ข่าวสารจุฬาฯ

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงร่วมกิจกรรมการแสดงปาฐกถาชุด “ฉัฐปาฐกถา พฤทธาจารย์” ผ่านระบบออนไลน์

  วันเสาร์ที่ 11 ธันวาคม 2564 เวลา 14.00 น. ณ ห้องประชุมอาคารหอพระสมุดส่วนพระองค์ วังสระปทุม สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทรงร่วมกิจกรรมการแสดงปาฐกถาชุด “ฉัฐปาฐกถา พฤทธาจารย์” ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ออนไลน์) ซึ่งถ่ายทอดจากห้องประชุมชั้น 7 อาคารมหาธีรราชานุสรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ ผู้บริหารมหาวิทยาลัย และผู้แสดงปาฐกถาเฝ้าฯ รับเสด็จผ่านออนไลน์

       ในการนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระสุหร่าย ทรงเจิมแผ่นจารึกที่จะเชิญไปผนึก ณ บริเวณซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงก่อพระฤกษ์ตึกบัญชาการโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ กราบบังคมทูลสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ  ผศ.ดร.ปมทอง มาลากุล ณ อยุธยา รองอธิการบดี  กราบบังคมทูลประกาศราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติคุณพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว อ.ศิรธัช ศิริชุมแสง ผู้ช่วยอธิการบดี กราบบังคมรายงาน และกราบบังคมทูลเบิกผู้แสดงปาฐกถาชุด “ฉัฐปาฐกถา  พฤทธาจารย์” ผ่านระบบออนไลน์

       จากนั้น สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงฟังการแสดงปาฐกถาชุด“ฉัฐปาฐกถา พฤทธาจารย์” จำนวน  6 เรื่อง ที่แสดงถึงพระราชกรณียกิจ และ พระปรีชาสามารถ 6 ด้านของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ประกอบด้วย 

  – การปาฐกถาเรื่อง “พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกับการสื่อสารมวลชน” โดย รศ.จุมพล รอดคำด

 – การปาฐกถาเรื่อง “พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกับการศึกษา” โดย รศ.ดร.กรรณิการ์ สัจกุล

 – ปาฐกถาเรื่อง “พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกับศิลปะ” โดย ศ.ดร.อภินันท์   โปษยานนท์

 – ปาฐกถาเรื่อง “พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกับภาษาและวรรณกรรม” โดย ผศ. ดร.ประพจน์ อัศววิรุฬหการ

– ปาฐกถาเรื่อง “พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกับนิติศาสตร์ และรัฎฐประศาสนศาสตร์” โดย ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ

– ปาฐกถาเรื่อง “พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกับประวัติศาสตร์และโบราณคดี” โดย อ.สถาพร อรุณวิลา

 หลังจากจบการแสดงปาฐกถา  สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีพระราชทานของที่ระลึกแก่ผู้แสดงปาฐกถา

     จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดการแสดงปาฐกถาชุด “ฉัฐปาฐกถา พฤทธาจารย์” เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้ทรงสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ในโอกาสครบ 140 ปี แห่งวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ ในปี 2564 เพื่อน้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณและเผยแพร่พระอัจฉริยภาพให้เป็นที่ประจักษ์  

       พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 6 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ตลอด 15 ปีแห่งรัชสมัย ได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการ ทรงนำประเทศให้ล่วงพ้นภัยจากลัทธิล่าอาณานิคม ทั้งยังพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์พระพุทธศาสนาและศาสนาต่าง ๆ  ทรงเพิ่มพูนสรรพวิทยาการของชาติด้วยบทพระราชนิพนธ์อันทรงคุณค่าเป็นจำนวนมาก จนทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญาว่า “สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า”

       พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัยในด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี และศิลปวัฒนธรรม ทรงส่งเสริมการแสดงความคิดเห็นและสื่อสารมวลชน ทรงมีพระบรมราโชบาย จะฝึกฝนเยาวชนในด้านการศึกษา ทรงก่อตั้งกิจการลูกเสือและเสือป่า ทรงสถาปนาโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย และในปี 2524 องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ได้ยกย่องพระเกียรติคุณให้ทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลก ผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรม ในฐานะที่ทรงเป็นนักปราชญ์ นักประพันธ์ กวี และนักแต่งบทละครเป็นจำนวนมาก   

ผลผลิตของจุฬาฯ คือ การผลิตบัณฑิต สร้างคนคุณภาพสู่สังคม

ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า