พิธีลงนามสัญญาโอนสิทธิ “อุปกรณ์ระบายน้ำในตาสำหรับผู้ป่วยโรคต้อหิน”

เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2567 ณ ห้องรับรอง ชั้น 2 อาคารจามจุรี 4 ศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาฯ จัดพิธีลงนามสัญญาโอนสิทธิ “อุปกรณ์ระบายน้ำในตาสำหรับผู้ป่วยโรคต้อหิน” โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นเจ้าของสิทธิ ให้แก่บริษัท อายแคร์บ็อกซ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัท Start up ที่ตั้งอยู่ในคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ดำเนินกิจการค้นคว้า วิจัย พัฒนา ผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ระบายน้ำในตาสำหรับผู้ป่วยโรคต้อหิน โดยมี ศ.สพ.ญ.ดร.เกวลี ฉัตรดรงค์ รองอธิการบดี ด้านการวางแผนและกำหนดยุทธศาสตร์ นวัตกรรม และพันธกิจสากล จุฬาฯ เป็นผู้กล่าวเปิดงาน ผศ.ดร.วีระยุทธ ศรีธุระวานิช คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กรรมการบริษัท อายแคร์บ็อกซ์ จำกัด ตัวแทนนักวิจัยจากจุฬาฯ กล่าวถึงที่มาและความสำคัญของเทคโนโลยีนี้ รศ.นพ.ปริญญ์ โรจนพงศ์พันธุ์ รศ.พญ.วิศนี ตันติเสวี และ นพ.รัฐ อิทธิพานิชพงศ์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ตัวแทนบริษัท อายแคร์บ็อกซ์ จำกัด กล่าวถึงการนำเทคโนโลยีไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ จากนั้นเป็นพิธีลงนามสัญญาโอนสิทธิ “อุปกรณ์ระบายน้ำในตาสำหรับผู้ป่วยโรคต้อหิน”




“โรคต้อหิน” คือโรคที่เกิดจากความบกพร่องของเส้นประสาทตา สาเหตุหลักเกิดจากความดันตาที่สูงผิดปกติทำให้เส้นประสาทตาทำงานได้ไม่สมบูรณ์ ส่งผลกระทบต่อการมองเห็นและอาจนำไปสู่ภาวะตาบอดถาวรได้ในที่สุด โรคต้อหิน แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ ต้อหินชนิดมุมปิด และโรคต้อหินชนิดมุมเปิด ซึ่ง 3 ใน 4 ของผู้ป่วยโรคต้อหินทั้งหมดเป็นโรคต้อหินชนิดมุมเปิด ในประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยโรคต้อหินกว่า 2 ล้านคน และมีผู้ป่วยโรคนี้ทั่วโลก 76 ล้านคน รศ.นพ.ปริญญ์ โรจนพงศ์พันธุ์ และคณะวิจัยจึงได้ทำการวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์ระบายน้ำในตาสำหรับผู้ป่วยโรคต้อหิน ซึ่งราคาไม่แพง เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของผู้ป่วยโรคต้อหินชนิดมุมเปิด

จุฬาฯ มีลักษณะของความเป็นพี่น้อง ความอบอุ่น เป็นสังคมที่อยากอนุรักษ์ไว้
ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย