รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
ข่าวสารจุฬาฯ
16 ธันวาคม 2564
ประกาศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ข่าวเด่น
ประกาศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเรื่อง แนวทางการจัดการเรียนการสอน การวัดและประเมินผลการศึกษาในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรค COVID-19พ.ศ. ๒๕๖๔
______________________
เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรค COVID-19 มีสถานการณ์ดีขึ้นตามลำดับ เพื่อให้การจัดการเรียนการสอน การวัดและประเมินผลการศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มหาวิทยาลัยโดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินโควิด-19 ในการประชุมเมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ เห็นสมควรออกแนวปฏิบัติในการจัดการเรียนการสอน การวัดและประเมินผลการศึกษาในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรค COVID-19 ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง แนวทางการจัดการเรียนการสอน การวัดและประเมินผลการศึกษาในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรค COVID-19 พ.ศ. ๒๕๖๔”
ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ในประกาศนี้
“สถานการณ์ระดับที่ ๑” หมายความว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรค COVID-19 ยังสามารถควบคุมได้
“สถานการณ์ระดับที่ ๒” หมายความว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรค COVID-19 เริ่มมีความรุนแรงและมีจำนวนผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก
“สถานการณ์ระดับที่ ๓” หมายความว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรค COVID-19 มีความรุนแรงและมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ข้อ ๔ ในการดำเนินการตามประกาศนี้ ให้หัวหน้าส่วนงานเป็นผู้วินิจฉัยสั่งการหรือกำหนดรายละเอียดเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควรเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับความในประกาศนี้
ข้อ ๕ ให้อธิการบดีรักษาการตามประกาศนี้
ในการตีความหรือในกรณีมีปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินการตามประกาศนี้ ให้อธิการบดีเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด
หมวด ๑
บททั่วไป
__________
ข้อ ๖ ในการจัดการเรียนการสอนตามประกาศนี้ ให้คณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน โควิด-19 กำหนดระดับของสถานการณ์โดยพิจารณาตามความรุนแรงของการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19
ในกรณีจำเป็นคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินโควิด-19 อาจกำหนดเงื่อนไขอื่นใดเพิ่มเติมเพื่อความปลอดภัยของนักเรียน นิสิต และบุคลากรก็ได้
ข้อ ๗ หลักสูตรหรือรายวิชาควรจัดทำคู่มือหรือแนวทางการจัดการเรียนการสอน การวัดและประเมินผลการศึกษาในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรค COVID-19 โดยควรเป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างอาจารย์ผู้สอนกับนิสิต
ข้อ ๘ หลักสูตรหรือรายวิชาควรจัดสรรเวลาและทรัพยากร รวมถึงจัดให้มีระบบและสิ่งแวดล้อมที่สนับสนุนให้นิสิตเกิดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรค COVID-19
ข้อ ๙ ส่วนงานมีหน้าที่จัดให้มีระบบการติดตามดูแลและช่วยเหลือด้านสุขภาวะแก่นิสิตเป็นระยะ ๆ รวมถึงการแก้ไขปัญหาอันเนื่องมาจากการจัดการเรียนการสอน การวัดและประเมินผลการศึกษาในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรค COVID-19
ข้อ ๑๐ การจัดการเรียนการสอน การวัดและประเมินผลการศึกษาในพื้นที่ของมหาวิทยาลัย นิสิตและบุคลากรจะต้องได้รับวัคซีนที่ทางราชการกำหนดอย่างน้อยเข็มที่สอง หรือวัคซีนชนิดอื่นที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยารับรองตามจำนวนที่กำหนด แล้วแต่กรณี มาแล้วไม่น้อยกว่าสิบสี่วัน
ข้อ ๑๑ ส่วนงานมีหน้าที่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค COVID-19 ตามที่ทางราชการ มหาวิทยาลัย หรือสภาวิชาชีพกำหนดไว้โดยเคร่งครัด และต้องใช้ความระมัดระวังอย่างที่สุดที่จะมิให้เกิดการติดเชื้อโรค COVID-19 จากการจัดการเรียนการสอนทั้งในและนอกพื้นที่ของมหาวิทยาลัย หากผู้ใดเริ่มมีอาการของโรคหรือสงสัยว่าจะติดเชื้อโรค COVID-19 หรือมีกรณีติดเชื้อโรค COVID-19 ขึ้น ส่วนงานมีหน้าที่ต้องชี้แจงและแจ้งให้ผู้เกี่ยวข้องทราบและดำเนินการอื่นใดเพื่อป้องกันหรือยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโรค
ข้อ ๑๒ ในกรณีมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดการเรียนการสอน การวัดและประเมินผลการศึกษาตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรค COVID-19 ผู้สอนจะต้องคงความครบถ้วนด้านผลลัพธ์การจัดการเรียนรู้และสมรรถนะตามเป้าประสงค์ของหลักสูตร หรือเทียบเคียงได้กับมาตรฐานที่หลักสูตรกำหนด
ข้อ ๑๓ ให้หัวหน้าส่วนงานกำหนดผู้รับผิดชอบในด้านต่าง ๆ ตามประกาศนี้ ซึ่งรวมถึงกิจกรรมด้านวิชาการที่เกี่ยวเนื่องกับการจัดการเรียนการสอน เช่น การปฐมนิเทศนิสิต การสอบเพื่อเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติงาน และให้จัดระบบต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับประกาศหรือคำสั่งของรัฐบาลและมหาวิทยาลัยอย่างเคร่งครัด และต้องสื่อสารกับนิสิต ผู้สมัครสอบ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องให้รับทราบล่วงหน้าถึงขั้นตอน กระบวนการ หรือรายละเอียดของการจัดการเรียนการสอน การวัดและประเมินผลของรายวิชา หรือการสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อเข้าศึกษาในหลักสูตรในสังกัด การฝึกงาน การทัศนศึกษา หรือการดูงานภายในประเทศของแต่ละหลักสูตรทั้งในสถานการณ์ปกติและในสถานการณ์ที่ปรับเปลี่ยนไป
หมวด ๒
การจัดการเรียนการสอน
______________
ส่วนที่ ๑
แนวปฏิบัติทั่วไปเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอน
ข้อ ๑๔ การจัดการเรียนการสอนแบบผสมผสาน (Blended Learning) เป็นการผสมผสานรูปแบบที่นิสิตสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้ทุกที่ทุกเวลา (Asynchronous Learning) ร่วมกับรูปแบบที่นิสิตทั้งชั้นเรียนได้มีโอกาสอภิปรายและเรียนรู้ร่วมกันในเวลาเดียวกัน (Synchronous Learning) ซึ่งสามารถจัดการเรียนรู้ได้ทั้งในสถานที่ตั้ง (Onsite Synchronous Learning) และแบบออนไลน์ (Online Synchronous Learning) ดังนี้
(๑) กรณี Asynchronous ต้องมีการกำหนดวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ด้วยตนเองของนิสิตไว้อย่างชัดเจน ควรมีคำแนะนำกรอบเวลาการศึกษาด้วยตนเองที่เหมาะสมแก่นิสิต และสร้างโอกาสการสื่อสารโต้ตอบระหว่างนิสิตกับอาจารย์ หรือระหว่างนิสิตในชั้นเรียนผ่านการสื่อสารหรือเรียนรู้แบบออนไลน์
(๒) กรณี Synchronous ควรเน้นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างนิสิตกับอาจารย์ เช่น การอภิปราย การแก้โจทย์ปัญหา การเรียนรู้แบบ problem-based learning เป็นต้น
ข้อ ๑๕ ส่วนงานควรมีระบบในการประเมินและปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดการเรียนการสอนเป็นระยะ ๆ
ข้อ ๑๖ กรณีการจัดการอภิปรายและเรียนรู้ร่วมกันในเวลาเดียวกันผ่านระบบออนไลน์ (Online Synchronous Learning) เช่น Zoom MSTeam หรือ Google Meet ให้ผู้สอนจัดการเรียนการสอนในช่วงเวลาปกติของรายวิชา หากมีความจำเป็นต้องจัดการเรียนการสอนนอกเวลาปกติ ให้ผู้สอนตกลงวันเวลาในการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมร่วมกับนิสิต
ข้อ ๑๗ รายวิชาภาคปฏิบัติหมายความรวมถึงรายวิชาที่ต้องมีกิจกรรมการเรียนแบบฝึกทักษะปฏิบัติประเภทเดี่ยวหรือกลุ่ม (เช่น วิชา Studio, Skill, Perform, Ensemble, รายวิชาทางคลินิก) หรือรายวิชาที่มีลักษณะการเรียนการสอนในรูปแบบที่คล้ายคลึงกัน
ข้อ ๑๘ ส่วนงานหรือหลักสูตรพิจารณาจัดตารางสอนให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค COVID-19 เช่น ปรับรายวิชาที่จัดการเรียนรู้แบบออนไลน์ให้อยู่ในวันเดียวกัน ปรับรายวิชาที่จัดการเรียนรู้ในสถานที่ตั้งให้อยู่ในวันเดียวกัน ปรับเพิ่มตอนเรียนของรายวิชาภาคปฏิบัติเพื่อลดจำนวนนิสิตและบุคลากรที่จะต้องเข้ามาในสถานที่ตั้ง เป็นต้น
ส่วนที่ ๒
แนวปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอน ตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรค COVID–19
_____________
ข้อ ๑๙ รายวิชาภาคทฤษฎีหรือสัมมนา
(๑) ในสถานการณ์ระดับที่ ๑ ให้ส่วนงานเน้นการจัดการเรียนการสอนแบบผสมผสาน (Blended Learning) โดยมีทั้งการเรียนรู้ด้วยตนเองได้ทุกที่ทุกเวลา (Asynchronous Learning) และการเรียนรู้ร่วมกัน (Synchronous Learning) โดยส่วนงานสามารถจัดการเรียนรู้ได้ทั้งในสถานที่ตั้ง (Onsite Synchronous Learning) และแบบออนไลน์ (Online Synchronous Learning)
หัวหน้าส่วนงานอาจกำหนดให้รายวิชาใดจัดการเรียนการสอนเป็นรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง หรือให้มีการผสมผสานทั้งสองรูปแบบเข้าด้วยกันให้เหมาะสมตามลักษณะของรายวิชาก็ได้
(๒) ในสถานการณ์ระดับที่ ๒ ให้ส่วนงานจัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ทั้งหมด โดยให้มีการผสมผสานของรูปแบบการจัดการเรียนการสอนทั้งการเรียนรู้ด้วยตนเองได้ทุกที่ทุกเวลา (Asynchronous Learning) และการเรียนรู้ร่วมกันแบบออนไลน์ (Online Synchronous Learning) ให้เหมาะสมตามลักษณะของรายวิชา
(๓) ในสถานการณ์ระดับที่ ๓ ให้ส่วนงานจัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ทั้งหมด โดยให้มีการผสมผสานของรูปแบบการจัดการเรียนการสอนทั้งการเรียนรู้ด้วยตนเองได้ทุกที่ทุกเวลา (Asynchronous Learning) และการเรียนรู้ร่วมกันแบบออนไลน์ (Online Synchronous Learning) ให้เหมาะสมตามลักษณะของรายวิชา
ข้อ ๒๐ รายวิชาภาคปฏิบัติ
(๑) ในสถานการณ์ระดับที่ ๑ ให้ส่วนงานจัดการเรียนการสอนแบบผสมผสาน (Blended Learning) โดยเน้นการนำระบบบริหารจัดการการเรียนรู้ (Learning Management System) เช่น MyCourseVille Blackboard หรือ Google Classroom มาใช้ในการบริหารจัดการรายวิชา ร่วมกับการฝึกปฏิบัติในสถานที่จริง ทั้งนี้ให้ผู้สอนพิจารณาสัดส่วนความจำเป็นและเกิดความยืดหยุ่นในการเรียนการสอน
(๒) ในสถานการณ์ระดับที่ ๒ หัวหน้าส่วนงานอาจพิจารณาให้มีการจัดการเรียนการสอนรายวิชาภาคปฏิบัติในสถานที่ตั้ง ในกรณีที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งกรณีใดกรณีหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(ก) เป็นรายวิชาที่มีนิสิตที่ศึกษาในภาคการศึกษาสุดท้ายลงทะเบียนเรียนอยู่และเป็นรายวิชาที่ต้องใช้ห้องปฏิบัติการ เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ในการเรียนในพื้นที่ขนาดใหญ่ หรือที่มีเฉพาะในมหาวิทยาลัยเท่านั้น
(ข) เป็นรายวิชาที่ต้องมีการฝึกปฏิบัติตามเกณฑ์มาตรฐานสภาวิชาชีพ ซึ่งหากไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้ จะส่งผลให้นิสิตไม่สามารถสำเร็จการศึกษาได้ตามมาตรฐานที่สภาวิชาชีพกำหนดไว้
รายวิชาที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขใน (ก) และ (ข) ให้ปรับการเรียนการสอนเป็นการเรียนรู้ร่วมกันแบบออนไลน์ (Online Synchronous Learning) ทั้งหมด
(๓) ในสถานการณ์ระดับที่ ๓ ให้ส่วนงานงดการจัดการเรียนการสอนในสถานที่ตั้ง โดยให้ผู้สอนปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนเป็นวิธีการอื่นที่สามารถทำเป็นการเรียนรู้ร่วมกันแบบออนไลน์ (Online Synchronous Learning) ทั้งหมด
กรณีการจัดการเรียนการสอนทางคลินิกที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยในสถานพยาบาลของมหาวิทยาลัยหรือของส่วนงาน ให้ปฏิบัติตามข้อกำหนดหรือแนวปฏิบัติของแต่ละวิชาชีพ ทั้งนี้ ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค COVID-19 ตามที่ทางราชการ มหาวิทยาลัย หรือสภาวิชาชีพกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด
(๔) สำหรับการปฏิบัติงานที่เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชาการวิจัย วิทยานิพนธ์ หรือดุษฎีนิพนธ์ ให้ปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งของมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
ข้อ ๒๑ การฝึกงาน การทัศนศึกษา หรือการดูงานภายในประเทศของแต่ละหลักสูตร
(ก) พิจารณาให้มีรายวิชาการฝึกงาน การทัศนศึกษา หรือการดูงานภายในประเทศของแต่ละหลักสูตรได้ตามปกติ แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค COVID-19 ตามที่ทางราชการ มหาวิทยาลัย หรือสภาวิชาชีพกำหนดไว้
(ข) พิจารณายกเลิกรายวิชาการฝึกงาน การทัศนศึกษา หรือการดูงานภายในประเทศของแต่ละหลักสูตรที่มิได้กำหนดไว้ใน มคอ. ๑ ได้ แต่ให้มีการเรียนการสอนหรือกิจกรรมรูปแบบอื่นเพื่อทดแทน เพื่อคงความครบถ้วนด้านผลลัพธ์การจัดการเรียนและสมรรถนะตามเป้าประสงค์ของหลักสูตรอยู่อย่างครบถ้วน
(ค) พิจารณาปรับระยะเวลาการฝึกงาน การทัศนศึกษา หรือการดูงานภายในประเทศของแต่ละหลักสูตรได้โดยดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
๑) ลดระยะเวลาการฝึกงาน การทัศนศึกษา หรือการดูงานให้กระชับและสั้นลง ตามความจำเป็นและสอดคล้องกับกับสถานการณ์ในภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อโรค COVID-19
๒) แยกหรือกระจายการฝึกงาน การทัศนศึกษา หรือการดูงานออกไปเป็นหลายระยะตามความเหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา โดยไม่ให้กระทบกระเทือนหรือมีความสุ่มเสี่ยงต่อสุขภาพของนิสิตที่ฝึกงาน
๓) สลับการฝึกงาน การทัศนศึกษา หรือการดูงาน กับรายวิชาปกติในแผนการการจัดการศึกษาเดิมที่ออกแบบและระบุไว้ใน มคอ. ๒
(ง) พิจารณาปรับรูปแบบการฝึกงาน การทัศนศึกษา หรือการดูงานภายในประเทศของ แต่ละหลักสูตรได้ตามความเหมาะสม โดยประสานกับสถานประกอบการหรือองค์กรวิชาชีพเพื่อส่งนิสิตเข้าฝึกงาน การทัศนศึกษา หรือการดูงาน
การยกเลิก การปรับระยะเวลา และการปรับรูปแบบการฝึกงาน การทัศนศึกษา หรือการดูงานภายในประเทศของแต่ละหลักสูตรตามวรรคหนึ่ง ต้องดำเนินการไม่ให้กระทบต่อเกณฑ์มาตรฐานหรือข้อกำหนดของ แต่ละสภาวิชาชีพ
(๒) ในสถานการณ์ระดับที่ ๒ หัวหน้าส่วนงานอาจพิจารณาให้นิสิตออกไปฝึกงาน ทัศนศึกษา หรือ ดูงานภายในประเทศได้ เฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ไม่สามารถปรับรูปแบบกิจกรรมเป็นลักษณะอื่นได้ หรือกิจกรรมนั้น ๆ เป็นส่วนหนึ่งรายวิชาตามข้อ ๒๐ (๒) (ก) และ (ข) ทั้งนี้ ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค COVID-19 ตามที่ทางราชการ มหาวิทยาลัย หรือหน่วยงานนั้น ๆ กำหนดอย่างเคร่งครัด และต้องใช้ความระมัดระวังอย่างที่สุดที่จะมิให้เกิดการติดเชื้อโรค COVID-19 จากกิจกรรมดังกล่าว ถ้าหากมีกรณีติดเชื้อโรคขึ้น ส่วนงานมีหน้าที่ต้องชี้แจงและแจ้งให้ผู้เกี่ยวข้องทราบและดำเนินการอื่นใดเพื่อป้องกันหรือยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโรค
(๓) ในสถานการณ์ระดับที่ ๓ ให้ส่วนงานปรับรูปแบบการฝึกงาน การทัศนศึกษา หรือการดูงานของแต่ละหลักสูตรเป็นแบบออนไลน์ทั้งหมด โดยให้ใช้การมอบหมายงาน (Assignment Based) หรือ ให้ทำงานที่บ้าน (WFH) หรือในลักษณะมอบหมายโครงการ (Project Based) และนัดประเมินหรือให้ข้อสังเกตแก่นิสิตเป็นระยะ ๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ ทั้งนี้การปรับรูปแบบการฝึกงาน การทัศนศึกษา หรือการดูงานจะต้องพิจารณาไม่ให้กระทบต่อเกณฑ์มาตรฐานของหลักสูตรหรือข้อกำหนดของแต่ละสภาวิชาชีพ
สำหรับกิจกรรมหรือโครงการด้านวิชาการใด ๆ ที่มีนิสิตหรือบุคลากรของมหาวิทยาลัยเดินทางไปต่างประเทศ หรือมีนิสิตหรือบุคลากรจากต่างประเทศเดินทางเข้ามายังราชอาณาจักรไทย ให้ปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งของมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
หมวด ๓
การวัดและประเมินผลการศึกษา
ข้อ ๒๒ ให้ผู้สอนรายวิชาเลือกใช้รูปแบบและเครื่องมือการวัดและประเมินผลการศึกษาให้เหมาะสมกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรค COVID-19 ทั้งนี้ การวัดและประเมินผลการศึกษาที่ใช้ต้องสอดคล้องกับผลลัพธ์การเรียนรู้ของรายวิชาหรือมาตรฐานของหลักสูตร
ข้อ ๒๓ กรณีการวัดและประเมินผลการศึกษาแบบออนไลน์ รายวิชาควรปรับรูปแบบจากการประเมินผลการศึกษาด้วยการทำข้อสอบไปเป็นการประเมินในลักษณะอื่น ๆ เช่น การมอบหมายงาน (Assignment) การทำรายงาน (Report)
ข้อ ๒๔ กรณีการจัดสอบระหว่างภาคและปลายภาคแบบออนไลน์ ให้ส่วนงาน หลักสูตร หรือรายวิชาพิจารณาช่วยเหลือและปรับรูปแบบให้เหมาะสมในกรณีที่นิสิตไม่สามารถสอบในรูปแบบออนไลน์นอกสถานที่ตั้งได้
ข้อ ๒๕ การวัดและประเมินผลการศึกษา ให้ส่วนงานดำเนินการตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรค COVID- 19 ดังนี้
(๑) ในสถานการณ์ระดับที่ ๑ ให้พิจารณาจัดให้มีการสอบ การวัดและประเมินผลผู้เรียน ในรูปแบบผสมผสานทั้งแบบออนไลน์และในสถานที่ตั้ง กรณีจัดสอบในสถานที่ตั้ง ให้พิจารณาถึงความจำเป็น จำนวนผู้สอบต่อห้องเรียน ความพร้อมและความสามารถในการจัดการรูปแบบที่ยืดหยุ่น
(๒) ในสถานการณ์ระดับที่ ๒ ให้ปรับการสอบ การวัดและประเมินผลผู้เรียน ไปเป็นการใช้วิธีการผ่านช่องทางออนไลน์ทั้งหมด เช่น การสอบในรูปแบบออนไลน์ (Online Examination) การมอบหมายงาน (Assignment) การทำรายงาน (Report) หรือการทำข้อสอบนอกห้องสอบ (Take-home Examination) หรือการวัดและประเมินผลแบบออนไลน์ในรูปแบบอื่นเป็นระยะ
หัวหน้าส่วนงานอาจพิจารณาให้มีการจัดการวัดและการประเมินผลผู้เรียนในสถานที่ตั้ง ได้เฉพาะในกรณีรายวิชาตามข้อ ๒๐ (๒) (ก) และ (ข) ทั้งนี้ ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค COVID-19 ตามที่ระบุในข้อ ๒๐(๒) (ก) และ (ข) อย่างเคร่งครัด
(ข) ให้ปรับการสอบ การวัดและประเมินผลผู้เรียน ไปเป็นการใช้วิธีการผ่านช่องทางออนไลน์ทั้งหมด เช่น การสอบในรูปแบบออนไลน์ (Online Examination) การมอบหมายงาน (Assignment) การทำรายงาน (Report) หรือการทำข้อสอบนอกห้องสอบ (Take-home Examination) หรือการวัดและประเมินผลแบบออนไลน์ในรูปแบบอื่นเป็นระยะ
หมวด ๔
การสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อเข้าศึกษาในหลักสูตรในสังกัด
__________________
ข้อ ๒๖ การสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อเข้าศึกษาในหลักสูตรในสังกัด ให้ส่วนงานดำเนินการตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรค COVID- 19 ดังนี้
(๑) ในสถานการณ์ระดับที่ ๑ ให้พิจารณาจัดให้มีการสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อเข้าศึกษาในหลักสูตร ในรูปแบบผสมผสานทั้งแบบออนไลน์และในสถานที่ตั้ง กรณีจัดสอบในสถานที่ตั้ง ให้พิจารณาถึงความจำเป็น จำนวนผู้สอบต่อห้องเรียน ความพร้อมและความสามารถในการจัดการรูปแบบที่ยืดหยุ่น
(๒) ในสถานการณ์ระดับที่ ๒ สำหรับการสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อเข้าศึกษาในหลักสูตร เช่น การสอบข้อเขียน การสอบสัมภาษณ์ การสอบปฏิบัติ ให้ปรับรูปแบบเป็นการใช้วิธีการผ่านช่องทางออนไลน์ทั้งหมด และหลักสูตรต้องสื่อสารให้ผู้สมัครรับทราบล่วงหน้าถึงขั้นตอนรายละเอียดของการสอบคัดเลือกที่เปลี่ยนแปลงไป
หัวหน้าส่วนงานอาจพิจารณาจัดการสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อเข้าศึกษาในหลักสูตรในสถานที่ตั้งได้เฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งและไม่สามารถปรับรูปแบบกิจกรรมเป็นออนไลน์ได้ ทั้งนี้ ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค COVID-19 ตามที่ทางราชการ มหาวิทยาลัย หรือหน่วยงานนั้น ๆ กำหนดอย่างเคร่งครัด
(๓) ในสถานการณ์ระดับที่ ๓ ให้งดสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อเข้าศึกษาในหลักสูตร ในสถานที่ตั้งในทุกกรณี ให้ปรับรูปแบบเป็นการใช้วิธีการผ่านช่องทางออนไลน์ทั้งหมด และหลักสูตรต้องสื่อสารให้ผู้สมัครรับทราบล่วงหน้าถึงขั้นตอนรายละเอียดของการสอบคัดเลือกที่เปลี่ยนแปลงไป
ประกาศ ณ วันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๔
(ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์)
อธิการบดี
ละครนิเทศจุฬาฯ 2567 “ด้ายแดงเป็นเหตุ Unfortunate Love”
24 - 26 มกราคม 2568
ณ โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ ชั้น 7 อาคารสยามสแควร์
จุฬาฯ ต้อนรับคณะศึกษาดูงานด้านการบริหารความเสี่ยงจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แบ่งปันประสบการณ์การพัฒนาระบบบริหารความเสี่ยงของมหาวิทยาลัย
คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ จัดอบรมเรื่อง “กัญชาทางการแพทย์: ความรู้ที่ต้องมีสำหรับเภสัชกรยุคใหม่”
11 ธ.ค. 67 เวลา 09.00 – 12.15 น.
คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ และ Zoom
คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ จัดอบรมโครงการ “Next-Gen Arts: พัฒนาศักยภาพครูศิลปะด้วย Soft Power”
นิสิตเก่าจุฬาฯ พัฒนาโฟมล้างมือแบบเม็ดฟู่ “Fongdoo” ลดขยะพลาสติก ภายใต้การสนับสนุนของ CU Innovation Hub
วิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ จัดเสวนา “เข้าใจน้ำท่วม แนวคิดวิศวกร” เผยแพร่องค์ความรู้ใหม่รับมืออุทกภัยในอนาคต
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม
รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้