ข่าวสารจุฬาฯ

จุฬาฯ เปิดตัวนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ ถุงใส่ชิ้นเนื้อแบบเปิดได้เองสำหรับการผ่าตัดผ่านกล้อง พร้อมลงนามถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อต่อยอดนวัตกรรมเชิงพาณิชย์

ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับภาควิชาวิศวกรรมเคมี  และศูนย์วิจัยวิศวกรรมชีวเวช คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ  และภาควิชาวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ได้พัฒนาถุงใส่ชิ้นเนื้อสำหรับการผ่าตัดผ่านกล้องแบบเปิดได้เอง ผลิตจากวัสดุชนิดเดียว ไร้รอยต่อ  สามารถผลิตในกระบวนการขั้นตอนเดียว ไม่ซับซ้อน ลดความยุ่งยากและต้นทุนในการผลิต โดยได้จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวนวัตกรรมทางการแพทย์ “ถุงใส่ชิ้นเนื้อแบบเปิดได้เองสำหรับการผ่าตัดผ่านกล้อง (Self-opening endoscopic bag) หรือถุง SEB” เมื่อวันพุธที่ 10 สิงหาคม 2565 ณ ห้องประชุมจรัญพัฒน์ ชั้น 6 อาคารอุปการเวชชกิจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย 

ผู้ร่วมแถลงข่าวประกอบด้วย ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ศ.ดร.พลกฤษณ์ แสงวณิช คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ และอ.ดร.ศันธยา กิตติโกวิท ผู้อำนวยการศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาฯ

ภายในงานมีพิธีลงนามถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อต่อยอดนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ระหว่าง  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับบริษัท เอนซไปร์ อินดัสตรี จำกัด เพื่อขยายผลสู่การผลิตในระดับอุตสาหกรรม โดยมี ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ ศ.ดร.พัชณิตา ธรรมยงค์กิจ ผู้ช่วยอธิการบดี งานด้านวิจัย  รักษาการผู้อำนวยการสถาบันทรัพย์สินทางปัญญาแห่งจุฬาฯ ร่วมลงนามกับ ดร.พิชิต เลิศตำหรับ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอนซไปร์ อินดัสตรี จำกัด และ ดร.เมธี เลิศตำหรับ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอนซไปร์ อินดัสตรี จำกัด

ปัจจุบัน “การศัลยกรรมหรือการผ่าตัดแบบผ่านกล้อง” เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง เนื่องจากช่วยลดขนาดบาดแผลให้เล็กลงมาก ทำให้ผู้ป่วยมีการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งการผ่าตัดผ่านกล้องจำเป็นต้องใช้ชุดอุปกรณ์และเครื่องมือที่ซับซ้อนโดยเฉพาะถุงใส่ชิ้นเนื้อสำหรับการผ่าตัดช่องท้องผ่านกล้อง ปกติจะผลิตจากวัสดุหลายชนิดและมีรอยต่อ ส่วนใหญ่ต้องใช้เครื่องมือเสริมและอุปกรณ์จำเพาะในการใช้งาน รวมถึงต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษในระดับหนึ่งของศัลยแพทย์ด้วย และต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้มีราคาแพงและค่าใช้จ่ายในการรักษาทางการแพทย์สูง

ทีมนักวิจัยจากจุฬาฯ โดยภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ร่วมกับภาควิชาวิศวกรรมเคมีและศูนย์วิจัยวิศวกรรมชีวเวช คณะวิศวกรรมศาสตร์และภาควิชาวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์จึงได้ร่วมกันพัฒนาถุงใส่ชิ้นเนื้อสำหรับการผ่าตัดผ่านกล้อง ทำหน้าที่เป็นถุงบรรจุชิ้นส่วนเนื้อเยื่อจากการผ่าตัดและนำชิ้นเนื้อเยื่อออกมาจากช่องท้องของผู้ป่วย โดยนวัตกรรมถุง SEB นี้ผลิตมาจากวัสดุชนิดเดียว ไร้รอยต่อ จุดเด่นคือกลไกในการเปิดปากถุงได้เองเมื่ออยู่ในช่องท้องของผู้ป่วย ซึ่งช่วยให้แพทย์สามารถใช้งานได้ง่าย สะดวก ทำให้ช่วยลดระยะเวลาการผ่าตัด ในส่วนของขั้นตอนการผลิตถุงสามารถผลิตได้ในขั้นตอนเดียว ไม่ซับซ้อน ลดความยุ่งยากและต้นทุนในการผลิต

ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ 

ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ  กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันการศึกษาที่มีการผลักดันให้เกิดการพัฒนาผลงานนวัตกรรมที่ยั่งยืน เป็นประโยชน์ต่อสังคม ตลอดจนมุ่งใช้ศักยภาพของมหาวิทยาลัยในการตอบสนองและบริการสังคมด้วยการสร้างสรรค์ และบ่มเพาะองค์ความรู้สู่การสร้างสรรค์แนวทางแก้ไขปัญหาสังคม ทันต่อการปรับเปลี่ยน และการแข่งขันในระดับโลกอย่างยั่งยืน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้พลิกโฉมสู่มหาวิทยาลัยที่สร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสังคม (Innovations for Society) เน้นจุดยืนที่การพัฒนานวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์สังคม สร้างสรรค์ให้สังคมมีคุณภาพที่ดีขึ้นในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ ความเป็นอยู่ที่ดี จนถึงการส่งเสริมองค์ความรู้ที่สำคัญที่จะขับเคลื่อนสังคมให้ไปข้างหน้า

“ความร่วมมือของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับบริษัท เอนซไปร์ อินดัสตรี จำกัด บริษัทของคนไทยนับเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาและผลักดันนวัตกรรมถุงใส่ชิ้นเนื้อแบบเปิดได้เองสำหรับการผ่าตัดผ่านกล้อง หรือ Self-opening Endoscopic Bag ให้ออกสู่สังคม เพื่อยกระดับการบริการทางการแพทย์ให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน”  อธิการบดีจุฬาฯ กล่าว

ดร.พิชิต เลิศตำหรับ
กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอนซไปร์ อินดัสตรี จำกัด

ดร.พิชิต เลิศตำหรับ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอนซไปร์ อินดัสตรี จำกัด เผยว่านวัตกรรมถุง SEB เป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ที่จะช่วยให้ประเทศไทยมีอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ดี มีคุณภาพ และราคาถูก ลดการนำเข้าจากต่างประเทศได้ ซึ่งบริษัท เอนซไปร์ อินดัสตรี มุ่งเน้นการวิจัย พัฒนา และผลิตผลิตภัณฑ์ทางด้านการแพทย์และมีสถานที่ผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ได้รับมาตรฐานสากล พร้อมรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาต่อยอดเป็นนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ นอกจากนี้ บริษัทมองว่านวัตกรรมทางการแพทย์ชิ้นนี้มีศักยภาพสำหรับธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางในตลาดโลกได้ ทั้งนี้ ทางบริษัทฯ มีความยินดีอย่างมากที่จะช่วยผลักดันให้นวัตกรรมของจุฬาฯ สามารถต่อยอดเป็นนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม สร้างมูลค่าเชิงเศรษฐกิจ เพื่อให้คนไทยและประชาชนทั่วโลกได้รับการบริการทางการแพทย์ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนต่อไป

จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด

คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า