ข่าวสารจุฬาฯ

คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ให้บริการทางทันตกรรมฟรี ในวันทันตสาธารณสุขแห่งชาติดูแลสุขภาพช่องปากเพื่อคนไทย

เป็นประจำทุกปีที่คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ให้บริการทางทันตกรรมฟรีแก่ประชาชนทั่วไปเนื่องในวันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ ซึ่งตรงกับวันที่ 21 ตุลาคมของทุกปี เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี “พระมารดาแห่งการทันตสาธารณสุขไทย” และเพื่อเป็นการสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทางด้านทันตกรรมที่จะให้พสกนิกรชาวไทยมีสุขภาพช่องปากที่ดี ในแต่ละปีมีประชาชนทั่วไปเป็นจำนวนมากที่สนใจเข้ารับบริการทางทันตกรรมทั้งอุดฟัน ถอนฟัน และขูดหินปูนที่คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ในวันดังกล่าว

ผศ.ทญ.ดร.พิสชา พิทยพัฒน์

          ผศ.ทญ.ดร.พิสชา พิทยพัฒน์ รองคณบดีฝ่ายโรงพยาบาล และอาจารย์ประจำภาควิชารังสีวิทยา เชี่ยวชาญเฉพาะทางนิติทันตวิทยา คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ทางคณะฯ จึงไม่ได้จัดกิจกรรมบริการทางทันตกรรมฟรีมาเป็นระยะเวลา 2 – 3 ปี ในปีนี้เมื่อสถานการณ์ได้รับการควบคุมจนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติ ทางคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ จึงกลับมาจัดกิจกรรมการให้บริการแก่สาธารณชนอีกครั้งเมื่อวันที่ 21 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยให้บริการทางทันตกรรมแก่ประชาชนทั่วไป รวมถึงบุคคลที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านทันตกรรมได้ ผู้รับบริการทางทันตกรรมต้องผ่านมาตรการคัดกรองโรคโควิด-19 และงดเว้นให้บริการแก่ผู้ที่มีอาการไอเรื้อรัง เพราะทางคณะฯ คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้เข้ารับบริการและผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นสำคัญ

“เรามีฝ่ายลงทะเบียนรับบัตรคิว ฝ่ายคัดกรองทั่วไป ผู้มาเข้ารับบริการที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปจะต้องตรวจค่าความดันโลหิตก่อนการทำหัตถการ ในงานมีการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพช่องปากจากคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ “แบรนด์ คูฬเดนท์” (CUdent) และแจกผลิตภัณฑ์ยาสีฟันสำหรับเด็กให้ทดลองใช้ฟรีด้วย” ผศ.ทญ.ดร.พิสชา กล่าว


          บริการทางทันตกรรมของคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ มีทั้งการตรวจและรักษาสุขภาพภายในช่องปาก อุดฟัน ขูดหินน้ำลาย ถอนฟัน X-ray ฟันสำหรับผู้ที่ต้องการวินิจฉัย และผ่าฟันคุดจำนวน 83 ซี่ ตามปีก่อตั้งของคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ โดยเปิดรับคิวเบื้องต้นสำหรับผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ 900 คน และเด็ก 150 คน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ส่วนมาตรการหลังโควิดที่จะเป็นมาตรฐานใหม่โดยทั่วไปนั้น เมื่อออกหน่วยทันต  กรรมเคลื่อนที่หรือให้บริการที่คลินิกในโรงพยาบาลก็ต้องใส่ชุด PPE แบบกันน้ำเพื่อป้องกันละอองฝอยที่เกิดขึ้นระหว่างการทำฟันด้วย

“ก่อนช่วงโควิด ทางคณะฯ จะเปิดรับประชาชนทั่วไปเข้ารับบริการเกือบ 2,000 คน ปีนี้เป็นปีแรกที่กลับมาเปิดให้บริการจึงต้องจำกัดจำนวนในการเข้าใช้บริการเพื่อดูสถานการณ์ในภาพรวม และเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปีจะต้องมีผู้ปกครองมาด้วย ยิ่งช่วงโควิด ผู้ป่วยก็จะไม่กล้ามาทำฟัน ทำให้เจอปัญหาฟันมากขึ้น จึงอยากจะให้ประชาชนกลับมาดูแลสุขภาพฟันด้วยการมาพบทันตแพทย์ทุก 6 เดือนเหมือนเดิม” ผศ.ทญ.ดร.พิสชา กล่าว

          ปัญหาทางสาธารณสุขเกี่ยวกับสุขภาพช่องปากของคนไทยว่ามีปัจจัยหลากหลายด้าน ผศ.ทญ.ดร.พิสชา ให้ข้อมูลว่า ในสังคมเรายังมีหลายครอบครัวที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจ และขาดการเข้าถึงบริการทันตกรรม ภายในงานมีเวทีให้ความรู้เกี่ยวกับทันตสาธารณสุข ผู้ที่มารับบริการจะทราบถึงวิธีการแปรงฟันอย่างถูกวิธีเป็นอย่างไร เพราะเรื่องสุขภาพช่องปากเป็นเรื่องที่ต้องป้องกันและดูแลตั้งแต่เด็กฟันน้ำนมแรกขึ้น

“ฟันน้ำนมขึ้นแล้วควรจะต้องพาไปหาหมอฟัน เพราะตอนเด็กๆ ผู้ปกครองยังต้องคอยแปรงฟัน และใช้ไหมขัดฟันให้ โตขึ้นมาหน่อยก็จะต้องมีการสอนให้แปรงฟันอย่างถูกวิธี พอมีฟันแท้ขึ้นก็จะไม่มีปัญหาเรื่องฟันผุและโรคเหงือก ดังนั้นแนวทางการป้องกันไม่ให้เกิดโรคฟันผุจึงสำคัญ หากมีฟันผุหรือมีการสูญเสียฟันแล้ว ทางการแพทย์เรียกว่าต้องมา ‘บูรณะ’ มาแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ”

          สำหรับการใช้ยาสีฟันทั้งในเด็กและผู้ใหญ่นั้น ผศ.ทญ.ดร.พิสชา กล่าวเสริมว่า จะต้องใช้ยาสีฟันที่มีปริมาณฟลูออไรด์มาตรฐานถึง 1,500 PPM โดยมีงานวิจัยว่าปริมาณฟลูออไรด์ที่มากขึ้นจะป้องกันฟันผุได้ดีกว่า อีกประเด็นที่สำคัญที่ควรรณรงค์กับเด็กๆ และผู้ปกครองให้รับทราบโทษของ ‘น้ำตาล’ และการติดรสหวาน เช่น น้ำตาลในขนม-อาหาร การดื่มน้ำอัดลม ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายปัจจัยที่ทำลายฟัน และเป็นสิ่งที่ป้องกันได้ง่ายที่สุด อย่างน้อยการลดอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลคือการลดอาหารของแบคทีเรียในช่องปากได้

รศ.ทพ.ขจร กังสดาลพิภพ

          รศ.ทพ.ขจร กังสดาลพิภพ รองคณบดีฝ่ายกิจการนิสิต และอาจารย์ประจำภาควิชาปริทันตวิทยา เชี่ยวชาญเฉพาะทางโรคเหงือก คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งกำกับดูแลนิสิตทันตแพทย์ที่ให้บริการทางทันตกรรมเล่าถึงถึงบรรยากาศของกิจกรรมการให้บริการทางทันตกรรมที่คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ว่า ประชาชนมารอเข้าคิวตั้งแต่หกโมงเช้า ทางทีมทันตแพทย์เห็นรอยยิ้มของทุกคนที่ได้คิวแล้วก็รู้สึกมีกำลังใจ อยากจะให้บริการกับคนไข้อย่างเต็มที่ ตอนแรกคิดว่าจะรับได้ 900 คน แต่มีประชาชนที่มารับบริการเป็นจำนวนมากจึงเพิ่มเป็น 1,000 คน ภายในงานมีการให้ความรู้จากอาจารย์และนิสิตทันตแพทย์เกี่ยวกับการดูแลทันตกรรมด้วยตนเองและการรักษาที่เกี่ยวข้อง เรียกได้ว่ามางานเดียวได้ครบวงจรเรื่องทันตกรรม


“เรื่องสุขภาพช่องปากเป็นปัญหาที่สำคัญ คนไข้หนึ่งคนไม่ได้มีปัญหาเดียว แต่เนื่องจากปัจจัยหลายด้านทำให้ภายในหนึ่งวันสามารถให้บริการทางทันตกรรมแก่คนไข้ได้รายละหนึ่งอย่าง ทันตแพทย์จึงให้คำแนะนำในเบื้องต้นแก่คนไข้ว่าจะทำการรักษาภายหลังอย่างไรได้บ้าง สิ่งสำคัญคืออยากให้คนไข้ทุกคนตระหนักเรื่องของการดูแลอนามัยในช่องปากของตนเอง ป้องกันอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอในทุกๆ วัน เพื่อให้สุขภาพฟันดีอยู่กับคนไข้ไปนานๆ” รศ.ทพ.ขจร กล่าว

          รศ.ทพ.ขจร ให้ข้อมูลว่าการดูแลรักษาพยาบาลด้านทันตกรรม หากป้องกันแต่เนิ่นๆ และพบทันตแพทย์เป็นประจำอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง จะเสียค่าใช้จ่ายคนละประมาณ 3,000* บาทต่อปีเป็นอย่างต่ำ โดยคำนวณจากการรักษาขั้นพื้นฐานในการเข้ารับบริการอุดฟัน ขูดหินน้ำลาย ถอนฟัน ดังนั้นการจัดกิจกรรมให้บริการดูแลสุขภาพช่องปากในวันทันตสาธารณสุขแห่งชาติโดยคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายจะทำให้ประชาชนจำนวน 1,000 คนที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางทันตกรรม สามารถประหยัดเงินในการรักษาได้ถึง 915,000 บาทต่อปี โดยยังไม่รวมการรักษาของหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ในสถานที่ที่เข้าถึงบริการได้น้อยหรือทุรกันดาร เช่น ราชทัณฑ์ สถานพินิจ วัด ชุมชนห่างไกล ฯลฯ ถือเป็นการสร้างประโยชน์ต่อทันตสาธารณสุขของชาติ จากปณิธานของทันตแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน

          ตอบสนองพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรที่ว่า “การที่จะให้ชาวไร่ชาวนาที่อยู่ในท้องถิ่นห่างไกล ต้องทิ้งท้องไร่ท้องนาเข้ามาหาทันตแพทย์เมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับฟันหรือสุขภาพในช่องปาก ย่อมเป็นไปได้ยาก น่าที่ทันตแพทย์จะต้องเดินทางไปดูแลเป็นครั้งคราว” เป็นที่มาของ “หน่วยทันตกรรมพระราชทาน” ซึ่งเป็นหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2513 โดยมีทันตแพทย์จากจุฬาฯ จำนวน 2 คน และรถหนึ่งคัน พร้อมอุปกรณ์ทันตกรรมตระเวนไปตามอำเภอต่างๆ เริ่มต้นจากอำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และยังคงดำเนินงานจากรุ่นสู่รุ่นจนถึงทุกวันนี้

คุณอาริยา จันทร์ขจร

          คุณอาริยา จันทร์ขจร พยาบาลวิชาชีพ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ผู้ทำหน้าที่จิตอาสาในการให้บริการทางทันตกรรมเนื่องในวันทันตสาธารณสุขของคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า “รู้สึกภาคภูมิใจมากที่ได้ทำหน้าที่คัดกรองผู้ป่วยก่อนเข้าไปทำหัตถการแก่บุคคลที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางทันตกรรม อาจเป็นเพราะความกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายจึงทำให้ละเลยการทำทันตกรรมไป งานในครั้งนี้จึงมีประชาชนให้ความสนใจจำนวนมาก เนื่องจากจะได้รับการรักษาจากทันตแพทย์เฉพาะทางและได้รับคำแนะนำในการดูแลช่องปาก ทำให้คนไข้สามารถมาทำฟันได้อย่างต่อเนื่องทุกปี”

คุณพิษณุ มีหาฤทธิ์

          คุณพิษณุ มีหาฤทธิ์ ผู้รับบริการ กล่าวว่า “การให้บริการทางทันตกรรมของคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ สะดวกรวดเร็ว รอไม่นาน มีการจัดระเบียบการให้บริการที่ดี ทันตแพทย์ พยาบาลและนิสิตทันตแพทย์คอยแนะนำการให้บริการอย่างละเอียดว่าต้องทำขั้นตอนอะไรก่อนหลัง”

คุณพรพรรณ เนาวรัตน์สถาน

          คุณพรพรรณ เนาวรัตน์สถาน ผู้รับบริการ กล่าวว่าจุดให้บริการแต่ละจุดมีการจัดคิวเป็นระเบียบและสะอาดมาก แต่ละขั้นตอนใช้เวลารอไม่นาน คุณหมอให้คำแนะนำดีมาก จะบอกปัญหาของเราก่อนว่า มีจุดไหนที่ต้องแก้ไขบ้าง ให้คำแนะนำเรื่องการแปรงฟันและให้ไป X-ray เพื่อทำการรักษาต่อไป พอดีมีคนรู้จักแนะนำมาโรงพยาบาลคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ส่วนตัวมีความเชื่อใจหมออยู่แล้วเพราะเป็นของจุฬาฯ ด้วย ทุกครั้งที่มารู้สึกประทับใจ”

          ผู้สนใจรับบริการทางทันตกรรมกับคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถนนอังรีดูนังต์ โทร. 0-2218-8705 หรือติดตามรายละเอียดการให้บริการทางทันตกรรมได้ที่ http://www.dent.chula.ac.th/hospital/service.php

          สามารถสั่งซื้อผลิตภัณฑ์แบรนด์คูฬเดนท์ (CUdent) ผ่านช่องทางออนไลน์ได้ที่

Facebook: https://www.facebook.com/C.U.Dent.chula 

Line: https://shop.line.me/@dentchula

Shopee: https://shopee.co.th/cudent_products                                

Lazada: https://www.lazada.co.th/shop/cudent-products


*เป็นการประเมินเบื้องต้น โดยคำนวณจากค่าบริการทางทันตกรรมของโรงพยาบาลคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ (ในเวลาราชการ) ในบริการหัตการพื้นฐาน ขูดหินปูน อุดฟัน ถอนฟัน ในราคาสูงสุดที่ใกล้เคียงคลินิกทันตกรรมทั่วไป คูณด้วยจำนวนขั้นต่ำที่ทันตแพทย์แนะนำคือ ทุก 6 เดือน (2 ครั้งต่อปี) เงื่อนไขรายละเอียดการรักษาพยาบาลจะเป็นไปตามแต่ละหน่วยงานกำหนด ผู้เข้ารับการรักษาต้องศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม

จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม

รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า