ข่าวสารจุฬาฯ

“ชัวร์ก่อนแชร์ : โรคฝีดาษวานร” โรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่ยังต้องเฝ้าระวัง จุฬาฯ เผยวิทยาการล่าสุดตรวจวินิจฉัยโรคโดยแพทย์จุฬาฯ

          จากการเสวนาวิชาการ Chula the Impact ครั้งที่ 9 เรื่อง “ชัวร์ก่อนแชร์: โรคฝีดาษวานร” ซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ ห้อง 111 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และ ผศ.น.สพ.ดร.สว่าง เกษแดงสกลวุฒิ ภาควิชาพยาธิวิทยาและหน่วยชันสูตรโรคสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ  วิทยากร ได้ให้ความรู้ สร้างความเข้าใจแก่ประชาชนเกี่ยวกับโรคฝีดาษลิง (Monkeypox) โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน เพื่อสร้างความตระหนักในการเฝ้าระวังและป้องกันตนเองจากโรคนี้ โดยมี ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ เป็นผู้กล่าวเปิดงาน ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.เอกก์ ภทรธนกุล Chief Brand Officer จุฬาฯ

ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ

ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ กล่าวว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีพันธกิจในการสร้างสรรค์องค์ความรู้และนวัตกรรมสู่สังคม เมื่อสังคมมีปัญหา จุฬาฯ มีคำตอบ ในความกังวลของโรคฝีดาษลิงก็เช่นกัน ความเชี่ยวชาญบุคลากรในแขนงต่างๆ ของจุฬาฯ เป็นกำลังสำคัญที่ช่วยให้สังคมมีความมั่นใจ ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับโรคฝีดาษลิงอย่างถูกต้อง พร้อมสร้างความกระจ่างเกี่ยวกับโรคนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการตรวจวินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้องได้มาตรฐาน ซึ่งดำเนินการโดยศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และองค์ความรู้เกี่ยวกับสัตว์จากคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ   

ผศ.น.สพ.ดร.สว่าง เกษแดงสกลวุฒิ ภาควิชาพยาธิวิทยาและหน่วยชันสูตรโรคสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ

ผศ.น.สพ.ดร.สว่าง เกษแดงสกลวุฒิ ภาควิชาพยาธิวิทยาและหน่วยชันสูตรโรคสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ให้ข้อมูลถึงจุดกำเนิดของโรคฝีดาษลิงว่า เกิดจากเชื้อไวรัส Monkeypox ที่มีความใกล้เคียงกับโรคฝีดาษคนหรือไข้ทรพิษ พบครั้งแรกเมื่อปี 2501 ในห้องแลปที่ประเทศเดนมาร์ก มาจากลิงที่ส่งมาจากสิงคโปร์เพื่อใช้ในการทดลองทางวิทยาศาสตร์ ส่วนการพบโรคนี้ในมนุษย์ครั้งแรกเมื่อปี 2513 ที่ประเทศคองโก ทวีปแอฟริกา พาหะของโรคฝีดาษลิง ได้แก่ “สัตว์ฟันแทะ” เช่น กระรอก หนู แพรีด็อก ฯลฯ อาการที่เกิดขึ้นในสัตว์จะแสดงออกไม่ชัดเจนเท่ากับมนุษย์ มีลักษณะเป็นผื่น ไข้ และอาการทางระบบทางเดินหายใจ แล้วเข้าสู่ปอด ที่สำคัญคือลิงต่างๆ เช่น ลิงชิมแปนซี ลิงอุรังอุตัง ลิงแสม ลิงวอก ที่อาจจะมีอาการคล้ายคลึงกับมนุษย์ การติดเชื้อฝีดาษลิงในมนุษย์สามารถติดต่อได้จากการโดนสารคัดหลังจากสัตว์ป่วยที่มีเชื้ออยู่ ส่วนมากในทวีปแอฟริกาจะติดในผู้ชายวัยกลางคน กลุ่มคนที่ล่าสัตว์และนำเนื้อมาชำแหละ ก็มีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อไวรัสนี้ได้เช่นกัน

ผศ.น.สพ.ดร.สว่างกล่าวว่าการได้รับเชื้อไวรัสโรคฝีดาษลิงในคน เกิดจากการสัมผัสใกล้ชิดและโดนสัตว์ที่มีเชื้อกัด ขีดข่วน โดยไม่ได้ติดต่อได้ง่ายจากละอองฝอยในอากาศ ส่วนสัตว์ที่ติดเชื้อเมื่ออยู่ในกรงเดียวกันก็มีโอกาสติดเชื้อได้ ทั้งนี้ ลิงในประเทศไทยยังไม่มีประวัติการติดโรคนี้ แต่อนาคตก็จะต้องเฝ้าระวังต่อไป สำหรับสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัขและแมวยังไม่มีข้อมูลการเกิดโรคนี้ อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ คือ คนที่เลี้ยงสัตว์ Exotic หรือสัตว์เลี้ยงแปลกๆ และผู้ที่ต้องใกล้ชิดคลุกคลีกับสัตว์ ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนหรือยารักษาโรคฝีดาษลิงในสัตว์ จึงต้องทำการเฝ้าสังเกตอาการและศึกษาเป็นกรณีไป

“การเลี้ยงสัตว์ให้มีสุขภาพดี สุขอนามัยเป็นเรื่องที่สำคัญ ช่วยป้องกันโรคทั้งหลายได้ หากพบว่าสัตว์ป่วยและมีความเสี่ยง ต้องพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคต่อไป สิ่งที่ต้องระวังคือการนำเข้าสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะสัตว์ต่างถิ่นเข้ามาโดยไม่รู้ที่มา เพราะถึงแม้สัตว์จะเป็นพาหะนำโรค แต่อาการของสัตว์จะไม่แสดงออกชัดเจน ควรมีการตรวจสอบตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง รวมทั้งควรให้ความรู้กับคนที่เลี้ยงสัตว์ต่างถิ่นในเรื่องความเสี่ยงและวิธีการรักษาสุขอนามัยทั้งสัตว์และผู้เลี้ยงด้วย” ผศ.น.สพ.ดร.สว่าง ให้คำแนะนำ

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยว่าขณะนี้พบผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงในหลายประเทศทั่วทวีปยุโรป และอเมริกาเหนือ โรคฝีดาษลิง     มี 2 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีการระบาดอยู่ในขณะนี้ และสายพันธุ์แอฟริกากลางที่มีความรุนแรงมาก อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ร้อยละ 10 การติดต่อโรคนี้จากคนสู่คน เป็นเรื่องสำคัญในทางการแพทย์ ซึ่งจากการวิเคราะห์รหัสพันธุกรรมในปีนี้เปลี่ยนไปจากที่พบในปี 2017 มากกว่า      40 ตำแหน่ง อนุมานว่าอาจจะเป็นผลการปรับตัวของไวรัสต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมนุษย์ ซึ่งทำให้      ติดเชื้อไวรัสได้ง่ายขึ้น จึงต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าวถึงการแพร่เชื้อโรคฝีดาษลิงในคนว่าสามารถเกิดได้จากการสัมผัสสารคัดหลั่งของคนที่ติดเชื้อที่ติดอยู่บนพื้นผิวสัมผัสต่างๆ โดยในระยะ 3 – 4 วันแรก ผู้ที่ติดเชื้อจะมีอาการเหมือนการติดเชื้อไวรัส แล้วจึงเกิดเป็นตุ่มแผลกระจายตามจุดต่างๆ แผลที่อวัยวะเพศและบริเวณรอบทวารหนัก เมื่อผื่น ตุ่มหนองแห้งจะตกสะเก็ดโดยทิ้งรอยโรค และสามารถหายเองได้ในระยะเวลา 2 – 4 สัปดาห์ อาการข้างเคียงที่เกิดร่วมคือมีไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต และแผลในปาก ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หลังหรือศีรษะ มีอาการอ่อนเพลีย ถึงแม้ว่าปัจจุบันยังไม่มีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ แต่ก็มีเงื่อนไขในเรื่องเวลาและความเข้มข้นของเชื้อ ซึ่งจะต้องเก็บตัวอย่างน้อย 60 วันขึ้นไป เพราะยังมีเชื้อในสารคัดหลั่งในร่างกาย เช่น เลือด ปัสสาวะ ฯลฯ ที่อาจจะเป็นพาหะได้ เนื่องจากพบว่ามีเคสคนไข้รายที่ 4 ที่มีเชื้อกลับขึ้นมาอีกในวันที่ 75 ของการกักตัว หลังจากที่ไม่พบเชื้อเลยในวันก่อนหน้า

สำหรับวิธีการรักษานั้น ยังคงใช้วิธีแบบประคับประคอง ปัจจุบันสหรัฐอเมริกาอนุมัติวัคซีนในคน  2 ชนิดคือ JYNNEOSTM และ ACAM2000TM และมียารักษาโรคไข้ทรพิษ คือ Tecovirimat (ST246) ที่สามารถใช้กับโรคนี้ได้ แต่ไม่ใช่ทุกคนจะมีภูมิคุ้มกันที่สามารถป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยิ่งมีอายุมากขึ้น สุขภาพไม่สมบูรณ์ วัคซีนในร่างกายก็จะลดลงตามไปด้วย ดังนั้นต้องมีการฉีดวัคซีนสม่ำเสมอเพื่อให้ทุกคนมีภูมิคุ้มกันหมู่ 100% เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในชุมชน โรคถึงจะไม่กลับมาระบาดอีก

ประเทศไทยจะต้องคอยสังเกตการณ์ความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ตามมติประกาศของกระทรวงสาธารณสุขให้โรคฝีดาษลิงเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง โดยต้องมีการศึกษาและเก็บข้อมูลเรื่องโรคฝีดาษลิงอย่างเร่งด่วนกระทรวงสาธารณสุขอยู่ในขั้นตอนทดลองวัคซีนฝีดาษคนหรือโรคไข้ทรพิษที่มีอยู่ว่าสามารถ   ทำให้เชื้อไวรัสนี้อ่อนกำลังลงหรือไม่ แม้โรคฝีดาษลิงมีความรุนแรงน้อย เมื่อติดเชื้อแล้วมีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 1-10% เท่านั้น แต่สิ่งที่ต้องระวังคือการไม่ทราบว่าติดเชื้อแล้วจะมีระดับความรุนแรงมากขนาดไหน

ศ.นพ.ธีระวัฒน์เผยว่า สุขอนามัยเป็นเรื่องสำคัญมาก การป้องกันตนเองและไม่ไปสัมผัสเชื้อจะปลอดภัยที่สุด การใส่หน้ากากสามารถป้องกันได้หลายๆ โรคไม่ใช่แค่โรคโควิด-19 หรือโรคฝีดาษลิง แต่ยังลดการเกิดไข้หวัดใหญ่ได้ด้วย หากมีความเสี่ยงต้องกักตัวไว้ก่อน ในการตรวจ แพทย์จะซักประวัติและตรวจร่างกาย มีการประเมินหลายด้านจึงจะวินิจฉัยว่าเป็นโรคฝีดาษลิงได้ เพราะต้องได้รับการตรวจตัวอย่างในตุ่มที่ขึ้นตามร่างกายเนื่องจากอาจมีโรคอื่นแทรกซ้อนได้

“ประเทศไทยมีความพร้อมในการป้องกันโรคฝีดาษลิงโดยมีความร่วมมือกันทั้งแพทย์ สัตวแพทย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นสถาบันสุขภาพสัตว์ กรมปศุสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และคณะสัตวแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อเฝ้าระวังติดตามโรคจากสัตว์ โดยประสานองค์ความรู้กับศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

ทั้งนี้ ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เป็นหน่วยงานภายใต้ความร่วมมือกับองค์การอนามัยโลกด้านการค้นคว้าและอบรมไวรัสจากสัตว์สู่คน มีบริการตรวจวิเคราะห์เชื้อไวรัสฝีดาษลิงโดยการตรวจสารพันธุกรรมสไวรัสจีนัส Orthopoxvirus ด้วยเทคนิค Conventional PCR และตรวจจำแนกไวรัสฝีดาษลิงด้วยการทดสอบลำดับสารพันธุกรรมของเชื้อ สามารถติดต่อส่งตัวอย่างเพื่อตรวจวินิจฉัยโรคได้ที่ โทร. 0-2256-4000 ต่อ 3562, 09-4364-1594, 08-5858-1469

ผศ.ดร.เอกก์ ภทรธนกุล Chief Brand Officer จุฬาฯ

จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม

รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า