ข่าวสารจุฬาฯ

จุฬาฯ จัดงานเปิดตัวโครงการยุติความรุนแรงและการข่มเหงรังแกในโรงเรียน “International Friends for Peace (IFP)” ครั้งที่ 4

งานเปิดตัวโครงการยุติความรุนแรงและการข่มเหงรังแกในโรงเรียน “International Friends for Peace (IFP)” จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมมือกับสถาบันสอนภาษาอังกฤษ โกลบิช อคาเดเมีย (ไทยแลนด์) และบริษัท โมเมนต์ เอ็ดยูเคชั่น จำกัด เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2568 ณ CU Plearn Space ชั้น 1 อาคารเปรมบุรฉัตร จุฬาฯ

โครงการ International Friends for Peace เป็นโครงการที่มีจุดมุ่งหมายในการส่งเสริมให้นักเรียนไทยในระดับมัธยมศึกษา ได้เรียนรู้ความหลายหลายทางวัฒนธรรมและสังคมเพื่อสร้างความตระหนักรู้ และความสามารถในการป้องกันปัญหาความรุนแรงในเยาวชนเมื่อเกิดปัญหาขึ้นกับตนเองหรือเพื่อนร่วมชั้นเรียนผ่านการเรียนรู้จากวิทยากรจากนานาชาติผู้มีประสบการณ์ตรง เพื่อนำความรูัในระดับสากลมาออกแบบนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาตามบริบทสังคมของตนเองผ่านการเรียนรู้การคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) และเผยแพร่สู่สาธารณชน ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเป็นการเปิดพื้นที่การแสดงความคิดเห็นของเยาวชนอย่างสร้างสรรค์ และเป็นการสร้างความภาคภูมิใจบนเวทีระดับประเทศในฐานะผู้นำสันติภาพ (Peace Leaders) ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมากในปี 2022 ถึง 2024

ในปี 2025 นี้ ทางโครงการนำโดยศูนย์กลางนวัตกรรมทางสังคมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดงานเปิดตัว  “Opening of International Friends for Peace 2025” เพื่อสร้างการรับรู้และแรงกระเพื่อมทางสังคมด้านปัญหาที่เกิดขึ้นกับเยาวชนในโรงเรียน ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของโครงการที่กำลังจะขึ้นในปีนี้ ภายใต้ธีม “ยุติความรุนแรงในยุค AI หรือ Ending Violence in the AI Era” โดยเน้นการเรียนรู้ด้านการออกแบบนวัตกรรมสำหรับแก้ไขปัญหาความรุนแรงในโรงเรียน เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาเยาวชนอย่างยั่งยืน โดยมี รศ.ดร.ปกรณ์ วรานุศุภากุล ผู้ช่วยอธิการบดีงานด้านการพัฒนานิสิต จุฬาฯ กล่าวต้อนรับ

ในงานมีการกล่าวถึงความสำเร็จของโครงการ International Friends for Peace ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา การนำเสนอนวัตกรรมแก้ไขปัญหาช่องว่างระหว่างวัย (Generation Gap) การเสวนาหัวข้อ “มุมมองต่อความรุนแรงในโรงเรียน” และการบรรยายพิเศษเรื่อง “Listen with Heart, Speak with Care: สื่อสารอย่างไรหเพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยในห้องเรียน”

รศ.ดร.ปกรณ์ วรานุศุภากุล ผู้ช่วยอธิการบดีงานด้านการพัฒนานิสิต จุฬาฯ กล่าวว่า “ปัจจุบันปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเยาวชน ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในโรงเรียน ชุมชน ตลอดจนบนโลกออนไลน์ ปัญหาเหล่านี้ส่งผลต่อทั้งทางร่างกาย และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทางจิตใจที่เราไม่อาจประเมินผลกระทบจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้ การจัดการแข่งขันโครงการ International Friends for Peace ในครั้งนี้ เป็นโครงการหนึ่งซึ่งเปิดพื้นที่ในการสะท้อนปัญหาเยาวชน จากเสียงของเยาวชนที่มีความมุ่งมันและตั้งใจในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยผ่านกระบวนการการเรียนรู้ ออกแบบนวัตกรรม และนำเสนอแนวทางการแก้ปัญหาออกสู่สาธารณชน”

คุณถิรพุทธิ์ ทิพยรัตน์ ผู้ร่วมก่อตั้งโครงการ International Friends for Peace เผยว่า “ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ความตั้งใจของพวกเราในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งโครงการ International Friends for Peace ไม่ได้ต้องการสร้างเพียงเวทีการแข่งขัน แต่ต้องการพัฒนาเยาวชนไทยให้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Changemakers) ที่มีพลังในการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนสังคม เราเชื่อมั่นในศักยภาพของเยาวชน เคารพในเสียงของพวกเขา และเชื่อว่าพวกเขาสามารถเปลี่ยนแปลงโลกในแบบที่พวกเขาเห็น การก้าวเข้าสู่ปีที่ 4 ของ IFP เป็นเครื่องสะท้อนว่า ปัญหาความรุนแรงในโรงเรียนยังคงมีอยู่จริง แต่ในขณะเดียวกัน เยาวชนยังมีความหวังและพลังในการสร้างการเปลี่ยนแปลง ความภาคภูมิใจของเรา ไม่ใช่แค่จำนวนผู้เข้าร่วม แต่คือการได้เห็นเยาวชนที่ผ่านโครงการเติบโตอย่างมั่นใจ เป็นผู้นำสันติภาพอย่างแท้จริง หลายคนกลับมาเป็นผู้นำ เป็นแรงขับเคลื่อนให้กับโครงการ หรือแม้แต่สร้างโครงการใหม่ ๆ ที่ต่อยอดแนวคิดของ IFP ออกไปสู่สังคมในวงกว้างสิ่งเหล่านี้เป็นแรงผลักสำคัญที่ทำให้เรามุ่งมั่นพัฒนาเวทีแห่งนี้ต่อไป”

ทีม “Champion” ผู้ชนะเลิศ โครงการ International Friends for Peace 2024 เสนอผลงาน “Able-Sustainable” นวัตกรรมเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียน และผู้ปกครอง โดยมีแบบทดสอบ และออกแบบกิจกรรมในครอบครัวอย่างเหมาะสม นอกจากการนพเสนอผลงาน หนึ่งในตัวแทนทีมชนะเลิศ ได้แบ่งปันความรู้สึกต่อโครงการฯ “หนูเชื่อว่าความรุนแรงในโรงเรียน แม้จะเป็นเรื่องที่คนทั่วไปบอกว่าเล็ก ๆ อย่างการบูลลี่ ก็สามารถทิ้งแผลในใจที่ไม่เคยหายไปได้ หนูอยากเป็นหนึ่งคนที่ช่วยหยุดวงจรเหล่านี้ เพื่อให้น้อง ๆ คนอื่นไม่ต้องเผชิญกับความรู้สึกเดียวดายเหมือนที่เคยมีคนผ่านมาแล้ว การได้เข้าร่วม IFP ทำให้หนูพบว่ามีคนอีกมากมายที่สนใจและห่วงใยเรื่องเดียวกัน หนูได้กำลังใจ ได้เรียนรู้ และได้แรงบันดาลใจที่จะลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม IFP ไม่ใช่แค่เวทีการแข่งขัน แต่เป็นพื้นที่ปลอดภัยที่ให้เยาวชนได้แบ่งปัน พูดถึงปัญหา และหาทางแก้ไขร่วมกัน” ความรู้สึกจากน้องวรัญญ์ศิญา แสงสมบุญ หนึ่งในตัวแทน Peace Leaders โครงการ International Friends for Peace 2024

“ห้องเรียนที่ปลอดภัยคือของขวัญที่มีค่าที่สุดสำหรับการเติบโตของเด็ก” ผศ.ดร.ชนิศา ตันติเฉลิม อาจารย์ประจำภาควิชาวิจัยและจิตวิทยาการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมบรรยายพิเศษในงาน Opening of International Friends for Peace 2025 เพื่อชี้ให้เห็นว่า การสื่อสารอย่างเข้าใจภายในจิตใจของเด็ก และการสร้าง Positive Behavior Learning Support ในห้องเรียน ไม่ใช่แค่ป้องกันความรุนแรงหรือการกลั่นแกล้งรังแก แต่คือการมอบพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กได้เติบโตอย่างภาคภูมิใจในความเป็นตัวเอง พร้อมเน้นย้ำว่า ครูและผู้ปกครอง คือผู้จุดประกายความหวังที่เปลี่ยนอนาคตของเด็กและสังคมได้อย่างแท้จริง

การจัดโครงการ International Friends for Peace ถือเป็นเวทีการแข่งขันที่เฟ้นหานักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-5 จากโรงเรียนทั่วประเทศ ผู้ที่มีความมุ่งมั่นและตั้งใจที่จะสะท้อนและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในเยาวชนโดยเฉพาะในโรงเรียน  เพื่อเปิดพื้นที่ให้กับเยาวชนในการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และออกแบบนวัตกรรมในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงดังกล่าว

โครงการ International Friend for Peace ครั้งที่ 4 เปิดรับสมัครนักเรียนเพื่อคัดเลือกเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ โดยรับสมัครตั้งแต่บัดนี้ – 16 มิถุนายน 2568 ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมได้ที่ IG: @ifp.thailand

จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด

คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไอคอน PDPA

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า