ข่าวสารจุฬาฯ

นักวิจัยจุฬาฯ ร่วมคณะสำรวจ “แอนตาร์กติก” บนเรือตัดน้ำแข็ง “เสว่ยหลง” จากจีน ตามรอยไมโครพลาสติก ถอดรหัสผลกระทบโลกร้อน สู่จิ๊กซอว์ความรู้เพื่อโลก

           การมาเยือนประเทศไทยเป็นครั้งแรกของเรือตัดน้ำแข็งสำรวจขั้วโลกใต้จากสาธารณรัฐประชาชนจีน “เสว่ยหลง 2” (Xue Long 2) ระหว่างวันที่ 19 – 23 พฤษภาคม 2568 เป็นโอกาสพิเศษครั้งสำคัญที่ประเทศไทยได้มีโอกาสต้อนรับการมาเยือนของเรือตัดน้ำแข็งสำรวจขั้วโลกใต้จากสาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่างประเทศไทย – ประเทศจีน เนื่องในโอกาสมหามงคลที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีทรงเจริญพระชนมายุ 70 พรรษา และในวาระครบรอบ 50 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-จีน ในปี 2568  

         

             เรือ “เสว่ยหลง 2” ได้มาเทียบท่าเรือจุกเสม็ด การท่าเรือสัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เมื่อเช้าวันที่ 19 พฤษภาคม 2568 โดยมี พล.ร.ต.ธำรง สุพรรณพงศ์ ผอ.กทส.ฐท.สส. ผู้แทนฐานทัพเรือสัตหีบ พร้อมด้วย ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ให้การต้อนรับนายเสียว ชื่อหมิง ผู้บังคับการเรือเสว่ยหลง 2 พร้อมด้วยนักวิจัยและคณะลูกเรือ หนึ่งในนั้นคือ ดร.อุดมศักดิ์ ดรุมาศ นักวิจัยอาวุโสจากสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาฯ ซึ่งเป็นนักวิจัยไทยเพียงหนึ่งเดียวที่ได้รับคัดเลือกให้ร่วมเดินทางไปกับเรือวิจัยสำรวจขั้วโลกลำที่ 4 ของจีนลำนี้ และเป็นเรือลำแรกของโลกที่มีสมรรถนะสูงในการตัดน้ำแข็งได้ทั้งขณะเดินหน้าและถอยหลัง นับเป็นเรือสำรวจอัจฉริยะที่ทันสมัยที่สุดลำหนึ่งของโลก

           

           ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กล่าวว่าการมาเยือนประเทศไทยของเรือเสว่ยหลง 2 ในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสอันล้ำค่าที่นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยไทย รวมถึงเยาวชนและประชาชนชาวไทยจะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์โดยตรงกับทีมวิจัยระดับแนวหน้าของจีน ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการสำรวจขั้วโลก นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมพิเศษที่จะจัดขึ้นควบคู่กับการมาเยือนของเรือเสว่ยหลง 2 ได้แก่ การจัดนิทรรศการ “Xue Long 2 and See the Unseen in Polar Region” ระหว่างวันที่ 14 – 25 พฤษภาคม 2568 ณ Crystal Court ชั้น 2 ศูนย์การค้าสยามพารากอน และการเสวนาระหว่างนักวิทยาศาสตร์ผู้มีประสบการณ์เดินทางไปสำรวจขั้วโลกใต้ด้วยเรือเสว่ยหลง 2 กับเยาวชนไทย กิจกรรมเผยแพร่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์สู่สาธารณชนของนักวิทยาศาสตร์ไทยและจีนที่เคยเดินทางไปสำรวจขั้วโลกใต้ด้วยเรือเสว่ยหลง 2 การประชุมวิชาการ “Xuelong 2 and Beyond : Advancing Polar Research and Thailand – China Cooperation in a Changing Climate” “ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดขึ้น ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2568 ณ ห้องประชุมชั้น 7 อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา (อาคารจามจุรี 10) และพิธีอำลาเรือเสว่ยหลง 2 โดยในระหว่างที่เรือจอดเทียบท่าเรือจุกเสม็ด จะมีการนำคณะลูกเรือเข้าร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและเยี่ยมชมความงดงามของศิลปวัฒนธรรมไทย ณ สวนนงนุช พัทยา อีกด้วย

           ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวถึงความร่วมมือในการต้อนรับเรือตัดน้ำแข็งเสว่ยหลง 2 ว่า อพวช.มุ่งมั่นส่งเสริมวิทยาศาสตร์สู่สังคม โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้เยาวชนได้เรียนรู้จากการวิจัยระดับนานาชาติ ซึ่งในครั้งนี้ อพวช.ได้ร่วมจัดนิทรรศการ “Xue Long 2 and See the Unseen in Polar Region” เพื่อเปิดโลกวิทยาศาสตร์ขั้วโลกให้กว้างขึ้น ผู้ชมจะได้เห็นความสำคัญของการวิจัยขั้วโลกผ่านนักวิจัยไทย และเทคโนโลยีสำรวจอันล้ำสมัยของจีน นิทรรศการนี้จัดที่สยามพารากอน ระหว่างวันที่ 14-25 พฤษภาคม 2568 และท่าเรือจุกเสม็ด ระหว่างวันที่ 20 – 23 พฤษภาคม 2658 จากนั้น อพวช.มีแผนนำนิเทรรศการไปจัดแสดงต่อที่จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. เดอะ สตรีท รัชดา เพื่อให้ประชาชนที่พลาดโอกาสสามารถเข้าถึงความรู้เกี่ยวกับการสำรวจขั้วโลกใต้ นอกจากนี้ อพวช. ยังร่วมกับมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จัดกิจกรรม Research show by Naturalist 2025 หัวข้อ “Miracle of Polar: มหัศจรรย์แห่งขั้วโลก” โดยเชิญนักวิจัยขั้วโลกตามโครงการพระราชดำริฯ มาถ่ายทอดประสบการณ์และสร้างแรงบันดาลใจแก่เยาวชนผ่านงานวิจัยต่าง ๆ กิจกรรมนี้จัดทุกเสาร์ที่ 3 ของเดือน ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงสิ้นปี เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องอีกด้วย

           นายเสียว ชื่อหมิง ผู้บังคับการเรือเสว่ยหลง 2 กล่าวว่า เรือเสว่ยหลง 2 เป็นเรือสำรวจขั้วโลกลำที่ 4 ของจีน และถือเป็นเรือสำรวจขั้วโลกลำแรกของจีนที่สร้างขึ้นเองทั้งหมดภายในประเทศ เป็นเรือตัดน้ำแข็งขนาดกลางที่มีความทันสมัยและมีสมรรถนะสูงที่สุดลำหนึ่งของโลก ด้วยเทคโนโลยีการตัดน้ำแข็ง 2 ทิศทาง ทำให้สามารถตัดน้ำแข็งหนา 1.5 เมตรพร้อมเดินทางด้วยความเร็ว 2-3 น็อต ทำให้เดินทางผ่านแผ่นน้ำแข็งได้หลายทิศทางอย่างคล่องตัว หัวเรือส่วนใต้น้ำถูกออกแบบเป็นพิเศษให้มีความแข็งแรง สามารถชนและไต่ขึ้นบนแผ่นน้ำแข็ง พร้อมแรงกดที่ช่วยแยกน้ำแข็งเพื่อให้เรือสามารถเคลื่อนที่ต่อไปได้

           ศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาฯ และรองกรรมการผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาฯ นักวิทยาศาสตร์หญิงไทยที่ไปสำรวจขั้วโลกใต้ร่วมกับคณะสำรวจทวีปแอนตาร์กติกของจีนเมื่อปลายเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เล่าว่าสิ่งที่ท้าทายในการสำรวจขั้วโลกใต้ในปีที่ผ่านมาคือลมที่แรงมาก สภาพแวดล้อมและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อน ปรากฏการณ์น้ำแข็งละลายส่งผลให้เกิดโรคอุบัติใหม่ในสัตว์ทะเล เช่น เชื้อแบคทีเรียแปลกใหม่ หรือพยาธิในตัวปลา รวมถึงประชากรนกเพนกวินลดลงจากการเปลี่ยนแปลงของแหล่งอาหารที่ไม่สมบูรณ์เหมือนเดิม นอกจากนี้ไมโครพลาสติกยังเป็นปัญหาที่อาจเดินทางไกลจากมลพิษของโลกไปยังพื้นที่ห่างไกลที่สุดซึ่งแม้บางจุดเราจะไม่พบไมโครพลาสติกเลย แต่ทีมที่ลงพื้นที่เร็วกว่าเราพบว่ามีไมโครพลาสติกปะปนอยู่ในน้ำแข็ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าขั้วโลกใต้กำลังกลายเป็นจุดสะสมของของเสียจากทั่วโลก

           ศ.ดร.สุชนา กล่าวว่าสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นคนไทยคนแรกที่เดินทางไปยังแอนตาร์กติก สำหรับนักวิทยาศาสตร์ไทยคนแรกที่เดินทางไปสำรวจวิจัยในแอนตาร์กติกคือ ศ.ดร.วรณพ วิยกาญจน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาฯ  สำหรับการคัดเลือกนักวิจัยไทยไปร่วมภารกิจสำรวจขั้วโลกในครั้งนั้นเกิดจากโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น หลังจากนั้นจึงเกิดโครงการส่งนักวิจัยไทยไปสำรวจสภาพภูมิกาศที่เปลี่ยนแปลงที่ขั้วโลกโดยความร่วมมือกับประเทศจีน โดยประเทศไทยมีโควตาส่งนักวิจัยเข้าร่วมปีละประมาณ 2 คน ซึ่งต้องผ่านเกณฑ์คัดเลือกที่เข้มงวด ทั้งด้านวิชาการ ความสอดคล้องกับทิศทางการวิจัยของประเทศเจ้าภาพ ซึ่งการไปแอนตาร์กติกไม่ใช่แค่ความพร้อมทางร่างกาย แต่ต้องมีสุขภาพใจที่เข้มแข็งด้วย เพราะนักวิจัยต้องอยู่ท่ามกลางสภาพอากาษที่หนาวเย็นเป็นเวลานานหลายเดือน

           อย่างไรก็ตาม ภารกิจสำรวจแอนตาร์กติกาไม่ใช่แค่การเก็บตัวอย่างเท่านั้น แต่เป็นการสร้างองค์ความรู้ระดับโลก ศ.ดร.สุชนาเปรียบเทียบว่างานวิจัยที่นักวิจัยไทยเก็บตัวอย่างจากขั้วโลกมาศึกษาและประมวลผลนั้น เปรียบเสมือนการนำจิ๊กซอว์  ชิ้นเล็ก ๆ มาประกอบกันทำให้เห็นเป็นภาพรวมแสดงให้เห็นว่าสถานการณ์โลกในด้านสิ่งแวดล้อมและภูมิอากาศของโลกในปัจจุบันเป็นอย่างไร การส่งนักวิจัยไทยไปศึกษาวิจัยขั้วโลกในโครงการตามแนวพระราชดำริฯ  มีงานวิจัยด้านต่าง ๆ นอกจากสมุทรศาสตร์แล้วยังมีงานวิจัยหลากหลาย เช่น ธรณีวิทยาและฟอสซิล ฟิสิกส์ ดาราศาสตร์ ฯลฯ

           ดร.อุดมศักดิ์ ดรุมาศ นักวิจัยอาวุโส จากสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาฯ หนึ่งในนักวิจัยผู้ร่วมเดินทางกับเรือ “เสว่ยหลง 2” ได้เล่าถึงภารกิจบนเรือสำรวจขั้วโลกใต้ลำนี้ว่า ได้ทำหน้าที่สำรวจไมโครพลาสติกในทะเลลึก ตะกอนดิน สิ่งมีชีวิต และผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่กำลังเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ธรรมชาติ ณ ขั้วโลกใต้ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในพื้นที่สำคัญที่สุดของโลกที่สะท้อนการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบของสิ่งแวดล้อม กระบวนการเก็บตัวอย่างไมโครพลาสติกจากน่านน้ำบริเวณขั้วโลกใต้เริ่มจากนอกเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศนิวซีแลนด์ ไปจนถึงน่านน้ำของทวีปแอนตาร์กติกา โดยใช้เครื่องมือ 2 ชนิดหลัก ได้แก่ ระบบกรองน้ำความดันสูงบนเรือ และเครื่อง CTD ซึ่งเป็นเครื่องมือวัดคุณสมบัติน้ำทะเลในระดับความลึกสูงสุดกว่า 4,000 เมตร โดยการเก็บตัวอย่างนี้ช่วยให้นักวิจัยสามารถวิเคราะห์ระดับการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกและศึกษาลักษณะทางกายภาพของน้ำทะเลได้อย่างละเอียด ซึ่งได้มีการเก็บตัวอย่างตะกอนดินทะเลด้วยการหย่อนอุปกรณ์ลงไปยังระดับความลึกต่าง ๆ โดยจะนำกลับมาวิเคราะห์ในห้องแล็บของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยต่อไป

           นอกจากนี้ ดร.อุดมศักดิ์ ยังได้เล่าถึงความท้าทายในการเดินทางไปปฏิบัติภารกิจกับเรือเสว่ยหลง 2 ว่า การทำงานวิจัยในแอนตาร์กติกาเต็มไปด้วยความยากลำบาก ท่ามกลางอุณหภูมิติดลบกว่า 25 องศาเซลเซียส บวกกับลมความเร็วสูง 60–80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แม้จะใส่ชุดกันหนาวครบถ้วน แต่เนื่องจากลมที่แรงทำให้ไม่สามารถยืนกลางแจ้งได้นาน หิมะพัดแรงจนหิมะเกาะตามหน้ากากและจมูก กลายเป็นน้ำแข็งทันที อากาศแห้งมาก หายใจลำบาก เหนื่อยง่ายและเสียน้ำโดยไม่รู้ตัว  ต้องดูแลตัวเองอย่างดีตลอดเวลา ถึงแม้สภาพแวดล้อมจะท้าทาย แต่ทีมงานทุกคนบนเรือกลับมีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีผู้ใดป่วยขอบคุณกัปตันเรือและลูกเรือทุกคนที่เป็นพี่น้องทำงานร่วมกันในสภาพอากาศที่หนาวเย็นเป็นน้ำแข็ง ทำงานทั้งกลางวันกลางคืน บนเรือมีระบบความปลอดภัยที่สูงมาก

           เรือเสว่ยหลง 2 มีความยาว 122.5 เมตร ความกว้าง 22.3 เมตร กินน้ำลึก 12 เมตร และมีระวางขับน้ำ 13,990 ตัน สามารถรองรับลูกเรือได้ 40 นาย และนักวิจัยได้อีก 50 นาย รวมทั้งสิ้น 90 ชีวิต ภารกิจหลักของเสว่ยหลง 2 คือการสนับสนุนการสำรวจวิจัยขั้วโลกในหลากหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลก ธารน้ำแข็งวิทยา วิทยาศาสตร์ทางทะเล วิทยาศาสตร์บรรยากาศ ธรณีวิทยาและธรณีฟิสิกส์ นิเวศวิทยาและชีววิทยา รวมถึงการศึกษาสิ่งแวดล้อม ทั้งในแผนงานระยะสั้นและระยะยาว นอกจากนี้ เรือยังมีบทบาทสำคัญในการรับส่งนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย พร้อมเครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ รวมถึงการขนส่งเสบียง อาหาร เชื้อเพลิง และอุปกรณ์ก่อสร้างสำหรับสถานีวิจัยของจีนทั้งที่ขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ เสว่ยหลง 2 เป็นเรือที่ติดตั้งเซ็นเซอร์ตรวจวัดหลายชนิด ครอบคลุมการสำรวจที่หลากหลาย พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย อีกทั้งยังมีเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัยสำหรับการประมวลผลข้อมูลทั้งด้านปฏิบัติการและการวิจัย นอกจากนี้ เรือยังถูกออกแบบมาพร้อมเทคโนโลยีสะอาด SCR (Selective Catalytic  Reduction) เพื่อลดการปล่อยมลพิษในเขตขั้วโลกที่อยู่ในระดับสูงกว่ามาตรฐานทั่วไป

จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด

คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไอคอน PDPA

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า