รู้จักจุฬาฯ
การบริหาร
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
Green University
Sustainability
ติดต่อจุฬาฯ
บริจาคให้จุฬาฯ
หลักสูตร
การสมัครเข้าศึกษา
หน่วยงานการศึกษา
บริการนิสิต
บริการวิชาการ
บริการทางการแพทย์
บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ
สารสนเทศและการสื่อสาร
พื้นที่สร้างสรรค์
ข่าวสารและความเคลื่อนไหว
วารสารจุฬาฯ
สาระความรู้
ข่าวสารจุฬาฯ
16 พฤษภาคม 2568
ข่าวเด่น, ความเป็นนานาชาติ
ในโอกาสสำคัญที่เรือตัดน้ำแข็ง “เสว่ยหลง 2” ของสาธารณรัฐประชาชนจีนเดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรก ระหว่างวันที่ 19 – 23 พฤษภาคม 2568 ณ ท่าเรือจุกเสม็ด การท่าเรือสัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เนื่องในโอกาสมหามงคลที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีทรงเจริญพระชนมายุ 70 พรรษา และในวาระครบรอบ 50 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย – จีน นับเป็นข่าวใหญ่ที่น่ายินดีอย่างยิ่งของประเทศไทยและวงการวิทยาศาสตร์ทางทะเลที่ได้มีโอกาสต้อนรับเรือสำรวจขั้วโลกขนาดใหญ่จากจีนลำนี้ ซึ่งเป็นเรือตัดน้ำแข็งลำแรกที่ต่อขึ้นในประเทศจีนที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการวิจัยทั้งขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้
ศ.ดร.วรณพ วิยกาญจน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาฯ เปิดเผยถึงความพิเศษของเรือตัดน้ำแข็ง “เสว่ยหลง 2” ว่า เป็นเรือวิจัยสำรวจขั้วโลกลำที่ 4 ของจีน มีสมรรถนะสูง และเป็นเรือลำแรกของโลกที่ใช้เทคโนโลยีในการตัดน้ำแข็งได้ทั้งขณะเดินหน้าและถอยหลัง สามารถตัดผ่านน้ำแข็งที่หนาถึง 1.5 เมตรได้ด้วยความเร็วประมาณ 2 – 3 นอต (ไมล์ทะเล/ชั่วโมง) โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมรรถนะในการตัดน้ำแข็งในขณะที่เรือถอยหลัง สามารถตัดน้ำแข็งที่มีความหนากว่า 10 เมตรได้ เรือตัดน้ำแข็งลำนี้มีความยาว 122.5 เมตร กว้าง 22.3 เมตร กินน้ำลึก 12 เมตร ระวางขับน้ำ 13,990 ตัน แบ่งพื้นที่ออกเป็น 10 ชั้น ประกอบด้วยห้องต่าง ๆ เช่น ห้องพักนักวิจัยและลูกเรือ ห้องสันทนาการ ห้องประชุม ห้องออกกำลังกาย โรงพยาบาลขนาดย่อมที่สามารถผ่าตัดฉุกเฉินได้ ห้องอ่านหนังสือ ลานจอดและโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ ห้องปฏิบัติงานวิจัยหลายประเภท ทั้งแล็บแห้งสำหรับงานด้านสมุทรศาสตร์หรือกายภาพ แล็บเปียกสำหรับงานด้านเคมีและชีวภาพ รวมถึงห้องเก็บตัวอย่างอุณหภูมิต่ำ พรั่งพร้อมด้วยเครื่องมือที่ทันสมัยในการสำรวจทางธรณี สมุทรศาสตร์ อากาศ บรรยากาศ ฯลฯ บริเวณดาดฟ้าชั้น 10 จะเป็นสะพานเดินเรือ มีห้องควบคุมการเดินเรือ ส่วนด้านบนดาดฟ้าสะพานเดินเรือจะมีเครื่องมือที่เป็นระบบอัตโนมัติในการเก็บข้อมูลสภาพอากาศ ลม ฝุ่นละออง หรืออื่น ๆ ซึ่งถือว่าครบครันสำหรับการปฏิบัติภารกิจในทะเลและบริเวณขั้วโลก
เรือเสว่ยหลง 2 สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ 90 คน โดยแบ่งออกเป็นลูกเรือ 40 คน ส่วนอีก 50 คน เป็นกลุ่มนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ หรืออื่น ๆ ที่ใช้เรือตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย โดยภารกิจหลักของเรือ ได้แก่ การสนับสนุนการสำรวจวิจัยขั้วโลกของนักวิจัยหรือนักวิทยาศาสตร์ จากสถาบันวิจัยขั้วโลกแห่งจีน (Polar Research Institute of China) หรือจากส่วนงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ภารกิจหลักอีกอย่างคือการสนับสนุนการปฏิบัติงานของสถานีวิจัยต่าง ๆ ของจีนในเขตขั้วโลก ผ่านการลำเลียงเสบียง อาหาร น้ำมัน อุปกรณ์ก่อสร้าง และอื่น ๆ ที่จำเป็น สำหรับภารกิจรองได้แก่ การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ขณะที่เรือเข้าแวะเข้าเทียบท่าตามเมืองท่าต่าง ๆ เมื่อมีโอกาส
การปฏิบัติงานในรอบปีหรือแต่ละฤดูกาลของเรือตัดน้ำแข็งเสว่ยหลง 2 เริ่มขึ้นในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน เมื่อขั้วโลกใต้กำลังจะย่างเข้าสู่ฤดูร้อน โดยออกจากนครเซี่ยงไฮ้แล้วมุ่งลงใต้ เพื่อไปรอรับคณะนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ชุดแรกที่จะมาลงเรือที่ประเทศออสเตรเลียหรือนิวซีแลนด์ ก่อนที่จะมุ่งหน้าเข้าสู่น่านน้ำทวีปแอนตาร์กติกหรือ Southern Ocean และเริ่มปฏิบัติการต่าง ๆ ตามที่ได้รับมอบหมายซึ่งแตกต่างกันในแต่ละฤดูกาล เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจ จึงเดินทางกลับมาแวะที่ออสเตรเลียหรือนิวซีแลนด์อีกครั้งช่วงต้นเดือนพฤษภาคมของปีถัดไป เพื่อส่งนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์กลับขึ้นบกก่อนที่เรือจะเดินทางกลับประเทศหลังจากนั้น เมื่อเสร็จสิ้นปฏิบัติการแอนตาร์กติก เรือเสว่ยหลง 2 ก็จะเริ่มปฏิบัติการอาร์กติกต่อไปในช่วงปลายเดือนกรกฏาคม โดยออกเดินทางขึ้นเหนือจนเสร็จสิ้นภารกิจในช่วงต้นเดือนตุลาคม
ในฤดูกาลปี 2568 นี้ การปฏิบัติงานของคณะนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ชุดสุดท้ายก่อนเดินทางมาแวะเยือนประเทศไทยและกลับนครเซี่ยงไฮ้ เป็นการศึกษาวิจัยระบบนิเวศทางทะเลในบริเวณทะเลรอสส์ (Ross Sea) ทางตอนใต้ของทวีปแอนตาร์กติก โดยเป็นปฏิบัติการร่วมระหว่างนักวิทยาศาสตร์กว่า 10 ประเทศบนเรือเสว่ยหลง 2 ปฏิบัติการครั้งนี้ทำให้เสว่ยหลง 2 ต้องกลับเข้าเทียบท่าที่เมือง Christchurch ประเทศนิวซีแลนด์ เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เพื่อแลกเปลี่ยนนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ชุดใหม่เพื่อปฏิบัติภารกิจ ซึ่งมีนักวิจัยไทย 1 คนที่ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วม ได้แก่ ดร.อุดมศักดิ์ ดรุมาศ นักวิจัยอาวุโส จากสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาฯ ซึ่งขณะนี้เสร็จสิ้นภารกิจดังกล่าวแล้ว และอยู่ระหว่างเดินทางกลับประเทศไทยพร้อมเรือตัดน้ำแข็งเสว่ยหลง 2 ด้วย
ด้วยสายพระเนตรและพระวิสัยทัศน์อันยาวไกลของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงให้ความสำคัญในเรื่องการศึกษาวิจัยขั้วโลก ทำให้ประเทศไทยมีการทำบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการกับจีนในการศึกษาวิจัยวิทยาศาสตร์ขั้วโลกเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2556 จากนั้นเป็นต้นมา จึงมีนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ไทยเข้าร่วมการศึกษาวิจัยดังกล่าวต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน และเนื่องในโอกาสมหามงคลที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 70 พรรษา พร้อมกับในวาระครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน ในปี 2568 นี้ จึงเป็นโอกาสอันดีที่จีน โดยสถาบันวิจัยขั้วโลกแห่งจีน ร่วมเทิดพระเกียรติพระองค์ท่าน นำเรือตัดน้ำแข็งเสว่ยหลง 2 เดินทางเข้ามาเยือนประเทศไทย ณ ท่าเรือจุกเสม็ด การท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ระหว่างวันที่ 19 – 23 พฤษภาคม 2568 ก่อนเดินทางกลับประเทศ ซึ่งเป็นการเยือนประเทศไทยครั้งแรกของเรือเสว่ยหลง 2 และเป็นการเดินทางออกนอกเส้นทางหลักในการสำรวจขั้วโลกของเรือเป็นครั้งที่ 2 หลังจากที่ครั้งแรกได้แวะเยือนฮ่องกงในเดือนเมษายน 2567 ปีที่ผ่านมาก่อนกลับนครเซี่ยงไฮ้
กิจกรรมที่จะเกิดขึ้น ณ ท่าเรือจุกเสม็ด การท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี จะมีพิธีรับเรือเข้าเทียบท่าในวันที่ 19 พฤษภาคม 2568 เวลา 09.00 น. จากนั้นจึงเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้ทำข่าวบนเรือเส่วยหลง 2 วันที่ 20 พฤษภาคม 2568 เวลา 10.00 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จเป็นองค์ประธานพระราชทานงานต้อนรับและเยี่ยมชมเรือ วันที่ 21 – 23 พฤษภาคม 2568 เปิดโอกาสให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนเป็นหมู่คณะสามารถเข้าเยี่ยมชมเรือได้ตามรอบที่กำหนด
นอกจากนั้น ยังมีกิจกรรมในพื้นที่อื่น อาทิ นิทรรศการ “เรือเสว่ยหลง 2 กับงานวิจัยขั้วโลก” ที่คริสตัล คอร์ท ชั้น 2 สยามพารากอน และหากท่านพลาดโอกาสนี้จะสามารถติดตามได้ในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ช่วงเดือนสิงหาคม 2568
ทั้งนี้จะมีงานประชุมวิชาการที่จัดขึ้นโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับสถาบันวิจัยขั้วโลกแห่งจีน ภายใต้หัวข้อ “Xuelong 2 and Beyond : Advancing Polar Research and Thailand – China Cooperation in a Changing Climate” ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2568 เวลา 09.00 – 13.00 น. ณ ห้องประชุมชั้น 7 อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พราษา (อาคารจามจุรี 10) เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ขั้วโลก โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะมีการบรรยายพิเศษและการเสวนาโดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากฝ่ายไทยและจีนในหัวข้อต่าง ๆ ที่น่าสนใจ
ศ.ดร.วรณพ เน้นย้ำถึงประโยชน์ที่คนไทยจะได้รับจากการที่เรือตัดน้ำแข็ง “เสว่ยหลง 2” ของสาธารณรัฐประชาชนจีนเดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรกว่า เป็นโอกาสที่เยาวชนและคนไทยจะได้เรียนรู้เทคโนโลยีล้ำสมัยของการสำรวจวิจัยขั้วโลกโดยเรือตัดน้ำแข็งลำนี้ และไม่เพียงด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลหรือสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับบริบทของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก และเป็นแรงบันดาลใจให้นักวิจัยไทยรุ่นใหม่มีส่วนร่วมในเวทีวิจัยระดับนานาชาติ
ท้ายสุด ศ.ดร.วรณพ ได้กล่าวเชิญชวนนิสิต นักศึกษา และประชาชนที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย งานนี้มีความสำคัญระดับโลก เพื่อเรียนรู้เทคโนโลยีล้ำสมัยของเรือวิจัย “เสว่ยหลง 2” ของจีน และแสดงให้เห็นว่านักวิทยาศาสตร์ไทยให้ความสำคัญของการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลและสิ่งแวดล้อมในระดับโลก
นิสิตเก่าศศินทร์ จุฬาฯ ก่อตั้งโครงการ SEA Bridge NextGen สร้างผู้นำรุ่นใหม่อาเซียน ตั้งเป้าผลิต Future Talents 20,000 คนต่อปี
การประชุมวิชาการโลกมุสลิม ประจำปี 2568 “BRICS โอกาสและความท้าทายต่อโลกมุสลิมและประเทศไทยภายใต้ระเบียบโลกที่เปลี่ยนไป”
29 พฤษภาคม 2568 เวลา 08.00 - 16.30 น.
การประชุมนักวิชาชีพสื่อ New.Now.Next Media Conference (N3Con) ครั้งที่ 15
29 - 31 พ.ค. 68
คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ
อธิการบดีจุฬาฯ บรรยายพิเศษในการประชุมวิชาการระดับชาติ ปขมท. ประจำปี 2568 บุคลากรจุฬาฯ ได้รับรางวัลบุคลากรสายสนับสนุนผู้มีผลงานดีเด่นแห่งชาติ ปขมท.
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เปิดรับสมัครนิสิตต่างชาติเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโท สาขาภาษาไทยในฐานะภาษาต่างประเทศ (ภาคในเวลาราชการ)
อบรมเชิงปฏิบัติการ “Work Smart with Notion” เรียนรู้การจัดระเบียบงานและชีวิตอย่างมืออาชีพ
23 พ.ค. 68
อาคารจามจุรี 9
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม
รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้ รายละเอียดคุกกี้