SHECU จับมือภาครัฐและเอกชนจัดงาน Chula Safety 2023 สร้างความปลอดภัยสู่สุขภาวะในการทำงานที่ดีอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2566 ณ ชั้น 3 อาคารจามจุรี 9 ศ.ดร.จักรพันธ์ สุทธิรัตน์ รองอธิการบดี จุฬาฯ เป็นประธานเปิดงานสัปดาห์ความปลอดภัย ประจำปี 2566 หรือ Chula Safety 2023 ภายใต้แนวคิด “Wellwork & Wellbeing: Thriving Together ร่วมสร้างความปลอดภัยสู่สุขภาวะในการทำงานที่ดีอย่างยั่งยืน” จัดโดยศูนย์ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (SHECU) ร่วมกับคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (คปอ. จุฬาฯ) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย จุฬาฯ สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาฯ สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) และสมาคมส่งเสริมความปลอดภัยและอนามัยในการทำงาน (ประเทศไทย) ในพระราชูปถัมภ์ฯ
ในงานมีการปาฐกถาเกี่ยวกับนโยบาย แนวคิดการขับเคลื่อนงานด้านความปลอดภัยฯ ในหัวข้อ “ความร่วมมือในการขับเคลื่อนความปลอดภัยสู่สุขภาวะในการทำงานที่ดีอย่างยั่งยืน” (Wellwork & Wellbeing: Thriving Together) โดย ศ.ดร.ธีรยุทธ วิไลวัลย์ ผู้อำนวยการศูนย์ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม จุฬาฯ นายโสภณ พงษ์โสภณ ผู้จัดการสมาคมส่งเสริมความปลอดภัยและอนามัยในการทำงาน (ประเทศไทย) ในพระราชูปถัมภ์ฯ นายพฤทธ์ฤทธิ์ เลิศลีลากิจจา รองผู้อำนวยการ (วิชาการ) สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) รศ.ดร.เฉลิมชัย ชัยกิตติภรณ์ ที่ปรึกษาคณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ รศ.ดร.วัฒน์สิทธิ์ ศิริวงศ์ ประธานหลักสูตรวิทยาศาสตร์สาธารณสุข (ระดับปริญญาโทและเอก) วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาฯ
งาน Chula Safety 2023 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-18 สิงหาคม 2566 เพื่อมุ่งสร้างความตระหนักรู้ด้านความปลอดภัยฯ และส่งเสริมการสร้างสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีในการเรียนและการทำงานให้กับประชาคมจุฬาฯ และสาธารณะ รวมถึงปลูกฝังจิตสำนึกด้านความปลอดภัย มุ่งสร้างความร่วมมือในการสร้างสุขภาวะที่ดีไปด้วยกัน ภายในงานมีการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การเอาตัวรอดจากเหตุการณ์ Active Shooter” การอบรมเรื่อง “กินอยู่ดี ทำงานมีสุข (โภชนบำบัด)” การดับเพลิงและกู้ภัยจากเพลิงไหม้แบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า 5 วิธี DIY ห่างไกลออฟฟิศซินโดรม การอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “ท่ายืดเหยียดพิชิตอาการออฟฟิศซินโดรม” และ Safety talk “ร่วมสร้างประชาคมจุฬาฯ ปลอดภัยกับความท้าทายในการยกระดับความปลอดภัยรั้วจามจุรี” นอกจากนี้มีการจัดบูธสินค้านวัตกรรมและการบริการด้านความปลอดภัยและนิทรรศการ จากส่วนงานภายในจุฬาฯ และหน่วยงานเอกชนรวมกว่า 20 หน่วยงาน
















จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม
รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย