ข่าวสารจุฬาฯ

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จฯ ไปในพิธีต้อนรับเรือตัดน้ำแข็ง “เสว่ยหลง 2” เยือนประเทศไทย ณ ท่าเรือจุกเสม็ด ฐานทัพเรือสัตหีบ จ.ชลบุรี

             เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2568  สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปยังสโมสรกรมอู่ทหารเรือ ฐานทัพเรือสัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ในพิธีต้อนรับเรือตัดน้ำแข็งเสว่ยหลง 2 เยือนประเทศไทย เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีทรงเจริญพระชนมายุ 70 พรรษา 2 เมษายน 2568 และเฉลิมฉลองในวาระครบ 50 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-จีน ปี 2568 ในการนี้ ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาฯ ได้เข้ารับพระราชทานโล่ประกาศเกียรติคุณมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ และร่วมรับเสด็จด้วย

              การเดินทางมาเยือนประเทศไทยของเรือเสว่ยหลง 2 ระหว่างวันที่ 19 – 23 พฤษภาคม 2568 ณ ท่าเรือจุกเสม็ด การท่าเรือสัตหีบ ฐานทัพเรือสัตหีบ จ.ชลบุรี ภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจสำรวจทวีปแอนตาร์กติกา ก่อนเดินทางกลับสู่สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือทางวิชาการระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และเสริมสร้างความเข้าใจด้านสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งเป็นการสร้างแรงบันดาลใจแก่เยาวชน และส่งเสริมความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นของทั้งสองประเทศ

              จากนั้น สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จฯ ไปยังท่าเรือจุกเสม็ด การท่าเรือสัตหีบ ฐานทัพเรือสัตหีบ ทอดพระเนตรภายในเรือเสว่ยหลง 2  ในโอกาสนี้ ศ.ดร.วรณพ วิยกาญจน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาฯ และ ศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาฯ ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ไทยที่เดินทางไปสำรวจขั้วโลกใต้ ได้ร่วมรับเสด็จด้วย

              เรือเสว่ยหลง 2 เป็นเรือสำรวจขั้วโลกลำที่ 4 ของจีน และถือเป็นเรือสำรวจขั้วโลกลำแรกของจีนที่สร้างขึ้นเองทั้งหมด เป็นเรือตัดน้ำแข็งขนาดกลางที่มีความทันสมัย และมีสมรรถนะสูงที่สุดลำหนึ่งของโลก มีความยาว 122.5 เมตร กว้าง 22.3 เมตร กินน้ำลึก 12 เมตร สามารถรองรับลูกเรือได้ 40 คน และนักวิจัยอีก 50 คน มีภารกิจหลักในการสนับสนุนการสำรวจวิจัยขั้วโลกในหลากหลายสาขา ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลก ธารน้ำแข็งวิทยา วิทยาศาสตร์ทางทะเล วิทยาศาสตร์บรรยากาศ ธรณีวิทยาและธรณีฟิสิกส์ นิเวศวิทยาและชีววิทยา รวมถึงการศึกษาสิ่งแวดล้อมทั้งในแผนระยะสั้นและระยะยาว นอกจากนี้ยังมีบทบาทสำคัญในการรับ-ส่งนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย พร้อมเครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ รวมถึงการขนส่งเสบียง อาหาร เชื้อเพลิง และอุปกรณ์ก่อสร้างสำหรับสถานีวิจัยของจีนทั้งที่ขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ ได้รับการยกย่องว่าเป็นเรือสำรวจอัจฉริยะที่ทันสมัยที่สุดลำหนึ่งของโลก ด้วยการติดตั้งเซนเซอร์ตรวจวัดหลายชนิด ครอบคลุมการสำรวจที่หลากหลาย มีเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัย สำหรับการประมวลผลข้อมูลทั้งด้านปฏิบัติการและการวิจัย ภายในมีสิ่งอำนวยความสะดวก รวมถึงห้องพัก โรงพยาบาล คลินิกรักษาพยาบาล ห้องสมุด และห้องปฏิบัติการ

              สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีมีพระราชดำริให้นักวิจัยไทยเข้าร่วมการศึกษาวิจัยวิทยาศาสตร์ขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ เพื่อพัฒนาความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ขั้วโลกของประเทศให้ทัดเทียมกับนานาชาติ จากการเสด็จฯ เยือนสำนักบริหารกิจการทางทะเล ณ กรุงปักกิ่ง และสถาบันวิจัยขั้วโลกแห่งจีน ณ นครเซี่ยงไฮ้ ในปี 2556 ทำให้เกิดความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ขั้วโลกระหว่างมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของไทย กับสำนักงานบริหารกิจการขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้จีน และสถาบันวิจัยขั้วโลกแห่งจีน เพื่อสร้างความร่วมมือในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับขั้วโลกในด้านต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการเตรียมการรองรับสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เปิดโอกาสให้นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยของไทยได้ไปร่วมสำรวจศึกษาวิจัยในพื้นที่ขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ กับคณะสำรวจของสถาบันวิจัยขั้วโลกแห่งจีน ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบันจำนวน 17 คน นอกจากนี้ ยังทำให้ประเทศไทยได้เข้าร่วมในเวทีความร่วมมือระดับภูมิภาค คือการประชุมเรื่องวิทยาศาสตร์ขั้วโลกของกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชีย เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ส่งเสริมการวิจัย และพัฒนาศักยภาพของนักวิทยาศาสตร์ในเอเชียให้มีบทบาทในเวทีขั้วโลกอย่างเข้มแข็ง

จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม

รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไอคอน PDPA

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า