ข่าวสารจุฬาฯ

จุฬาฯ จัดประชุมวิชาการนานาชาติ “เสว่ยหลง 2 และอนาคต” เสริมความร่วมมือไทย–จีน ด้านการวิจัยขั้วโลกและการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับคณะกรรมการภาคีวิทยาศาสตร์ขั้วโลกแห่งประเทศไทย (Polar Science Consortium of Thailand – PSCT) และสถาบันวิจัยขั้วโลกแห่งประเทศจีน (Polar Research Institute of China – PRIC) จัดประชุมวิชาการนานาชาติหัวข้อ “เสว่ยหลง 2 และอนาคต: การพัฒนาการวิจัยขั้วโลกและความร่วมมือไทย–จีนในสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง” (Xue Long 2 and Beyond: Advancing Polar Research and Thailand–China Cooperation in a Changing Climate) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2568 ณ ห้องประชุมชั้น 7 อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา (อาคารจามจุรี 10)

การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีทรงเจริญพระชนมายุ 70 พรรษา และฉลองวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และการวิจัยขั้วโลกระหว่างสองประเทศ รวมถึงการรับมือกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในงานมีการนำเสนอข้อมูลล่าสุดจากภารกิจสำรวจขั้วโลกใต้ของเรือตัดน้ำแข็ง “เสว่ยหลง 2” โดยคณะนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิจัยขั้วโลกแห่งประเทศจีน (Polar Research Institute of Chins :PRIC)

พิธีเปิดงานและกล่าวต้อนรับโดย รศ.ดร.ปาลนี อัมรานนท์ รองอธิการบดี จุฬาฯ  Mr. Sun Shuxian ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติแห่งประเทศจีน และ ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ เลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จากนั้นเป็นการบรรยายและเสวนาวิชาการจากนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของไทยและจีน ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยขั้วโลก เทคโนโลยีอวกาศทางดาราศาสตร์ ระบบนิเวศทางทะเล การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนแนวทางการส่งเสริมเยาวชนในเวทีวิทยาศาสตร์โลก

ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ เลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี กล่าวถึงการประชุมในครั้งนี้ว่า เป็นหนึ่งใน 9 กิจกรรมหลัก ภายใต้โครงการความร่วมมือไทย–จีน ซึ่งจัดขึ้นในโอกาสการเดินทางเยือนประเทศไทยของเรือตัดน้ำแข็ง “เสว่ยหลง 2” ระหว่างวันที่ 19–23 พฤษภาคม 2568 ณ ฐานทัพเรือสัตหีบ โดยเรือได้แวะพักระหว่างทางกลับจากภารกิจสำรวจทวีปแอนตาร์กติกาก่อนไปยังนครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน นอกจากการประชุมวิชาการแล้ว จุฬาฯ ยังได้จัดกิจกรรมสื่อสารสาธารณะควบคู่ไปด้วย เช่น การเยี่ยมเยาวชนในจังหวัดระยอง นิทรรศการแสดงข้อมูลเกี่ยวกับเรือตัดน้ำแข็ง “เสว่ยหลง 2” ณ ชั้น 2 ศูนย์การค้าสยามพารากอน เพื่อให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงองค์ความรู้ด้านการวิจัยขั้วโลก

ศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาฯ และนักวิทยาศาสตร์หญิงไทยคนแรกที่ร่วมภารกิจสำรวจขั้วโลกใต้ กล่าวว่า แม้ประเทศไทยจะอยู่ห่างจากขั้วโลกใต้กว่าหนึ่งหมื่นกิโลเมตร แต่ผลกระทบจากการละลายของน้ำแข็งส่งผลโดยตรง เช่น การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล การกัดเซาะชายฝั่ง และภาวะน้ำท่วม ภารกิจสำรวจขั้วโลกช่วยให้สามารถเก็บตัวอย่างและข้อมูลสำคัญเพื่อการวิจัย เช่น ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว และการตายของหญ้าทะเลที่สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิน้ำทะเล ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของขั้วโลก

ศ.ดร.สุชนากล่าวเน้นย้ำว่า การสื่อสารงานวิจัยสู่สาธารณชนยังเป็นเรื่องท้าทาย จึงต้องมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนเพื่อหาวิธีถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่สังคมอย่างเข้าใจและเข้าถึง

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีเวทีเสวนาพิเศษโดย คุณมารีญา พูนเลิศลาภMiss Universe Thailand ปี 2017 และนักสิ่งแวดล้อม ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองในหัวข้อ “บทบาทของเยาวชนและคนรุ่นใหม่ในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง” มารีญาได้กล่าวถึงความสำคัญของการสื่อสารในยุคที่ข้อมูลเปิดกว้าง โดยชี้ว่า แม้ข้อมูลทางวิชาการจะเข้าถึงได้ง่าย แต่ผู้คนมักให้ความสนใจกับเรื่องราวที่สะท้อนประสบการณ์ แรงบันดาลใจ และเส้นทางของผู้สร้างงานวิจัย มากกว่าการนำเสนอเนื้อหาทางเทคนิคเพียงอย่างเดียว เธอจึงเสนอให้ใช้การเล่าเรื่อง (Storytelling) เป็นเครื่องมือเชื่อมโยงวิทยาศาสตร์กับผู้คน พร้อมสนับสนุนการบูรณาการศาสตร์ต่าง ๆ อาทิ ศิลปะและสื่อสารมวลชน เพื่อเพิ่มพลังการสื่อสารและขยายการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในวงกว้าง โดยเน้นย้ำว่าการนำเสนอทางวิทยาศาสตร์ไม่ควรจำกัดเฉพาะการชี้ให้เห็นปัญหาเท่านั้น แต่ควรมุ่งเน้นแนวทางแก้ไขอย่างสร้างสรรค์ เพื่อจุดประกายให้คนรุ่นใหม่เป็นพลังขับเคลื่อนสังคมสู่ความยั่งยืน


จุฬาฯ เป็นที่ที่เราได้มาพบตัวเองจริงๆ และเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด

คุณรสสุคนธ์ กองเกตุ (ครูเงาะ) นิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไอคอน PDPA

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า