ข่าวสารจุฬาฯ

นายกรัฐมนตรีแสดงปาฐกถาพิเศษ “จุฬาฯ กับการขับเคลื่อนประเทศในระยะเปลี่ยนผ่าน” อธิการบดีจุฬาฯ เสนอ 3 แผนงานให้นายกรัฐมนตรี พร้อมเป็นต้นแบบการปรับเปลี่ยนสู่มหาวิทยาลัย 4.0

เมื่อวันจันทร์ที่ 9 เมษายน 2561 ณ หอประชุมจุฬาฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แสดงปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับการขับเคลื่อนประเทศไทยในระยะเปลี่ยนผ่าน”  โดยได้กล่าวถึงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่าเป็นสถาบันอันทรงเกียรติ เป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของประเทศไทย รวมทั้งอยู่ในลำดับต้นๆ ของการประเมินโดยหลายองค์กรของต่างประเทศ และได้ผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพจำนวนมาก จุฬาฯ จึงถือเป็นเรือธงที่จะนำประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนตามเป้าหมายของแผนการปฏิรูปและยุทธศาสตร์ของประเทศที่วางไว้ ซึ่งความมั่นคงคือพื้นฐานในการสร้างสภาวะแวดล้อมทุกอย่างให้ปลอดภัย บ้านเมืองสงบ  นำไปสู่ความยั่งยืน

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงการปฏิรูปในสถานการณ์ปัจจุบันว่า ต้องใช้ประชารัฐ ทั้งภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคราชการ เดินหน้าร่วมมือกันแก้ไขอุปสรรคต่างๆ เพื่อหาทางออกอย่างเป็นรูปธรรม การศึกษาของเราต้องหาวิธีการที่เหมาะสมในการใช้งานและนำสิ่งที่มีอยู่แล้วมาปรับเปลี่ยน ยอมรับในการที่จะตีกรอบบ้าง และวางเป้าหมายการศึกษาให้ชัดเจนขึ้น หากสามารถปรับเป้าหมายของนิสิตนักศึกษา ครู และประเทศให้ตรงกันได้ก็สามารถเดินหน้าไปได้

ในการก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 สิ่งแรกที่เราต้องทำวันนี้คือ สร้างความเป็นธรรมให้ได้ สร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ โดยใช้โครงสร้างทางกายภาพและที่ไม่ใช่กายภาพเสริมเข้าไปด้วย เศรษฐกิจของเราเป็นระบบเสรีนิยม การที่ทุกคนจะรวยเท่ากันนั้นเป็นไปไม่ได้ แต่เราต้องทำให้เกิดการกระจายรายได้ที่เหมาะสม เศรษฐกิจจะดีขึ้นในภาพรวม ซึ่งไทยแลนด์ 4.0 เป็นวิสัยทัศน์เชิงนโยบายของรัฐบาลที่จะเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจของประเทศจากรูปแบบเดิมไปสู่รูปแบบใหม่ เพื่อให้ประเทศก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง ไปเป็นประเทศที่มีรายได้สูง ซึ่งเราก็ต้องมีการวิจัยและพัฒนา สร้างนวัตกรรมของเราเอง แต่บางทีก็อาจช้าเกินไปจึงต้องเรียนรู้จากต่างประเทศด้วย เราต้องคิดแบบตะวันตกคือคิดให้กว้าง ไกล ลึก นอกกรอบ เพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ๆ แต่เราต้องทำอย่างตะวันออกคือทำด้วยความรอบคอบ ยั่งยืน โดยใช้ความได้เปรียบของประเทศไทยใน 2 ด้าน คือ ความหลากหลายเชิงชีวภาพ และความหลากหลายเชิงวัฒนธรรม เป็นปัจจัยไปสู่ความสำเร็จ

 

ในส่วนของการสร้างคนไทย 4.0 นั้น  นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เราต้องสร้างคนไทยเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ในศตวรรษที่ 21 มีความรู้ ทักษะ มีจิตสาธารณะ เป็นทั้ง Digital Thai และ Global Thai ด้วย โลกทุกวันนี้ไร้พรมแดน โดยเฉพาะโลกดิจิทัล ต้องมีความพร้อมและภูมิต้านทานที่ดี ซึ่งครูอาจารย์ต้องสอนเด็กในเรื่องนี้ การศึกษาจะทำคนให้เป็นคนที่สมบูรณ์ ได้รับความเคารพนับถือยกย่อง มีร่างกายเข้มแข็ง จิตใจสัตย์ซื่อ มีคุณธรรม มีจิตสำนึก มีสติปัญญาที่จะครองชีวิตและครอบครัว สถาบันการศึกษาต้องสร้างหลักคิดที่ถูกต้องให้ได้ ทำอย่างไรให้ประเทศมีความมั่นคงปลอดภัย และพัฒนา ปัญหาบางอย่างเกิดมายาวนานก็ต้องค่อยๆ แก้ไป รัฐบาลมีการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนสภาพัฒน์ ทุก 5 ปี เพื่อตีกรอบใหญ่ว่าต้องทำอะไรบ้าง

สุดท้าย นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวชื่นชมจุฬาฯ ว่ามีกิจกรรมทั้งทางวิชาการ บริการสังคม นวัตกรรม ผลิตทรัพยากรมนุษย์ ตนคาดหวังว่าจุฬาฯ จะมีบทบาทนำเป็นเรือธง ในการผลิตบัณฑิตระดับปริญญาตรี โท เอก ปริญญาทุกใบต้องมีความหมาย มีเกียรติยศศักดิ์ศรีให้คนยอมรับ เป็นบุคคลมีคุณค่า ทำประโยชน์ให้ประเทศชาติ สิ่งที่อยากให้พัฒนาเพิ่มคือ Data Sciences, Artificial Intelligence, Bio-Medical และ Medical Robotics รวมทั้งต้องนำ Big Data มาวิเคราะห์สู่การปฏิบัติ

ในโอกาสนี้ ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ กล่าวถึงแผนงานที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะดำเนินการเพื่อรองรับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(EEC) ตามที่ได้เสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกอบด้วย 3  แผนงาน ดังนี้

  • การจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรม (University Technology Center) เพื่อเป็นกลไกในการร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม ในการสร้างคนและสร้างเทคโนโลยี  เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทย ประกอบด้วย ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ (Artificial Intelligence & Robotics) และด้านวิศวกรรมชีวเวช (Biomedical Engineering)  เพื่อวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่เสริมสร้างความแข็งแกร่งของประเทศผ่านความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมและมหาวิทยาลัยนานาชาติ เร่งวิจัยและพัฒนาร่วมกับภาคอุตสาหกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ผู้ประกอบการไทย เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME ) สนับสนุนภาครัฐในการวิจัยพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อประโยชน์สาธารณะ มีเป้าหมายที่จะผลิตบัณฑิตทั้งระดับปริญญาตรี โท เอก ที่มีความเชี่ยวชาญระดับสูงอย่างน้อยปีละ 200 คน เริ่มในปีการศึกษา 2562
  • ขยายความร่วมมือระหว่างจุฬาฯ กับภาคเอกชน นักลงทุนอิสระและองค์กรทั้งใน   และต่างประเทศ เพื่อเชื่อมโยงและขยายผลการดำเนินการของเมืองนวัตกรรมแห่งสยาม (Siam Innovation District) ซึ่งตั้งอยู่ที่อาคารสยามสแควร์วัน เพื่อสร้างนวัตกรรมและผลผลิต นำมาสู่การสร้างเสริมสังคมไทยสู่วิถีไทยในการใช้ชีวิตการเรียนรู้และความคิดที่สร้างสรรค์ โดยมีเป้าหมายในการสร้างมูลค่าจากนวัตกรรมไทยไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 5 ปี ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณในการดำเนินการจำนวน      200 ล้านบาทต่อปี
  • จุฬาฯ จะร่วมมือกับโรงพยาบาลสวนเบญจกิติเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา (โรงพยาบาลยาสูบ) โดยเน้นการดูแลรักษาผู้สูงอายุร่วมกับชุมชน ควบคู่กับการวิจัยและพัฒนาซึ่งก่อให้เกิดความก้าวหน้าในการรักษาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง พร้อมทั้งต่อยอดไปสู่การเป็นพื้นที่เพื่อการศึกษาสำหรับบุคลากรการแพทย์ พยาบาล และสาธารณสุขในอนาคต

“จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพร้อมเป็นต้นแบบของการปรับเปลี่ยนสู่มหาวิทยาลัย 4.0 ที่เน้นการเรียนรู้เชิงลึกและกว้าง เพื่อตอบโจทย์สังคม พร้อมที่จะร่วมพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและเป็นมิตรกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมบ่มเพาะนักเรียนและนิสิตให้เป็นพลเมืองคุณภาพ เมื่อใดก็ตามที่ประเทศชาติต้องการความช่วยเหลือ จุฬาฯ มุ่งมั่นที่จะมีบทบาทเชิงรุกในฐานะ “เรือธง” ทางวิชาการ พร้อมทำหน้าที่ในการรับใช้สังคม เพื่อสร้างคนรองรับ EEC และสร้างเทคโนโลยีให้ประเทศ”  อธิการบดีจุฬาฯ กล่าว

 

จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม

รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า