลองกายวิภาคหัวสุนัขขึ้นมา เพื่อทดแทนหรือใช้เสริมการใช้ร่างอาจารย์ใหญ่ในการเรียนการสอนนิสิตสัตวแพทย์ ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้เรียนและผู้สอนเป็นอย่างดี นิสิตสามารถเห็นหุ่นจำลองได้อย่างชัดเจนพร้อมๆ กัน และสัมผัส ได้ด้วย


หุ่นจำลองดังกล่าว มีผู้ร่วมวิจัยประกอบด้วย นายภักดี สุดถนอม นางจันทิมา อินทรปัญญา จากภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และ ด.ช.กฤตยชญ์ เชื้อศิริ นักเรียนโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ


จุดเด่นของนวัตกรรมหุ่นจำลองกายวิภาคหัวสุนัข

ขนาดของหุ่นจำลองที่ใหญ่เท่ากับร่างอาจารย์ใหญ่จริงๆ วัสดุที่ใช้จะแตกต่างหุ่นจำลองเดิมที่เคยทำมา มีการติดตั้งวงจรในหุ่นจำลองกายวิภาคให้สามารถโต้ตอบกับผู้เรียนได้ รวมถึงการออกแบบให้มีลักษณะของการฝึกทำหัตถการได้ด้วย เพื่อเป็นการฝึกขั้นพื้นฐานให้นิสิตก่อนจะฝึกกับร่างอาจารย์ใหญ่จริงๆ

“นวัตกรรมนี้มีการพัฒนาจากงานวิจัยที่เคยทำมาให้ดีขึ้นกว่าเดิม ซึ่งการสร้างสรรค์ผลงานมีความยากเพราะต้องให้ความสำคัญกับรายละเอียดทุกขึ้นตอน วัสดุที่นำมาใช้คือโฟม และฝาขวดน้ำพลาสติก ซึ่งเป็นวัสดุเหลือทิ้งนำมาสร้างคุณค่า ในการทำโมเดลมีลักษณะเป็นสามมิติสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน ซึ่งในต่างประเทศยังไม่มีผลงานสื่อเพื่อการเรียนการสอนเหมือนกับที่เราทำ” ผศ.สพ.ญ.ภาวนากล่าว


จากนวัตกรรมสู่แอปพลิเคชันเพื่อการเรียนการสอนที่เข้าถึงง่าย

นอกจากโมเดลหุ่นจำลองกายวิภาคศาสตร์ที่พัฒนาขึ้นแล้ว ได้มีการจัดทำเป็นแอปพลิเคชันคล้ายเกมที่สามารถโต้ตอบกับผู้เรียนได้ นิสิตสามารถใช้งานใน CU NEX ทั้งในระบบ IOS และ Android จากการใช้งาน 1 ภาคการศึกษาที่ผ่านมา นิสิตสนุกสนานกับการเรียนผ่านแอปพลิเคชัน และมีประกาศนียบัตรแสดงว่าผ่านการเรียนมาแล้ว อนาคตอยากทำเป็น Virtual Anatomy เหมือนสร้างโลกคู่ขนานของห้องเรียน นิสิตสามารถเรียนผ่านโมเดลของอาจารย์ได้เสมือนจริง นอกจากนี้จะพัฒนาร่างอาจารย์ใหญ่ของสัตว์อื่นๆ นอกเหนือจากหัวสุนัข


คำแนะนำในการสร้างสรรค์นวัตกรรมสื่อการเรียนการสอน

ผศ.สพ.ญ.ภาวนา ฝากข้อคิดว่า “การสร้างสรรค์นวัตกรรมในรูปแบบสื่อการเรียนการสอนควรเริ่มจากการถามความต้องการของนิสิตผู้เรียนว่าอยากได้อะไร มองปัญหาที่เกิดขึ้นและหาวิธีแก้ปัญหานั้น พัฒนานวัตกรรมให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้ นอกจากนี้ควรเลือกใช้วัตถุดิบที่ใกล้ตัว เพื่อที่จะสามารถพัฒนาผลงานได้ง่ายขึ้น ที่สำคัญอย่าท้อ ต้องมีความอดทน แม้จะต้องลองผิดลองถูกก็ขอให้ทำต่อไป ความสำเร็จก็จะเป็นของเราในที่สุด”


จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม

รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า