อาจารย์ นักวิจัยจุฬาฯ รับพระราชทานเกียรติบัตรทุนศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น วช. และทุนเมธีวิจัยอาวุโส วช. ประจำปี 2567 ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานในพิธีเปิดงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567 (Thailand Research Expo 2024) เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2567 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ โดยมีคุณศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กราบบังคมทูลรายงานการจัดงานและทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตรและหนังสือที่ระลึก ในโอกาสนี้ อาจารย์และนักวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานเกียรติบัตรทุนศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น วช. และทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัย (เมธีวิจัยอาวุโส) วช. ประจำปี 2567
อาจารย์และนักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้รับพระราชทานเกียรติบัตรทุนศาสตราจารย์วิจัยดีเด่นประจำปีงบประมาณ 2567 และทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัย (เมธีวิจัยอาวุโส) ประจำปีงบประมาณ 2567 มีดังนี้
ทุนศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น ประจำปีงบประมาณ 2567
⦁ ศ.ดร.โสรัจจ์ หงส์ลดารมภ์ คณะอักษรศาสตร์
⦁ ศ.ดร.อริยา อรุณินท์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
ทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัย (เมธีวิจัยอาวุโส) ประจำปีงบประมาณ 2567
⦁ ศ.ภก.ดร.ปิติ จันทร์วรโชติ คณะเภสัชศาสตร์
⦁ ศ.ดร.พัดชา อุทิศวรรณกุล คณะศิลปกรรมศาสตร์
⦁ ศ.ดร.สุจินดา มาลัยวิจิตรนนท์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ
⦁ ศ.ดร.สุเชษฐ์ ลิขิตเลอสรวง คณะวิศวกรรมศาสตร์

ทุนศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมการสร้างนักวิจัยอาชีพที่สามารถผลิตผลงานวิจัยคุณภาพสูง รวมถึงการสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่มีผลกระทบสูงทั้งทางด้านวิชาการ การพัฒนาต่อยอดงานวิจัยประยุกต์เชิงพาณิชย์ สาธารณะ หรือนโยบายที่จะนำไปสู่การขับเคลื่อนประเทศด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม อีกทั้งสร้างความเข้มแข็งให้เครือข่ายการวิจัย ระหว่างนักวิจัยและหน่วยงานชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ
ทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัย (เมธีวิจัยอาวุโส) เดิมจัดตั้งขึ้นจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และดำเนินการต่อภายใต้สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อสนับสนุนนักวิจัยอาวุโสในการสร้างนักวิจัยใหม่ที่มีความสามารถทางวิชาการสูง และเพื่อเป็นเกียรติในฐานะนักวิจัยที่สร้างผลงานดีเด่นมาตลอดชีวิต นอกจากจะมีผลงานในอดีตและเป็นแบบอย่างนักวิจัยที่ดีแล้ว ยังเป็นผู้ที่มีความสามารถในการผลิตผลงานคุณภาพสูงได้ต่อไป รวมถึงมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่อีกในอนาคต


จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด
คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย