ความสำเร็จของ “MedUMORE: 1-2-10 Med Ed Exponential” และพิธีลงนามความร่วมมือระหว่างคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กับ 10 องค์กรการแพทย์ชั้นนำ

คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การศึกษาทางการแพทย์ผ่านแพลตฟอร์ม “MedUMORE: 1-2-10 MedEd Exponential” เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2567 ณ ห้องประชุม สดศรี วงศ์ถ้วยทอง อาคาร ภปร ชั้น 18 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เพื่อฉลองครบรอบ 2 ปีของแพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์ “MDCU MedUMORE” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการเรียนรู้อันดับ 1 ของประเทศไทยด้านการแพทย์ ในปีนี้มีการรับชมมากกว่า 2,000,000 views โดยคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ 10 องค์กรการแพทย์ชั้นนำของประเทศไทย ประกอบด้วย แพทยสภา สถาบันการพยาบาลศรีสวรินทิรา สภากาชาดไทย สมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย สมาคมรูมาติสซั่มแห่งประเทศไทย สมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย ศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทย สมาคมปลูกถ่ายอวัยวะแห่งประเทศไทย สภาเทคนิคการแพทย์ Faculty of Medicine, University of Health Sciences, Lao People’s Democratic Republic และสมาคมนักสังคมสงเคราะห์ทางการเเพทย์ไทย
งานในครั้งนี้เริ่มจาก รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวต้อนรับ ศ.พญ.นิจศรี ชาญณรงค์ รองคณบดีฝ่ายบริการวิชาการ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ บรรยายสรุปแนวคิดและทิศทางของแพลตฟอร์ม MedUMORE ในโอกาสครบรอบ 2 ปี และ 2 ล้านการรับชม ในหัวข้อ “จาก 1 ถึง 10 ก้าวต่อไปของ MedUMORE” จากนั้นเป็นพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านทางแพลตฟอร์ม MedUMORE กับ 10 องค์กรการแพทย์ชั้นนำของประเทศไทย ผศ.(พิเศษ) นพ.สุรินทร์ อัศววิทูรทิพย์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริการวิชาการ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ สาธิตการใช้แพลตฟอร์ม MedUMORE และการเสวนาพิเศษ หัวข้อ “Future Education, Future Learning for Future Healthcare: อนาคตการศึกษาเพื่อการแพทย์และสาธารณสุขยุคใหม่ของไทย” โดย ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร ผู้รักษาการอธิการบดีจุฬาฯ รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พล.อ.ท.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา ดำเนินการเสวนาโดย รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
งาน “MedUMORE: 1-2-10 Med Ed Exponential” แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาการศึกษาทางการแพทย์และการเรียนรู้ที่ไม่หยุดยั้ง โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ มุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการศึกษาที่ทันสมัยและสอดคล้องกับการพัฒนาของโลก เพื่อยกระดับการศึกษาและการบริการทางการแพทย์ในประเทศไทย
















จุฬาฯ สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานวิจัย นับว่าเป็นสิ่งที่ดีมากต่อทั้งอาจารย์ นิสิต รวมถึงภาคประชาสังคม
รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย