ข่าวสารจุฬาฯ

“ไฟดับครั้งใหญ่ในยุโรป: จุดเปลี่ยนของความมั่นคงพลังงาน” จุฬาฯ ร่วมกับ กฟผ. ถอดบทเรียนจากสเปน–โปรตุเกส 2025 สู่แนวทางออกแบบระบบพลังงานอย่างสมดุล รับมือโลกที่ไม่แน่นอน

         ภายหลังเหตุการณ์ไฟฟ้าดับครั้งใหญ่ในประเทศสเปนและโปรตุเกสช่วงต้นปี 2568 ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตประชาชนหลายล้านคน ธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม และระบบโครงข่ายไฟฟ้าทั่วคาบสมุทรไอบีเรีย กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่สะท้อนความเปราะบางของระบบพลังงานยุโรปภายใต้สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ดังนั้นในภูมิภาคอื่นเช่นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงจำเป็นต้องหันกลับมาทบทวนระบบโครงข่ายไฟฟ้าของตนเองอย่างจริงจัง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันคาร์บอนเพื่อความยั่งยืน สถาบันวิจัยพลังงาน ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จึงจัดการบรรยายเรื่อง “ไฟดับครั้งใหญ่ในยุโรป : บทเรียนจากสเปน – โปรตุเกส 2025 และแนวทางรับมือและออกแบบระบบพลังงานอย่างสมดุล” เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2568 ณ TRUE LAB ชั้น 1 ตึก 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เพื่อร่วมกันถอดบทเรียนเชิงลึกจากเหตุการณ์ครั้งนี้ และประเมินความเปราะบางของระบบพลังงานในบริบทของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเชื่อมโยงผลกระทบจาก Climate Anomaly กับความมั่นคงของระบบโครงข่ายไฟฟ้า สู่แนวทางการออกแบบระบบพลังงานที่ยืดหยุ่น สมดุลยิ่งขึ้นสำหรับอนาคต

         รศ.ดร.วิทยา วัณณสุโภประสิทธิ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ประธานจัดงานกล่าวถึง เป้าหมายของการจัดงานในครั้งนี้ว่า “ไม่ใช่แค่ฟัง แต่เปลี่ยน” มุ่งหวังให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันของทุกภาคส่วน ทั้งผู้กำหนดนโยบาย วิศวกร นักวิจัย และภาคประชาชน เพื่อร่วมกันออกแบบระบบพลังงานไทยให้สามารถรับมือกับอนาคตที่ไม่แน่นอนได้อย่างสมดุล ยั่งยืน และมีศักยภาพในการฟื้นตัวอย่างแท้จริง

         ศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ผู้อำนวยการสถาบันคาร์บอนเพื่อความยั่งยืน กล่าวว่าการสัมมนาวิชาการครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นจริง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ไฟดับในสเปน–โปรตุเกสปี 2025 ทั้งในมิติเทคนิคและปรากฏการณ์ภูมิอากาศ ประเมินความเปราะบางของระบบพลังงานในบริบทของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เสนอแนวทางออกแบบระบบพลังงานที่มีความยืดหยุ่นและฟื้นตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งส่งเสริมความตระหนักรู้ในระดับผู้กำหนดนโยบาย วิศวกร นักวิจัย และสาธารณชน เพื่อเตรียมพร้อมและพัฒนานโยบายเชิงป้องกันในระดับประเทศและภูมิภาค

         ผู้เข้าร่วมฟังการบรรยายครั้งนี้ได้รับความรู้เชิงลึกจากกรณีศึกษาจริง พร้อมแนวทางการออกแบบระบบพลังงานที่สามารถฟื้นตัวได้ในภาวะวิกฤต และยังสามารถนำบทเรียนไปปรับใช้ในบริบทของไทยและภูมิภาคอาเซียนอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ

บทเรียนจากเหตุการณ์จริง: ปัจจัยเทคนิค และ ภูมิอากาศสุดขั้ว

         จากการวิเคราะห์เชิงเทคนิค เหตุการณ์ไฟดับในคาบสมุทรไอบีเรียครั้งนี้เกิดจากความซับซ้อนของหลายปัจจัย ทั้งการขาดความยืดหยุ่นในโครงข่ายไฟฟ้า การพึ่งพาพลังงานหมุนเวียนในสัดส่วนสูง โดยไม่มีระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) ที่เพียงพอ รวมถึงสภาพอากาศสุดขั้ว (Climate Anomaly) ที่ก่อให้เกิดคลื่นความร้อนและลมแรงผิดปกติ ส่งผลให้สายส่งไฟฟ้าเสียหายเป็นวงกว้างในเวลาอันสั้น เหตุการณ์นี้สะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายของระบบพลังงานยุคใหม่ ที่ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนจากทั้งธรรมชาติและโครงสร้างระบบที่กำลังเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน

ระบบพลังงานกับสภาพภูมิอากาศ: เมื่อ Climate Resilience กลายเป็นเรื่องจำเป็น

         ภายใต้บริบทของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้นในทุกภูมิภาค ระบบพลังงานไม่อาจพึ่งพาความเสถียรแบบเดิมได้อีกต่อไป ความสามารถในการฟื้นตัว (resilience) และความยืดหยุ่นของโครงข่ายจึงเป็นหัวใจสำคัญของการออกแบบระบบพลังงานในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่กำลังเร่งเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างไทยและอาเซียน

แนวทางรับมือและออกแบบระบบพลังงานแห่งอนาคต: สมดุล – ยืดหยุ่น – ฟื้นตัวได้

         จากบทเรียนของยุโรปชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการลงทุนเชิงระบบ เช่น การปรับปรุงโครงข่ายไฟฟ้า (Grid Modernization) ให้สามารถรับมือกับเหตุการณ์สุดขั้ว การพัฒนาและกระจายการใช้ระบบกักเก็บพลังงาน การจัดสรรสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนอย่างมีแผน ควบคู่กับพลังงานสำรอง และการสร้างระบบเตือนภัยและฟื้นฟูระบบอย่างรวดเร็วเมื่อเกิด blackout

         การถอดบทเรียนครั้งนี้ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานหลักของไทยร่วมแลกเปลี่ยน ทั้งในมิติวิชาการ วิศวกรรม และนโยบาย

                  คุณธวัชชัย สำราญวานิช รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศอาเซียนที่มีระบบไฟฟ้ามั่นคง เพราะว่าการวางแผนพัฒนาระบบไฟฟ้าของประเทศไทยครอบคลุมถึงกำลังผลิตไฟฟ้าและระบบส่งไฟฟ้าที่เหมาะสมเพียงพอกับความต้องการไฟฟ้าในรายภูมิภาค ที่ผ่านมา กฟผ.ได้มีการพัฒนาโครงข่ายระบบส่งไฟฟ้าระดับแรงดัน 500 เควี ให้เป็นแกนหลักในการเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าระหว่างภูมิภาค เพื่อเสริมความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้าของประเทศ ขณะที่ด้านวางแผนด้านปฏิบัติการ  (Operation Planning) ในการผลิตและส่งไฟฟ้า กฟผ. ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการควบคุมระบบไฟฟ้า เพื่อรักษาระดับของการผลิตและส่งจ่ายไฟฟ้าให้มีความเพียงพอกับความต้องการใช้ไฟฟ้า รวมถึงพิจารณาความมั่นคงระบบไฟฟ้ารองรับเหตุการณ์ฉุกเฉิน โดยการเตรียมความพร้อมกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองพร้อมจ่ายใน 3 ระดับ ประกอบด้วย

  • กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองพร้อมจ่ายทันที (Spinning Reserve) สามารถสั่งเพิ่มการผลิตและส่งจ่ายไฟฟ้าได้ทันทีที่ระบบมีความต้องการ ปัจจุบันกำหนดให้มีค่าไม่น้อยกว่า 800 เมกะวัตต์ ทุกช่วงเวลา (ปริมาณเท่ากับโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่สุดในระบบ)
  • กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองพร้อมจ่าย 5 นาที (Five Minutes Response Reserve) สามารถตอบสนองได้ภายในเวลา 5 นาที ในช่วงที่ระบบไฟฟ้ามีการเปลี่ยนแปลงความต้องการใช้ไฟฟ้า หรือเหตุการณ์ที่ความถี่ของระบบไฟฟ้าลดลงไปจากค่าปกติ ปัจจุบันกำหนดให้มีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองอย่างน้อย 750 เมกะวัตต์ และ
  • กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองพร้อมจ่าย (Operational Reserve) สามารถสั่งเดินเครื่องเพิ่มหรือขนานเครื่องเพิ่มการผลิตจากโรงไฟฟ้าที่มีความพร้อมเริ่มเดินเครื่อง ให้ส่งจ่ายไฟฟ้าหากระบบมีความต้องการ เพื่อรองรับหากเกิดเหตุการณ์ขัดข้อง ป้องกันปัญหาไฟดับ

          ปัจจัยแนวโน้มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มมากขึ้นทั่วโลกและเหตุการณ์ไฟฟ้าดับที่ยุโรปให้เห็นว่าเมื่อระบบไฟฟ้ามีผลของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นตามทิศทางการมุ่งสู่ในเรื่องพลังงานสีเขียว ดังนั้นต้องพัฒนาระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคงเพิ่มทั้งในด้านโรงไฟฟ้าหลักในการควบคุมการส่งจ่ายไฟฟ้าในภูมิภาคและโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ เพื่อสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และบริหารจัดการกำลังผลิตไฟฟ้าส่วนเกิน โดยนำพลังงานไฟฟ้ากลับมาใช้ในช่วงที่มีความต้องการไฟฟ้าสูง รวมถึงเทคโนโลยีการกักเก็บพลังงานแบตเตอรี่ (BESS) ที่มี Response Time เร็ว และการใช้อุปกรณ์เสริมแรงดันด้วย Reactive Power เช่น FACTS Device เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับบริเวณกว้างในประเทศไทย ทั้งนี้ กฟผ. ในฐานะที่ดูแลความมั่นคงระบบไฟฟ้าจะวางแผนและดูแลระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคงอย่างต่อเนื่องต่อไป

          รศ.ดร.สุรชัย ชัยทัศนีย์ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวในมุมมองเชิงวิชาการว่า เหตุการณ์ไฟฟ้าดับครั้งใหญ่ในสเปนและโปรตุเกสเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2568 ได้สร้างบทเรียนสำคัญให้กับระบบไฟฟ้าทั่วโลก โดยเฉพาะสำหรับประเทศไทยที่กำลังเดินหน้าสู่พลังงานสะอาด เหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่าเมื่อระบบไฟฟ้ามีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนสูงถึง 50-70% อาจจะมีความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบไฟฟ้าได้ สำหรับประเทศไทยที่ตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในอนาคต การเตรียมความพร้อมจึงเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งในด้านการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น ระบบกักเก็บพลังงาน (BESS), เทคโนโลยี Smart Grid รวมถึงการปรับปรุง Grid Code และนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถรองรับการผลิตไฟฟ้าของพลังงานหมุนเวียนในสัดส่วนที่สูงขึ้นได้ นอกจากนี้ การขยายตัวของพลังงานหมุนเวียนยังส่งผลต่อโครงสร้างต้นทุนของระบบไฟฟ้าโดยรวม เนื่องจากความไม่แน่นอนของการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์และลม อาจทำให้ต้องพึ่งพาโรงไฟฟ้าสำรองหรือระบบกักเก็บพลังงานมากขึ้น ซึ่งอาจจะพิจารณาได้เป็นส่วนหนึ่งของ Ancillary Services ซึ่งย่อมกระทบต่อค่าใช้จ่ายในการดูแลระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคง ดังนั้น นอกจากการลงทุนในเทคโนโลยีแล้ว ประเทศไทยจำเป็นต้องพิจารณาปรับนโยบายและกลไกตลาดไฟฟ้าให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงนี้ เพื่อสร้างสมดุลระหว่างความมั่นคงทางพลังงาน ความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม และราคาค่าไฟฟ้า

     ดร.พิมพ์สุภา เกาะช้าง นักวิจัยชำนาญการ สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาฯ เสนอแนวทางเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าไทย ควบคู่เป้าหมายพลังงานสะอาด จากเหตุการณ์ไฟฟ้าดับในยุโรป เป็นบทเรียนสำคัญที่สะท้อนถึงความจำเป็นในการออกแบบระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคงควบคู่กับการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน เพื่อให้ประเทศไทยสามารถเดินหน้าก้าวสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero Emissions ได้อย่างมั่นคงในระยะยาว โดยเสนอให้มีแผน Energy Resilience Roadmap ที่ครอบคลุมการพัฒนาเทคโนโลยีสนับสนุน เช่น ระบบกักเก็บพลังงานและกลไกสร้างเสถียรภาพของระบบไฟฟ้า พร้อมเปิดรับทางเลือกด้านพลังงานที่เหมาะสมกับบริบทของไทย เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านอย่างปลอดภัยและยั่งยืน

          รับชมการบรรยายย้อนหลังได้ทาง Facebook:  https://www.facebook.com/share/v/1HpdzS1mKP/

จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด

คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไอคอน PDPA

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า