นิสิตเก่าศศินทร์ สร้าง Art Hotel ด้วยใจรัก สนับสนุนชุมชนท้องถิ่นด้วยแนวคิดความยั่งยืน

คุณชาลิสา เตียนโพธิทอง Managing Director at The Fig Lobby, Bangkok และนิสิตเก่า MBA 2016 สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นอีกผู้หนึ่งซึ่งนำความรู้ ที่เรียนมาสานฝันการทำธุรกิจโรงแรมด้วยการสร้าง Art Hotel และสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นด้วยแนวคิดในการสร้างความยั่งยืน
ด้วยใจรักในงานด้านโรงแรม คุณชาลิสาจึงมุ่งเรียนด้านการโรงแรมที่สวิตเซอร์แลนด์ และผ่านการฝึกงานในหลายแผนกจากหลายประเทศ หลังจากนั้นได้ศึกษาต่อการบริหารธุรกิจที่สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ฯ และทำงานเกี่ยวกับ Consulting ด้านธุรกิจโรงแรมมาตลอดระยะเวลา 5 ปี หลังจากนั้นกลับมาช่วยธุรกิจของครอบครัวเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ และได้มีโอกาสเข้ามาบริหารจัดการโครงการรีโนเวทอพาร์ทเม้นท์เก่าของที่บ้านให้กลายมาเป็นโรงแรม The Fig Lobby, Bangkok ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีได้ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ โดยใช้เวลาในการรีโนเวท 3 ปี ซึ่งในช่วงเวลานั้นตรงกับช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงทำให้ใช้เวลานานเนื่องจากติดปัญหาเกี่ยวกับการขนส่งวัสดุต่าง ๆ สำหรับการก่อสร้าง ซึ่งบางส่วนนำเข้าจากต่างประเทศ รวมทั้งในเรื่องของแรงงานก่อสร้างที่ต้องหยุดดำเนินการในขณะนั้น
“การรีโนเวทเราให้ความสำคัญในเรื่องของ Sustainability การทำธุรกิจแบบยั่งยืน โดยนำตึกเก่าของครอบครัวมารีโนเวทใหม่ โดยพยายามใช้โครงสร้างที่มีอยู่เดิม พื้นในแต่ละชั้นใช้ของเดิมแต่ขัดใหม่ให้ดูสวยงามขึ้น ห้องใช้โครงสร้างเดิมแต่ตกแต่งให้มีดีไซน์เฉพาะตัว นอกจากจะเป็นการประหยัดงบประมาณเรายังเน้นความคุ้มค่าของการใช้งานด้วย” คุณชาลิสา กล่าว

สำหรับหน้าที่ในการดูแล The Fig Lobby, Bangkok คุณชาลิสา กล่าวว่าเริ่มตั้งแต่การออกแบบ ดีไซน์ การตกแต่ง การก่อสร้าง การสร้างแบรนด์ การตลาด คิดกิจกรรมอีเว้นท์ต่าง ๆ ธีมของโรงแรมได้แรงบันดาลใจจากที่ตัวเองชอบในเรื่องของสีสันอยู่แล้ว นำความชอบมาผสมผสานกัน และอยากสร้างจุดเด่นเกี่ยวกับความเป็นไทยในการตกแต่งของโรงแรมแบบมีความผสมผสานทั้งศิลปะ สีสัน โดยออกแบบห้องพักให้มีความหลากหลายถึง 8 สไตล์ด้วยกัน สไตล์การตกแต่งเป็นแนว Funky Art Deco มีจำนวนห้องทั้งหมด 68 ห้อง โรงแรมแห่งนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ชุมชนคลองเตย ซึ่งแต่เดิมจะไม่มีโรงแรมที่พักสำหรับนักท่องเที่ยวหรือคนเดินทาง จึงเป็นแรงบันดาลใจอยากสร้างโรงแรมในพื้นที่ย่านนี้ เพื่อให้เป็นที่พักใหม่ ๆ เป็นทางเลือกให้กับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ โดยพื้นที่โรงแรมอยู่ใกล้รถไฟฟ้า ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และใจกลางกรุงเทพฯ
คุณชาลิสา กล่าวถึงจุดเด่นของ The Fig Lobby, Bangkok ว่าอยากให้มีความเป็น Expressive Art Hotel รวมกับ Community Living ต้องการให้ผู้ที่มาพักได้ผ่อนคลาย มีกิจกรรมหลากหลายให้เลือก เหมือนมาบ้านเพื่อน บ้านญาติ อยากให้มีความแตกต่างจากไปพักที่อื่น ๆ เช่น ถ้าเป็นโรงแรมห้าดาวผู้ที่มาพักอาจรู้สึกเป็นทางการ สำหรับ The Fig Lobby, Bangkok เพิ่งเปิดตัวได้ 6 เดือน ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยจองมาก่อนและเลือกสไตล์ห้องพักแบบที่ตัวเองชอบ ในขณะที่ลูกค้าเข้ามาพักก็จะได้เสพศิลปะ มีอาหารที่มีการผสมผสานของศิลปะการปรุงแต่ง นอกจากนี้พาร์ทเนอร์ที่เราเลือกเข้ามาเป็น คอมมูนิตี้ก็จะมีความเป็นศิลปะเข้ามาด้วย เช่น เป็นร้านเวิร์กชอปเกี่ยวกับการทำเครื่องปั้นดินเผา ยิมออกกำลังกายแบบปั่นจักรยาน สปาศาสตร์อินเดีย สิ่งที่ลูกค้าประทับใจเมื่อเข้ามาพักที่โรงแรม เริ่มจากเรื่องของดีไซน์ สีสัน การตกแต่ง รูปแบบห้องที่มีความหลากหลายเพื่อให้ตรงกับความชอบของลูกค้า และในเรื่องของพนักงานประมาณ 95 % ผู้เข้ามาพักหรือมาใช้บริการต่าง ๆ จะชมพนักงานเรื่องให้บริการลูกค้าเป็นกันเอง
“ตนเองโตมากับชุมชนคลองเตย ทราบดีว่าในมุมมองของคนกรุงเทพฯ หรือคนทั่วไป เมื่อได้ยินคำว่าชุมชนคลองเตย จะรู้สึกเป็นชุมชนแออัด ไม่มีความปลอดภัย จึงอยากสร้างมุมมองใหม่เกี่ยวกับชุมชนคลองเตย” เป้าหมายการรีโนเวทโรงแรมแห่งนี้นอกจากจะเป็นเรื่องของธุรกิจที่ต้องปรับเปลี่ยนพื้นที่เดิมให้มีรายได้เข้ามาแล้ว ยังต้องการมีส่วนส่งเสริมและสนับสนุนพื้นที่ในชุมชนคลองเตยให้มีความเข้มแข็งทั้งทางด้านสังคม ความน่าอยู่ ความปลอดภัย และเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับคนในชุมชนด้วย มีร้านอาหารอร่อยที่อยู่ในชุมชนนี้ มีวัดที่สวยงาม และใกล้กับท่าเรือแม่น้ำเจ้าพระยาสามารถข้ามฝั่งไปบางกระเจ้าได้ไม่ไกลมาก” คุณชาลิสา กล่าว

คุณชาลิสาต้องการให้ย่านนี้มีโรงแรมที่เป็น Community Living ที่ใคร ๆ ก็เข้ามาทำกิจกรรมได้ และเดินทางสะดวก และนำรายได้เข้าสู่ชุมชนอย่างยั่งยืน เช่น การจ้างพนักงานที่มาจากคนในชุมชนจำนวนหนึ่ง เป็นการสนับสนุนการทำงานของคนในพื้นที่ เมื่อโรงแรมมีกิจกรรมต่าง ๆ ก็จะสนับสนุนร้านอาหารในย่านนี้ และเรายังจัดกิจกรรมให้คนในพื้นที่สามารถเข้ามาร่วมกิจกรรมได้ นอกจากนี้อาหารสำหรับพนักงานก็สนับสนุนจากร้านในพื้นที่ เมื่อมีนักท่องเที่ยวถามถึงร้านอาหารจะแนะนำร้านอาหารในย่านนี้ เพื่อเป็นการแนะนำร้านที่อร่อยแต่ยังไม่มีคนรู้จัก ซึ่งจะเป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชนในย่านนี้ นอกจากนี้การตกแต่งโรงแรมยังใช้ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ที่ผลิตในประเทศ รวมทั้งเครื่องดื่มและอาหารว่างต่าง ๆ เราคัดสรรจากชุมชนท้องถิ่นในหลายจังหวัดของประเทศไทย เพื่อเป็นการสนับสนุนรายได้ และเป็นการแนะนำสินค้าภูมิปัญญาชาวบ้านให้กับผู้ที่มาพักทั้งชาวไทยและต่างชาติอีกด้วย นอกจากลูกค้าเข้ามาพัก หรือมาทำกิจกรรมอื่น ๆ ในคอมมูนิตี้ที่มีอยู่แล้ว ยังมีกิจกรรมการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ จัดงานวันเกิด จัดงานแต่งงาน โรงแรมมีขนาดไม่ใหญ่มาก บางกิจกรรมเช่นการจัดงานแต่งงาน บางครั้งลูกค้าจะเหมาทั้งโรงแรม จึงสะดวกสำหรับผู้มาพัก คนไม่มากจนเกินไป สำหรับลูกค้าที่เป็นคนไทยจะมากในวันเสาร์และอาทิตย์ ส่วนใหญ่จะมานั่งเล่น มาทานอาหารหรือมาทำกิจกรรมต่าง ๆ
“คนที่จะเริ่มทำธุรกิจ ต้องเริ่มจากความชอบก่อนจะเป็นแรงบันดาลใจที่จะทำสิ่งนั้น การทำธุรกิจต้องหาผู้ร่วมงานที่ดีเป็นสิ่งสำคัญ เริ่มจากเลือกพนักงานที่มีแนวคิดเดียวกัน การสร้างแรงบันดาลใจให้กับพนักงานมีทัศนคนติที่ดี การทำธุรกิจโรงแรมนี้ได้รับความสนใจจากนักธุรกิจหลายแห่ง ที่ชอบในเรื่องการออกแบบและการตกแต่ง เราจึงมีความคิดว่าในอนาคตจะขยายไปเป็นที่ปรึกษาหรือเป็นหุ้นส่วนของธุรกิจที่ชอบทางด้านการตกแต่งและศิลปะ” คุณชาลิสา ให้คำแนะนำ คุณชาลิสากล่าวถึงการเรียน MBA ที่ศศินทร์ว่า สามารถนำความรู้มาใช้ได้ทั้งทางด้านธุรกิจและการใช้ชีวิตส่วนตัว เพื่อนที่เรียนด้วยกันมาจากหลากหลายธุรกิจ ทำให้ได้เรียนรู้ในธุรกิจอื่น ๆ ที่เราไม่เคยทำมาก่อน และศศินทร์มีคอนเนคชั่นที่ดีทั้งรุ่นพี่รุ่นน้องคอยให้คำแนะนำและการช่วยเหลือในการทำงาน



จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้
ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย